ความนิยม 9 เดือน ช่องทีวีดิจิทัล ปี 2562 เทียบ ปี 2561 ใครรุ่ง ใครโรย

กระทู้สนทนา


ผ่านไป 3 ไตรมาสของปี 2562 ช่องทีวีต่างก็แข่งกันสร้างความนิยม แต่กลยุทธ์และรูปแบบอาจแตกต่างกันไปด้วยความจำกัดของรายได้  การลงทุนทีร่มี่ขีดจำกัดมากกว่าปกติ  มาดูกันว่า ความนิยมของแต่ละช่องทีวีดิจิทัลในปี 2562 เมื่อแปรียบเทียบกับปี 2561 เป็นอย่างไรกันบ้าง ผลงานช่องไหนโดดเด่นที่สุด และช่องไหนลดลงเยอะสุด

วอยซ์ทีวี หนึ่งเดียวขาขึ้นในกลุ่ม 7 ช่องคืนใบอนุญาต

เนื่องจากในปีนี้เป็นการทยอยลาจากของ 7 ช่องที่ขอคืนใบอนุญาต ผลงานในรอบ 9 เดือนของ 7 ช่องที่จากไป ส่วนใหญ่จึงลดลง มีเพียงวอยซ์ทีวีช่องเดียวในกลุ่มนี้ ที่มีเรตติ้งอยู่ในช่วงขาขึ้น ในรอบ 9 เดือนของปี 2561 วอยซ์ทีวีได้เรตติ้งเฉลี่ยเพียงแค่ 0.026 อยู่ในอันดับ 22 แต่มาในรอบ 9 เดือนของปีนี้ ผลงานของวอยซ์ทีวีเติบโตอย่างรวดเร็วมาก เพิ่มขึ้น 0.032 มาอยู่ที่อันดับ 17 เรตติ้งเฉลี่ย 0.058  การเติบโตของ วอยซ์ทีวี มาจากข่าวร้อนแรงทางเมืองเป็นเรื่องที่คนใส่ใจใคร่รู้ โดยเฉพาะในช่วงการเลือกตั้งใหญ่ของประเทศในเดือนมี.ค.2562 ที่ผ่านมา ทำให้เรตติ้งของวอยซ์ทีวี เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด



จากเรตติ้งเฉลี่ยรายเดือนของวอยซ์ทีวีในปีนี้ แสดงให้เห็นว่า ก่อนที่จะยุติการออกอากาศอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ก.ย.นั้น มีเรตติ้งเฉลี่ยช่องเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในเดือนพ.ค.ทำเรตติ้งเฉลี่ยได้ถึง 0.106 และยุติการวัดเรตติ้งตั้งแต่สิ้นเดือนมิ.ย. จึงไม่มีตัวเลขเรตติ้งของเดือนก.ค.และส.ค.ที่เป็น 2 เดือนสุดท้ายของการออกอากาศ

เนชั่นทีวี เรตติ้งเฉลี่ยขึ้นสูงสุดในรอบ 9 เดือน

สำหรับภาพรวมของทุกช่องทีวีดิจิทัลในรอบ 9 เดือนนี้ ช่องที่มีเรตติ้งเพิ่มสูงขึ้นมากที่สุด

เป็นช่องข่าว “เนชั่นทีวี” มีเรตติ้งเฉลี่ย 9 เดือนของปีนี้อยู่ที่ 0.184 อยู่ในอันดับ 11 เพิ่มขึ้น 0.065 จากปี 2561 ที่อยู่ในอันดับ 14 ด้วยเรตติ้งเฉลี่ย 0.119   แน่นอนว่าจุดขายของ เนชั่นทีวี มาแรงแซงโค้งจากข่าวการเมือง เช่นเดียวกับช่องวอยซ์ทีวี แม้ว่าต่างคนต่างมีจุดยืนที่แตกต่างกัน แต่จากเรตติ้งก็ทำให้เห็นว่า ช่องข่าวเป็นช่องที่คนดูใคร่รู้ เป็นพิเศษ โดยเฉพาะในช่วงที่มีข่าวใหญ่ ข่าวแรงหรือข่าวร้อน ซึ่งข่าวแรงข่าวร้อน ก็ส่งให้บางช่องโตแบบยั่งยืนมาแล้วอย่างกรณีไทยรัฐทีวีกับ ทีมหมูป่า ทั้ง 13 คน

ช่อง One เป็นช่องอันดับ 2 ที่มีเรตติ้งสูงขึ้นรองจากเนชั่นทีวี มีเรตติ้งเฉลี่ย 0.578 และขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 5 หลังจากที่ปีที่แล้ว มีเรตติ้งเฉลี่ย 0.520 อยู่ในอันดับ 6 ซึ่งในปีนี้ช่อง One มีรายการช่วงเออรี่ ไพรม์ไทม์ และไพรม์ไทม์ที่ได้รับความนิยมมากขึ้น ทั้งรายการประกวดร้องเพลง ละครเย็นและละครค่ำ

อันดับ 3 ของช่องที่เรตติ้งเพิ่มเป็นช่องพีพีทีวี ที่ในปีนี้เติมรายการภาคบันเทิง วาไรตี้ เสริมเข้ากับรายการกีฬา และเพิ่มช่วงเวลาละครหวังเป็นหมัดเด็ด ช่องนี้เป็นช่องเงินหนา ลงทุนหนักเสมอ ทำให้เข้ามาติดกลุ่ม TOP10 ได้สำเร็จ และเรตติ้งเฉลี่ยอยู่ที่ 0.200 เพิ่มขึ้นจาก 9 เดือนของปีที่แล้วที่ยังอยู่ในอันดับ 12 เรตติ้ง 0.161  ว่าแต่จะยืน ณ จุดนี้ ได้ตลอดรอดฝั่งมั้ย ต้องติดตาม

ในกลุ่มช่องขาขึ้นยังมี ไทยรัฐทีวี และอมรินทร์ทีวี ที่มีทั้งอันดับ และเรตติ้งเฉลี่ยช่องที่ดีขึ้น  ช่องละหนึ่งอันดับ โดยไทยรัฐทีวีมาอยู่ที่อันดับ 6 และอมรินทร์ทีวีอยู่ที่อันดับ 7 ทั้งสองช่องเป็นสองช่องคู่แข่งกันที่มีจุดเด่นเรื่องรายการข่าว แข่งกันตั้งแต่เวลาไพรม์ไทม์ยันดึก

ช่อง 8 เรตติ้งลดมากสุด ในรอบ 9 เดือน

ในรอบ 9 เดือน ช่อง 8 เป็นช่องที่มีเรตติ้งลดลงมากที่สุด จากเรตติ้งเฉลี่ย 0.546 ในอันดับ 5 ของปี 2561 หล่นลงมา มีเรตติ้งเฉลี่ยอยู่ที่ 0.306 ลดลงถึง 0.240 มาอยู่ในอันดับ 8 จากความนิยมที่ลดลงของซีรีส์อินเดีย ที่เคยเป็นรายการหลักของช่อง 8 อีกทั้งการที่เป็นช่องที่ชัดเจนเรื่องการขายสินค้า มีช่วงเวลา TV Shopping มากมายหลายช่วง  จึงส่งผลต่อเรตติ้งเฉลี่ยของช่องหล่นเอา หล่นเอา  ทำให้ช่อง 8 ต้องแก้เกมมาเน้นการผลิตละครไทยเพิ่มขึ้น ผลตอบรับดีขึ้นมาบ้าง แต่ก็ยังไม่สามารถทะยานสู่จุดเดิม

ช่อง 3 HD เป็นช่องที่มีเรตติ้งลดลงมากเป็นอันดับ 2 จากเรตติ้งเฉลี่ย 1.397 ในปีที่แล้ว ลดลงมาอยู่ที่ 1.182 ลดลงถึง 0.215 เนื่องจากในปีที่แล้วช่อง 3 มีละครม้ามืดอย่าง “บุพเพสันนิวาส” ที่มาสร้างปรากฏการณ์ทำเรตติ้งสูงสุดของละครยุคทีวีดิจิทัล ด้วยเรตติ้งตอนจบ 18.633 และเรตติ้งเฉลี่ยทั้งเรื่องอยู่ที่ 13.384 เป็นการสร้างสถิติไว้ที่ยังไม่มีใครมาโค่นลงได้ โดยในปีนี้ ช่อง 3 มีละครที่มีเรตติ้งสูงสุด ได้แก่ “กรงกรรม” และ “ทองเอกหมอยาท่าโฉลง” ที่มีเรตติ้งเฉลี่ยทั้ง 2 เรื่องอยู่ที่ 6.256 และ 6.520 ค่าเฉลี่ยของละครหลายเรื่องแม้จะอยู่ในเกณฑ์ดี  แต่ก็เจอมรสุมละครฟอร์มใหญ่หลายเรื่อง ผลออกมาไม่ได้เป็นไปตามคาดหวัง จึงฉุดเรตติ้งเฉลี่ยของช่องลดลงมามาก

อันดับ 3 ช่องเวิร์คพอยท์มีการเปลี่ยนแปลงจากเรตติ้งเฉลี่ย 0.803 ในอันดับ 4 ในปี 2561 มาในปีนี้มีเรตติ้งลดลงมาอยู่ที่ 0.696 ลดลงถึง 0.107 แต่ยังรักษาอันดับ 4 ไว้ได้ แม้ว่าช่อง One มาแรงในช่วงระยะหลัง แต่ยังไม่สามารถแซงขึ้นมาได้

ในปีนี้เวิร์คพอยท์พยายามปรับเปลี่ยนรูปแบบรายการหลากหลายมากขึ้น มีรายการกลุ่มทำอาหารเข้ามาเสริมผัง พยายามครีเอทรายการแนวใหม่เข้ามา แต่รายการใหม่ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของปีนี้ได้แก่รายการ “ 10 Fight 10” ที่นำดารา เซเลป มาต่อยมวยกันสดๆ  นอกนั้นผลด้านความนิยมไม่เป็นไปตามเป้า จนต้องหันมาหารายได้เสริมจากหลายช่องทางเพื่อเสริมรายได้จากค่าโฆษณาทางทีวี

ช่องทรูโฟร์ยู เป็นอีกช่องที่มีเรตติ้งลดลง จากอันดับ 13 เรตติ้งเฉลี่ย 0.150 ในปีที่แล้ว ลงมาอยู่ที่อันดับ 15 เรตติ้งเฉลี่ย 0.106 เท่านั้น  มาจากทั้งรายการถ่ายทอดสดฟุตบอลไทยลีก มีความนิยมลดลง และรายการหลักที่เคยทำเรตติ้งดีอย่าง “ราคาพารวย”ความนิยมลดลงด้วยเช่นกัน

ส่วนช่อง 7 และ โมโน เรตติ้งลดลงเช่นกัน แต่ก็ไม่มากจนต้องนำมาเป็นประเด็น

จาก 3 ไตรมาสของปีนี้ผ่านมา นับตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปีนี้เป็นต้นไป ทีวีดิจิทัลในตลาดเหลืออยู่เพียง 19 ช่อง เป็น 4 ช่องทีวีสาธารณะภาครัฐ 15 ช่องธุรกิจ ที่จะต้องสู้กันต่อไปท่ามกลางการแข่งขันจากคอนเทนต์ออนไลน์ และสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยเป็นใจ ใครปรับตัวได้ดีที่สุด ไม่เดินหลงทาง  จัดวางคอนเทนต์ถูกใจผู้ชม ก็มีโอกาสสร้างรายได้ก้อนโต เพราะวันนี้ยังไงเม็ดเงินจากสปอตโฆษณาก็คือรายได้สูงสุดของช่องทีวีไทย

ที่มา : https://www.tvdigitalwatch.com/compare-rating-9months-61vs62/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่