5 กติกากอล์ฟที่ไร้สาระที่สุด

กระทู้สนทนา
กีฬากอล์ฟว่าเล่นยากแล้ว แต่การทำความเข้าใจกติกากอล์ฟยากกว่าหลายเท่า
          กีฬาทุกประเภทมีกฎกติกาสำหรับตัดสินการแพ้ชนะและควบคุมเกมการเล่นให้เป็นไปอย่างยุติธรรม เช่นเดียวกับกอล์ฟ กีฬาของสุภาพชนที่นอกจากจะให้ความสำคัญอย่างมากกับการเล่นตามกฎกติกาอย่างเคร่งครัดแล้ว ยังให้น้ำหนักกับมารยาทที่เปรียบได้ดั่ง ‘กฎหมายจารีตประเพณี’ ของกีฬากอล์ฟอีกด้วย อย่างไรก็ตาม กอล์ฟซึ่งเป็นเกมที่ได้รับการคิดค้นเมื่อกว่า 400 ปีที่แล้ว ก็มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเล่นหลายประการให้มีความสอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ โดยองค์กรที่ทำหน้าที่หลักในการกำกับดูและปรับปรุงกติกากอล์ฟคืให้ทันสมัย คือ The Royal and Ancient Golf Club of St Andrews หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ ‘R&A’ ผู้จัดทำหนังสือ กติกากอล์ฟ Rules of Golf (200 หน้า!) ที่เปรียบได้ดังคัมภีร์ที่โปรกอล์ฟทุกคนต้องอ่านศึกษาให้แตกฉาน และเป็นหนึ่งในบททดสอบด่านแรกสำหรับนักกอล์ฟสมัครเล่นที่จะเข้าสอบเพื่อเลื่อนชั้นเป็นนักกอล์ฟอาชีพทุกคนต้องเผชิญ

          อย่างไรก็ตาม กติกากอล์ฟ ก็เช่นเดียวกับกฎอื่น ๆ ในโลกนี้ที่แม้ว่าจะผ่านการถกเถียงและกลั่นกรองมาเป็นอย่างดีแล้ว ก็ยังไม่สามารถหลีกเลี่ยงปัญหาที่เกิดจากการบังคับใช้จริงในทางปฏิบัติได้ บ่อยครั้งกติกาที่ออกแบบมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้การเล่นเป็นไปอย่างรวดเร็วและยุติธรรม กลับกลายเป็นปัญหาและอุปสรรคแก่การเล่นเสียเอง เชื่อว่าท่านนักกอล์ฟอาจเคยมีข้อสงสัยในกติกากอล์ฟบางบทบางข้อที่ดูจะไม่ค่อยสมเหตุสมผลเอาเสียเลย แถมยังทำให้เสียเวลาในการเล่นอีกด้วย Golfistathai ได้ค้นหาบทความภาษาอังกฤษที่เกี่ยวข้องกับปัญหาที่เกิดขึ้นจากกติกากอล์ฟก็พบว่ามีจำนวนไม่น้อย ทำให้ทราบว่าไม่ได้มีแค่เราที่คิดว่ากฎบางข้อช่างแปลกประหลาด และค่อนข้างไร้สาระ จึงขอนำมาแชร์ในบทความชิ้นนี้ จำนวน 5 ข้อด้วยกันครับ

1.ลูกกอล์ฟที่ตกลงไปในรอย Divot ต้องเล่นตามสภาพ
จินตนาการว่าท่านนักกอล์ฟเข้าป่าออกทะเลมาตลอดทั้งวัน ก่อนที่จะมาเจอวงสวิงที่หายไปในหลุมสุดท้าย ไดร์ฟออกไปจากทีออฟด้วยผลงานที่งดงาม มั่นใจว่าลูกกอล์ฟต้องเด่นอยู่กลางแฟร์เวย์พร้อมสำหรับโอกาสในการทำเบอร์ดี้เพื่อปิดท้ายวันที่พระเจ้าแห่งกอล์ฟไม่ได้เข้าข้าง ปรากฏว่าเมื่อเดินไปถึงจุดลูกตกกลับพบว่าลูกกอล์ฟเจ้ากรรมดันไปหยุดอยู่ในรอย Divot ของใครก็ไม่รู้เข้า กฎคลาสสิคข้อที่ 8 ของกอล์ฟ คือ การเล่นในจุดที่ลูกกอล์ฟวิ่งไปหยุดอยู่หรือการเล่นตามสภาพไม่ว่ารอย Divot จะแย่และส่งผลต่อการเล่นมากเพียงไร แม้แต่การยกเครื่องเปลี่ยนแปลงกติกากอล์ฟครั้งใหญ่ในปี 2019 ซึ่งมีกฎการเล่นตามสภาพเมื่อลูกอยู่ในรอย Divot เป็นกฎที่นักกอล์ฟส่วนใหญ่ต้องการให้มีการปรับปรุงมากที่สุด แต่มติมหาชนก็ยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงกฎดังกล่าวได้ เนื่องจาก R&A ให้เหตุผลว่าหากมีการอนุญาตให้ดรอปในกรณีที่ลูกอยู่ในรอย Divot แล้วจะยิ่งทำให้เกิดปัญหาในการตัดสินว่าตรงไหนเป็นรอย Divot และนักกอล์ฟอาจจะใช้ช่องโหว่ของกฎสร้างความได้เปรียบในการเล่นได้ จึงตัดปัญหาด้วยการไม่แก้กฎและคงการเล่นตามสภาพไว้ เพราะกอล์ฟเป็นเกมที่นักกอล์ฟต้องเผชิญกับสภาวะต่าง ๆ ที่ควบคุมไม่ได้ การเล่นจาก Divot จึงเป็นการทดสอบความแข็งแกร่งของสภาพจิตใจ

          Golfistathai ก็มองว่าเหตุผลของ R&A ก็จริงอยู่ แต่ก็ต้องบอกว่ากอล์ฟในปัจจุบันเป็นเกมกีฬาระดับโลกที่มีนักกอล์ฟสมัครเล่นหน้าใหม่และหน้าเก่าเล่นจำนวนมาก และคนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เล่นอย่างเอาเป็นเอาตายเหมือนมืออาชีพ การอนุญาตให้ดรอปในกรณีที่ลูกอยู่ในรอย Divot น่าจะช่วยทำให้เกมการเล่นง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น และในการแข่งขันมืออาชีพ การจะดรอปแต่ละครั้งก็ต้องมี Partner และกรรมการ (Marshall) เข้ามาร่วมตรวจสอบอยู่แล้ว จึงไม่น่าเป็นปัญหาในการตัดสินใจว่าเคสไหนดรอปได้หรือดรอปไม่ได้ การจำเป็นต้องตีลูกกอล์ฟจากรอย Divot แม้ว่าจะไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่โต แต่ก็เป็นกติกากอล์ฟที่แปลกประหลาดและทำให้มือสมัครเล่นหมดสนุกกับกอล์ฟโดยไม่จำเป็น

2.ลูกกอล์ฟติดบนต้นไม้ ต้องปีนขึ้นไปตีถึงไม่เสียสโตรค

หากใครจำกันได้ ครั้งหนึ่งเซอร์จิโอ การ์เซีย (Sergio Garcia) เคยต้องปีนต้นไม้ขึ้นไปเพื่อพิสูจน์ว่าลูกกอล์ฟที่ค้างอยู่บนต้นไม้เป็นของเขาจริง ๆ จากนั้นจึงจะมีสิทธิในการเสีย 1 สโตรคเพื่อดรอปในพื้นที่ใกล้เคียงที่เล่นได้ หรือในกรณีที่ไม่ใช่ลูกกอล์ฟของตนเองก็ต้องประกาศเป็นลูกหาย (lost ball) แล้วกลับไปตีใหม่ จะเห็นได้ว่าการตีลูกกอล์ฟไปค้างอยู่บนต้นไม้นำมาซึ่งปัญหามากมาย ทั้งกระบวนการพิสูจน์ว่าเป็นลูกตนเอง การตัดสินใจเลือกเสียดรอป 1 สโตรค หรือตีลูกกอล์ฟลงจากต้นไม้เหมือนการ์เซีย และในกรณีที่แย่ที่สุดก็ต้องกลับไปตีใหม่เหมือนกรณีลูกออก O.B. (Out of Bound) อันทำให้เกมการเล่นล่าช้าออกไปอีก หนทางที่ดีที่สุดก็คือการแก้ไขกฎใหม่ให้ไม่จำเป็นต้องปีนต้นไม้ขึ้นไปพิสูจน์ว่าเป็นลูกกอล์ฟของตนเอง เพราะกอล์ฟเป็นกีฬาของคนมีเกียรติ หากมีเหตุให้เชื่อได้ว่าลูกกอล์ฟค้างอยู่บนต้นไม้ก็ให้นักกอล์ฟสามารถเสียดรอป 1 สโตรคในบริเวณใกล้เคียงแล้วเล่นต่อไปได้เลยเหมือนกรณีตีตกน้ำ น่าจะช่วยลดความล่าช้าลงได้มาก ที่สำคัญในการแข่งขันระดับมืออาชีพย่อมมีกล้องโทรทัศน์หรือผู้ชมที่สามารถช่วยชี้ตำแหน่งลูกกอล์ฟได้อยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ให้เสียเวลา

3.นักกอล์ฟจะถูกตัดสิทธิ์จากการแข่งขัน (disqualified: DQ) หากลูกกอล์ฟหมด

พญาเสือไทเกอร์ วูดส์ (Tiger Woods) คว้าแชมป์เมเจอร์ US Open ครั้งแรกในชีวิตที่สนาม Pebble Beach ในปี 2000 ด้วยการทำสกอร์ทิ้งห่างอันดับสองมากถึง 12 สโตรค แต่ความสำเร็จดังกล่าวเกือบจะไม่เกิดขึ้นหากว่าในหลุม 18 ของรอบที่ 3 ไทเกอร์ตีช็อตทีออฟตกน้ำอีกครั้งหลังจากหวดลูกแรกรวบซ้ายออกทะเลไป เพราะนั่นเท่ากับว่าไทเกอร์ไม่มีลูกกอล์ฟเหลือพอสำหรับเล่นหลุมสุดท้ายจนจบ แม้ว่าตามกฎจะอนุญาตให้ไทเกอร์สามารถยืมลูกกอล์ฟเพื่อนร่วมก๊วนได้หากเป็นยี่ห้อและรุ่นเดียวกัน แต่เนื่องจากในรายการดังกล่าว ไทเกอร์จะใช้ลูกกอล์ฟรุ่นใหม่ที่เพิ่งถูกนำมาใช้ในการแข่งขัน US Open ครั้งนั้นเป็นครั้งแรก ไทเกอร์จึงต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการถูกตัดสิทธิ์จากการแข่งขัน (DQ) แต่โชคดีที่ไทเกอร์เล่นจบหลุมสุดท้ายอย่างปลอดภัยด้วยลูกกอล์ฟลูกสุดท้ายในถุงกอล์ฟ กรณีนักกอล์ฟอาชีพถูกตัดสิทธิ์จากการแข่งขันเพราะลูกกอล์ฟหมดเคยเกิดขึ้นกับ ‘บิ๊กจอห์น’ จอห์น เดลี่ (John Daly) ในรายการ Australian Open ปี 2011 และครั้งล่าสุดในปี 2019 เมื่อ  Clement Berardo นักกอล์ฟที่แข่งขันใน Challenge Tour เสียลูกกอล์ฟลูกสุดท้ายไปสองหลุมก่อนที่จะจบทำให้ถูก DQ ออกจากการแข่งขันไปโดยอัตโนมัติ

แน่นอนว่าการเตรียมลูกกอล์ฟให้พร้อมเป็นความรับผิดชอบของนักกอล์ฟและแค้ดดี้ที่จะต้องการันตีว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ลูกกอล์ฟหมดเกิดขึ้น แต่บางครั้ง เหตุสุดวิสัยก็เกิดขึ้นได้ เช่นในกรณีของไทเกอร์ วูดส์ ที่เผลอแจกลูกกอล์ฟพร้อมลายเซ็นให้เด็ก ๆ ไประหว่างการแข่งขันโดยลืมเช็คจำนวนลูกกอล์ฟในถุงกอล์ฟก่อน เชื่อว่าไม่มีใครต้องการออกจากการแข่งขันด้วยเหตุแบบนี้ กติกากอล์ฟดังกล่าวจึงควรที่จะการปรับปรุงให้มีการประนีประนอมมากยิ่งขึ้น เช่นหากเกิดกรณีลูกกอล์ฟหมดโดยไม่ได้ตั้งใจจริง ๆ ก็อาจให้สามารถยืมลูกกอล์ฟจากเพื่อนร่วมก๊วนได้โดยไม่จำเป็นต้องยี่ห้อหรือรุ่นเดียวกัน แต่ต้องมีการ Declare แจ้งเปลี่ยนลูกให้ Marker ทราบ และต้องมีการทำสัญลักษณ์เพื่อบ่งบอกความเป็นเจ้าของให้ชัดเจน น่าจะดีกว่าการคงกฎเดิมที่ไม่มีประโยชน์ให้ผลลัพธ์ที่ได้เปรียบ – เสียเปรียบ ในการแข่งขันแต่อย่างใด

4.ในถุงกอล์ฟห้ามมีไม้กอล์ฟมากกว่า 14 ไม้  

เชื่อว่านักกอล์ฟหลายท่านคงสงสัยว่าเหตุใดกฎกติกากอล์ฟจึงเขียนห้ามไว้ไม่ให้มีไม้กอล์ฟมากกว่า 14 ไม้ในถุงกอล์ฟในยามออกรอบหรือแข่งขัน เหตุการณ์ดังกล่าวเคยเกิดขึ้นกับ Ian Woosnam ในการแข่งขันกอล์ฟเมเจอร์ The Open Championship ในปี 2001 เมื่อแค้ดดี้ของเขาลืมหยิบไดร์เวอร์ส่วนเกินออกไปทำให้ในถุงกอล์ฟของเขามีไม้กอล์ฟ จำนวน 15 ไม้ ส่งผลให้ Woosnam ถูกลงโทษปรับ 2 สโตรค และทำให้หมดโอกาสลุ้นแชมป์ไปอย่างน่าเสียดาย กฎ 14 ไม้กอล์ฟนั้นได้รับการบัญญัติโดย R&A ในปี 1939 เนื่องจากเทคโนโลยีไม้กอล์ฟในสมัยนั้นยังไม่สามารถตีได้ระยะหลากหลายมากเท่าปัจจุบัน ตลอดจนในการเล่นช็อตต่าง ๆ ต้องเปลี่ยนไม้กอล์ฟกันเป็นว่าเล่น นักกอล์ฟมืออาชีพในสมัยนั้นต่างพกไม้กอล์ฟมากกว่า 20 -25 ไม้ ซึ่งเป็นจำนวนที่มากเกินไป R&A จึงออกกฎกติกาเพื่อบังคับจำนวนไม้กอล์ฟในถุงกอล์ฟต่อการเล่นรอบหนึ่งไม่ให้เกิน 14 ไม้ แน่นอนว่ากฎกติกากอล์ฟดังกล่าวย่อมล้าสมัยไปแล้ว เมื่อไม้กอล์ฟในปัจจุบันมีน้ำหนักเบามากยิ่งขึ้น และถุงกอล์ฟก็ถูกออกแบบมาเพื่อให้รองรับจำนวนไม้กอล์ฟในสัดส่วนที่พอเหมาะพอดี แม้ว่า R&A จะให้เหตุผลว่าการคงจำนวนไม้กอล์ฟไว้ที่ 14 ไม้จะเป็นการบังคับให้นักกอล์ฟต้องเล่นช็อตหลาย ๆ แบบจากไม้กอล์ฟที่มีอยู่ แต่การจำกัดจำนวนไม้กอล์ฟในถุงกอล์ฟพร้อมกับบทลงโทษน่าจะก่อให้เกิดปัญหามากกว่าจำนวนไม้กอล์ฟที่เยอะเกินไปหรือถุงกอล์ฟหนักเกินไป

5. กฎใหม่กับการดรอปลูกกอล์ฟจากระดับหัวเข่า
หนึ่งในความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับกฎกติกากอล์ฟในปี 2019 คือท่าดรอปแบบใหม่ซึ่งสร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากบรรดานักกอล์ฟอาชีพจำนวนมาก โดยเฉพาะริกกี้ ฟาวเลอร์ (Rickie Fowler) ผู้ประเดิมโทษปรับ 1 สโตรคจากการ ‘ดรอปลูกกอล์ฟผิดท่า’ ในรายการ World Golf Championships-Mexico Championship เมื่อเขาดรอปลูกกอล์ฟจากระยะหัวไหล่ (Shoulder high) แทนที่จะเป็นการหย่อนลูกกอล์ฟในแนวระดับหัวเข่า (Knee High) ตามกฎใหม่ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ตามกฎนักกอล์ฟสามารถหยิบลูกกอล์ฟขึ้นมาดรอปใหม่ได้ในกรณีที่รู้ตัวว่าดรอปผิดท่า แต่ในกรณีของ Fowler ซึ่งรู้ตัวหลังจากที่เล่นจบหลุมไปแล้วก็ไม่มีทางเลือกนอกจากยอมให้ถูกปรับ 1 สโตรค สร้างความหัวเสียให้กับเจ้าตัวพอสมควร จนเขาเก็บนำท่าดรอปดังกล่าวไปล้อเลียนออกโทรทัศน์ในรายการต่อมา อันที่จริงแล้วกฎการดรอปลูกกอล์ฟมีการเปลี่ยนแปลงมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การหย่อนลูกกอล์ฟผ่านแนวหัวไหล่ไปด้านหลัง การดรอปลูกกอล์ฟจากระยะหัวไหล่ มาจนถึงการดรอปลูกกอล์ฟจากแนวหัวเข่าในปัจจุบัน โดย Thomas Pagel จาก USGA ให้เหตุผลว่าการดรอปแบบใหม่จะช่วยให้ลูกกอล์ฟตกอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับจุดที่เล่นได้มากที่สุด ป้องกันการจงใจดรอปให้ลูกกอล์ฟกระเด็นไปในทิศทางที่ต้องการหรือแก้ไขปัญหาดรอปแล้วลูกกอล์ฟกระเด็นเข้าใกล้หลุมจนต้องเสียเวลาดรอปใหม่หลายครั้ง อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าการดรอปแบบใหม่จะเป็นไปด้วยเจตนาดีให้การเล่นรวดเร็วขึ้น แต่กระแสตอบรับจากนักกอล์ฟอาชีพและนักกอล์ฟทั่วโลกก็น่าจะทำให้ USGA และ R&A ต้องทบทวนกฎกติกาดังกล่าวใหม่ เพราะมันได้พิสูจน์แล้วว่าตั้งแต่เริ่มต้นบังคับใช้เมื่อ 1 มกราคม 2019 ที่ผ่านมา กฎดรอปแบบใหม่ได้สร้างปัญหาให้กับนักกอล์ฟจนถูกปรับไปหลายสโตรค หลายกรณีมากกว่าให้ประโยชน์อย่างที่ผู้ออกแบบกฎกติกากอล์ฟได้คาดหวังไว้มากทีเดียว

คลิกเพื่ออ่านต่อ
https://golfistathai.com/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่