@@@@@ รู้จัก พลเอกเปรม @@@@@@

กระทู้คำถาม
วินทร์ เลียววาริณ

คนรุ่นใหม่ได้ยินนาม พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ในฐานะประธานองคมนตรี บุรุษผู้รักความเงียบ ต่อต้านการต่อต้านด้วยความสงบ
คนรุ่นใหม่อาจเกิดไม่ทันหรือไม่รู้บทบาทของท่านในประวัติศาสตร์
เพราะในบรรดาทหารที่เข้าสู่การเมืองของไทย พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ พูดน้อยที่สุด
และนี่คืออาวุธที่ทรงพลังที่สุด
ในนวนิยายเรื่อง 17 องศาเหนือ ผมบรรยาย พล.อ. เปรม ในฉากที่ ตุ้ย พันเข็ม พบท่านไว้ดังนี้ :
เขารู้จักชายผู้นั่งนิ่งเบื้องหน้า พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม บุคลิกเรียบร้อย แม่ทัพผู้นี้เงียบตลอดเวลา แตกต่างจากนักการเมืองอื่น ๆ ที่เขาเคยพบโดยสิ้นเชิง แต่เขารู้ว่าบุรุษผู้นี้เป็นน้ำนิ่งไหลลึก เสือซ่อนเล็บ
พล.อ.เปรมเป็นนักเรียนนายร้อยรุ่น พ.ศ. 2484 สังกัดเหล่าทหารม้า เคยเข้าสมรภูมิสงครามอินโดจีนระหว่างสยามกับฝรั่งเศสที่ปอยเปต กัมพูชา เคยร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่สองที่เชียงตุงในกองทัพพายัพ ใต้การบังคับบัญชาของหลวงเสรีเริงฤทธิ์
หลังสงครามโลก พล.อ. เปรมรับราชการอยู่ที่อุตรดิตถ์ และได้รับทุนไปศึกษาต่อที่โรงเรียนยานเกราะของกองทัพบกสหรัฐฯที่ฟอร์ตน็อกซ์ กลับมาดูแลพื้นที่ภาคอีสานหลายปี เคยดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการโรงเรียนยานเกราะ ซึ่งต่อมากองทัพบกจัดตั้งเป็นโรงเรียนทหารม้ายานเกราะ ศูนย์การทหารม้า จังหวัดสระบุรี ไต่เต้าจากตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 2 ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารบก แล้วเข้าสู่การเมือง ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
……………….
ไม่ว่าจะชอบท่านหรือไม่ชอบท่าน ไม่ว่าจะรักท่านหรือเกลียดท่าน แต่ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ คือผู้ที่มีบุญคุณต่อต่อชาวไทย เพราะเป็นผู้มีบทบาทในการสลายขั้ว พคท. ในยุคที่ชาวโลกเชื่อทฤษฎีโดมิโนและฟันธงว่า ประเทศไทยจะกลายเป็นคอมมิวนิสต์ ถัดจากเวียดนาม
ประเทศไทยไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์
ทำไม? อย่างไร?
หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 พคท. ขยายตัวอย่างรวดเร็ว เป้าหมายคือเปลี่ยนไทยเป็นพื้นที่สีแดง
รัฐต่อสู้คอมมิวนิสต์ด้วยกำลัง
เมื่อขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 2 พล.ท. เปรม ติณสูลานนท์ กับคณะเริ่มมองเห็นว่า การปราบปรามด้วยกำลังไม่ได้ผล
จำเป็นต้องต่อสู้ทางความคิด
กลายเป็นแนวทาง ‘การเมืองนำการทหาร’
พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ และคณะเดินหมากตาใหม่ เปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนนโยบายจาก ‘สายแข็ง’ เป็นสายกลาง
เป็นที่มาของคำสั่งที่ 66/2523
ไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการว่าใครเป็นผู้ต้นคิดนโยบาย 66/2523 ว่ากันว่า พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ และหรือ พล.ต. ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นผู้ร่าง แต่เป็นที่รู้กันว่าคำสั่งนี้น่าได้รับอิทธิพลจาก ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร อดีตกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
รัฐบาลไทยในยุค พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ใช้ยุทธศาสตร์ ‘เมืองล้อมป่า’ ใช้การเมืองประสานการทหาร ตัดถนนเข้าไปถึงฐานที่มั่นของ พคท. ส่งกำลังทหารเข้าโจมตีฐานที่มั่นอย่างหนัก ผสานกับการพัฒนาหมู่บ้านในพื้นที่ฐานที่มั่น และประกาศนิรโทษกรรมต่อสมาชิก พคท. ซึ่งเข้ามอบตัว
คำสั่งที่ 66/2523 เปลี่ยนสมาชิกและแนวร่วมของ พคท. เป็น ‘ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย’ คำสั่งนี้เริ่มในรัฐบาล พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ แต่ดำเนินการเป็นทางการในรัฐบาล พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ เมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2523 ออกกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อกระตุ้นให้สมาชิก พคท. กลับบ้าน
ขณะเดียวกัน กองทัพไทยส่ง พล.ท. ชวลิต ยงใจยุทธ พ.อ. พัฒน์ อัคนิบุตร และ พล.ท. ผิน เกษร ไปพบกับ เติ้งเสี่ยวผิง ผู้นำจีนที่ปักกิ่ง เจรจาให้พรรคคอมมิวนิสต์จีน (พคจ.) ยุติความช่วยเหลือ พคท.ไทย ขอให้จีนยุติการออกอากาศสถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย (สปท.) โดยฝ่ายไทยสัญญาจะสนับสนุนนโยบายของจีนเกี่ยวกับเขมร ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2522 สถานีวิทยุที่ออกอากาศจากยูนนานก็ยุติลง พร้อมความช่วยเหลือของจีนต่อ พคท. ค่อย ๆ ลดลง
ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้นำไปสู่ความเสื่อมของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
ความสำเร็จของนโยบาย 66/2523 มิได้เกิดจากหลักการของนโยบายอย่างเดียว หากเป็นผลรวมของหลายปัจจัยและเหตุการณ์ เช่น ความเสื่อมถอยและความขัดแย้งภายใน พคท. ความขัดแย้งระหว่างคอมมิวนิสต์สายจีนกับสายโซเวียต การเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนในปี พ.ศ. 2520 เป็นต้น
หลังจาก คำสั่งที่ 66/2523 ออกในวันที่ 23 เมษายน 2523 รัฐบาลก็ออก คำสั่งที่ 65/2525 เรื่อง แผนรุกทางการเมือง ทำให้กำลังของ พคท. อ่อนกำลังลงทุกที จนถึงปี 2534 ถือเป็นจุดสิ้นสุด พคท.
และเมื่อภารกิจการเมืองลุล่วง ท่านก็ก้าวลงจากอำนาจด้วยตนเอง
เป็นอีกท่อนหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่เราลืม
ไม่ว่าจะชอบท่านหรือไม่ชอบท่าน ไม่ว่าจะรักท่านหรือเกลียดท่าน ความจริงคือเราคนไทยเป็นหนี้บุญคุณท่าน
หากประเทศไทยไม่มีบุรุษชื่อ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ สีธงชาติเราในวันนี้อาจมิใช่สีไตรรงค์
R.I.P.
……………….
วินทร์ เลียววาริณ
https://www.facebook.com/winlyovarin/
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 24

เคยมีคำกล่าวว่า
รัฐบุรุษ คือบุคคลที่คิดถึงอนาคตของคนรุ่นหลัง ที่จะเติบโตขึ้นมาในวันหน้า
แต่นักการเมืองมักจะคิดถึงแต่คะเเนนเสียงที่จะได้รับ จากการเลือกตั้งในครั้งหน้า



นอกจากนโยบาย  66/23 อันลือลั่นเเล้ว  ช่วงที่ท่านเป็นนายกฯ ประเทศเผชิญวิกฤติหลายครั้ง
เเต่ท่านก็พาชาติผ่านมาได้ทุกครั้ง  มีช่วงนึงที่ประเทศเจอวิกฤติการเงินอย่างหนัก
ขาดเเคลนเงินจนรัฐบาลต้องกู้เเบงค์ชาติมาจ่ายเงินเดือนราชการในตอนนั้น  

เเละกลางคืน มีนโยบายการปิดไฟ ปิดปั๊มน้ำมัน ปิดไฟถนน
เรียกว่าประหยัดทุกทาง เพื่อให้ชาติพ้นวิกฤติ จนในที่สุดก็ผ่านมาได้   ประเทศค่อยๆฟื้น  สภาวะการเงินก็ดีขึ้นตามลำดับ

ท่านก็วางมือ ทั้งๆที่ นักการเมืองไปเทียบเชิญ ให้มาเป็นนายกฯต่อ หลังจากที่เป็นมา 8 ปี 5 เดือน

เเต่ท่านบอกว่า  " ผมพอเเล้ว ประเทศเริ่มเดินได้เเล้ว นับจากนี้ไป ก็ให้คนรุ่นใหม่ๆ ได้เข้ามาทำงานพัฒนาบ้านเมืองต่อไป "


พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ท่านเป็นบุคคล ที่เหมาะสมกับคำว่า " รัฐบุรุษ " จริงๆ

ขอเเสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อการจากไปของท่านในวันนี้
              26 พฤษภาคม 2562


เทียน





.
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 1


แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่