Aladdin: ฉันมองดูเธอผิดไป.. (Guy Ritchie)


By มาร์ตี้ แม็คฟราย

'ขึ้น ๆ ลง ๆ' น่าจะเป็นคำจำกัดความของ Guy Ritchie ผู้เคยเป็นดาวรุ่งในกลุ่มผู้กำกับเลือดใหม่ช่วงยุคต้นปี 2000 ด้วยฝีไม้ลายมือการกำกับที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ส่งให้ผลงานเปิดตัวในยุคแรกอย่าง Lock, Stock and Two Smoking Barrels (1998) และ Snatch (2000) กลายเป็นหนังแก๊งสเตอร์ตลกร้ายในดวงใจใครหลายคน จนชื่อของเขาโด่งดังเพิ่มขึ้นในกระแสข่าวบันเทิงโลก จากการที่มีสถานะเป็นคนรักของนักร้องหญิงรุ่นใหญ่อย่าง Madonna จนเป็นที่มาของ ‘หนังเพื่อเมีย’ อย่าง Swept Away (2002) ที่กลายเป็นงานเรื่องแรกที่ล้มเหลวทั้งรายได้เสียงวิจารณ์

จนต้องซมซานกลับมาทำหน้าแก๊งสเตอร์แบบเดิมอย่าง RocknRolla (2008) ที่ผลตอบรับไปทางครึ่ง ๆ กลาง ๆ ซึ่งบอกเป็นนัยว่าการเล่าเรื่องเฉพาะตัวกับเรื่องราวแก๊งสเตอร์หลากตัวละครที่มีเส้นเรื่องโยงไปโยงมา ไม่ใช่เรื่องน่าตื่นตาตื่นใจของบรรดาคอหนังอีกเหมือนงานแจ้งเกิดอีกแล้ว พูดง่าย ๆ ว่า มันซ้ำซากแล้ว

จนปีเข้าปี 2009 ที่กราฟชีวิตของเขาขยับขึ้นสูงอีกครั้ง จากผลงานกำกับหนังฟอร์มใหญ่จากสตูดิโอใหญ่เรื่องแรก ที่นำนิยายอมตะมาดัดแปลงเป็นหนังแอ็คชั่นสืบสวนอย่าง Sherlock Holmes ที่เขานำเอกลักษณ์มาผสานกับโทนหนังสืบสวนได้อย่างน่าสนใจและลงตัว และคราวนี้ได้คำชมไปหนาหูแถมกวาดรายได้ทั่วโลกไปกว่า 524 ล้านเหรียญ นำมาซึ่งภาคต่ออย่าง Sherlock Holmes: A Game of Shadows (2011) ที่สตูดิโอหมายมั่นปั้นมือว่าแฟรนไชส์นักสืบชื่อดังคนนี้คงจะยืนระยะไปยาวนานอีกหลายภาค แต่กลับต้องพบความจริงว่าหนังภาคต่อเรื่องนี้กลับไปประสบความสำเร็จดั่งที่คาด

หนังได้รับเสียงตอบรับไม่มากเท่าที่ควร แม้จะทำรายได้มากกว่าภาคก่อน แต่ก็ไม่ได้เป็นแบบที่สตูดิโอคาดหวัง ส่วนคำวิจารณ์ถึงตัวหนังก็ตกลงอย่างชัดเจน ด้วยปัญหาเดิมกับที่ผู้กำกับคนนี้เคยประสบมาแล้ว คือความซ้ำซากของลายเซ็นการเล่าเรื่อง ที่ไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่อีกแล้ว ซ้ำยังดูเกิน ๆ ไม่ได้ลงตัวเหมือนกับภาคก่อน ความหวังของสตูดิโอในการขยายเรื่องราวนักสืบผู้นี้ออกไป จึงหยุดชะงักแค่ภาคนี้

ก่อนจะไปเริ่มฟื้นตัวได้อีกครั้ง ในหนังสายลับยุคสงครามเย็นอย่าง The Man from U.N.C.L.E. (2015) และไปล้มเหลวครั้งใหญ่แบบหมอไม่รับเย็บกับ King Arthur: Legend of the Sword (2017) จะสังเกตได้ว่า Guy Ritchie มีกราฟชีวิตที่ขึ้นลงอยู่ตลอด ผลงานไหนดี ผลงานต่อมามักจะตกลง ซึ่งด้วยความที่โปรไฟล์ไม่ได้ดีนักแบบนี้ ตอนที่ดิสนีย์ประกาศว่า เขาคือผู้ที่จะเข้ามากำกับโปรเจกต์ Live-action อย่าง Aladdin จึงเป็นเรื่องที่บรรดาคอหนังต่างตั้งข้อสงสัยว่า จะดีเหรอ?

แต่พอได้ดูผลงานล่าสุดชองเขาแล้ว คงต้องบอกว่า Guy Ritchie กลับมามือขึ้นอีกครั้ง และคราวนี้เราได้เห็นฝีมือของเขามากขึ้นอีกด้วย

ไม่รู้ว่าคิดไปเองหรือเปล่า แต่สิ่งที่เห็นจากหนัง Live-action เรื่องนี้ มันดูมีชีวิตชีวา กระฉับกระเฉง และเต็มไปด้วยพลังงานขับเคลื่อน เสมือนว่าตัวผู้กำกับดูน่าจะกำลังสนุกและมันมือในการทำงานอย่างมาก การเล่าเรื่องที่ไม่เชื่องช้า แถมพยายามสอดแทรกฉากไล่ล่าในเมืองที่ดูน่าตื่นเต้น และเรื่องราวที่เดินไปข้างหน้าตลอดเวลา แม้จะมีฉากร้องเพลงมาขัดจังหวะอยู่บ้าง แต่ขึ้นชื่อว่าหนังดิสนีย์ ก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก หรือมองอีกแง่ มันต้องเจออยู่แล้ว

ในจุดนี้ก็ยังต้องชื่นชมทีมงานด้านเพลงของดิสนีย์เช่นเดิม จากการแต่งเพลง รวมถึงการเรียบเรียงดนตรีใหม่ให้ร่วมสมัยมากขึ้น แต่ยังคงเสน่ห์และความไพเราะเช่นเดิม เช่นเพลง A Whole New World ที่เพราะเหมือนเดิม แต่ดนตรีมีความร่วมสมัยมากขึ้น

คราวนี้ Ritchie ลดความเป็นตัวเองลงไปอย่างชัดเจน มีไม่กี่ฉากเท่านั้นที่รู้สึกว่าฉากนี้แหละ คือหนังของ Guy Ritchie แต่ผลออกมากลับลงตัวมากกว่าเดิม และเป็นอีกครั้งที่ลายเซ็นของเขาที่ออกมาแต่ละครั้งเป็นการใช้งานที่ถูกที่ถูกเวลา นอกจากนั้นฉากไล่ล่าช่วงไคล์แมกซ์ก็ทำได้ดูสนุก ลุ้นระทึก แสดงให้เห็นว่าถ้าเวลามือขึ้นเมื่อไหร่ เขาก็ทำฉากแอ็คขั่นที่มีคุณภาพออกมาได้เหมือนกัน แถมฉากร้องเล่นเต้นระบำ ก็ทำได้ดีไม่น้อยหน้าผู้กำกับหนังมิวสิคัลชื่อดังคนอิ่น ๆ อีกด้วย

โดยส่วนตัวมองว่า Aladdin เวอร์ชั่นนี้ เป็นหนัง Live-action คุณภาพระดับต้น ๆ ของดิสนีย์ เอาเข้าจริงรู้สึกกว่ามันดีกว่า Beauty and the Beast (2017) เพราะอย่างน้อย Aladdin คราวนี้ก็ยังมีการดัดแปลง เพิ่มเติม ในส่วนของเรื่องราวและตัวละคร เช่นความเด็ดเดี่ยวของ เจ้าหญิงจัสมิน ในฉากที่เธอกู่ร้องแสดงพลังในเพลง Speechless และเรื่องราวการยึดอำนาจที่ดูไปก็รู้สึกว่าหนังแฝงประเด็นการเมืองไว้นิดหน่อยอย่างจงใจ (ซึ่งเข้ากับสถานการณ์บ้านเมืองเราอย่างน่าประหลาด)

ต่างกับงานโฉมงามกับเจ้าชายอสูรที่เล่นแบบเพลย์เซฟ จนแทบจะเอาแบบต้นฉบับมาทั้งหมด จนตัวหนังจืดชืดจนเกินไป

แต่หากมองในแง่ของศิลปะภาพยนตร์แล้ว หนังเรื่องนี้คงยังไม่สามารถอยู่ระดับหนังที่ดีเลิศขนาดนั้น หากแต่ความรู้สึก เพลง และอารมณ์ของหนังที่ได้รับ มันก่อให้เกิดหนังพูดได้เต็มปากว่าเป็นหนังเพื่อความบันเทิงจริง ๆ ไม่จำเป็นต้องดี แต่ก็มีความสุขตลอดเวลาที่ได้ดู

และก็ได้แต่หวังว่ากราฟชีวิตของชายนามว่า Guy Ritchie จะเป็นเส้นตรงขยับขึ้นเสียทีในผลงานต่อไป ไม่ต้องขึ้น ๆ ลง ๆ เหมือนที่เป็นมาอีกแล้ว

ขอบคุณรูปจาก stylecaster

ติดตามบทความจากภาพยนตร์เรื่องอื่น ๆได้ที่ https://www.facebook.com/thelastseatsontheleft
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่