โค้ชใหม่ทีมชาติไทย..ช้าไปหรือเปล่า ?

กระทู้สนทนา
  สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ประกาศแต่งตั้ง การ์เลส โรมาโกซา เข้ามาเป็น “ผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิค” ท่ามกลางเสียงแซ่ซ้องยินดีปรีดาจากแฟนบอลไทยไม่น้อย
 

 ว่ากันว่านี่คือตำแหน่งที่ฟุตบอลไทยรอคอยมาเนิ่นนาน ยิ่งได้ “ของนอก” เป็นชาวสเปนที่มีโปรไฟล์หรูเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้จึงทำให้กระแสมองไปทางด้านบวก
พอคนใหม่มา คนเก่าเลยต้องโดนกระทบชิ่งด้วย ทั้งที่ในความเป็นจริง “โค้ชเฮง” วิทยา เลาหกุล แทบไม่มีบทบาทในการตัดสินใจต่างๆเกี่ยวการบริหารจัดการทีมชาติไทยอยู่แล้ว
แม้ “โค้ชเฮง” จะเป็น “จุดขาย” ของทีมงาน “บิ๊กอ๊อด” พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ในช่วงการชิงตำแหน่งประมุขลูกหนังไทยเพราะ “ต้นทุนทางฟุตบอล” เป็นที่ยอมรับนับถือ
แต่หลังชนะเลือกตั้ง “โค้ชเฮง” กลับเสียงไม่ดังอย่างที่คิด ซุบซิบกันในวงการมาตลอดว่า “บิ๊กอ๊อด” ชื่นชมและเชื่อแนวคิดของ “คนรุ่นใหม่” มากกว่า ยิ่งพักหลังๆยิ่งชัดเจน
โดยเฉพาะการหาผู้ฝึกสอนทีมชาติไทยที่ “โค้ชเฮง” มักถูกมอบหมายให้ไปเลือกมา ชื่อของกุนซือจาก “ญี่ปุ่น” จึงตกเป็นข่าวกับฟุตบอลไทยหลายหนทั้งชุดใหญ่และชุดเล็ก
แต่สุดท้ายแล้วการตัดสินใจเป็น “บิ๊กอ๊อด” พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมฯ ที่ฟันธงว่าเอาหรือไม่เอา

 
กรณีล่าสุดคือกุนซือทีมชาติไทยชุด “ยู-23” ที่ “โค้ชเฮง” นำเสนอผู้ฝึกสอนชาวญี่ปุ่น แต่ “บิ๊กอ๊อด” เลือกเอา อเล็กซานเดร กาม่า เข้ามาทำทีมเมื่อปลายปีก่อน
น่าเจ็บใจตรงที่ “กาม่า” ดันทิ้งทีมชาติไทยไว้กลางทางขอกลับไปทำสโมสรซะดื้อๆ  แถมยังทำให้หลายคนงงว่าเซ็นสัญญากันอีท่าไหนถึงให้บอกเลิกกันกลางคันได้ง่ายๆเยี่ยงนี้ !!!
คำว่า “วิถีฟุตบอล” ไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องและไม่ใช่ประเด็น เพราะหลายคนสงสัยเรื่อง “สัญญา” ว่าเซ็นกันแบบไหนมากกว่า ทำไมไม่รัดกุม ไม่มีค่าชดเชยความเสียหายใดๆเลยหรือ ?
คิดเยอะไปถึงว่าตอนเซ็นสัญญามีผลประโยชน์อะไรแอบแฝงกับใครหรือเปล่า คนที่ชง “กาม่า” ให้ “บิ๊กอ๊อด” เลือกควรออกมาชี้แจงให้หายคาใจ
นี่คือเรื่องเก่าที่ผ่านมาแล้วแต่ยังเป็นที่คลางแคลงใจและกลายเป็นความกังวลถึงอนาคตว่าการเฟ้นหากุนซือใหม่ทีมชาติไทยจะมีเรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นซ้ำรอยอีกหรือเปล่า                                                                        
 

 ถึงตรงนี้การเลือกกุนซือ “ช้างศึก” เป็นหน้าที่ของ การ์เลส โรมาโกซา ที่ต้องดำเนินการ เดาไม่ออกบอกไม่ถูกเหมือนกันว่าจะเป็นต่างชาติหรือคนไทย
แต่ไม่ว่าจะ “ของไทย” หรือ “ของนอก” ควรรีบดำเนินการเพื่อให้ได้ข้อสรุปไวๆ สมาคมฯอย่านิ่งนอนใจเกินไป คำว่า “ช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม” อาจใช้ไม่ได้ในกรณีนี้
หลายคนมองว่าสมาคมฯชักช้าเกินไป ทั้งที่ทัวนาเมนต์สำคัญเหลือเวลาเตรียมทีมไม่มาก “ฟุตบอลโลก 2022” รอบคัดเลือก และ  “ยู-23 ชิงแชมป์เอเชีย 2020” เข้าแถวรอเตะอยู่อีกไม่นาน
แต่ตอนนี้ทีมชาติไทยทั้ง 2 ชุดอยู่ในสภาวะ “สูญญากาศ” ไม่มีหัวหน้าผู้ฝึกสอน ไม่มีการเตรียมทีม !!!
จริงๆ แล้วไม่ควรเกิดเหตุการณ์แบบนี้ด้วยซ้ำ ไล่มาตั้งแต่ทีมชาติไทยชุดใหญ่ สมาคมฯ ปล่อยเวลาเสียเปล่ามากเกินไป ไม่มีความชัดเจนใดๆมาครึ่งปีแล้ว

  ล่าสุด “โค้ชโต่ย” ศิริศักดิ์ ยอดญาติไทย ที่ขัดตาทัพทำทีมมาตลอดโบกมือลาไปเรียบร้อย ตามข่าวบอกไม่ได้ลดบทบาทไปเป็น “ผู้ช่วย” ด้วย เท่ากับว่าทุกอย่างต้องเริ่มนับ 1ใหม่
คำถามคือแล้วเมื่อไรจะได้นับ 1 เสียที คนที่มาใหม่จะมาเมื่อไร ควรตระหนักว่าคิวเตะ “ฟุตบอลโลก 2022” กำลังจะเริ่มต้นในอีก 3 เดือนข้างหน้า
แทนที่จะมีการเตรียมทีมอย่างต่อเนื่อง ไล่ยาวมาตามทัวนาเมนต์ต่างๆ ทั้ง “ไชน่าคัพ” จนถึง “คิงส์คัพ” แต่นี่เสียโอกาสในการเตรียมทีมไปซะเฉยๆ
ไม่ต่างอะไรกับทีมชาติไทยชุดยู-23 ที่ทิ้งโอกาสและเวลาในการเตรียมทีมไปเหมือนกัน ทั้งที่นี่คือเป้าหมายใหญ่ที่สมาคมฯวางแผนระยะยาวล่วงหน้าเอาไว้หลายปีแท้ๆ
แต่ด้วยความไม่หนักแน่น โอนเอนตามกระแสเป็น “ไม้หลักปักขี้เลน” จึงต้องตกอยู่ในสภาพนี้ ไม่มีโค้ช ต้องเริ่มเตรียมทีมกันใหม่ เสียดายเวลาที่ผ่านมาเสียจริงๆ
นี่คือสิ่งที่สมาคมฯต้องรีบดำเนินการแก้ไขให้สะเด็ดน้ำ เพราะถือเป็น “จุดอ่อน” ของการบริหารงานในยุคนี้
ต้องยอมรับว่าฟุตบอลไทยหลัง “ฟ้าเปลี่ยนสี” มีการเปลี่ยนแปลงในสารพัดเรื่องราว ดีบ้าง แย่บ้าง ว่ากันไปต่างกรรมต่างวาระ
สิ่งที่ได้รับการชื่นชมแบบอื้อซ่าคือการบริหารจัดการในหลายๆเรื่อง แต่ที่โดน “กระถาง” มากกว่าได้รับ“ดอกไม้” คือผลงานของนักเตะทีมชาติไทยชุดต่างๆ
แฟนบอลไทยพร้อมสนับสนุนทีมชาติไทยอยู่แล้ว แพ้-ชนะเป็นเรื่องของกีฬาที่เข้าใจได้ ใช่ว่าไม่เคยแพ้ เจ็บกว่านี้เคยเจอมาแล้วทั้งนั้น
แต่ถ้าแพ้ตั้งแต่ยังไม่ลงสนามเพราะการบริหารจัดการเตรียมทีมไม่ดีนี่….รับไม่ได้ !!!

อ่านแล้วน่าสนใจเลยก็อปมาทั้งดุ้นเลยครัช : https://www.khobsanam.com/column/85011
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่