“แอปเปิลเป็นเสมือนครูของผม" ผู้ก่อตั้ง ‘หัวเว่ย’ ยันไม่สนับสนุนให้จีนเล่นงาน ‘แอปเปิล’

กระทู้ข่าว
รอยเตอร์/เอเจนซี - เหริน เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งและประธานบริหาร หัวเว่ย เทคโนโลยีส์ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบลูมเบิร์กว่า จีนคงจะไม่ใช้มาตรการเล่นงาน ‘แอปเปิล อิงค์’ ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของสหรัฐฯ เพื่อตอบโต้คำสั่งแบนหัวเว่ย พร้อมยืนยันว่าตนไม่เห็นด้วยที่ผู้ผลิตไอโฟนจะต้องกลายเป็นเหยื่อในสงครามการค้า

ผู้สื่อข่าวบลูมเบิร์กได้สอบถาม เหริน เกี่ยวกับกระแสเรียกร้องให้รัฐบาลจีนลงโทษแอปเปิลเพื่อแก้เผ็ดอเมริกา ซึ่ง เหริน ก็ตอบว่า เขาพร้อมที่จะ “ประท้วง” หากปักกิ่งทำเช่นนั้น

“ประการแรก (การแก้แค้นแอปเปิล) มันจะไม่เกิดขึ้น และประการที่สอง หากมันเกิดขึ้นจริง ผมจะเป็นคนแรกที่ประท้วง” เหริน ระบุในบทสัมภาษณ์ที่เผยแพร่วันนี้ (27 พ.ค.)

“แอปเปิลเป็นเสมือนครูของผม พวกเขาพัฒนาเติบโตต่อหน้าเรา และในฐานะลูกศิษย์คนหนึ่ง ทำไมผมจะต้องต่อต้านครูของผมด้วย? ผมไม่มีวันทำเช่นนั้น”

อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่าการที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ สั่งห้ามบริษัทอเมริกันจำหน่ายและถ่ายโอนเทคโนโลยีให้กับหัวเว่ยนั้นส่งผลกระทบต่อความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีของหัวเว่ยซึ่งล้ำหน้าคู่แข่งอยู่ประมาณ 2 ปี แต่บริษัทก็ได้เตรียมแผนรองรับด้วยการเร่งผลิตชิป หรืออาจแสวงหาตัวเลือกอื่นๆ เพื่อที่จะคงความเป็นผู้นำในตลาดสมาร์ทโฟนและเครือข่าย 5G ต่อไปให้ได้

“เราอาจจะเติบโตไม่ได้ตามเป้าที่วางเอาไว้ แต่ก็ยังเติบโตได้อยู่ ความสามารถที่จะโตท่ามกลางบรรยากาศการแข่งขันอันดุเดือดที่สุดนั้นจะสะท้อนให้เห็นเองว่า เรายิ่งใหญ่แค่ไหน” เหริน ระบุ

สหรัฐฯ ได้ประกาศขึ้นบัญชีดำหัวเว่ย และห้ามบริษัทอเมริกันทำธุรกิจกับยักษ์ใหญ่โทรคมนาคมจีนแห่งนี้ ในความเคลื่อนไหวที่กระพือสงครามการค้าระหว่างสองมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก

บริษัทเทคโนโลยีของสหรัฐฯ เช่น กูเกิล ซึ่งเป็นผู้พัฒนาระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ที่ใช้ในสมาร์ทโฟนทั่วโลก ได้ออกมาประกาศตัดความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับหัวเว่ยตามนโยบายของ ทรัมป์ 

เหริน ยังตอบโต้ข้อครหาของนักวิจารณ์ที่ระบุว่า หัวเว่ยก้าวมาถึงจุดนี้ได้เพราะขโมยทรัพย์สินทางปัญญาของชาติอื่น และมีรัฐบาลจีนคอยหนุนหลัง

“สหรัฐฯ ยังไม่ได้พัฒนาเทคโนโลยีนั้นขึ้นมาเลย แล้วผมจะไปขโมยมาจากใครล่ะ?” เหริน ตั้งคำถาม “เราแซงหน้าสหรัฐฯ อยู่ ถ้าเราตามหลังพวกเขา ทรัมป์ก็คงจะไม่พยายามโจมตีเราขนาดนี้”

เหริน ระบุว่า หัวเว่ยจะหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ของตัวเองเพื่อทดแทนชิ้นส่วนและซอฟต์แวร์จากซัพพลายเออร์ที่ลดลง

“สหรัฐฯ ก็บริหารจัดการบริษัทของพวกเขาไป สหรัฐฯ ไม่ใช่ตำรวจสากล พวกเขาไม่มีสิทธิ์ควบคุมความเป็นไปของโลก ประเทศอื่นๆ ย่อมมีสิทธิ์ตัดสินใจว่าจะทำงานร่วมกับเราหรือไม่ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์และจุดยืนทางธุรกิจของพวกเขาเอง” เหริน กล่าว

“ถ้าสหรัฐฯ บีบคั้นเรามากกว่านี้ เราก็จะลดการนำเข้าชิ้นส่วนอุปกรณ์จากสหรัฐฯ และใช้ชิปของเราเองมากขึ้น แต่ถ้าบริษัทอเมริกันได้รับอนุญาตให้ขายสินค้าให้เราได้อีกเมื่อไหร่ เราก็ยินดีจะซื้อจากพวกเขา” 

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่