[CR] Godzilla 2 : King of monsters รีวิวจุดเสียดายและการตีความบางส่วน จากคนที่ชอบหนังก็อตซิลล่าภาคนี้

**** Spoiled ทั้งเรื่อง ****
**** Spoiled ทั้งเรื่อง ****
**** Spoiled ทั้งเรื่อง ****


ออกตัวว่าเราเป็น FC หนังก็อดซิลล่ากึ่งแท้กึ่งเทียมค่ะ(?) ชอบคอนเซปท์ของก็อตซิลล่าแต่ไม่ถึงกับตามดูหนังทุกฉบับหรือชื่นชมหมดทุกอย่าง กับภาคนี้ไปดูมาสองรอบ ขออนุญาตรีวิวแบบเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ตั้งแต่จุดดี จุดเสีย(ดาย) และการตีความเนื้อหาบางส่วนของหนังนะคะ
.
.
.
.
จุดดี

เป็นหนังที่ชอบมากค่ะ ไม่ขอพูดถึงจุดดีมากเท่าไหร่เพราะก็จะซ้ำ ๆ กับรีวิวเจ้าอื่น โดยเฉพาะที่โดดเด่นคือเรื่องงานภาพ ซึ่งมาตรฐานฮอลลีวู้ดไม่ทำให้ผิดหวังและดีใจที่ฝั่งตะวันตกตกออกแบบมอนสเตอร์ให้มีความสูงค่าสง่างามได้สักที ไม่ใช่แค่เดรัจฉานยักษ์อาละวาดสะเปะสะปะไปทั่ว ทางดราม่าครอบครัวที่หลายคนไม่ค่อยพอใจกัน โชคดีที่เราชอบดาราหญิงที่แสดงเป็นเอ็มม่า(ตั้งแต่เธอแสดงนำในคอนจูริ่ง) มองสีหน้าเธอแล้วเพลินดีก็เลยอดทนได้มากกว่าคนทั่วไปมั้ง ?
.
.
.
.
จุดเสีย(ดาย)
ส่วนตัวแล้วชอบบทหนังนะ ดีเลย ไม่ได้แย่ มีความลึกและแง่มุมมากกว่าฉบับ 2014 ด้วยซ้ำ แต่สังเกตว่าประเด็นที่น่าสนใจหลายอย่าง หนัง 2019 เลือกจะพูดถึงแบบผิวเผินและผ่านเลยไป ไม่ย้ำหรือสื่อสารออกมาให้ชัดเจน ซึ่งนี่อาจเป็นข้อผิดพลาดที่สำคัญที่ทำให้แง่มุมดี ๆ กลายเป็นพล็อตโหว่ในสายตาของผู้ชม  ยกตัวอย่าง เช่น

1. ระเบิดออกซิเจน เดรสทรอยเยอร์ 

ถ้าใครเป็น FC หนังก็อตซิลล่าฉบับญี่ปุ่นหน่อยคงจะรู้จักอิทธิฤทธิ์ของเจ้าสิ่งนี้เป็นอย่างดี สำคัญขนาดเจ้าระเบิดชนิดนี้สามารถถูกสร้างเป็นหนังเดี่ยวได้หนึ่งภาค (และเป็นภาคเดียวที่มนุษย์กำจัดก็อดซิลล่าได้ด้วย) แต่ 2019 กลับพูดผ่าน ๆ และไม่ได้ให้รายละเอียดอะไรเลย ถ้าผกก.ให้เวลาในการอธิบายคุณสมบัติของระเบิด (ซึ่งมีอนุภาพเหี้ยมเกรียมกว่านิวเคลียร์)  ผลกระทบระยะยาว และเหตุผลที่ฝ่ายมนุษย์ไม่ขุดเอามาใช้กำจัดไททันตัวอื่นต่อ ก็จะทำให้หนังดูแน่นหนาและน่าสนใจขึ้นอีกมาก และเป็นเหตุผลที่มนุษย์ควรอยู่ร่วมกับก็อตซิลล่ามากกว่าการใช้ระเบิดนี้ปกครองทุกอย่างบนโลกเองด้วย (ความจริง ถ้าเขียนให้มนุษย์แย่งกันครอบครองอาวุธชิ้นนี้ก็แทบจะทำหนังภาคแยกได้เลยนะ)

2. การทำงานของหน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่โมนาร์ท

ตอนแรกเหมือนรัฐบาลกลางมีบทบาทเข้ามาแทรกแซงหนักหน่วงมาก แต่หลังจากฉากประชุมในห้องก็หายเงียบไปเลย ผ่านไปสักพักใหญ่ถึงมีฉากทหารฝ่ายกลาโหมโผล่มาบอกว่าจะยิงระเบิดขีปนาวุธ(ในข้อ 1.)ใส่ก็อดซิลล่าแล้วนะ ยิงขีปนาวุธ แล้วก็หาย ๆ มา ๆ อีก (ในขณะที่ภาค 2014 เน้นเล่าถึงการทำงาน ความผิดพลาด และการแก้ไขของฝ่ายทหารละเอียดกว่า) ซึ่งวิธีเล่าแบบ ”พูดถึงแล้วนะ แต่ให้ออกมาแบบกระปริดกระปรอยนิดหน่อย ๆ” แบบนี้อาจจะใช้งานได้ดีถ้าคนดูมีใจแฟนบอยในการเก็บรายละเอียดมาประติดประต่อกึ่งทฤษฎีสมคบคิดเอง แต่ผกก.ก็ไม่ควรโยนภาระให้คนดูเป็นฝ่ายจินตนาการเองขนาดนั้นมั้ง ถ้าผกก.ให้เวลาไปอธิบายการทำงานของระบบหรือหน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่โมนาร์ท ทั้งส่วนที่เขาพอทำได้หรือผิดพลาด หรือ ผิดพลาดใหญ่ มันก็จะทำให้โลกในหนังดูสมจริงขึ้นมา และทำให้เข้าใจว่าทำไมโมนาร์ทต้องมีบทบาทสำคัญมากมายขนาดนี้เพิ่มขึ้นด้วย

3. ดราม่าครอบครัว

ส่วนตัวแล้วไม่รู้สึกขัดอะไร แต่ก็เข้าใจความน่ารำคาญที่ไททันจะสู้หนังก็ตัดไปที่มนุษย์อีกละ บางทีจุดน่าเสียดายของหนังอยู่ที่แกนหลักในการขับเคลื่อนเนื้อเรื่องใช้ความรู้สึกและชีวิตส่วนตัวของตัวละคร 2-3 คนเป็นหลักเกินไป ในขณะที่คนดูอาจมองว่าไททันตีกันเป็นภัยพิบัติของมนุษย์ชาติ แทนที่จะได้เห็นตัวแทนกลุ่มมนุษย์ขนาดใหญ่ในสังคมหาทางออก ต้องมานั่งฟังดราม่าครอบครัวตีกัน ถึงแม้ว่าถ้าซูมลงไปในเนื้อหาจริง ๆ แล้วสามคนในครอบครัวนี้และอีโก้ของพวกเขาคือแก่นหลักที่ทำให้เรื่องดำเนินไปจริง ๆ ก็เถอะ อาจเป็นนิสัยของผกก.(หรือคนเขียนบท)ที่เน้นความสัมพันธ์ส่วนตัวที่เป็นสเกลเล็กสุดแล้วกระโดดข้ามไปเหตุการณ์ระดับมหภาคของโลกเลย โดยที่ข้ามสเกลขนาดกลาง ๆ ระดับมนุษย์คนอื่นในสังคม หรือก็คือพวกในข้อ 2. นั่นเอง หนังเลยทำให้เราเห็นความคิดหรือความสัมพันธ์เชิงลึกของครอบครัวนึง (ซึ่งเราไม่ใช่คนในครอบครัวเขา จะไปอินอะไรกับปัญหาในครอบครัวเขานักหนาในหนังที่ตั้งใจมาดูสัตว์ประหลาด) กับความคิดของหรือตัวตนเชิงลึกของสัตว์ประหลาด (ซึ่งมันระดับปรัชญา นามธรรม สื่อสารออกมาคุลมเครือขยักขย่อน ที่คนเขียนบทน่าจะรู้ดีที่สุดคนเดียว) ในขณะที่ความคิดสเกล common ระดับผู้คนทั่วไปมีส่วนร่วมได้ไม่มีเลย (ถ้าให้ยกตัวอย่างหนังที่สื่อสารออกมาได้ครบถ้วนทั้ง 3 สเกลและออกมาได้ดี ก็ต้องยกตัวอย่างหนังของโนแลน เช่น แบทแทนไตรภาคนั่นล่ะค่ะ)

4. ซีนสู้หรือปรากฏตัวของสัตว์ประหลาด

อันนี้เป็นจุดที่เสียดายที่สุดค่ะ เพราะปกติเป็นคนชอบเก็บรายละเอียดในหนังมาขยายเนื้อหาเองอยู่แล้ว (เข้าท่าหรือไม่ก็ว่าไปตามเรื่อง) ทำให้เนื้อหาแบบข้อ 1. – 3. พอจินตนาการเองได้ คิดให้ตัวเองฟังบ้าง เล่า/บังคับให้คนใกล้ตัวฟังบ้าง เขียนเป็นรีวิวลงอินเตอร์เนตบ้าง แต่เรื่องงานภาพเนี่ยสิ.....เสียดายที่ผกก.ส่งมาให้ดูไม่เต็มอิ่ม หลายคนบอกว่าซีนไททันสู้กันมีเยอะ อันนี้ยอมรับ แต่ขอบ่นเป็นการส่วนตัวว่าแต่ละฉากมันตัดเร็วเกินไป หลายจังหวะสวยงามและมีความหมายมาก มี easter eeg ดี ๆ แทรกอยู่ ซึ่งล้วนมีค่าในระดับที่ผกก.จะดึงซีนให้นาน ซูมภาพ หรือสโลวโมชั่นเพื่อเน้นให้เห็นความหมายของไททันหรือเหตุการณ์ก็ได้ แต่ฉากเหล่านั้นกลับถูกกำกับให้ผ่านไปแบบเร็ว ๆ ..... ที่เสียดายสุดก็เช่น  
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
จนไม่แน่ใจว่าถ้าไม่ใช่แฟนบอยจริง ๆ จะรู้รึเปล่าว่านางทำอะไรให้ก็อตซิลล่าอยู่ ส่วนตัวเลยคิดว่าฉากสู้ที่กำกับเวลาได้เหมาะสมสุด และไฮป์ฟิลลิ่งเราได้มากสุดคือตอนโรดอนเปิดตัวแล้วไฟท์เดี่ยวกับฝูงบินรบ เป็นช่วงที่ทอดเวลาและเน้นให้เห็นท่วงท่าหรือสิ่งที่เกิดขึ้นได้ชัดเจนดีมาก ๆ ซึ่งผกก.น่าจะกำกับแบบนี้กับซีนอื่น ๆของไททันทั้งหมดที่เหลือด้วย....
.
.
.
.
การตีความ
เฉพาะส่วนที่เด่น ๆ และเราคิดว่าน่าสนใจนะคะ

1. ไททั่นระดับผู้นำและไททั่นระดับผู้ตาม

ในเมื่อหนังชงความเป็นราชันย์ขนาดนี้แล้วแน่นอนว่าต้องมีไททั่นฝั่งพสกนิกร ส่วนตัวตีความว่าน่าจะขึ้นกับระดับสติปัญญาของไททั่นแต่ละตัว ฝั่งพสกนิกรอาจมีสติปัญญาระดับเบา ๆ สนใจแต่กินอะไร อยู่แบบไหน ผสมพันธุ์เมื่อไหร่ แต่ไททั่นฝั่งราชันย์จะเข้าใจอะไรได้กว้างขวางและลุ่มลึกกว่า สามารถทำอะไรใหญ่เกินตัวมากกว่าเอาตัวรอดไปเรื่อย ๆ หรือรักษารังแคบ ๆ ของตัวเอง ตัวอย่างก็คือ คิงกิโดร่าที่มีธรรมชาติของการล้างโลก (เวอร์ชั่นญี่ปุ่นเป็นเอเลี่ยนที่ได้ชื่อว่า star destroyer ความหมายตรงตามตัวเลยคือเดินทางข้ามอวกาศทำลายดาวไปเรื่อย ๆ )  ก็อตซิลล่าคือสัตว์หวงอาณาเขต ซึ่งอาณาเขตของก็อดซิลล่าคือโลกทั้งใบ ในขณะที่ไททั่นที่ตัวตนลึกล้ำที่สุดน่าจะเป็นมอธร่าขนาดน่าจะเป็นตัวแทนเจ้าแห่งความรู้และปรัชญา ที่ให้คุณค่าแก่การปกป้องสรรพสิ่งและชีวิตอื่น มากกว่าการสนใจแค่เรื่องของตัวเอง ส่วนไททันตัวอื่น ๆ ที่ข้อมูลยังไม่เปิดเผยเท่าไหร่ก็กองเป็นฝั่งพสกนิกรไปก่อน ยกเว้นโรดอนที่ก้ำ ๆ กึ่ง ๆ (?)

2. ก็อดซิลล่า vs มอธร่า

ขยายจากการตีความในข้อ 1 หลายสำนักวิเคราะห์กันว่าก็อตซิลล่าของรีเจนดารี่คือตัวร้ายหรือตัวดี ? เพราะถ้าตามออริจินั่ลแล้วญี่ปุ่นยืนพื้นให้ก็อตซิลล่าเป็นตัวร้ายจอมอาละวาด ถ้าสู้กับใครมักจะเพื่อประกาศความขาใหญ่และหวงถิ่น ไม่ใช่เพื่อเป็นฮีโร่ปกป้องมนุษย์ ถ้ารีเจนดารี่จะเทิร์นก็อตซิลล่าเป็นฮีโร่ไปเลยก็จะแปลกแหวกต้นฉบับไปสักหน่อย ยังไงก็ตามภาค 2 ที่ได้ดูกัน บางมุมของหนังสื่อสารบอกคนดูว่าก็อตซิลล่าเป็นผู้ปกป้องมนุษย์ อีกทั้งมอธร่าที่เป็นไททันผู้พิทักษ์ยังอยู่ข้างเดียวกับก็อตซิลล่าเลย บางทีคำอธิบายน่าจะอยู่ที่ทฤษฎีการพึ่งพาอาศัยกันแบบประจวบเหมาะ โดยสมมติฐานตามการตีความข้อ 1. ว่า ก็อตซิลล่าเป็นสัตว์ใหญ่หวงถิ่น ซึ่งตั้งแต่ภาคแรก เหมือนพี่ก็อตซิลล่าจะมีกฎของตัวเองว่าไททันจะอยู่ที่ดาวนี้ต้องนอนกันเงียบ ๆ ใครตื่นมาเดินตึงตังพี่ก็อตตามมาตบหมด ในขณะที่มอธร่าอาจมีสติปัญญาล้ำลึกขนาดให้คุณค่ากับการคุ้มครองโลกและสรรพสิ่ง เมื่อจับสัญญานความเป็นนักทำลายดวงดาวของคิงกิโดร่าได้จึงต้องตื่นขึ้นมาเพื่อจัดการปัญหานั้น เลยออกมาเป็นภาพที่มอธร่าร่วมมือ (หรือแค่ใช้ประโยชน์) ความแข็งแกร่งและสัญชาตญานหวงถิ่นของก็อตซิลล่าจนทำให้ทั้งสองฝ่ายบรรลุเป้าหมายร่วมกัน ส่วนตัวแล้วเราชอบมากที่คู่นี้เกี่ยวข้องกันแบบนี้ (ปล.ถ้าสังเกตจะพบว่าในมอธร่าไม่ได้ฆ่าใครเลยทั้งมนุษย์และไททันด้วยกัน นอกจากกรณีของคิงกิโดร่า)

3. ดร.เซริซาว่า นาฬิกา และเพื่อนเก่า

ส่วนตัวแล้วชอบบทดร.เซริซาว่ามาก (แม้จะแตกต่างจากออริจินั่ลของญี่ปุ่นไปแทบสิ้นเชิง) และรู้สึกว่าผกก.ใส่นัยยะหลายอย่างให้กับเขา อย่างการพกนาฬิกาที่ผ่านเหตุการณ์ทิ้งบอมม์ฮิโรชิม่า ที่การทำงานของมันหยุดลงนับแต่ 8.15 น.วันที่ทิ้งระเบิดนั้น ในภาค 2 นี้ดร.เซริซาว่าบอกว่าถึงเวลาที่จะซื้อนาฬิกาใหม่แล้วหรือสื่อถึงการก้าวเดินไปข้างหน้า ถ้ามองว่าดร.เซริซาว่าเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทิ้งระเบิด ตลอดมาอาจสับสนในสิ่งที่เกิดขึ้น ว่าในฐานะคนของประเทศญี่ปุ่นเขาควรจะคิดกับเรื่องนี้ยังไง ต้องรู้สึกรับผิดชอบกับอะไร และควรจะมองไปข้างหน้าแบบไหน ซึ่ง ณ เวลานี้เขาค้นพบแล้วว่าควรจะมองมหันตภัยนิวเคลียร์ให้กลายเป็นความหวัง (?) บางที คำว่าเพื่อนเก่าที่ดร.เซริซาว่าใช้เรียกก็อตซิลล่า อาจหมายถึงทั้งเขาและไททันตัวนี้ต่างมีชีวิตและมีความผูกพันกับนิวเคลียร์อย่างลึกซึ้งยาวนานมาตลอดเหมือนกันก็เป็นได้

4. ดราม่าครอบครัว (รุ่นลูกแก้ไขปัญหาของรุ่นพ่อแม่)

อันนี้อาจเป็นเมสเสจหลักที่ผกก.อยากสื่อถึงคนดูซึ่งก็ไม่ได้หวือหวาเท่าไหร่ แถมอาจถูกมองว่าซ้ำซากไม่ต่างจากหนังฮอลลีวู้ดเรื่องอื่น แต่ถ้ามองลึก ๆ ใน 2019 ปัญหาครอบครัวเกิดจากฝั่งพ่อและแม่เป็นคนมีอีโก้สูงทั้งคู่ แถมมีความสามารถที่สร้างเรื่องได้มากกว่าคนปกติ สุดท้ายกลายเป็นรุ่นลูกที่ต้องก้าวข้ามอีโก้และความมืดบอดเดิม ๆ ของพ่อแม่เพื่อเคลื่อนไหวทำในสิ่งที่ควรทำ (มั้ง------การเอาเครื่องออร์กามาเปิดที่บอสตัน) และท้ายสุดก็ทำให้พ่อแม่ร่วมมือกันจนผ่านพ้นเหตุการณ์วิกฤตได้สำเร็จ ผกก.อาจจะบอกว่า สำหรับคน ๆ หนึ่ง ปัญหาระดับทำลายล้างมนุษยชาติ กับปัญหาการเบาะแว้งความรุนแรงในครอบครัวของเด็กคนหนึ่งเทียบกันแล้วมีน้ำหนักขนาดเท่ากันก็เป็นได้

.
.
.
.
สรุปสุดท้าย

รู้สึกว่าภาค 2019 บทของก็อดซิลล่าโอเคนะ เพียงแต่บกพร่องในการสื่อสารกับคนดูสักหน่อย เหมือนผกก.หรือคนเขียนบทมีวัตถุดิบด้านเนื้อเรื่องที่ดี แต่ผกก.เลือกที่จะเล่าในจุดที่ตัวอยากเน้นจนเกินไป และข้ามในจุดที่ควรสื่อสารกับคนดูไปอย่างน่าเสียดาย (คล้าย ๆ ที่เกิดกับหนัง BvS ของแซค ซไนเดอร์) ความเห็นเราส่วนหนึ่งเกี่ยวกับ Godzilla 2 : King of monster ก็ประมาณนี้ อยากย่อแล้วแต่ใส่อารมณ์ร่วมเยอะก็เลยยาวไปสักหน่อย

ขอบคุณมากนะคะที่อ่านมาถึงบรรทัดนี้
ชื่อสินค้า:   Godzilla: King of the Monsters (2019)
คะแนน:     

CR - Consumer Review : กระทู้รีวิวนี้เป็นกระทู้ CR โดยที่เจ้าของกระทู้

  • - จ่ายเงินซื้อเอง หรือได้รับจากคนรู้จักที่ไม่ใช่เจ้าของสินค้า เช่น เพื่อนซื้อให้
  • - ไม่ได้รับค่าจ้างและผลประโยชน์ใดๆ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่