2 ช่องใหญ่ยังอ่วม! ช่อง 3 หั่นเวลาละครหลังข่าว 15 นาทีหวังลดต้นทุน ช่อง 7 ลดแลกแจกแถมกระตุ้นโฆษณา



ถึงแม้เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า จะเหลือทีวีดิจิทัลที่ไปต่อ 15 ช่อง แต่สถานการณ์ของ “ทีวีดิจิทัล” นับวันจะยิ่งท้าทาย จากการแข่งขันที่รุนแรง เม็ดเงินโฆษณาลดลง ออนไลน์ที่เข้ามาแย่งชิง ซ้ำยังมาเจอสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ช่องที่เหลืออยู่ต่างต้องปรับกลยุทธ์กันอย่างหนัก แม้แต่ 2 ช่องใหญ่ทั้งช่อง 7 และช่อง 3 ยังต้องปรับกระบวนยุทธ์ขนานใหญ่ ทั้งลดต้นทุนและจัดโปรโมชั่นลดแลกแจกแถม
ล่าสุดช่อง 3 ได้ปรับลดการออกอากาศ “ละครหลังข่าว” เป็นครั้งแรก จากปกติที่เคยออกอากาศละครหลังข่าวเป็นเวลา 2 ชั่วโมงครึ่งต่อวัน ลดลงมา 15 นาที เหลือ 2 ชั่วโมง 15 นาที เพื่อต้องการลดต้นทุน ที่ถือเป็นภาระกิจสำคัญของช่อง 3 เวลานี้
บริษัท บีอีซี เวิลด์ หรือกลุ่มช่อง 3 ต้องเผชิญกับปัญหาการขาดทุนมาตั้งแต่ปี 2561 ที่ขาดทุนทั้งปีเป็นแรก โดยขาดทุนอยู่ที่ 330 ล้านบาท และในไตรมาสแรกของปีนี้ ยังขาดทุนอยู่ที่ 128 ล้านบาท
นักวิเคราะห์หลักทรัพย์เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากทางช่อง 3 ว่า กลุ่มช่อง 3 ได้พยายามลดค่าใช้จ่ายทั้งหมดของกลุ่มบริษัททั้งหมด ซึ่งที่ผ่านมาได้มีหลายมาตรการลดต้นทุนไปแล้ว ทั้งการลดพนักงาน ลดค่าใช้จ่ายในการผลิตรายการ จนกระทั่งล่าสุดมาถึงการลดเวลาออกอากาศละครหลังข่าว วันละ 15 นาที ซึ่งคาดว่าจะสามารถลดต้นทุนแต่ละวันและมีผลต่อการลดต้นทุนรายเดือนได้เป็นหลักหลายล้านบาท

สำหรับการลดเวลาออกอากาศละคร เริ่มที่ละครเรื่องแรก “หนี้รักในกรงไฟ” ที่เริ่มออกอากาศตอนแรกเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.โดยเป็นละครที่ออกอากาศในช่วงวันศุกร์-อาทิตย์ ส่วนละครหลังข่าวภาคค่ำ ที่ออกอากาศในช่วงวันจันทร์-พฤหัส จะเริ่มลดเวลาออกอากาศในละครชุดใหม่ที่จะออกอากาศในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป
ที่ผ่านมาช่อง 3 เป็นช่องที่ให้ความสำคัญกับละครหลังข่าวมาโดยตลอด จะให้เวลาออกอากาศยาวที่สุด เมื่อเทียบกับช่องอื่นๆ เช่น ช่อง 7 ละครหลังข่าวมีเวลาออกอากาศประมาณ 2 ชั่วโมง 10 นาที แล้วต่อด้วยรายการข่าวภาคดึก ในขณะที่ช่องวัน ในกลยุทธ์วางละครช่วงหลังข่าวไว้ 2 เรื่อง เรื่องละ 1 ชั่วโมง และช่องจีเอ็มเอ็ม 25 ก็ลงละครหลังข่าวไว้วันละ 1 ชั่วโมงเช่นกัน  แต่เนื่องจาก ทุกช่องต่างก็เผชิญกับปัญหาโฆษณาลดลงกันทั้งหมด ปกติทุกช่องจะได้โฆษณาชั่วโมงละ 12 นาที แต่เวลานี้ยากที่จะหาโฆษณาได้เต็มทั้ง 12 นาที

ทั้งนี้การลดเวลาออกอากาศละครวันละ 15 นาทีต่อวันของช่อง จะยังคงต่อด้วยรายการ “ข่าว 3 มิติ” และต่อด้วยรายการภาคดึก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาพยนตร์ต่างประเทศ และรายการวาไรตี้
ก่อนหน้านี้ ช่อง 3 ได้ใช้กลยุทธ์การนำละครที่ประสบความสำเร็จในช่วงเวลาหลังข่าว มารีรันในช่วงละครเย็น เริ่มตั้งแต่เรื่อง “แรงเงา1” ต่อด้วยเรื่อง “ทองเอก หมอยาท่าโฉลง” และกำลังจะต่อด้วย “กรงกรรม” เป็นการวางละครเก่าออกอากาศต่อเนื่อง เพื่อต้องการลดต้นทุน อย่างไรก็ตามกลยุทธ์ดังกล่าวได้รับการตอบรับจากเอเจนซี่และลูกค้าโฆษณา มีโฆษณาเต็มในทุกช่วงเวลาของละครรีรันช่วงเย็นที่ต่อเนื่องมาถึงละคร “กรงกรรม”ที่จะมารีรันในวันที่ 26 มิถุนายนนี้ด้วย

สำหรับช่อง 3 มีเรตติ้งเฉลี่ยอยู่ในอันดับ 2 โดยปี 2561 มีเรตติ้งเฉลี่ยช่องอยู่ที่ 1.331 ลดลงจากปี 2560 ที่มีเรตติ้งเฉลี่ยอยู่ที่ 1.348 โดยมีเรตติ้งลดลงไม่มาก เนื่องจากในปี 2561 ช่อง 3 มีละคร “บุพเพสันนิวาส” ที่สร้างปรากฏการณ์เป็นละครที่ทำเรตติ้งสูงสุดของยุคทีวีดิจิทัลด้วยเรตติ้งตอนจบ 18.633 ส่วนเรตติ้งเฉลี่ยของช่อง 3 ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาอยู่ที่ 1.042 และในปีนี้ช่อง 3 มีละคร “กรงกรรม” ทำเรตติ้งสูงสุดของช่อง โดยมีเรตติ้งตอนจบอยู่ที่ 11.136

ช่อง 7 ยังต้องจัดโปร ดึงโฆษณา 

แหล่งข่าววงการเอเจนซี่รายงานว่า ด้วยสถานการณ์ที่เป็นไปอย่างยากลำบาก ทำให้พี่ใหญ่อย่างช่อง 7 ยังต้องจัดโปรโมชั่น ให้ส่วนลดมาแล้วถึง 2 รอบ รอบแรกในไตรมาสแรก และรอบที่ 2 เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เนื่องจากรายได้จากธุรกิจวงการโฆษณาในทีวีดิจิทัลมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งๆที่ปกติเป็นที่รู้กันว่าในฐานะแชมป์เรตติ้ง และช่องอันดับ 1 ช่อง 7  ไม่เคยต้องใช้กลยุทธ์นี้เลย
ในแง่ความนิยมของช่อง 7 เรตติ้งเฉลี่ยของช่อง 7 ในปี 2561 อยู่ที่ 1.827 ลดลงจากปี 2560 ที่มีเรตติ้งเฉลี่ยช่องอยู่ที่ 3.591 ส่วนเรตติ้งประจำเดือนพฤษภาคม เดือนล่าสุด ช่อง 7 มีเรตติ้งเฉลี่ยอยู่ที่ 1.732

เรตติ้งในช่วงเวลาละครหลังข่าวของช่อง 7 ก็มีเรตติ้งเฉลี่ยลดลงอยู่ในระดับ 4-6 เท่านั้น ลดลงมาชัดเจน ตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งเป็นปีที่ช่อง 7 ไม่มีละครเรื่องใดทำเรตติ้งได้เกิน 10 เลย เพิ่งมาได้จากละคร “สารวัตรใหญ่” ที่ออกอากาศในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ที่ทำเรตติ้งตอนจบที่ 11.291
สำหรับราคา Rate Card ที่ยังไม่รวมส่วนลด และโปรโมชั่นแจกแถมเวลาโฆษณาในช่วงอื่นๆ ของช่อง 7 ในช่วงละครหลังข่าวอยู่ที่ประมาณนาทีละ 5 แสนบาทต่อนาที ช่อง 3 อยู่ที่ประมาณ 480,000 บาทต่อนาที และช่องวันอยู่ที่ประมาณ 450,000 บาทต่อนาที.

https://positioningmag.com/1235413
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่