สำหรับข้อสงสัยที่ว่าทำไมซ้องปีบชาติที่แล้วร้ายมาก แต่ยังได้มาเกิดใหม่เป็นพริมพี่ที่มีชีวิตที่ดี

ขอเสนอแนวคิดตามความเข้าใจของเรานะคะ

คือเรื่องของเวรกรรมชาติภพมันซับซ้อน ไม่ได้เคลียร์หมดกันชาติต่อชาติ ชาติที่แล้วร้าย ชาตินี้ต้องรับกรรม
หรือชาติที่แล้วเป็นคนดี ชาติต้องได้เสวยสุข พอตัวละครชาติก่อนร้ายเกิดมาดีเลยเกิดข้อกังขาว่าไม่ยุติธรรม
แต่ตามหลัก(อ้างอิงคติเรื่องเวรกรรมและการเวียนว่ายตายเกิดจากเรื่องเล่าในพระไตรปิฎก) เวรกรรมไม่ได้รีเซ็ตกันชาติต่อชาติ
หากแต่สามารถอีรุงตุงนัง ลากยาวเป็นร้อยๆ ชาติก็ได้ หรือบางอย่างไม่รอข้ามชาติรับผลทันตาในชาตินั้นเลยก็มี
(หรือรับแค่ส่วนเดียวแล้วไปรับที่เหลือต่อชาติอื่นก็มี)

อย่างซ้องปีบ ใจร้ายใจดำ ปากคอเราะราย อกุศลนี้ควรส่งให้เกิดมาหน้าตาไม่สวย ผิวพรรณหยาบกร้าน รูปร่างไม่งาม ฯลฯ
แต่ทำไมยังเกิดมาสวยเป๊ะ เพอร์เฟคอยู่เลย (ถ้าไม่นับว่าเพราะละครข้ามชาติภพตามขนบบ้านเราต้องนักแสดงคนเดิม เพื่อความเข้าใจง่ายของคนดู)
อันนี้ก็อาจจะเพราะก่อนมาเกิดเป็นซ้องปีบ นางอาจจะเคยสร้างกุศลใหญ่ที่ทำให้เกิดมารูปสวยรูปงามได้หลายชาติหลายภพก็ได้ค่ะ

กุศลบางอย่างให้ผลเป็นร้อยเป็นพันชาติ อกุศลก็ให้ผลเป็นร้อยเป็นพันชาติเหมือนกัน มันก็จะปนเปกันไป
ตัวอย่างในพระไตรปิฎก มีพระสาวกรูปหนึ่ง ท่านเคยสร้างกุศลที่ทำให้รูปงามหลายร้อยชาติ
แต่มีชาติหนึ่งที่ความรูปงามล่อให้สร้างอกุศล ผิดศีลข้อกาเมฯ จนตกนรกไปสักพัก พ้นจากนรกมา รับเศษกรรมที่ผิดศีลต่อ
ไปเกิดเป็นวัว กุศลเก่าก่อนหน้ายังตามมาให้ผล ให้ท่านได้เป็นวัวที่รูปงามอยู่เลย

ซ้องปีบ/พริมพี่ก็คงอย่างนั้น เคยสร้างกุศลที่ทำให้หน้าตาดี ทำให้รวย ทำให้ฉลาดมามาก
(ตอนเป็นซ้องปีบก็ฉลาดเรียนหนังสือเก่งพ่อถึงรัก เป็นพริมพี่ก็จบหมอ)
กุศลเก่าเหล่านี้ยังแรงก็ยังให้ผลอยู่ แต่อกุศลพวกใจร้ายใจดำพูดจาไม่เพราะก็ไม่ได้หนีหายไปไหน คงไปรอคิวให้ผลทีหลังตอนกุศลเก่าอ่อนแรงลง
(หรืออย่างเบาะๆ ณ ตอนนี้ก็แอบแทรกมาให้ติดนิสัยพูดจาเหวี่ยงวีน จนคนรอบข้างระอาในบางครั้ง ทำให้รักหมดใจไม่ลงก็เป็นได้)

กับข้อที่ว่า ผีกาสะลองจะมาทวงแค้นอะไรกับพริมพี่ที่ไม่รู้เรื่องด้วย ทำไมไม่ทวงตั้งแต่เป็นซ้องปีบ ดูไม่ยุติธรรม

ส่วนหนึ่งอาจเพราะก็ซ้องปีบตายไล่ๆ กันกับกาสะลอง เลยตามทวงไม่ทัน
จนมาชาตินี้ยังต้องรอตั้งนาน จนโตอายุยี่สิบกว่า คบกับหมอกฤตมาตั้ง 7-8 ปีกว่าจะถึงเวลาทวง

แต่อีกเหตุผล ถ้ากาสะลองเป็นตัวแทนของกฎแห่งกรรม ความยุติธรรมของกฎแห่งกรรมอาจไม่เหมือนกับความยุติธรรมตามใจเราๆ
เราคิดว่าใครทำอะไรต้องได้อย่างนั้น ทันทีทันควัน คือยุติธรรม
(โดยเฉพาะถ้าใครทำเรา เราต้องได้เห็นเขารับกรรม ถ้ายังไม่เห็นก็ร้องว่าไม่ยุติธรรมๆ ---เห็นกันบ่อยๆ)

แต่ความยุติธรรมของกฎแห่งกรรม คือ ใครทำอะไรไว้ ต้องได้รับผลของการกระทำนั้นเสมอทุกอย่างทุกการกระทำ

เมื่อมัน "ทุกอย่างทุกการกระทำ" อะไรที่ใครเคยทำดีก็ต้องได้ น้ำหนักของมันอาจมากจนได้รับผลหลายภพชาติ
กรรมอื่นที่น้ำหนักน้อยกว่าหรือเกิดทีหลังก็ต้องรอไปก่อน

แต่ถ้าอะไรที่ถึงวาระที่แสดงผลพร้อมกันได้ ไม่ขัดแย้งกัน บางทีมันแสดงผลเลย
อย่างเรื่องในพระไตรปิฎกที่พระสาวกเคยเกิดเป็น "วัวรูปงาม"
หรืออย่างพริมพี่ ที่เกิดมาสวย รวย ฉลาด แต่ต้องผิดหวังในความรัก

แต่ความยุติธรรมแบบนี้ก็เป็นหนึ่งความน่ากลัวของสังสารวัฏเช่นกัน เพราะผลที่ต้องได้รับแน่ๆ แต่ยาวนาน จนเราอาจจดจำไม่ได้แล้วว่าเคยทำมา
ต่อให้ชาตินี้เรามั่นใจว่าเราทำดี ก็ไม่ใช่เครื่องรับประกันว่าเราจะไม่เจอเรื่องเลวร้ายไม่คาดฝันที่เป็นผลจากที่เราเคยทำไม่ดีมาก่อนเมื่อแสนนานมาแล้ว
(เหมือนพริมพี่ที่รู้สึกว่าชาตินี้ไม่เคยก่อกรรมหนัก แต่ดันถูกผีตามรังควาน)
หรือชาตินี้เราดีแล้ว ได้รับแต่สิ่งดีๆ ด้วย แต่ก็ไม่รู้ว่าอนาคตข้างหน้าจะมีสักชาติมั้ยที่พลาดเดินลงที่ต่ำ จนต้องรับกรรมหนักหนาสาหัส

ตามคติพุทธศาสนาจึงบอกว่า สังสารวัฏเป็นที่ที่น่ากลัว ไม่ใช่ที่อันพึงอยู่เลย
เป้าหมายสูงสุดของพุทธศาสนาจึงคือการออกจากการเวียนว่ายในสังสารวัฏ
ไม่ใช่แค่ทำความดีสร้างกุศลให้ได้เกิดมาหล่อสวย ร่ำรวย เฉลียวฉลาด
หรือได้ไปเกิดในสวรรค์ เพราะเสวยสุขยาวนานแค่ไหนก็ต้องมีวันจบ
และตราบใดยังเวียนว่ายก็ต้องมีโอกาสพลาดได้เสมอ

เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้แลฯ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่