Where We Belong: เป็นวัยรุ่น มันเจ็บปวด


By มาร์ตี้ แม็คฟราย
*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของหนัง

การมีชื่อของ คงเดช จาตุรันต์รัศมี เป็นผู้กำกับของหนังเรื่องนี้ ตามประสาคนดูหนังที่พอจะตามงานของอดีตนักดนตรีวงสี่เต่าเธออยู่บ้าง อย่างน้อยก็ผลงานในช่วงหลัง ๆ ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาทันที ว่าเหตุใด BNK Film ถึงเลือกผู้กำกับคนนี้เป็นมากำกับหนังของค่าย เพราะผู้กำกับที่ชื่อคงเดชเป็นผู้กำกับที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวสูง และผลงานของเขาอยู่กึ่งกลางระหว่างความเป็นหนังตลาดกับหนังเพื่อศิลปะมาโดยตลอด เพราะไม่ว่ามองในทางใด BNK นั้นดูจะเหมาะกับการขายความแมสมากกว่า ทั้งภาพลักษณ์ของวง และความง่ายต่อการขายหนัง 

นั่นทำให้ตัวผู้เขียนเองมองข้ามโทนหนังที่ดูเบา ๆ ในตัวอย่างออกไปหมด เพราะรู้มือของพี่คงเดชอยู่แล้วว่าจริง ๆ แล้วเขาเป็นคนยังไง แม้ว่าหน้าหนังจะพยายามเติมแต่งให้ภายนอกดูเป็นสีลูกกวาดอย่างไรก็ตาม ยังไงตัวหนังมันคงไม่ใช่สีลูกกวาดแบบตัวอย่างอยู่แล้ว 

ผลลัพธ์คือไม่ใช่แค่ไม่ใส่สีลูกกวาด แต่ภายในคือยาขมเลยทีเดียว และสามารถบอกไว้ตรงนี้ได้เลยว่า นี่คือหนังดราม่าวัยรุ่นที่ยอดเยี่ยมอีกเรื่องหนึ่งที่ควรค่าแก่การได้รับการยกย่อง

Where We Belong อาจเปรียบเทียบชีวิตมนุษย์คนหนึ่ง โดยเฉพาะวัยรุ่นที่หากดูภายนอกเราจะเห็นสีลูกกวาด โดยที่ไม่รู้เลยว่าภายในนอกจากไม่มีสีลูกกวาดแบบที่คนภายนอกมองแล้ว ใครจะรู้ว่าภายในเต็มไปด้วยความทุกข์และสับสนอย่างแสนสาหัส 

เช่นตัวละครอย่าง ซู หากมองภายนอก เธอก็ดูเป็นเด็กวัยรุ่นธรรมดาที่เรียนดีพอที่จะขอทุนไปเรียนต่อถึงประเทศ ‘ฟินแลนด์’ ได้ บ้านทำร้านก๊วยเตี๋ยวชื่อดังประจำจังหวัด มีเพื่อนฝูง สีลูกกวาดที่ฉาบในตัวมีไม่น้อย เพราะดูว่าชีวิตไม่น่าจะมีเรื่องให้ลำบากอะไร 

นั่นเป็นสิ่งที่มองจากภายนอก เช่นเดียวกับคนดูในช่วงแรกเริ่มของหนัง ตัวหนังค่อย ๆ เล่าปมเรื่องราวของทั้งสองตัวละครอย่างซูและ เบลล์ อย่างค่อยเป็นค่อยไป มีการทิ้งปมไว้รายทางอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นในช่วงครึ่งแรกของหนังคนดูจึงทำได้เพียงติดตามชีวิตและได้แต่วิเคราะห์ถึงปมต่าง ๆ ที่หนังทิ้งไว้ให้มากมาย จนมาถึงช่วงครึ่งหลังของหนังที่เรื่องราวเริ่มกลับมาทบทวนรวมถึงแสดงที่มาที่ไปของปมเหล่านั้น ราวกับพายุที่โหมกระหน่ำตัวละครอย่างเจ็บปวดรวดร้าว

ประเด็นในเรื่องของ ‘เราเป็นเจ้าของชีวิตตัวเองแค่ไหน’ และ ‘เราไม่รู้สึกว่าที่นี่เป็นที่ของเรา’ สำหรับตัวละครอย่างซู หากมองในช่วงแรกของหนังที่เปิดให้เรารู้สึก ‘ที่นี่’ ก็เปรียบเป็นคุกที่กักขังไม่ให้ชีวิตเธอไปไหนได้ นอกจากเรียน ต้องไปจ่ายตลาดเพื่อมาขายก๊วยเตี๋ยว ต้องรับภาระหน้าที่ธุรกิจของที่บ้าน โดยที่เธอไม่อาจเดินทางตามความฝัน หรืออีกแง่ เธอไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเธอมีความฝันอะไร เพราะทุกวันนี้ก็อยู่แต่กับร้านก๊วยเตี๋ยว

แต่หากลองวิเคราะห์ดี ๆ มันไม่ใช่แค่เธอรู้สึกว่าที่นี่ไม่ใช่ที่ของเธอเท่านั้น แต่แท้จริงแล้ว เธอต้องการจากหลีกหนีจากความทุกข์ในอดีตที่เป็นปมในใจเธอต่างหาก ซึ่งนี่ประเด็นหลัก ทั้งเรื่องแม่ (ที่เสียชีวิตไปแล้ว) ปมเรื่องเพื่อนสนิทคนก่อน (ที่สันนิษฐานได้ว่าเธอเป็นคนทำลายความสัมพันธ์นั้นด้วยตนเอง จากเหตุผลบางประการ) และต้องเจ็บปวดกับการที่ได้เห็น ’หัวใจ’ ของแม่ที่ถูกถ่ายโอนไปให้คนอื่นตามความประสงค์ก่อนสิ้นชีวิตผ่านการบริจาคอวัยวะ และคนที่ได้หัวใจนั้น ดันใช้ชีวิตอย่างไม่เกิดประโยชน์ต่อชีวิตและไม่มีคุณค่าใด ๆ ต่อสังคม

ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ซูต้องแบกรับตั้งแต่ตื่นนอนจนหลับตา เพราะเธอไม่อยากทุกข์อีกต่อไป 

แต่สิ่งที่ซูพบเจอยังไม่ใช่แค่นั้น เมื่อเธอได้หลงเชื่อว่าทุกอย่างกำลังจะดีขึ้น ด้วยการคลายปมต่อแม่ ผ่านสิ่งที่เธอไม่มีทางจะเชื่อมันได้ แต่สุดท้ายเธอก็เชื่อ และเปลี่ยนความคิดเรื่องไปจากที่นี่ เพราะมันได้ปลดล็อกความทุกข์ที่เก็บมานาน จนกระทั่งวันนั้นมาถึง วันที่เธอพบความจริงที่ว่า เธอปลดล็อกความทุกข์นั้นได้ก็จริง แต่มันก็มาจากการหลอกลวงและแกล้งทำเพื่อให้เธอรู้สึกเท่านั้น โลกของเธอจึงพังทลายลง และไม่มีทางอยู่รวมกับ ณ ที่แห่งนี้ได้อีกต่อไป 

หากซูเป็นผู้ใหญ่ เธอคงสามารถรับมือกับเรื่องราวต่าง ๆ หรือความทุกข์เหล่านี้ได้ดีกว่านี้ อย่างน้อยก็จะมีวิธีการคิดเพื่อปล่อยวางความคิดนี้ลง แต่เธอเป็นเพียงเด็กวัยรุ่นคนหนึ่ง เรื่องนี้ใหญ่เกินกว่าที่เด็กวัยรุ่นคนหนึ่งจะรับได้ ในฉากที่บนเครื่องเล่นที่การแสดงของ เจนนิษฐ์ โอ่ประเสริฐ ควรได้รับการยกย่องอย่างจริงจัง 

แต่ซูคงมองเรื่องนี้เปลี่ยนไป เมื่อเธอเติบโตขึ้น เมื่อเธอผ่านเรื่องราวนี้ไป และมองกลับมาด้วยสายตาของคนที่ผ่านโลก ผ่านความเจ็บปวด และเป็นผู้ใหญ่ 

พี่คงเดชก็ยังคงเป็นพี่คงเดช เขายังใส่เอกลักษณ์และการเล่าเรื่องเฉพาะของตนเองแบบไม่อ้อมมือและไม่ประนีประนอม ทั้งมุมมองต่อสังคม การแฝงประเด็นการเมือง การตั้งคำถามต่อชีวิตของมนุษย์ ตลอดจนความกล้าในการพาหนังไปสู่สิ่งที่คาดไม่ถึง ผ่านฉากบางฉากที่อาจทำให้คนดู ‘เหวอ’ ต่อสิ่งที่กำลังเห็นตรงหน้า และสิ่งที่น่าชื่นชมที่เห็นได้ชัด ๆ คือหนังของเขามักจะถ่ายทอดสภาพบ้านเมืองในต่างจังหวัดได้อย่างน่าสนใจอย่างมีนัยยะสำคัญและสวยงามเสมอ สิ่งนี้เราได้เห็นมาตั้งแต่ผลงานก่อน ๆ แล้ว 

เหนือสิ่งอื่นใด ประเด็นที่ผู้เขียนสนใจเป็นพิเศษคือความแตกต่างของมนุษย์ เช่นเรื่องราวของเพื่อนสนิทอย่าง เบลล์ ที่แม้ว่าตัวละครนี้จะมีทัศนคติแตกต่างกับซูอย่างชัดเจน ด้วยปมปัญหาที่ต่างกัน เธอพอใจกับชีวิตความเป็นอยู่แบบนี้ ไม่ได้อยากทำงานอะไร จุดประสงค์ที่ชัดเจนคือเธออยากดูแลย่าที่อยู่ในวัยไม้ใกล้ฝั่งมากที่สุด เพราไม่รู้ว่าจะเหลือเวลาเท่าไหร่สำหรับย่าของเธอ 

ที่สำคัญ ชีวิตในเมืองหลวงที่เจริญกว่าสังคมที่เธออยู่ก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่น่าใฝ่หา ตรงกันข้าม มันเป็นสิ่งที่เธอพยายามหลีกหนี ด้วยเหตุผลเพราะว่าเธอไม่อยากเหมือนแม่ ที่พยายามใช้ชีวิตในเมืองอย่างคนไร้สติ หลงมั่วเมาวัตถุนิยม โดยที่ไม่ได้มองตัวตนเลยแม้แต่น้อย ทำให้สังคมและผู้คนในเมือง ก็เป็นอะไรที่ ‘ไม่ใช่ที่ของฉัน’ สำหรับเบลล์เหมือนกัน 

มนุษย์ทุกคนต่างก็มีความพอใจใน ‘ที่ของตัวเอง’ ต่างกัน ดังเช่นในฉากจบของหนังที่เราไม่อาจจะรู้ว่าเบลล์คิดอย่างไร และต้องเจออะไรต่อนี้ เมื่อซูได้จากไปแล้ว แต่อย่างน้อยสีหน้าของเบลล์ในการขี่มอเตอร์ไซด์ไปไหนมาไหนก็ยังเป็นสีหน้าที่ดูพอใจกับที่แห่งนี้ 

ชีวิตก็แค่ดำเนินต่อไป ตามทางของเธอ เช่นเดียวกับซู ที่เดินไปในทางของตัวเอง .

ขอบคุณรูปภาพจาก adaymagazine

ติดตามบทความจากภาพยนตร์เรื่องอื่น ๆได้ที่ https://www.facebook.com/thelastseatsontheleft
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่