เยือนหลุมฝังอัฐิศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่ Cimitero Evangelico agli Allori เมืองฟลอเรนซ์ [การเดินทาง+บรรยากาศ]

สวัสดีเพื่อนพ้องน้องพี่ชาวเว็บไซต์พันทิปอีกครั้งนะครับ

คราวที่แล้วผมเคยตั้งกระทู้ประสบการณ์เดินทางไปดูฟุตบอลทีมชาติอิตาลีที่เมืองตูริน

หนึ่งวันสุดหรรษา แบกเป้ลุยเดี่ยวไปเชียร์ทีมชาติอิตาลีที่ตูริน >> https://ppantip.com/topic/38960866

พบกันคราวนี้เปลี่ยนบรรยากาศของกระทู้เสียบ้าง
ผมจะพาไปสถานที่ซึ่งน้อยคนจะได้ไปเยือน
เป็นสถานที่ที่แทบจะไม่มีผู้ใดนึกถึงด้วยซ้ำ
นั่นคือ สุสาน ในเมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี ครับ

โดยทั่วไปแล้ว คำว่า "สุสาน" แลดูเป็นคำที่น่ากลัว ให้ความรู้สึกวังเวงขนหัวลุกพิกล
แต่หากสุสานแห่งนั้นเป็นที่ฝังร่างไร้วิญญาณของผู้ที่เราผูกพันหรือให้ความเคารพศรัทธาแล้วล่ะก็
ความรู้สึกที่เรามีต่อสุสานนั้นๆย่อมเปลี่ยนแปลงไปเป็นความอิ่มเอมใจเมื่อได้ไปเยือน
ซึ่งผมรู้สึกเช่นนั้นต่อสุสาน ชิมิเตโร เอวานเจลิโค อาลญิ อัลโลรี (Cimitero Evangelico Agli Allori)
เนื่องด้วยมันเป็นสถานที่ฝังอัฐิหนึ่งในสามส่วนของศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี
ปูชนียบุคคลทางด้านศิลปะของชาติไทยเรา ผู้ซึ่งผมให้ความเคารพนับถือเสมอมา


ภายหลัง อ.ศิลป์ ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อปี พ.ศ.2505 ร่างของท่านได้รับการพระราชทานเพลิงศพที่วัดเทพศิรินทราวาส โดยอัฐิของท่านได้ถูกแบ่งออกมาเป็นสามส่วน ส่วนหนึ่งบรรจุไว้ในอนุสาวรีย์ของท่านที่มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตวังท่าพระ ส่วนหนึ่งอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์ ในกรมศิลปากร และอีกส่วนหนึ่งฝังรวมไว้กับหลุมฝังศพครอบครัวของท่านภายในสุสานแห่งนี้

ถึงผมจะไม่ใช่คนทำงานด้านศิลปะ ไม่ใช่ศิษย์ มศก. ทว่าผมก็นับถือ อ.ศิลป์ เป็นอย่างมากในฐานะที่ท่านเป็นตัวอย่างของครูที่ดี มีคุณูปการต่อประเทศไทยมากมาย และในฐานะที่ผมเป็นคนไทยที่เรียนภาษาอิตาเลียนคนหนึ่ง ทั้งยังตั้งใจแน่วแน่ว่าหากมีโอกาสจะมาที่สุสานนี้เพื่อคารวะท่านให้ได้ ซึ่งตอนนี้โอกาสมาถึงแล้ว ผมซึ่งมาเรียนซัมเมอร์ที่เมืองเซียน่า-บ้านใกล้เรือนเคียงของฟลอเรนซ์ จึงรีบขึ้นรถไฟมาตามหาสุสานและหลุมฝังศพของท่านทันทีครับ


. . . . . . . . . .

จากเซียน่ามาฟลอเรนซ์ด้วยรถไฟใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง ไม่นานจนเกินรอ ผมก็มาถึงสถานี ฟีเรนเซ่ ซานตา มาเรีย โนเวลลา ซึ่งนิยมเรียกโดยย่อว่า Firenze S.M.N. ครับ (ฟีเรนเซ่ คือชื่อภาษาอิตาเลียนของฟลอเรนซ์) ตรงนี้ต้องย้ำชื่อสถานี เพราะฟลอเรนซ์เป็นเมืองใหญ่ มีสถานีรถไฟหลายสถานี ซึ่งสถานีนี้เป็นสถานีปลายทางของรถไฟท้องถิ่นแคว้นทัสกานีหลายสาย อยู่ใกล้ตัวเมืองมากที่สุด

บรรยากาศภายในสถานีค่อนข้างจะจอแจ เนื่องจากเป็นสถานีสำคัญ ขอเตือนให้ระวังสัมภาระให้ดี เพราะที่นี่ขึ้นชื่อเรื่องมิจฉาชีพและนักล้วงกระเป๋าไม่ย่อหย่อนกว่าแตร์มีนีของกรุงโรมเลยล่ะครับ


เพราะสถานีรถไฟกลางประจำเมืองเป็นหัวใจของการเดินทางในอิตาลี ดังนั้นจึงจะขอเริ่มการเดินทางที่นี่นะครับ...

วิธีเดินทางไปยังสุสานอัลโลรี (จากนี้จะขอเรียกสั้นๆแค่นี้ เพื่อไม่ให้ยาวเกิน) จากสถานีรถไฟซานตา มาเรีย โนเวลลา เริ่มต้นให้มองหาประตูทางออกด้านที่มีเสาธงชาติอิตาลีขนาดใหญ่ไว้ และมุ่งตรงไปยังเกาะกลางถนนที่มีป้ายรถเมล์อยู่ จากนั้นให้มองหารถบัสสาย 11 ที่ระบุชื่อสถานีปลายทางว่า La Gora ครับ

ประตูทางออกฝั่งที่กล่าวถึง มีเสาธงยืนเด่นเป็นสง่า เป็นจุดสังเกตได้ง่ายๆ
ตัวอย่างป้ายดิจิตัลบอกสายรถเมล์ที่พบได้ทั่วไปในอิตาลี ฝั่งขวาคือเวลาที่รถจะมาถึงป้ายนั้นๆ

ในวงกลมใหญ่คือป้ายใกล้สถานีรถไฟที่ผมขึ้น ส่วนในวงกลมเล็กคือสถานีที่ต้องลงครับ

เกือบลืมบอกไป...ก่อนอื่นหาซื้อตั๋วรถเมล์มาก่อนนะครับ ตั๋วรถเมล์ในอิตาลีหาได้ไม่ยากเลย ตามร้านขายบุหรี่ หรือ Tabaccheria ที่มักมีหน้าตาเหมือนแผงขายของชำบ้านเรามักมีขายกันทุกแห่ง เมื่อซื้อตั๋วมาแล้ว ขึ้นรถก็อย่าลืมสอดตั๋วใส่เครื่อง validate ในรถเพื่อเป็นการตีตั๋วว่าใช้แล้ว ไม่มั่วนิ่มใช้ซ้ำด้วยครับ เพื่อความปลอดภัยควรทำเช่นนี้ แต่ถ้าใครชอบความลุ้นระทึก อยากเสี่ยงลักไก่ขึ้นรถโดยไม่ซื้อตั๋วก็สามารถกระทำได้ แต่บอกเลยว่าถ้าเจอนายตรวจสุ่มขึ้นมาตรวจตั๋วล่ะก็ อาจต้องจ่ายค่าปรับบานเบอะ ถึงขั้นล้มละลายเอาได้ง่ายๆครับ

ตั๋วรถเมล์เมืองฟลอเรนซ์ สวยกว่าเซียน่าที่ผมอยู่มากๆ

เมื่อขึ้นรถเมล์สาย 11 มาแล้ว ที่เหลือก็ไม่ใช่เรื่องยากเย็นแล้วครับ ระหว่างนี้ก็นั่งยาวๆไป ชมทัศนียภาพเมืองแห่งศิลปะให้เต็มอิ่ม

ฟลอเรนซ์เป็นเมืองที่มีแม่น้ำไหลผ่านกลางเมือง นั่นคือแม่น้ำอาร์โน่ (Arno) คำเตือนมีอยู่ว่าชื่อนี้ต้องกระดกลิ้นตรง r เน้นๆ เพราะมิฉะนั้นแล้ว เสียงที่ออกจะกลายเป็น อาโน่ (Ano) ที่แปลว่า รูทวาร อันเป็นมุกตลกติดปากของชาวอิตาเลียนไปแทน

หากใครเคยมาเยือนฟลอเรนซ์ และได้ดื่มด่ำกับบรรยากาศภายในเมืองแล้ว จะเข้าใจโดยพลันว่าเหตุใดเมืองนี้จึงเป็นแหล่งบ่มเพาะคนเด่นคนเด่งในแวดวงศิลปะของโลกมากมาย เพราะแทบทุกตารางนิ้วของเมืองล้วนถูกสรรค์สร้างด้วยศิลปะอันเลิศล้ำ อีกทั้งเป็นบ้านเกิดของศิลปะแบบเรอเนสซองส์ ซึ่ง อ.ศิลป์ ผู้ได้รับสมญานามว่า "บิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยไทย" ก็ถือกำเนิด ร่ำเรียน และใช้ชีวิตช่วงสามทศวรรษแรกของท่านที่เมืองนี้

"Duomo" หรือ "มหาวิหาร" ประจำเมืองฟลอเรนซ์ เป็นแหล่งนักท่องเที่ยวชุมตลอดทั้งวันทั้งคืน

พอข้ามแม่น้ำอาร์โน่มาแล้ว รถเมล์ก็จะยิ่งพาเราออกนอกตัวเมืองเรื่อยๆ จากมุมที่เหลียวแลไปทางใดก็พบแต่คนต่างชาติ แบกเป้สะพายกล้อง ผู้คนก็ค่อยๆบางตาลง กระทั่งมาถึงส่วนนอกเมืองที่มีแต่ชาวเมืองอยู่กันจริงๆ 

ป้ายที่ต้องลงชื่อ Gli Allori 01 เป็นชื่อที่ตั้งตามสุสานนั่นเองครับ ย่านนี้อยู่ตรงกลางระหว่าง Due Strade กับ Galluzzo ซึ่งอาจจะเรียกว่าเป็นปริมณฑลของนครฟลอเรนซ์ก็ว่าได้ เพราะออกนอกตัวเมืองมาไกลจนรอบตัวมีภูเขาและท้องทุ่งแล้ว สิ่งที่เหลือเชื่อมากๆสำหรับผมวินาทีที่ไปถึงที่นั่นก็คือ ป้ายรถเมล์อยู่หน้าสุสานพอดีเป๊ะ เรียกว่าก้าวเท้าไปก้าวเดียวก็แตะประตูสุสานแล้ว

ทางเข้าสุสาน จะพบอาคารนี้ตั้งตระหง่านอยู่ เนื่องจากผมไม่ได้นับถือศาสนาคริสต์ และนี่เพิ่งจะเป็นครั้งแรกที่เข้ามาในสุสานชาวคริสต์ จึงไม่รู้ศัพท์แสงที่ใช้เรียกสิ่งต่างๆในสุสานนี้นัก รบกวนคริสต์ชนให้คำชี้แนะด้วยนะครับ

ก่อนมาผมได้ศึกษาค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับสุสาน Cimitero Evangelico agli Allori หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า Cimitero degli Allori แห่งนี้ ได้ความว่าในอดีตเคยเป็นสุสานสำหรับคนนับถือนิกายโปรเตสแตนท์ซึ่งเป็นส่วนน้อยในอิตาลี และส่วนใหญ่เป็นชาวอังกฤษ ที่มีชื่อเรียกว่า "อัลโลรี" สืบเนื่องมาจากก่อนจะสร้างสุสานนี้เคยมีฟาร์มชื่อ อัลโลรี อยู่มาก่อน

แม้จะเริ่มจากการเป็นสุสานสำหรับชาวโปรเตสแตนท์ ทว่าปัจจุบันสุสานแห่งนี้ไม่ได้แบ่งแยกนิกายของผู้ตายแต่อย่างใด ไม่ว่าจะนิกายไหนๆก็สามารถฝังที่นี่ได้ทั้งสิ้น 

นอกจากอัฐิของ อ.ศิลป์ แล้ว สุสานอัลโลรียังเป็นที่ฝังศพบุคคลสำคัญต่างๆมากมาย อาทิ ฮาโรลด์ แอคตัน (นักเขียนอังกฤษ), โธมัส บอล (ประติมากรอเมริกัน) ฯลฯ ตอนที่ผมไปถึง มีชาวอิตาเลียนมาถามแกมขอความช่วยเหลือว่าหลุมฝังศพของ โอเรียนา ฟัลลาชี ซึ่งเป็นนักเขียนหญิงชื่อดังชาวอิตาเลียนอยู่ตรงไหน ผมต้องปฏิเสธเขาไปว่าไม่ทราบเหมือนกัน เพราะไม่ได้จะมาหาหลุมศพของเธอจริงๆ 

บรรยากาศภายในสุสาน
หากมองเข้าไปหาสุสาน ทางซ้ายมือจะมีร้านขายดอกไม้ไว้สำหรับเคารพศพผู้วายชนม์ด้วย
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่