การที่ส่งมหาอุปราชไปครองเมืองพิษณุโลกในยุคอยุธยา นี่มีความคล้ายกับตำแหน่งของ Prince of Wales มั้ยครับ

สมมุติธรรมเนียมส่ง รัชทายาท ไปครองเมือง พิษณุโลก ในสมัยอยุธยาได้รับการสืบทอดมาจนปัจจุบัน
คิดว่าตำแหน่ง รัชทายาท จะได้ ทรงกรม เป็น กรมสมเด็จพิษณุโลก งี้มั้ยครับ
คล้ายๆกับ Prince of Wales หรือ โดแฟ็ง แห่ง ฝรั่งเศส อะไรอย่างงี้อ่ะครับ
ความคิดเห็นจาก Expert Account
ความคิดเห็นที่ 4
ตามความเห็นบนครับ คือ การปกครองเมืองพิษณุโลกไม่ได้เป็นการบ่งบอกถึงสถานะรัชทายาทครับ และพระมหาอุปราชก็ไม่ได้ปกครองเมืองพิษณุโลกทุกพระองค์ เอาจริงๆ ที่ได้ปกครองเมืองพิษณุโลกมีเพียงไม่กี่พระองค์เท่านั้น  ส่วนใหญ่แล้วมีสาเหตุมาจากการควบคุมดูแลหัวเมืองฝ่ายเหนือในรัฐสุโขทัยเดิม และการรับศึกจากล้านนาเป็นหลัก


เมืองพิษณุโลกปรากฏความสำคัญมากในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถที่ทรงย้ายไปตั้งราชธานีที่พิษณุโลก เพื่อรับศึกกับล้านนาที่ลงมาแย่งชิงอำนาจในหัวเมืองของรัฐสุโขทัยเดิม ในครั้งนั้นจึงทรงสถาปนาพระโอรสคือสมเด็จพระบรมราชาธิราช (พระอินทราชา) ครองกรุงศรีอยุทธยาแทน การปกครองของอยุทธยาในยุคนั้นจึงคล้ายกับแยกเป็นสองราชสำนัก

พ.ศ. ๒๐๒๘ สมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ ทรงสถาปนาสมเด็จพระเชษฐาธิราช พระโอรสอีกองค์เป็นพระมหาอุปราช   พิจารณาจากพระนามแล้วเข้าใจว่าทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ที่ประสูติจากพระอัครมเหสี (สมเด็จพระบรมไตรโลกนารถเมื่อก่อนโสกันต์ก็ใช่พระนามนี้ ทั้งที่ทรงมีพระเชษฐาอยู่คือสมเด็จพระนครอินทร์) มีการสันนิษฐานว่าทรงเป็นพระมหาอุปราชของสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถที่พิษณุโลก   เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถสวรรคตใน พ.ศ. ๒๐๓๑ สันนิษฐานว่าสมเด็จพระเชษฐาธิราชคงจะได้เสวยราชสมบัติในเมืองพิษณุโลกต่อมา

พ.ศ. ๒๐๓๔ สมเด็จพระบรมราชาธิราชสวรรคต สมเด็จพระเชษฐาธิราชจึงลงมาเสวยราชสมบัติที่กรุงศรีอยุทธยา ทรงพระนามว่าสมเด็จพระรามาธิบดี  ไม่ปรากฏว่าทรงแต่งตั้งพระมหาอุปราชครองเมืองพิษณุโลกเลย จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๐๖๙ จึงทรงสถาปนาสมเด็จพระอาทิตย์ ซึ่งเป็นสมเด็จหน่อพุทธางกูรเจ้า ตำแหน่งพระราชโอรสที่ประสูติแต่พระอัครมเหสีขึ้นเป็นพระมหาอุปราชครองเมืองพิษณุโลกอีกครั้ง

สันนิษฐานว่าพระองค์น่าจะมีอำนาจอยู่ในหัวเมืองเหนือมาก่อนเป็นพระมหาอุปราชแล้ว เพราะปรากฏในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ว่าใน พ.ศ. ๒๐๖๕ "พญาอาทิตย์กินเมืองใต้ใคร่สืบไมตรีใช้ทูตมาสืบคำเมืองไปอ่านราชสารไมตรีวัดหมื่นสาร" (เมืองใต้ เป็นคำที่ล้านนาใช้เรียกดินแดนใต้ตนลงไป รวมๆ ทั้งสุโขทัยและอยุทธยา)  สาเหตุที่ตั้งพระอาทิตย์มาครองเมืองเหนืออาจเป็นเพราะในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีปรากฏศึกสงครามกับล้านนาหลายครั้ง

นอกจากนี้ การตั้งพระมหาอุปราชอาจเป็นผลจากความวุ่นวายทางการเมืองในเวลานั้นด้วย เพราะปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ว่าในช่วงเวลาก่อนหน้าจะตั้งพระมหาอุปราชมีอาเพศเหตุร้ายเกิดติดต่อกันหลายครั้งคือ

ศักราช ๘๘๖ วอกศก (พ.ศ. ๒๐๖๗) (ครั้ง) นั้นเห็น (งา) ช้างต้นเจ้าพระยาปราบแตกข้างขวายาวไป อนึ่งในเดือน (นั้นมีผู้ทอดบัตร) สนเท่ห์ (ครั้งนั้นให้) ฆ่าขุนนางเสียมาก

ศักราช ๘๘๗ ระกาศก (พ.ศ. ๒๐๖๘) น้ำน้อย ข้าวเสียสิ้นทั้งปวง อนึ่งแผ่นดินไหวทุกเมือง แล้วและเกิดอุบาทว์เป็นหลายประการ

ครั้งรุ่งปีขึ้นศักราช ๘๘๘ จอศก (พ.ศ. ๒๐๖๙) (ข้าวสารแพง) เป็น ๓ ทะนานต่อเฟื้องเบี้ยแปดร้อย เกวียนหนึ่งเป็นเงินชั่งหกตำลึง ครั้งนั้นประดิษฐานสมเด็จหน่อพุทธางกูรเจ้าในที่อุปราช และให้เสด็จขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลก


โดยปกติแล้วเอกสารประเภทพงศาวดารความย่อหรือปูมโหรมักจะจดเหตุการณ์ธรรมชาติที่ผิดปกติหรือลางร้ายต่างๆ ไว้ก่อนจะกล่าวถึงเหตุการณ์สำคัญ จึงเป็นไปได้ว่าเหตุอาเพศที่เกิดขึ้นเป็นการบ่งชี้ถึงความวุ่นวายทางการเมืองในยุคนั้น จนต้องตั้งพระมหาอุปราชขึ้นไปดูแลหัวเมืองฝ่ายเหนือหลังจากที่ว่างเว้นมามากกว่า ๓๐ ปี

อ.พิเศษ เจียจันทรพงษ์ สันนิษฐานว่าเหตุที่สมเด็จพระรามาธิบดีทรงรั้งรอไม่ยอมตั้งพระอาทิตย์เป็นพระมหาอุปราชเพราะพระองค์ต้องการจะรวบอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง แต่อิงจากพงศาวดารที่กล่าวว่าเกิดอาเพศหลายอย่างจึงอ้างว่าเป็นนัยของการบ่งบอกถึงความวุ่นวายที่ไม่ได้ตั้งพระมหาอุปราชและเป็นไปได้ว่าอาจจะมีการกดดันจากผู้มีอิทธิพลเช่นเชื้อพระวงศ์ในหัวเมืองฝ่ายเหนือ จนในที่สุดพระองค์จึงสถาปนาพระอาทิตย์เป็นพระมหาอุปราชครับ


พ.ศ. ๒๐๗๒ สมเด็จพระรามาธิบดีสวรรคต สมเด็จพระอาทิตย์ลงมาครองกรุงศรีอยุทธยา ทรงพระนามสมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร ไม่ปรากฏหลักฐานว่าทรงแต่งตั้งพระมหาอุปราชครองเมืองพิษณุโลก   มาถึงรัชกาลสมเด็จพระไชยราชาก็ปรากฏว่าเมืองพิษณุโลกปกครองโดย "พญาพิษณุโลก" ไม่ใช่พระมหาอุปราช


พ.ศ. ๒๐๙๑ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิขึ้นครองราชย์ ทรงสถาปนาขุนพิเรนทรเทพเป็นสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช เป็นพญามหานครครองเมืองพิษณุโลกในสถานะ "เจ้าขัณฑสีมา"  สถานะใกล้เคียงกับกษัตริย์รัฐสุโขทัยในอดีต มีอำนาจเป็นสิทธิ์ในหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งเจ็ด เสมือนเป็นการกระจายอำนาจการปกครองใกล้เคียงกับกึ่งนครรัฐในสมัยอยุทธยาตอนต้น  ไม่ได้ตั้งเป็นพระมหาอุปราช  แต่ได้รับพระบัณฑูรคือเรียกคำสั่งว่าพระราชบัณฑูรเหมือนพระมหาอุปราช

แต่ในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิอาจจะมีการตั้งพระมหาอุปราชอยู่ เพราะปรากฏในจารึกพระเจดีย์ศรีสองรัก พ.ศ. ๒๑๐๓ กล่าวถึง "พระมหาอุปราชเจ้า" ของอโยธยาและล้านช้างเป็นตัวแทนมาเจริญสัมพันธไมตรีกัน  แต่พระมหาอุปราชองค์นี้คงไม่ได้ครองพิษณุโลก


พ.ศ. ๒๑๑๔ หลังจากสมเด็จพระมหาธรรมราชาครองกรุงศรีอยุทธยา  สมเด็จพระนเรศวรเสด็จไปเสวยราชสมบัติครองเมืองพิษณุโลก  พระองค์ทรงมีสถานะเป็นพระมหาอุปราชด้วย   แต่อย่างที่กล่าวคือตำแหน่งพระมหาอุปราชกับการครองเมืองพิษณุโลกไม่ใช่สิ่งเดียวกัน  ภายหลังเมื่อมีการเทครัวหัวเมืองเหนือทั้งหมดลงมายังพระนครเพื่อรับศึกหงสาวดี เมืองพิษณุโลกก็ถูกปล่อยร้างไปหลายปี


พ.ศ. ๒๑๓๖ หลังสงครามยุทธหัตถี สมเด็จพระนเรศวรทรงฟื้นฟูหัวเมืองเหนือขึ้นใหม่ ทรงแต่งตั้งพระยาชัยบูรณ์ ปลัดซ้ายเมืองพิษณุโลก ข้าหลวงเดิมขึ้นเป็น เจ้าพระยาสุรศรี เจ้าเมืองพิษณุโลก แต่ภายหลังปรากฏบุคคลชื่อ "สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระมหาธรรมราชา" ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นพระราชโอรสของพระองค์ น่าจะได้ครองเมืองพิษณุโลกในฐานะพระมหาอุปราชแทน  เพราะปรากฏถูกกล่าวถึงว่าเป็น "พระเจ้าฝ่ายหน้า" ซึ่งหมายถึงพระมหาอุปราช

อ่านเพิ่มเติมที่ "สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระมหาธรรมราชา โอรสพระนเรศผู้หายไปจากประวัติศาสตร์"
https://www.facebook.com/WipakHistory/posts/1395337233863076/
https://www.facebook.com/WipakHistory/posts/1398919600171506/


หลังจากนั้นก็ไม่ปราฏการสถาปนาพระมหาอุปราชให้ไปปกครองเมืองพิษณุโลกอย่างมีอำนาจเต็มอีกเลย มาถึงรัชกาลพระเจ้าปราสาททอง ปรากฏในหลักฐานชั้นต้นของดัตช์ระบุว่าพระเจ้าปราสาททองโปรดให้พระอนุชาคือพระศรีสุธรรมราชา (ดัตช์ว่าเป็นพระมหาอุปราช) น่าจะประทับที่เมืองพิษณุโลกในช่วงระหว่าง พ.ศ. ๒๑๘๗-๒๑๙๕ เพราะทรงอยากให้พระราชโอรสได้ราชสมบัติมากกว่า จึงหาเหตุส่งไปอยู่ไกลๆ สันนิษฐานว่าให้ไปประทับอยู่เฉยๆ มากกว่าในสถานะพระมหาอุปราชที่มีอำนาจเต็มอย่างใดอดีต  ต่อมาในระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๑๙๕ - กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๑๙๘ เจ้าฟ้าไชยได้ปกครองเมืองพิษณุโลกแทน แต่ก็ไม่ได้เป็นพระมหาอุปราช

หลังจากนี้ก็ไม่มีหลักฐานการส่งเจ้านายไปปกครองเมืองพิษณุโลกอีกเลย เมืองพิษณุโลกในสมัยหลังจึงมีสถานะเป็นเพียงหัวเมืองชั้นเอกที่ปกครองโดยขุนนางเท่านั้นครับ  พระมหาอุปราชในยุคต่อมาประทับอยู่ในพระนครตลอด



ส่วน Prince of Wales กับ Dauphin of France เป็นตำแหน่งรัชทายาทค่อนข้างตายตัวครับ เพราะส่วนใหญ่แล้วสงวนไว้ให้พระราชโอรสองค์ใหญ่เท่านั้น   จะต่างกันที่ Prince of Wales มาจากการสถาปนาโดยกษัตริย์ ไม่ได้สืบทอดตามสายเลือด   ส่วน Dauphin of France องค์รัชทายาทจะได้โดยอัตโนมัติตั้งแต่ประสูติ และหากรัชทายาทพระองค์นั้นสิ้นพระชนม์ พระโอรสของรัชทายาทก็จะได้รับตำแหน่งสืบต่อไปเป็นชั้นๆ    ต่างจากพระมหาอุปราชซึ่งไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นพระราชโอรส  

ในยุคหลัง Prince of Wales กับ Dauphin of France ก็มีแต่ชื่อไม่ได้มีอำนาจปกครองเมืองเวลส์หรือโดฟีเนแบบผู้มีอำนาจเต็ม  ไม่ต่างกับพระมหาอุปราชที่ปกครองเมืองพิษณุโลกครับ


นอกจากนี้ พระมหาอุปราช คือ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล โดยสถานะเท่ากับ "กรมพระ" ครับ    กรมสมเด็จนั้นสูงเกินไป ในสมัยโบราณสงวนไว้สำหรับพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่ที่เป็นที่เคารพนับถือและทรงมีพระพระอาวุโสกว่าพระเจ้าแผ่นดินครับ ตั้งเพียงไม่กี่พระองค์เท่านั้น  (เพิ่งมาปรากฏในรัชกาลปัจจุบันที่ใช้กับสมเด็จพระชนิษฐาฯ )
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่