บทความตามใจฉัน “Goc: D-Pad” Part 1

บทความตามใจฉัน “Goc: D-Pad” Part 1

ในการเล่นเกมนั้น สิ่งสำคัญสำหรับการเล่นคือ อุปกรณ์ควบคุม หรือในสมัยนี้คนไทยมักเรียกสั้น ๆ ว่า “จอย”

และหากผู้อ่านมี “จอย” อยู่ใกล้ ๆ ให้ลองหยิบขึ้นมาดู จะเห็นปุ่มปุ่มหนึ่งเป็นรูปคล้ายเครื่องหมายบวก

ปุ่มนั้นคือ D-Pad ชื่อเต็มคือ directional pad

เราอาจจะเห็นมันบ่อย ๆ จนเป็นของปกติไปแล้ว

แต่รู้รึไม่ว่าปุ่มนี้มีความสำคัญในระดับที่ปฏิวัติวงการเกมและวิธีการควบคุมอุปกรณ์ไฟฟ้ามาจนถึงปัจจุบัน

บทความในคราวนี้ผู้เขียนจะเล่าถึงความเป็นมาของ D-Pad

ปุ่มที่ถูกใช้จนถูกลืมนี้กัน


ในการเล่นเกมนั้น D-Pad เป็นปุ่มที่มีไว้สำหรับควบคุมทิศทางที่ตัวละครในเกมจะเคลื่อนที่หรือหันไป

ในสมัยก่อน ปุ่มความคุมทิศทางของเครื่องเกมส่วนใหญ่จะใช้แกนอนาล๊อคขนาดใหญ่

แนวคิดของ D-Pad มาจากไหน ไม่มีใครทราบ

แต่ต้นคิดของ D-Pad ที่เก่าแก่ที่สุดนั้นพบได้ที่เครื่องเกมอาเขตกับเกมที่ชื่อว่า Blockade

ดูจากเกมเพลย์แล้วมันก็คือเกมงูกินหางแบบเล่นสองคนนี่เอง

ที่เครื่องจะมีปุ่มควบคุมทั้งหมด 4 ปุ่ม แบ่งออกเป็นสองชุดสีสำหรับ 2 ผู้เล่น

ด้วยปุ่มทั้ง 4 นี้ ผู้เล่นสามารถบังคับทิศทางของ Block ที่จะไปได้ 4 ทิศทาง

บน, ล่าง, ซ้าย และ ขวา

สามารถดูเกมเพลย์ของ Blockade ได้ที่ Link ข้างล่าง

https://www.youtube.com/watch?v=_78RsJuGP34


ปุ่มควบคุมทิศทางที่มีลักษณะใกล้เคียงกับ D-Pad ที่เรารู้จักมากที่สุด ถูกพบครั้งแรกเมื่อปี 1981

ในเครื่องเกมมือถือแบบเปลี่ยนเกมได้เครื่องแรกของโลกที่ชื่อว่า Microvision

ออกวางจำหน่ายครั้งแรกปี 1979

โดยเครื่องนี้มีจุดเด่นคือเวลาเปลี่ยนเกมจะทำการเปลี่ยนทั้งหน้ากากของตัวเครื่องไปด้วย

ทำให้ Controller ในแต่ละเกมไม่เหมือนกันเพราะถูกเปลี่ยนไปด้วยพร้อมกับเกม

ปุ่มควบคุมทิศทางที่คล้ายกับ D-Padนั้นมากับเกมที่ชื่อว่า Cosmic Hunter ที่ออกวางจำหน่ายในปี 1981


D-Pad แบบที่เรา ๆ รู้จักกันนั้นเกิดขึ้นมาเมื่อปี 1982

ในตอนนั้น Nintendo กำลังผลิตและขาย Game Watch หรือในไทยมักเรียกเครื่องเกมแบบพกพาแบบนี้ว่า “เกมกด” อยู่

Nintendo มีแผนที่จะแปลงเกม Donkey Kong ที่เป็นเกมอาเขตสุดฮิตของตนเองลง Game Watch

แต่ติดปัญหาอยู่อย่างหนึ่ง

Donkey Kong เป็นเกมที่ต้องควบคุมตัวละครให้เคลื่อนที่ได้ถึง 4 ทิศทาง บน, ล่าง, ซ้าย และ ขวา

ซึ่งต่างจาก Game Watch เกมอื่น ๆ ที่ใช้การเคลื่อนที่เพียง 2 ทิศทาง แค่ซ้ายและขวา


แน่นอนว่าปัญหานี้แก้ได้ง่าย ๆ โดยการใส่ปุ่มบังคับทิศทางลงไป 4 ปุ่มแบบที่ Blockade ทำก็จบแล้ว

อย่างเช่นในรูป เกม Super Mario ฉบับ Game Watch ก็ใช้เทคนิคใส่ปุ่ม 4 ปุ่มเหมือนกัน

แต่ Gunpei Yokoi (น่าจะอ่านได้ว่า เก็นเป โยโกอิ) วิศวกรผู้รับหน้าที่ออกแบบ Donkey Kong ฉบับ Game Watch นั้นรู้สึกว่ามันไม่ใช่

เนื่องจากเกมนี้มีหน้าจอถึง 2 หน้าจอ

ทำให้ผู้เล่นจะต้องมีสมาธิที่หน้าจอมากขึ้น การละสายตาจากจอกลับมาดูปุ่มกดเพียงแว๊บเดียวอาจทำให้ Game Over ได้

และนั้นทำให้ User Experience ต่อเครื่องเกมนี้ไม่ดีไปด้วย

เก็นเปจึงต้องการที่จะให้ปุ่มควบคุมทิศทางนั้นรวมกันเป็นปุ่มเดียวและใช้งานได้ง่ายชนิดที่ผู้เล่นไม่จำเป็นต้องละสายตาจากจอกลับมาดูปุ่มในมือ


ตอนแรกเค้าทดลองสร้างแกนอนาล๊อคขนาดเล็กขึ้นมาทดลองใช้ดู

มัน Work ใช่ แต่ปัญหาคือ Donkey Kong Game Watch เป็นเครื่องเกมที่ออกแบบให้พับเก็บได้

แกนอนาล๊อคที่ทดลองใช้นั้นแม้จะเล็กแต่ก็ยังใหญ่เกินไปจนพับเก็บไม่ได้

การออกแบบนี้จึงต้องเก็บเข้าลิ้นชักไปก่อน

ถ้าเก็นเปยังอยู่จนถึงปัจจุบัน เจ้าตัวอาจจะหัวเราะท้องแข็งเลยก็ได้ที่เดี๋ยวนี้แกนอนาล๊อคขนาดเล็กถูกใช้กันทั่วบ้านทั่วเมือง

(เก็นเปเสียชีวิตเมื่อเดือนกันยายน ปี1970 จากอุบัติเหตุรถยนต์
**ขอแก้ไขว่าเสียชีวิต เดือนตุลาคม 1997 ตามที่คุณ GrooVeAmaDa ครับ)


จากข้อจำกัดในการพับเก็บได้

เก็นเปมีตัวเลือกเดียวคือ ต้องเป็นปุ่ม

และไม่รู้ว่าอะไรดลใจแก

เก็นเปเลยออกแบบปุ่มบังคับทิศทางใหม่โดยให้ทั้งสี่ปุ่มรวมกันกลายเป็นปุ่มเดียวเป็นรูปเครื่องหมายบวก

ซึ่งถูกเรียกสั้น ๆ ว่า "cross design” หรือ "cross button”

ด้วยปุ่มแบบนี้ทำให้ผู้เล่นบังคับทิศทาง บน ล่าง ซ้าย ขวา ได้ด้วยปุ่มปุ่มเดียว

และสามารถรู้ได้ว่าจะต้องกดที่ใดเพื่อไปทิศทางไหนได้โดยไม่ต้องละสายตาจากจอเลยเพราะใช้แค่สัมผัสจากนิ้วก็รู้แล้ว

ในประวัติศาสตร์ของ D-Pad เกมแรกที่ได้ใช้ปุ่มบังคับทิศทางแบบใหม่นี้จึงเป็น Donkey Kong Game Watch

แต่ในตอนนั้นก็ไม่มีใครสนใจปุ่มนี้เท่าไหร่ แม้แต่  Nintendo เอง

มันถูกละเลยขนาดที่ว่าการออกแบบของ "cross" design นี้เกือบที่จะไม่ถูกจดสิทธิบัตรโดย Nintendo ด้วยซ้ำ


To be continue in Part 2

ปล.ตอนนี้ผมได้เปิด Facebook Page “บทความตามใจฉัน”

โดยบทความจะหลายหลากคละประเภทกันไปความตามความสนใจนั้นขณะนั้น

ถ้าสนใจก็กดติดตามได้ครับ

https://www.facebook.com/uptomejournal/

 
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่