เปรียบเทียบความใกล้เคียงคอนเซ็ปต์ของ Girls' Generation / Red Velvet เข้ากับนางในวรรณคดีไทย

สืบเนื่องจากกระทู้ “ศึกษาวรรณกรรมผ่านวัฒนธรรมเคพอป” https://ppantip.com/topic/38907046 ก็ลองนึกดูเล่น ๆ ว่า หากเปรียบคอนเซ็ปต์ Girls’ Generation (SNSD) – The Boys และ Red Velvet – The Velvet เข้ากับนางในวรรณคดีไทย สมาชิกแต่ละคนจะใกล้เคียงกับนางในวรรณคดีคนไหนมากที่สุด เลยอยากตั้งกระทู้นี้ขึ้นมาเพื่อเชื่อมโยงแนวคิดที่มีส่วนคาบเกี่ยวใกล้เคียงกันระหว่างคอนเซ็ปต์เทพนิยายของนักร้องเกาหลีกับนางในวรรณคดีไทย
เริ่มต้นที่ แทยอน ขอเลือกให้ใกล้เคียงกับ นางละเวงวัณฬา ในเรื่องพระอภัยมณี เนื่องจากนางละเวงวัณฬาคือภรรยาชาวฝรั่งของพระอภัยมณี และชุดที่แทยอนใส่ก็เป็นชุดที่หญิงตะวันตกสวมใส่ รวมถึงภาพนี้ แทยอนถือแอปเปิลอยู่ นางละเวงวัณฬาเป็นนางในวรรณคดีที่เกี่ยวข้องกับผลไม้นางหนึ่ง ผลไม้ชนิดนั้นคือ ดินถนัน ที่เป็นดินมีลักษณะเหมือนน้ำเต้าสีเหลืองทอง โดยสำนักงานราชบัณฑิตยสภาให้ความหมายของดินถนันไว้ว่า
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

เจสสิกา เปรียบได้กับ นางสุวรรณเกษร จากเรื่อง เจ้าหญิงนกกระจาบ เพราะภาพของเจสสิกาที่มีนกพิราบอยู่นั้น หากนึกถึงนางในวรรณคดีที่มีความเกี่ยวข้องกับนก คงต้องยกให้เป็นนางสุวรรณเกษร โดยในเนื้อเรื่อง นางเป็นเจ้าหญิงที่เป็นนกกระจาบกลับชาติมาเกิด แต่เมื่อถึงวัยครองเรือน นางไม่เอ่ยวาจากับชายใด เพราะคำอธิษฐานของคู่บุญของนางเมื่อชาติที่ยังเป็นนกกระจาบนั่นเอง

ด้วยความที่ ซันนี ในภาพนี้ ตัดผมสั้น หากจะนึกถึงนางในวรรณคดีก็ยากที่จะนึกออก นอกเสียจากว่านางในวรรณคดีคนนั้นจะเป็นผู้ชาย เพราะยังไงผู้ชายก็ต้องมีผมสั้นอยู่แล้ว จึงมีชื่อของ นางอิลา จากเรื่อง อิลราชคำฉันท์ ผุดขึ้นมาในความคิด นางอิลาคือท้าวอิลราชในร่างสตรี โดยเนื้อหาของอิลราชคำฉันท์มีอยู่ว่า
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
ทิฟฟานี เป็นอีกคนหนึ่งที่ภาพออกมาชัดเจนว่าเป็นภาพของนางเงือก เพราะชุดที่มีลวดลายคล้ายเกล็ดปลา และนางเงือกในวรรณคดีก็มีอยู่ไม่มาก จึงขอเลือกเปรียบเทียบกับ นางจันทวดี พันปีหลวง จากเรื่อง พระอภัยมณี เนื่องจากนางเงือกในเรื่อง พระอภัยมณี คือนางเงือกที่มีขาเหมือนคนทั่วไป เพียงแต่มีหางปลา งอกออกมาจากส่วนหลังเพียงเท่านั้น เพราะในตอนที่นางผีเสื้อสมุทรฆ่าพ่อแม่ของนางเงือก กล่าวว่า "แล้วนางยักษ์หักแขนฉีกสองขา" เป็นการบ่งบอกว่านางเงือกในความคิดของสุนทรภู่นั้น มีขา ประกอบกับในตอนท้ายของเรื่องพระอภัยมณี ที่พระอินทร์ตัดหางของนางเงือกให้อัตภาพเป็นมนุษย์ แล้วสุดสาครก็มารับไปอยู่ด้วย สถาปนาเป็น พระนางจันทวดีพันปีหลวง
ภาพของ ฮโยยอน คือหญิงที่มีร่างขนาดจิ๋ว มีปีก หากนึกถึงนางในวรรณคดีที่มีปีก คงหนีไม่พ้นนางกินรีอย่าง นางมโนห์รา จากเรื่อง พระสุธนมโนห์รา ซึ่งสำนักงานราชบัณฑิตยสภากล่าวว่า ในวรรณคดีไทยหลายเรื่องมีการพูดถึงกินนรกับกินรี พจนานุกรมศัพท์วรรณกรรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่า กินนรกับกินรี เป็นอมนุษย์ในเทพนิยาย กินนรเป็นเพศชาย และกินรีเป็นเพศหญิง แต่ก็มักเรียกปน ๆ กันไป กินนร หมายถึงทั้ง ๒ เพศก็มี กินนรกับกินรีอาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ และอาจอยู่กันเป็นบ้านเมือง มีกษัตริย์ปกครอง เช่น กินนรกับกินรีในบทละครเรื่อง นางมโนห์รา-พระสุธน ก็บอกว่ามีบ้านเมืองของกินนรอยู่เชิงเขาไกรลาส
ภาพของ ยูริ เป็นภาพที่สวมชุดสีแดงและมีรองเท้าสีแดงวางอยู่ด้วย หากนึกถึงนางในวรรณคดีที่เกี่ยวข้องกับเท้า และสีแดง คงต้องนึกถึง นางสีดา จากเรื่อง รามเกียรติ์ เนื่องจากในตอนหนึ่งที่นางสีดาแสดงความบริสุทธิ์ใจแก่พระรามว่าไม่เคยตกเป็นของทศกัณฐ์ โดยนางพิสูจน์ด้วยการเดินลุยไฟ และด้วยความสัตย์ของนางทำให้มีดอกบัวมารองรับเท้าของนางไว้
ภาพของ ซูยอง เป็นภาพที่บ่งบอกว่าหญิงคนนี้มีเส้นผมเป็นจุดเด่น ประกอบกับภาพวาดหวีผมบนปกอัลบั้ม หากจะกล่าวถึงนางในวรรณคดีที่เกี่ยวกับเส้นผม ก็พาให้นึกถึง นางจันท์สุดา ในเรื่อง หลวิชัยคาวี หรือเสือโคคำฉันท์ โดยนางจันท์สุดาหรือนางผมหอมเคยลงอาบน้ำในแม่น้ำและผมที่ร่วงของนางในผอบได้ลอยน้ำไป ท้าวสันนุราชเก็บผอบนั้นได้ ก็คิดว่านางผู้เป็นเจ้าของเส้นผมนั้นต้องงามมากเช่นกัน
ยุนอา ที่ถือดาบในภาพ แสดงถึงความแข็งแกร่ง กล้าหาญของผู้หญิง โดยนางในวรรณคดีที่มีความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว สามารถเป็นแม่ทัพให้แก่ศึกสงครามได้ด้วยตนเองคือ นางสุวรรณมาลี จากเรื่อง พระอภัยมณี นางสามารถเป็นแม่ทัพบัญชาการรบได้โดยไม่ต้องพึ่งพาพระอภัยมณีเลย ในครั้งที่อุศเรนยกมาตีเมืองผลึก พระอภัยมณีเป็นเพียงทัพหนุนคอยโจมตีซ้ำเมื่อทัพลังกาแตก ส่วนสุวรรณมาลีเป็นทัพที่ต้องเข้าสู้รบอย่างเต็มที่ และในการรบครั้งนี้ นางเองเป็นฝ่ายอาสาในขณะที่พระอภัยมณีปรึกษานางวาลีว่า จะรบหรือจะหนี สุวรรณมาลีกลับอาสาเข้าต่อสู้ด้วยโดยไม่ลังเลใจ แสดงว่า ไม่เพียงแต่รู้วิชารบ หากยังมีใจเป็นนักรบ คือมั่นคงพูดคำไหนเป็นคำนั้น ไม่โลเล หรือตัดสินใจไม่เด็ดขาดเหมือนพระอภัยมณี
ภาพของ ซอฮยอน เป็นภาพที่มีผ้าคล้ายผ้าคลุมผมของเจ้าสาวในพิธีแต่งงาน จึงชวนให้นึกถึงนางในวรรณคดีที่ถูกจับให้แต่งชุดเจ้าสาวเพื่อเข้าพิธีบูชายัญเป็นเจ้าสาวของพระสมุทร นั่นก็คือ นางอันโดรเมดา จากเรื่อง วิวาห์พระสมุทร พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 โดยนางอันโดรเมดาจำใจที่จะต้องสละชีวิตของตนเองเพื่อที่จะถูกโยนลงไปในมหาสมุทร แต่นายนาวาเอก เอดเวิด ไลอ้อน ได้ใช้อุบายในการช่วยเหลือนางให้ได้ครองคู่กับเจ้าชายอันเดร คนรักของนางแทนที่จะได้สละชีพของตัวเองในการบูชายัญครั้งนี้

ส่วนคอนเซ็ปต์อัลบั้ม The Velvet ของ Red Velvet ที่มีคอนเซ็ปต์ของเทพนิยายเช่นกันนั้น ก็สามารถเปรียบเทียบกับนางในวรรณคดีที่มีลักษณะใกล้เคียงได้เช่นกัน

ภาพของ ไอรีน สังเกตจากผลแอปเปิลในโหลแก้ว นอกจากนางละเวงวัณฬาที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้ว ยังนึกไปได้ถึง นางสุลาลีวัน จากเรื่อง พระอภัยมณี โดยนางสุลาลีวันเป็นภรรยาอีกคนหนึ่งของสุดสาครที่ถูกนางเสาวคนธ์ยิงธนูใส่แก้ม ทำให้ลูกธนูแทงทะลุแก้ม แต่นางได้กินผลดินถนันของนางละเวงวัณฬา ทำให้แผลของนางหาย และกลับมางดงามได้อย่างเป็นปกติ
ภาพของ จอย ที่มีภาพดอกกุหลาบติดอยู่บนเสื้อ ทำให้นึกถึงนางในวรรณคดีที่เกี่ยวข้องกับดอกกุหลาบ คือ นางมัทนา จากเรื่อง มัทนะพาธา ซึ่งนางมัทนา ถูกสาปให้มาเกิดในเมืองมนุษย์เป็นดอกกุหลาบเนื่องจากไม่รับรักจากสุเทษณ์เทพบุตร ในตอนจบนางเสียใจจากท้าวชัยเสน คนรักของนาง แต่นางก็ยังคงปฏิเสธรักของสุเทษณ์เทพบุตรอยู่เช่นเดิม จึงถูกสาปให้เป็นดอกกุหลาบตลอดไป
ภาพของ เยริ นั้นยังไม่ชัดเจนมากนักหากจะชวนให้นึกถึงนางในวรรณคดี แต่ในมิวสิกวิดีโอเพลง One of These Nights มีฉากหนึ่งที่เยรินั่งอยู่บนเรือเพียงลำพัง ก็ชวนให้นึกถึง กากี จากเรื่อง กากีกลอนสุภาพ ที่ฉากหนึ่งนางกากีถูกท้าวพรหมทัตตัดเยื่อใย และสั่งให้มหาดเล็กนำนางไปลอยแพในมหาสมุทร แต่ก็ได้รับความช่วยเหลือจากนายสำเภาที่มาพบ
ซึลกิ ในภาพนี้เห็นได้ว่าถือสิ่งที่คล้ายเทียนที่กำลังจุดไฟอยู่ในมือ หากนึกถึงนางในวรรณคดีที่เกี่ยวข้องกับเทียน ก็คงหนีไม่พ้น นางบุษบา จากเรื่อง อิเหนา ในเหตุการณ์ที่มะเดหวีบุษบาไปไหว้พระในวิหารบนเขา แล้วเสี่ยงเทียนดูว่าดวงชะตาของนางจะคู่กับอิเหนาหรือจรกา โดยวิธีเสี่ยงทายนั้น ใช้เทียนสามเล่ม เล่มหนึ่งเป็นบุษบา ปักตรงหน้านาง อีกเล่มเป็นอิเหนา ปักทางขวา และข้างซ้ายเป็นจรกา

ภาพของ เว็นดี้ มีการแต่งกายคล้ายกับนางเงือกของตะวันตก หากนึกถึงนางในวรรณคดีที่เป็นนางเงือกอีกนางหนึ่งนอกจากนางจันทวดีพันปีหลวง ก็ต้องนึกถึง นางสุพรรณมัจฉา จากเรื่อง รามเกียรติ์ นางเป็นบุตรสาวของทศกัณฐ์กับนางปลา เมื่อครั้งที่พระรามให้หนุมานถมมหาสมุทรข้ามไปยังกรุงลงกา ทศกัณฐ์จึงให้นางสุพรรณมัจฉาและบริวารที่เป็นปลาลอบขนหินถมทะเลดังกล่าวไปทิ้ง หนุมานสงสัยจึงดำลงไปใต้ท้องทะเลจึงพบนางสุพรรณมัจฉา ภายหลังทั้งสองได้ร่วมรักกันและมีบุตรคือ มัจฉานุ ที่ตัวเป็นลิงมีหางเป็นปลา

ทั้งนี้การเปรียบเทียบคอนเซ็ปต์อัลบั้มของเกิร์ลกรุ๊ปเกาหลีกับวรรณคดีไทยที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นนี้ เป็นเพียงการเปรียบเทียบที่หาความเชื่อมโยงแนวคิดที่มีส่วนคาบเกี่ยวใกล้เคียงกันเท่านั้น เนื่องจากแท้จริงแล้วคอนเซ็ปต์เหล่านี้ได้รับอิทธิพลมาจากเทพนิยายของตะวันตกอย่างที่ทราบกันเป็นอย่างดีในหมู่แฟนคลับและผู้ตีความ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่