ระบบการศึกษาไทยในปัจจุบัน ยังเน้นการเรียนแบบเดิมๆ ต้องท่องจำเพื่อไปสอบแข่งขัน
แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการให้เด็กได้เรียนรู้จริงๆ ทีมนอกกะลา
จึงได้คิดทำสารคดีเรื่อง "ห้องเรียนธรรมชาติ"
ขึ้นเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับกิจกรรมการเรียนรู้ที่เรียกว่า จิตศึกษา
หนึ่งในนวัตกรรมที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาได้พัฒนาขึ้นและใช้มานานกว่าสิบปี
ซึ่งในแต่ละระดับชั้นจะมีความแตกต่างกันไป
ด้วยหัวใจหลักของกิจกรรมมี 3 องค์ประกอบ คือ 1. การสร้างสภาพบรรยากาศความเป็นชุมชน สถานที่ ผู้คน
ที่เอื้อต่อการงอกงามภายใน 2. การใช้จิตวิทยาเชิงบวกต่อกัน การให้คุณค่าความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันทุกคน และ
3.กิจกรรมที่เน้นให้เห็นคุณค่าของตัวเอง เห็นความสัมพันธ์ของตัวเองและสิ่งต่างๆ
โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา
อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์
เป็นโรงเรียนต้นแบบโดยการเผยแพร่นวัตกรรมในการจัดการเรียนรู้
ที่โรงเรียนได้พัฒนาขึ้นไปสู่อีกหลายๆ โรงเรียนทั่วประเทศ
สารคดีห้องเรียนธรรมชาติด้วยพุ่งเป้าไปที่การถ่ายทอดแนวคิดวิธีการและนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นการพัฒนาปัญญาภายนอกและปัญญาภายในโดยให้ความสำคัญในการพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่แท้จริง
เพื่อเป็นแรงบันดาลใจหรือเป็นแนวทางให้นักการจัดการศึกษาผู้ปกครอง หรือผู้รับชมทั่วไปได้ตื่นรู้และหันมาให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ที่เรียกได้ว่าเป็นการเรียนรู้โดยแท้จริง
เนื่องจากปัจจุบันสารคดีไทยที่มาจากฝีมือผู้ผลิตชาวไทยจริงๆ มีน้อยมาก
สารคดีส่วนใหญ่ล้วนมาจากต่างประเทศและสารคดีที่เกี่ยวกับประเทศไทยมีมาตรฐานเท่าจากประเทศยังมีน้อยบุคลากรผู้ผลิตก็มีจำกัด
จึงได้มีการจัดโครงการดังกล่าวเพื่อสร้างบุคลากรในงานสารคดีขึ้นมา
จิรัฐิติ โรจนานนท์ ผู้จัดการโครงการ มูลนิธิสำรวจโลก กล่าวว่า
"ปัจจุบันสารคดีเชิงสร้างสรรค์ในประเทศไทยยังมีน้อยเพราะให้ความสำคัญกับ
Content บันเทิงเป็นหลัก แต่หากจะมองภาพรวมที่เห็นได้ตอนนี้จริงๆ
สารคดีเชิงสร้างสรรค์ของไทย มันมีให้เห็นกันบ่อยๆ
แต่การนำเสนอความแตกต่างให้น่าสนใจและออกสู่ตลาดสากลได้นั้นต้องพัฒนากันให้มากขึ้นต่อไป
จากที่ดีแล้วควรจะดีได้อีก ทั้งในด้านบุคลากรที่มีทักษะความสามารถในการผลิต
และรูปแบบการนำเสนอที่แปลกใหม่"
โครงการพัฒนาผู้ผลิตสารคดีในท้องถิ่นและภูมิภาคในครั้งนี้
จึงได้เน้นให้ผู้อบรมเข้าใจกระบวนการผลิตครบวงจรอย่างถูกวิธี ทั้งการตีโจทย์
การคิดประเด็น การเรียบเรียงประเด็น ไปจนถึงการพัฒนาโครงเรื่อง การวางแผน
การถ่ายทำ การจัดวาง มุมกล้อง
แสงเงาของภาพ การเลือกเสียงและเพลงประกอบ และการลำดับภาพ ซึ่งทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นขั้นตอนหลักในการผลิต นอกจากนี้โครงการจัดอบรมในเรื่องจรรยาบรรณสื่อและความรับผิดชอบต่อสังคมที่สื่อถึงมีอีกด้วย
เนื่องจากการอบรมในครั้งนี้ทางโครงการไม่ได้มีข้อผูกมัดอย่างใดอย่างหนึ่งกับผู้เข้าอบรม
ทางผู้เข้าอบรมสามารถนำความรู้และทักษะที่ได้ไปพัฒนาต่อยอดการผลิตสารคดีในช่องทางต่างๆ ที่ผู้เข้าผลิตสามารถเข้าถึงได้โดยตรง
ซึ่งทางโครงการหลังได้ติดตามประเมินผลกับผู้เข้าร่วมพบว่ามีทักษะที่ดีขึ้น
ซึ่งคาดว่าผลงานที่จะผลิตขึ้นในอนาคตผู้เข้าร่วมโครงการจะมีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง
จิรัฐิติ โรจนานนท์ กล่าวสรุป
คำถาม ทำไมทีมฯ ถึงเลือกทำสารคดีเรื่องนี้
มีแรงจูงใจอย่างไร?
ตอบ: ที่ทีมเราเลือกทำสารดีเรื่องนี้ เริ่มต้นมาจากความต้องการที่จะสื่อสารเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับระบบของการศึกษาที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ด้วยเรามองเห็นปัญหาที่ว่าระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ยังไม่ตอบโจทย์ในการเรียนรู้ของเด็กเท่าที่ควร
การเรียนแบบเดิมๆ การท่องจำ จำแล้วก็เพื่อไปสอบแข่งขัน เรามองว่ามันเป็นการแบ่งแยกกลุ่มเด็กออกจากกัน
เด็กที่สอบได้ก็เข้าไปสู่โรงเรียน หรือมหาวิทยาลัยที่ดีๆ
และทิ้งเด็กอีกกลุ่มนึงไว้ข้างหลัง
ซึ่งการศึกษาหรือการเรียนรู้ที่แท้จริงเราคิดว่ามันควรจะเป็นการศึกษาที่มุ่งเน้นในการพัฒนามนุษย์เพื่อให้เป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์
ไม่ใช่ในมิติด้านความรู้เพียงอย่างเดียว แต่ต้องมุ่งเน้นถึงการพัฒนาปัญญาภายในของมนุษย์ด้วย
จนได้พบว่ามีโรงเรียนที่มุ่งเน้นในการจัดการเรียนรู้รูปแบบนี้อยู่และสามารถทำได้จริงๆอย่างเป็นรูปธรรม
คือ โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์
ซึ่งเป็นโรงเรียนต้นแบบโดยการเผยแพร่นวัตกรรมในการจัดการเรียนรู้ที่โรงเรียนได้พัฒนาขึ้น
ไปสู่อีกหลายๆโรงเรียนทั่วประเทศ ทีมเราจึงพุ่งเป้าไปที่การถ่ายทอดแนวคิด วิธีการ
และนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นการพัฒนาทั้งปัญญาภายนอกและปัญญาภายใน
โดยให้ความสำคัญในการพัฒนามนุษย์ที่แท้จริง เพื่อเป็นแรงบันดาลใจหรือเป็นแนวทาง
ให้นักจัดการศึกษา ผู้ปกครอง หรือผู้รับชมทั่วไปได้ตื่นรู้
และหันมาให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ที่เรียกได้ว่าเป็นการเรียนรู้โดยแท้จริง
ความรู้ที่ได้จากการเข้าร่วมโครงการนี้
โครงการพัฒนาผู้ผลิตรายการสารคดีระดับท้องถิ่น ครั้งที่ 2
ได้นำมาต่อยอดอย่างไรอีกบ้างค่ะ
ตอบ: ส่วนความรู้ที่ได้รับจากโครงการเราคิดว่าน่าจะสะท้อนออกมาได้จากผลงานที่พวกเราผลิตขึ้น
อาจจะไม่ดีมากนักแต่เราก็ภูมิใจระดับหนึ่ง
เนื่องด้วยทีมเราไม่มีประสบการณ์ในการทำสารคดีเลย เทคนิคต่างๆในการทำก็น้อย
ผลจากการเข้าอบรมจึงมีส่วนสำคัญในการผลิตชิ้นงานของพวกเรามากทีเดียว ช่วยได้มาก
หลังจากเสร็จสิ้นโครงการแล้วเราคงจะพัฒนาทักษะด้านนี้ต่อไปด้วยการผลิตผลงานสื่อสารคดี
เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวที่เราคิดว่าจะมีประโยชน์ต่อสังคมของเราต่อไป
สุรเสน กรานโต หนึ่งในทีม ผู้ผลิตสารคดี (ทีมนอกกะลา)
มูลนิธิสำรวจโลก และกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.)
และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) NEXTSTEP
ประกาศผลงานที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นสารคดีดีเด่นจำนวน 6 เรื่อง จาก 60 เรื่องได้แก่
ทีม นอกกะลา สารคดีเรื่อง “ห้องเรียนธรรมชาติ"
สารคดีนี้เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับกิจกรรมการเรียนรู้ที่เรียกว่าจิตศึกษา หนึ่งในนวัตกรรมที่ทางโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาได้พัฒนาขึ้นและใช้มานานกว่าสิบปี ซึ่งในแต่ระดับชั้นจะมีความแตกต่างกันไป หัวใจหลักของกิจกรรมมี 3 องค์ประกอบคือ
1) การสร้างสภาพบรรยากาศความเป็นชุมชน สถานที่ ผู้คน ที่เอื้อต่อการงอกงามภายใน
2) การใช้จิตวิทยาเชิงบวกต่อกัน การให้คุณค่าความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันทุกคน และ
3) กิจกรรมที่เน้นให้เห็นคุณค่าของตัวเอง เห็นความสัมพันธ์ของตัวเองและสิ่งต่างๆ
ผลงานดีเด่นที่ได้รับคัดเลือกทั้ง 6 เรื่องนี้ จะนำไปออกอากาศทางช่องของดีประเทศไทย ซึ่งจะเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมและองค์ความรู้ของท้องถิ่นให้กับผู้คนทั่วไป ช่วยให้เกิดการส่งผ่านทางวัฒนธรรมข้ามภูมิภาค รวมถึงเป็นการสร้างมาตรฐานให้กับการผลิตสารคดีไทยจากฝีมือของผู้ผลิตในระดับท้องถิ่น
จาก เดลินิวส์ อังคารที่ 2 กรกฎาคม 2562 คอลัมน์:หมายเหตุประชาชน"ลำปลายมาศพัฒนา"โรงเรียนต้นแบบห้องเรียนธรรมชาติ
สารคดี ห้องเรียนธรรมชาติ