Wood Wide Web เครือข่ายการสื่อสารของต้นไม้ใต้ผืนดิน

คุณทราบหรือไม่ว่าต้นไม้มีการเชื่อมต่อสื่อสารกันอย่างลับ ๆ ใต้พื้นดิน ผ่านทางเครือข่ายขนาดใหญ่ของเชื้อเห็ดราซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติได้ทำแผนที่ของเครือข่ายเห็ดรานี้เป็นครั้งแรกของโลก เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาใช้ในการจัดการทรัพยากรป่าไม้ สำหรับรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก

การศึกษานี้เป็นความร่วมมือกันระหว่างทีมนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งสหพันธ์สวิส ในนครซูริก กับมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ของสหรัฐฯ โดยใช้ฐานข้อมูลจากโครงการ Global Forest Initiative ซึ่งครอบคลุมผืนป่า 1.2 ล้านแห่ง ในกว่า 70 ประเทศทั่วโลก จากนั้นนำข้อมูลจากการสำรวจป่าไม้ที่ได้มาสร้างแบบจำลองจนได้เป็นภาพเสมือนจริงของเครือข่ายเห็ดราเอคโตไมคอร์ไรซา

เราอาจคิดว่าต้นไม้แต่ละต้นจะแยกกันเจริญเติบโต แต่นักวิทยาศาสตร์พบว่าสายสัมพันธ์ระหว่างต้นไม้ลึกซึ้งกว่าที่คิด ต้นไม้สามารถสื่อสาร แลกเปลี่ยน และทำลายกันและกันได้ โดยอาศัยเชื้อราที่กระจายอยู่รอบต้น และข้างในรากเป็นตัวเชื่อม 

ทีมนักวิทยาศาสตร์เรียกเครือข่ายการติดต่อสื่อสารใต้ดินของเห็ดราซึ่งมีอายุเกือบ 500 ล้านปีนี้ ว่า Wood Wide Web ซึ่งเป็นระบบที่เกื้อกูลซึ่งกันและกัน โดยเห็ดราเอคโตไมคอร์ไรซาที่เติบโตอยู่ในรากพืชจะให้สารอาหารแก่ต้นไม้ และได้รับน้ำตาลเป็นการตอบแทน

เชื่อว่ากันต้นไม้ใหญ่ ๆ ใช้เครือข่ายเชื้อราส่งผ่านน้ำตาลให้ต้นกล้ารอบ ๆ เพิ่มโอกาสมีชีวิตรอด ส่วนต้นไม้ที่ป่วย หรือกำลังจะตายก็อาจจะส่งต่อสารอาหารไปให้ต้นไม้ที่ยังแข็งแรงใช้ต่อ ต้นไม้ยังใช้เชื้อราในการส่งสัญญาณไปให้ต้นข้าง ๆ ด้วย เช่น เมื่อถูกโจมตี พวกมันก็จะส่งสารเคมีไปบอกต้นไม้รอบ ๆ ถึงพิษภัยที่กำลังมาถึง

ศ.โธมัส คราวเธอร์ หนึ่งในนักนิเวศวิทยาที่ร่วมการศึกษาครั้งนี้ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีว่า "นี่เป็นครั้งแรกที่เราสามารถทำความเข้าใจโลกที่อยู่ใต้เท้าของเราได้ในระดับที่ครอบคลุมผืนป่าทั่วโลก"

งานวิจัยชิ้นนี้เผยให้เห็นว่า นอกจากเครือข่ายเห็ดราเอคโตไมคอร์ไรซาจะมีความจำเป็นมากต่อการเติบโตของต้นไม้ทั่วโลก แต่ก็ยังมีบทบาทสำคัญในการจำกัดความรุนแรงของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก

โดยจากการศึกษาพบว่า กว่า 60% ของต้นไม้ในโลกเชื่อมต่อกันโดยเห็ดราเอคโตไมคอร์ไรซา ซึ่งเป็นเห็ดราชนิดที่ช่วยเก็บกักก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศได้มากกว่า และมักพบเห็ดราชนิดนี้ในสภาพอากาศที่เย็น

แต่นักวิทยาศาสตร์คาดว่าอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น จะทำให้เห็ดราชนิดนี้ลดจำนวนลงแล้วแทนที่ด้วย "อาร์บัสคูลาร์ ไมคอร์ไรซา" (Arbuscular mycorrhiza) ซึ่งเป็นเห็ดราชนิดที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศโลก ซึ่งอาจยิ่งเร่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคต

นักวิทยาศาสตร์มองว่า การทำแผนที่นี้เป็นความพยายามอีกขั้นในการฟื้นฟูความสมดุลทางธรรมชาติ เพราะจะช่วยให้เราเข้าใจว่าระบบนิเวศแบบใดสามารถสนับสนุนพืชชนิดใดได้บ้าง ซึ่งข้อมูลนี้จะช่วยให้ผู้จัดการป่าทราบว่าพืชชนิดใดเหมาะจะอยู่ในพื้นที่โดยยึดจากเห็ดราที่มีอยู่ในแถบนั้น
 
 

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
ภาพยนตร์ที่สร้างโดย James Cameron เรื่อง Avatar ที่เข้าฉายในปี 2009 ภาพยนตร์เรื่องนี้ มีฉากหนึ่งที่จำลองสถานที่ดวงจันทร์แห่งป่า(The Forest Moon) เป็นจุดที่สิ่งมีชีวิตเชื่อมโยงกัน  สิ่งมีชีวิตทั้งหมดจะทำการติดต่อสื่อสารกันเพื่อจัดการทรัพยากรต่างๆ ของดวงดาว ผ่านทางเส้นใยที่มีลักษณะคล้ายเต้าเสียบและเต้ารับซึ่งเป็นอวัยวะของสิ่งมีชีวิตที่ใช้เชื่อมโยงถ่ายทอดข้อมูลกันดูเหมือนว่าดาวดวงนี้จะมีลักษณะคล้ายคลึงกันการค้นพบที่เกิดขึ้นในโลกนี้

                                               ภาพการประมวลผลของต้นไม้ในภาพยนตร์ฟเรื่อง Avatar: (Credit: Photos 12  /  Alamy)

ที่มา  BBC Thai
BBCNEWS/ไทย
division.dwr.go.th
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่