ตำแหน่งของ สมเด็จพระมหาธรรมราชา ในสมัยของ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ?

ในจุดนี้มีข้อสงสัยครับ หรือในการบรมราชาภิเษก พระมหาจักรพรรดิ ก็ได้ทำการสถาปนา ขุนพิเรนทร ขึ้นมาเป็นกษัตริย์เหมือนกันและให้ครองพิษณุโลก แต่ก็มีข้อกังขาในตำแหน่งนี้ครับว่า

- นี่คงไม่ใช่ตำแหน่งพระมหาอุปราชใช่ไหมครับ เพราะดูแล้วน่าจะใหญ่ระดับเป็นกษัตริย์เทียบเคียงกันเลย และในขณะเดียวกัน พระเฑียรก็ได้ตั้งพระมหินทรขึ้นมาเป็นอุปราชในเวลาต่อมาอีกที ดังนั้นจึงคิดว่ามันไม่น่าจะซ้ำซ้อนกันได้

- แต่จะใช่แบบกษัตริย์คู่เหมือนสมัยพระจอมเกล้า กับ พระปิ่นเกล้า หรือไม่ เพราะดูแล้วมันไม่ได้เป็นไปในเชิงนั้น

- หรือว่าเป็นกษัตริย์ประเทศราชแห่งอาณาจักรสุโขทัยศรีสัชนาลัย เลยมีพระปรมาภิไธยเหมือนกับกษัตริย์แห่งสุโขทัยองค์ก่อนๆ เหมือนมอบหัวเมืองที่เคยยึดให้กลับไปเป็นอีกประเทศเลย แต่ตรงนี้ผมก็ยังหาหลักฐานมายืนยันสถานะของหัวเมืองนี้ ณ เวลานั้น ยังไม่ได้
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 3
พงศาวดารกล่าวถึงการสถาปนาขุนพิเรนทรเทพเป็นสมเด็จพระมหาธรรมราชาไว้ว่า

"แล้วตรัสว่า ขุนพิเรนทรเทพเล่า บิดาเป็นพระราชวงศ์พระร่วง มารดาไซร้ได้เป็นพระราชวงศ์แห่งสมเด็จพระชัยราชาธิราชเจ้า ขุนพิเรนทรเทพเป็นปฐมคิด เอาเป็นสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้า ให้รับพระราชบัณฑูรครองเมืองพิษณุโลก จึงตรัสเรียกสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระสวัสดิราชธิดา ถวายพระนาม ชื่อ พระวิสุทธิกษัตรีย์ เป็นตำแหน่งพระอัครมเหษีเมืองพิษณุโลก เครื่องราชาบริโภค ให้ตั้งตำแหน่งศักดิฝ่ายทหารพลเรือน เรือชัยพื้นดำพื้นแดงคู่หนึ่ง และเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ให้สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้าทรงขึ้นไป"

จึงเห็นได้ว่าสมเด็จพระมหาธรรมราชาได้รับการสถาปนาให้มีสถานะเป็น "กษัตริย์" เมืองพิษณุโลก ซึ่งมีราชสำนักเป็นของตนเอง และได้รับนาม "มหาธรรมราชา" เหมือนกษัตริย์สุโขทัยในอดีต


สถานะของสมเด็จพระมหาธรรมราชา ผมขอเลือกใช้คำว่า "สามนตราช" หมายถึงราชาในบริเวณรอบ ใกล้เคียงกับที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงใช้คำว่า "เจ้าขัณฑสีมา" คือทรงเป็นกษัตริย์ที่อยู่ภายใต้เครือข่ายบารมีของกรุงศรีอยุทธยาอีกต่อหนึ่ง โดยสถานะอาจจะใกล้เคียง "เจ้าประเทศราช" แต่ผมเห็นว่าสองคำที่กล่าวมานี้น่าจะมีสถานะสูงเจ้าประเทศราชทั่วไป

ทั้งนี้ประเทศราชทั่วไปเกิดจากการถูกรัฐเอกราชแผ่ขยายบารมีจนยอมอ่อนน้อม ไม่ว่าจะโดยสมัครใจหรือถูกใช้กำลังรุกราน แต่กรณีของสมเด็จพระมหาธรรมราชานั้นไม่ใช่ เพราะอำนาจของพระองค์ได้รับการพระราชทานมาจากกษัตริย์กรุงศรีอยุทธยา ในแนวทางที่อาจเรียกได้ว่าเป็น "การกระจายอำนาจ" หรือ "แบ่งอำนาจ" ทางการปกครอง โดยมอบอาณาบริเวณหนึ่งซึ่งอยู่ภายใต้ปริมณฑลอำนาจของอยุทธยาให้กับกษัตริย์อีกพระองค์หนึ่ง

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องธรรมดา เพราะในอดีต ราชสำนักอยุทธยาพยายาม "รวบอำนาจ" โดยผนวกหัวเมืองต่างๆ ให้มาอยู่ใต้อำนาจของส่วนกลางแล้ว ดังที่พบว่าไม่มีการสถาปนา "มหาธรรมราชา" อย่างในอดีต แต่กษัตริย์อยุทธยาไปครองเมืองพิษณุโลกเองบ้าง สถาปนาพระมหาอุปราชไปปกครองบ้าง จนภายหลังก็ไม่พบหลักฐานว่ามีพระราชวงศ์ไปปกครองอีก แต่ถึงรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ กลับต้องทรง "การกระจายอำนาจ"  หรือ "แบ่งอำนาจ" กลับไปให้สมเด็จพระมหาธรรมราชาให้มีสถานะเป็นกษัตริย์อีกพระองค์หนึ่ง รวมถึงพระราชทานพระธิดาให้ด้วยเป็นการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์

เรื่องนี้สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเพราะบารมีของพระมหาธรรมราชาที่มีอยู่มากในฐานะที่เป็นผู้ช่วยให้สมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้ราชสมบัติ และยังทรงมีความชอบธรรมในฐานะพระราชวงศ์อีก จึงเป็นการบีบให้พระมหาจักรพรรดิต้องทรงกระจายอำนาจการปกครองส่วนหนึ่งกลับไป เพื่อเป็นการถ่วงดุล


สถานะของสมเด็จพระมหาธรรมราชา จึงใกล้เคียงกับบรรดา "สามนตราช" ในสมัยอยุทธยาตอนต้น ที่หัวเมืองต่างๆ ต่างมีกษัตริย์หรือพระราชวงศ์เป็นผู้ปกครอง โดยมีอำนาจเต็มในตัว โดยมีเครือข่ายความสัมพันธ์กับราชสำนักอยุทธยา เช่น ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดี มีพระราเมศวรพระโอรสครองเมืองลพบุรี มีสมเด็จพระบรมราชาธิราช (ขุนหลวงพ่องั่ว) พี่พระมเหสีครองเมืองสุพรรณบุรี โดยที่สองเมืองนี้ไม่ได้ถูกนับเป็นประเทศราช  หรือในสมัยสมเด็จพระนครอินทร์ ให้โอรสทั้งสามครองเมืองสุพรรณบุรี แพรกศรีราชา และชัยนาท (พิษณุโลก) เป็นต้น

รูปแบบนี้ใกล้เคียงกับการปกครองในสมัยหงสาวดี ที่พระเจ้าหงสาวดีกระจายอำนาจการปกครองให้เหล่าพระญาติวงศ์ระดับสูง ครอบครองหัวเมืองสำคัญที่เป็นศูนย์กลางอำนาจระดับรองจากหงสาวดี เช่น ตองอู อังวะ แปร เมาะตะมะ ในสถานะ กษัตริย์ (ဘုရင့် Bayin) ซึ่งหัวเมืองเหล่านี้แม้จะอยู่ใต้ปริมณฑลอำนาจของหงสาวดีเหมือนประเทศราชก็จริง แต่โดยสถานะย่อมมีศักดิ์สูงกว่าประเทศราชทั่วไป


ส่วนที่หลักฐานบางชิ้น เช่น จดหมายเหตุของฟาน ฟลีต หรือพงศาวดารพม่า เรียกขานพระองค์ว่า ออกญาธรรมราชาบ้าง ออกญาพิษณุโลกบ้าง ผมขอแสดงความเห็นว่า คำว่า ออกญา หรือ พญา/พระยา ในยุคนั้นยังใช้ในความหมายถึง "เจ้า" อยู่  

แต่โบราณมาคำว่า พรญา หรือที่สมัยหลังเขียนว่า พญา/พระยา ก็เป็นคำที่ใช้เรียกเจ้าผู้ครองเมืองต่างๆ อยู่แล้ว ดังที่พบหลักฐานในจารึกของทั้งสุโขทัยและล้านนา บรรดากษัตริย์เมืองออกที่เป็นเจ้าหัวเมืองฝ่ายเหนือ ในเอกสารสมัยอยุทธยาก็ยังใช้ พญา/พระยา อยู่ เช่น พระยาบาลเมืองแห่งสองแคว พระยารามราชแห่งสุโขทัย พระยาแสนสอยดาวเมืองกำแพงเพชร ฯลฯ

แม้จะมีหลักฐานว่าอยุทธยามีบรรดาศักดิ์ พญา/พระยา ใช้กับขุนนางแล้ว แต่ก็ยังพบหลักฐานว่าคำนี้ถูกใช้เรียกกษัตริย์อยู่หลายครั้ง เช่น พระยาตองอู พระยาละแวก พระยากัมพูชาธิบดี พระยาล้านช้าง


เช่นเดียวกับคำว่า ออกญา หรือ ออกพญา ในสมัยโบราณใช้เป็นคำเรียกขานกษัตริย์ ดังที่ปรากฏในมหาชาติคำหลวงสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถซึ่งพบว่ามีการใช้คำว่า "ออก" นำหน้ากษัตริย์และพระราชวงศ์จำนวนมาก ได้เรียกพระเวสสันดรว่า ออกญา อยู่หลายตอน นอกจากนี้ยังปรากฏในจารึกวัดสรศักดิ์เมืองสุโขทัย สมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราช (เจ้าสามพระญา) เรียก "พ่ออยู่หัว" หรือกษัตริย์ของสุโขทัยในเวลานั้นว่า "พ่ออยู่หัวเจ้าธออกญาธรรมราชา"


มีข้อควรสังเกตอยู่ว่า คำว่า พญา/พระยา หรือ ออกญา นี้ ปรากฏในหลักฐานฝ่ายอยุทธยาเป็นหลัก แต่สำหรับหลักฐานของรัฐอื่นๆ เมื่อจะเรียกขานกษัตริย์ของตนเองจะพบว่ามีการใช้พระนามที่มีความพิสดารและดูสูงส่งมากกว่า เช่น อาจเพิ่มคำนำหน้าเป็น เจ้าพญาบ้าง มีสมเด็จนำหน้าบ้าง

ออกญาธรรมราชา ในจารึกวัดสรศักดิ์ที่น่าจะทำโดยอยุทธยา ในจารึกของสุโขทัยที่มีอายุไล่เลี่ยกัน เช่น จารึกวัดบูรพารามและจารึกวัดอโสการาม เรียกกษัตริย์สุโขทัยว่า สมเด็จมหาธรรมราชาธิราช

พระยาแสนสอยดาว ผู้ครองเมืองกำแพงเพชรในพงศาวดารกรุงศรีอยุทธยาฉบับปลีก พบจารึกลานเงินเมืองกำแพงเพชรระบุศักราช พ.ศ. ๑๙๖๓ ระบุว่า "สเดจพพฺรญาสอย" (สมเด็จพ่อพรญาสอย) และระบุว่าพระองค์ได้ "เสวยราชย์ในบุรีศรีกำแพงเพชร เสด็จฤกษ์ (บูรพคุณินักษัตร) ได้ขึ้นราชาอาสน์อภิรมย์ สมกอปรคลามาสู่ อยู่เสวยมโนรมย์..." แสดงว่าเป็นกษัตริย์อย่างชัดเจน

แม้แต่สมเด็จพระมหาธรรมราชาองค์นี้เอง ก็พบหลักฐานคือ จารึกพระครูธรรมเถียร พ.ศ. ๒๑๐๘ ได้กล่าวถึง "เสด็จมหาธรรมราชาธิบดี ศรียุท...บรมบพิตร สุจริต" ก็น่าจะบ่งบอกถึงสถานะ "กษัตริย์" ของพระองค์ได้อย่างชัดเจนครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่