EEC - CP ผู้ชนะการประมูลเปิดใจโครงการนี้มีความเสี่ยงสูง แต่ประเทศจะได้ประโยชน์

โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) วงเงิน 215,000 ล้านบาท จาก 31 รายชื่อผู้ซื้อซองประมูล เหลือเพียง 2 กลุ่มที่เข้าร่วมประมูล คือ
• กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้งส์และพันธมิตร ประกอบด้วย [Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
• กลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ประกอบด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS, บริษัท ซิโน-ไทย
เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH

จนเมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2562 ทางบอร์ดที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 4/2562 ผ่านการพิจารณาร่วมทุนกับภาครัฐในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เพื่อเตรียมเสนอเข้า ครม. ในวันที่ 28 พ.ค. 2562 และน่าจะสามารถเซ็นต์สัญญากับการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ประมาณเดือนมิถุนายนนี้

ลองมองกลับไปที่จุดเริ่มต้นของโครงการนี้ ที่ทางรัฐบาลกำหนดการร่วมทุนเป็น  ภาครัฐลงทุน 65% และเอกชนลงทุน 35% และถือว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงสายนี้เป็นโครงการแรกในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่มีมูลค่าการก่อสร้างรองจากการพัฒนาโครงการสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก

ทำให้กลุ่มเอกชนผู้เข้าร่วมประมูลมองเห็นความเสี่ยงสูงจากโครงการนี้ รวมถึงความไม่แน่นอนจากการเมืองของบ้านเราที่ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นได้ว่า "ใคร" จะได้เข้ามาเป็นรัฐบาล จะเข้ามาสานต่อ หรือล้มโครงการ จากมูลค่าการลงทุนเฉพาะการก่อสร้าง และขบวนรถก็สูงกว่า 1.7 แสนล้านบาท และยังไม่รวมเงินลงทุนในส่วนอื่นๆ อีก และที่สำคัญ "ที่ดินมักกะสัน 150 ไร่" ก็ยังต้องใช้เงินลงทุนกว่า 1.4 แสนล้านบาทในการพัฒนาอีก

ถึงแม้ว่าโครงการนี้จะมีความเสี่ยงว่าอาจจะไม่คุ้มทุน และผลตอบแทนอาจจะไม่สูงตามที่คาด แต่โครงการนี้จะมีผลตอบแทนต่อประเทศสูงแน่นอน ซึ่งทางกลุ่ม ซีพี ผู้ชนะการประมูลก็หวังจะทำให้สำเร็จให้ได้ เพื่อให้ประเทศได้ประโยชน์ เกิดความสะดวกสบายต่อการเดินทาง เกิดการพัฒนาเมือง ดึงการลงทุนจากทั่วโลกมาลงทุนในพื้นที่อีอีซี หรือในโซนที่มีโครงสร้างพร้อม เพื่อเป็นการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและระบบนิเวศของประเทศให้ได้

แม่ทัพซี.พี.พร้อม 100% อภิมหาโครงการ 3.4 แสนล้าน เซ็นสัญญารถไฟไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน มิกซ์ยูสยักษ์มักกะสัน เปิดใจต้องทำให้สำเร็จขอเดินหน้าเพื่อประเทศทั้งที่มีความเสี่ยงสูง เชื่อช่วยยกระดับความเจริญประเทศไทยอีกขั้น รับต้องแก้ปมเพดานเงินกู้ ระดมเงินทั้ง “ไทย-เทศ” ก่อนก่อสร้าง ลุ้นพัฒนาเมืองการบิน “อู่ตะเภา” มุ่งลงทุน 4 ธุรกิจดาวรุ่ง

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ (เครือ ซี.พี.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงการลงทุนของเครือ ซี.พี.ในโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเครือ ซี.พี.ได้เข้าร่วมประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. มูลค่ากว่า 2.2 แสนล้านบาท เป็นโครงการแรกและเป็นผู้ชนะ ล่าสุดการเจรจาร่วมลงทุนจบทุกขั้นตอนแล้ว พร้อมจะเซ็นสัญญาในทันทีหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการ นับเป็นการลงทุนโครงการใหญ่ที่ท้าทาย เนื่องจากมีความเสี่ยงสูง

ไฮสปีดใหญ่สุดต้องทำให้สำเร็จ
“โครงการนี้รัฐและเอกชนร่วมลงทุน PPP ระยะเวลา 50 ปี ที่เราตัดสนใจลงทุน เพราะมองว่าถ้าเอกชนมีกำลังพอ คิดว่าบริหารความเสี่ยงได้ ทำไมไม่ทำให้ประเทศ ทำให้การพัฒนาระบบเศรษฐกิจยั่งยืนและดีขึ้น เราไม่ได้ทำคนเดียว ร่วมกับพันธมิตรในประเทศ จีน ญี่ปุ่น และยุโรป”

ทั้งนี้ ตลอดการเจรจาที่ใช้เวลานาน เนื่องจากโครงการมีความยากมาก และผลตอบแทนไม่สูง เนื่องจากมีปัจจัยอื่นที่ทำให้อีอีซีเกิดไม่ใช่รถไฟความเร็วสูงอย่างเดียว เช่น สนามบิน แต่โครงการมีผลตอบแทนต่อประเทศสูง และมีความสำคัญ ซึ่งทางกลุ่ม ซี.พี.จะต้องทำให้สำเร็จให้ได้ แต่ถ้าโปรเจ็กต์ไม่สำเร็จอย่างที่วางไว้ อย่างน้อยก็ประเทศที่ได้ประโยชน์ เกิดความสะดวกสบายการเดินทาง การพัฒนาเมือง ดึงการลงทุนลงพื้นที่อีอีซีในโซนที่มีโครงสร้างพร้อม เป็นการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและระบบนิเวศของประเทศ

เร่งเคลียร์แหล่งเงินทุน
นายศุภชัยกล่าวอีกว่า แม้ว่ารัฐจะสนับสนุนค่างานก่อสร้าง แต่จ่ายปีที่ 6 เป็นต้นไป ซึ่งเอกชนจะต้องหาเงินลงทุนทั้งหมดตั้งแต่เริ่มโครงการ โดยสามารถนำสัญญาโครงการจากรัฐไปเป็นหลักประกันจัดหาแหล่งเงินกู้ได้ ทำให้การทำงานที่ผ่านมาเน้นการเงินมาก ในช่วงการเจรจากับรัฐและหารือกับพาร์ตเนอร์หลังรัฐไม่รับเงื่อนไข กว่าจะสรุปลงตัวก็ใช้เวลาพอสมควร

“ถ้าไม่เคลียร์ เรื่องการเงินไม่จบ หากได้โครงการมาแล้ว ไม่สามารถระดมเงินลงทุนได้ จะทำให้โครงการไม่สำเร็จ ตอนนี้ผ่านขั้นตอนนี้ไปแล้ว แต่ไม่ได้ราบรื่นเสียทีเดียว ต้องลงรายละเอียดอีก เพราะข้อตกลงต่าง ๆ เป็นแค่หลักการ ต้องมาดูเรื่องการระดมทุน หาเงินกู้มาลงทุนโครงการ ตั้งเป้าจะให้จบใน 6 เดือน หรืออาจจะเร็วกว่านั้น จากนั้นถึงจะเริ่มงานก่อสร้างได้”

สำหรับแหล่งเงินทุน นายศุภชัยกล่าวว่า ที่เจรจามาด้วยตลอดมีทั้งธนาคารไทยที่เป็นธนาคารรัฐและธนาคารพาณิชย์ มีองค์การเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (เจบิก) ของญี่ปุ่น และธนาคาร CDB ของจีน เพราะทั้ง 2 ประเทศนี้ส่งเสริมเรื่องโครงสร้างพื้นฐานอยู่แล้ว จะเข้าใจว่าผลตอบแทนโครงการไม่สูง ทำให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างดี ส่วนเรื่องการปล่อยกู้โครงการขนาดใหญ่ก็สามารถขอธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นรายโครงการได้ เพราะเป็นโครงการของประเทศและเป็นโครงการที่รัฐร่วมกับเอกชน สามารถจะพิจารณานอกกรอบปกติได้

“ก่อนหน้านี้ที่เสนอเงื่อนไขการเงินในซองที่ 4 เพราะคิดว่าเป็นเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐ เพราะหากจ่ายเงินชดเชยเร็วขึ้น เราจะสามารถลดต้นทุนดอกเบี้ย และมาลดราคาให้กับรัฐ ทำให้ภาระการระดมทุนลดน้อยลงไป แต่คณะกรรมการคัดเลือกค่อนข้างเข้มงวดก็ไม่เป็นไร เป็นความเสี่ยงที่เราต้องมาบริหารจัดการเอง”

อู่ตะเภาตัวช่วยหนุน 
ทั้งนี้ ยอมรับว่าโครงการเสี่ยงสูง แต่จะเสี่ยงกี่ปี ต้องรออีก 5 ปีหลังสร้างเสร็จ ถึงจะรู้ว่าผู้โดยสารมาใช้บริการเท่าไหร่ ต้องไปดูตลาดจริง ๆ ที่จะเกิดขึ้น ทั้งอุตสาหกรรม เมกะโปรเจ็กต์ที่จะเกิด เช่น สนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือแหลมฉบัง มาบตาพุด เศรษฐกิจขยายตัวหรือไม่ ดูปัจจัยที่ทำให้อีอีซีเกิดในแง่ของคนเดินทาง และทำงานในอีอีซีมากขึ้น ขนาดของเมืองที่จะเปลี่ยน ถ้ามองเฉพาะข้อมูลทั่วไป เช่น ประชากรในพื้นที่ จีดีพีของประเทศ ถ้ามองแค่นั้น เหนื่อย บีบหัวใจเลย จะเบรกอีเวนต์กี่ปีต้องศึกษา เช่น 7-8 ปี 10-15 ปี ต้องดูปัจจัยหลายอย่างมาประกอบกัน จะทำให้สามารถออนท็อปเข้าไป จึงทำให้กลุ่ม ซี.พี.ยื่นประมูลสนามบินอู่ตะเภา เพื่อให้โครงการสนับสนุนกันและกัน

ทุ่ม 1.2 แสนล้านพัฒนามักกะสัน 
นายศุภชัยกล่าวถึงแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบสถานีรถไฟความเร็วสูงว่า จะโฟกัสที่สถานีมักกะสัน พื้นที่ 150 ไร่เป็นลำดับแรก เพราะอยู่ในเงื่อนไขของสัญญาที่จะได้รับการส่งมอบ ส่วนสถานีอื่นยังเป็นแค่พื้นที่สถานี ไม่มีพื้นที่พัฒนา ต้องรอการรวบรวมพื้นที่ ซึ่งจะเป็นแผนระยะถัดไป
“สถานีมักกะสันพัฒนาเป็นมิกซ์ยูส ใช้เงินลงทุนประมาณ 1.4 แสนล้านบาท มาจากเงินกู้และระดมทุนจากพันธมิตร เพราะการลงทุนแบ่งเป็นโซนนิ่ง ดูว่าใครสนใจโซนไหน อาจจะมีพาร์ตเนอร์แต่ละโซน ซึ่งแนวคิดการพัฒนาโครงการเรามีแมกโนเลียเป็นพันธมิตรมาช่วยด้านออกแบบมาสเตอร์แพลนให้ ตั้งเป้าให้มักกะสันเป็นทำเลที่สร้างประโยชน์สูงสุดให้กับโครงการและกรุงเทพฯ ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นออฟฟิศ สำนักงาน ส่วนหนึ่งจะเป็นตลาดของนักท่องเที่ยวเพราะเชื่อม 3 สนามบิน เช่น พื้นที่คอมเมอร์เชียล”

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่