ใครเกิดทัน ไดอารี่ ๒๕๐๐ ถอดแคปซูลเวลา บันทึกประวัติศาสตร์


ไดอารี่หรือสมุดบันทึกประจำวัน เป็นของขวัญชนิดหนึ่งที่นิยมแจกจ่ายกันจากอดีตจนถึงปัจจุบัน โดยปกติสมุดบันทึกประเภทนี้ จะใช้จดบันทึกเหตุการณ์ต่างๆของผู้บันทึก มีทั้งที่ใช้บันทึกเรื่องส่วนตัวหรือเรื่องราวทางธุรกิจ ข้อมูลในบันทึกนั้นมักจะเป็นเรื่องส่วนตัวต่างๆ พื้นที่ส่วนใหญ่ของไดอารี่จึงจะเป็นหน้ากระดาษเปล่า ที่บอกเพียงวันเดือนปีและข้อมูลอื่นๆอีกเพียงเล็กน้อย แต่ในไดอารี่แต่ละเล่มที่แจกจ่ายกันนั้น มักจะมีสาระอื่นๆพิมพ์ประกอบเอาไว้ด้วย เช่นปฏิทินประจำปีต่างๆ ข้อมูลจำเป็นอื่นๆสำหรับคนในยุคที่ไดอารี่นั้นพิมพ์ขึ้น

เจ้าของกระทู้มีไดอารี่เก่าของปีพุทธศักราช ๒๕๐๐ ที่ได้จากตู้หนังสือเก่าของอาคารทางธุรกิจย่านการค้าชาวจีนเก่าแก่ แต่ไดอารี่นี้เป็นของห้างร้านของชาวอินเดียในย่านนั้น ซึ่งปัจจุบันเชื่อว่ายังเปิดดำเนินการอยู่ เพียงแต่ย้ายสถานที่ไปแล้ว ไดอารี่เล่มนี้มีข้อมูลเก่าๆที่จำเป็นสำหรับคนในยุคนั้นบรรจุอยู่นับเป็นร้อยๆหน้า และข้อมูลเหล่านั้นจำนวนมาก ปัจจุบันได้ถูกลืมเลือนไปตามกาลเวลา ข้อมูลในไดอารี่นั้นจึงเปรียบเสมือนแคปซูลเวลาหรือ Time Capsule ที่ได้บันทึกเรื่องราวย้อนอดีตให้เรียนรู้


ในหน้าแรกๆของไดอารี่ บอกถึงชื่อและที่ตั้งรวมถึงปีที่ก่อตั้งกิจการของห้าง ซึ่งระบุว่า established ๑๙๒๐ หมายถึงก่อตั้งในปีคริสตศักราช ๑๙๒๐ หรือตรงกับพุทธศักราช ๒๔๖๓ ซึ่งอยู่ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ซึ่งนับว่าเป็นห้างเก่าแก่แห่งหนึ่งเลยทีเดียว หมายเลขโทรศัพท์ของห้างนี้ยังเป็นเลขห้าหลัก นั่นหมายความว่าในปีพุทธศักราช ๒๕๐๐ นั้น จำนวนโทรศัพท์ในพระนครมีเพียงไม่เกิน หนึ่งแสนเลขหมายเท่านั้น

ในหน้าถัดไปมีภาษิตหรือกฏของการทำธุรกิจในภาษาอังกฤษ และมีหน้าที่บอกถึงชื่อของผู้จัดทำไดอารี่เล่มนี้ ซึ่งมิใช่เจ้าของกิจการที่แจกไดอารี่ แต่หมายถึงผู้รวบรวมข้อมูลต่างๆมาจัดพิมพ์ หรือบรรณาธิการผู้จัดทำนั่นเอง และยังบอกชื่อของโรงพิมพ์ไว้ด้วยคือ โรงพิมพ์ฮับเฮง ซึ่งปัจจุบันโรงพิมพ์นี้ยังคงเปิดกิจการอยู่ในชื่อเดิม

หน้าถัดไปเป็นประกาศสงกรานต์ในปีนั้น และมีพระบรมรูปของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว องค์พระประมุขของชาติในสมัยนั้น หน้าถัดมาเป็นพระบรมรูปของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตต์ พระบรมราชินีนาถ แต่โปรดสังเกตว่าในรูปพิมพ์ว่า "พระบรมราชินี" เจ้าของกระทู้สันนิษฐานว่าไดอารี่เล่มนี้เตรียมการพิมพ์ในปีพุทธศักราช ๒๔๙๙ ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงผนวช (ผนวชระหว่าง 22 ตุลาคม - 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499) และในช่วงทรงผนวชนั้นได้มีการแต่งตั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต่อมาจึงได้เพิ่มคำท้ายพระยศเป็น พระบรมราชินีนาถ ซึ่งข้อมูลในไดอารี่จึงแก้ไขไม่ทันกาล

และต่อด้วยปฏิทินประจำปีก่อน ปีปัจจุบัน และปีถัดไป สามปี

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

ในหน้าที่ ๑๐ และ ๑๑ ของไดอารี่เป็นพื้นที่สำหรับบันทึกข้อมูลส่วนตัว ซึ่งในหน้านี้มีเรื่องน่าสนใจมาก คือนอกจากจะมีช่องสำหรับบันทึกชื่อ ที่อยู่ และรายละเอียดอื่นๆทั่วไปของเจ้าของไดอารี่ ยังมีช่องให้บันทึกสิ่งที่ปัจจุบันนั้นแทบไม่มีใครใช้หรือสนใจแล้ว เช่น นาฬิกาเลขที่ (หมายเลขนาฬิกาข้อมือ) เครื่องพิมพ์ดีดเลขที่ (หมายเลขเครื่องพิมพ์ดีด) และโทรเลขย่อ (Cable) ซึ่งในหน้าแรกๆของไดอารี่ ได้ระบุชื่อโทรเลขย่อของห้างนี้ไว้ว่า Cable : KUKREJA

โทรเลขย่อนี้ เป็นชื่อย่อของกิจการที่จดทะเบียนไว้กับกรมไปรษณีย์โทรเลข โดยมีค่าใช้จ่ายรายปีสำหรับการนี้ โทรเลขย่อมีประโยชน์ในการประหยัดค่าส่งโทรเลข เพราะตามปกติการส่งโทรเลขนั้นจะคิดค่าส่งเป็นคำ (ดูอัตราค่าส่งโทรเลขในปีพุทธศักราช ๒๕๐๐ ได้ในหน้า ๘๘ ของไดอารี่เล่มนี้) ข้อความในโทรเลขทั้งหมดรวมถึงชื่อและที่อยู่ของผู้รับ จะถูกคิดค่าส่งเป็นคำทั้งหมด แต่หากว่าผู้รับมีโทรเลขย่อ ชื่อและที่อยู่ของผู้รับก็ไม่จำเป็นที่จะต้องส่ง ขอเพียงบอกชื่อโทรเลขย่อ และถูกคิดราคาเพียงคำเดียว กรมไปรษณีย์โทรเลข จะเปิดหาที่อยู่ของผู้รับจากสมุดทะเบียน และส่งไปให้ได้ในทันที กิจการที่ต้องมีการติดต่อด้วยโทรเลขบ่อยครั้ง จึงนิยมใช้ชื่อโทรเลขย่อเพื่อความประหยัด

ในหน้านี้ยังมีช่องสำหรับบันทึกหมายเลขหนังสือเดินทาง ทะเบียนปืน แต่ที่น่าสนใจคือมีช่องสำหรับบันทึกหมายเลขใบอนุญาตเครื่องรับวิทยุ ซึ่งในช่วงปีนั้นเครื่องรับวิทยุธรรมดาๆที่เราใช้รับฟังข่าวสารและการบันเทิงกันนั้น จะต้องมีใบอนุญาตจากรัฐ และเสียค่าธรรมเนียมในการมีและใช้เครื่องรับวิทยุ เครื่องรับวิทยุในยุคนั้นเป็นเครื่องที่ใช้หลอดสูญญากาศ ก่อนวิทยุยุคทรานซิสเตอร์จะเกิดหลายปี ขนาดของเครื่องก็ใหญ่โตและหนักค่อนข้างมาก การที่รัฐจะต้องควบคุมเครื่องรับวิทยุ เป็นเพราะเทคโนโลยีทางอีเลคโทรนิคส์ในสมัยนั้นมีจำกัด เครื่องรับวิทยุถือเป็นยุทธปัจจัย และเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ท่านที่เคยอ่านหนังสือนิยายเรื่องเล็บครุฑของพนมเทียน (ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ) ซึ่งเค้าโครงเรื่องเกิดในช่วงปีพุทธศักราช ๒๕๐๐ เช่นกัน จะรู้ถึงความขัดแย้งและความไม่สงบในประเทศ อันเป็นผลพวงมาจากสงครามโลกครั้งที่สอง ต่อด้วยสงครามเกาหลี และเป็นยุคที่เริ่มสงครามเย็นระหว่างมหาอำนาจโลกเสรีและโลกคอมมิวนิสต์ เครื่องรับวิทยุซึ่งเป็นเครื่องมือรับข่าวสารจากต่างประเทศ หรือข่าวสารอันเป็นภัยต่อชาติที่ลักลอบส่งกัน จึงเป็นอันตรายจำเป็นที่จะต้องมีการควบคุม


ในหน้า ๑๓ ของไดอารี่ เป็นกำหนดวันหยุดราชการ ซึ่งในปีนั้นแตกต่างกับในยุคสมัยของเรา เพราะมีวันหยุดในวันชาติ ๒๔ มิถุนายน และวันหยุดวันสหประชาชาติ ๒๔ ตุลาคม สำหรับวันชาตินั้นคือวันเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฏร์ เดิมเคยถือเป็นวันชาติไทย มาจนกระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นวันเฉลิมพระชนม์พรรษาขององค์พระประมุขแทนในกาลต่อมา สำหรับหมายเหตุประกาศวันหยุดนั้นระบุว่า วันหยุดราชการในวันเสาร์นั้นคงหยุดเพียงครึ่งวัน หาใช่ทั้งวันเช่นในปัจจุบัน และอนุญาตให้โรงเรียนวัดหยุดในวันพระได้ ซึ่งด้วยกฏเกณฑ์นี้ โรงเรียนในเครือศาสนาคริสต์จึงได้มีวันหยุดเรียนในวันพฤหัสบดีและวันอาทิตย์ ส่วนโรงเรียนวัดไทยนั้นหยุดในวันพระและวันอาทิตย์ และมีข้อยกเว้นสำหรับสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย โดยให้หยุดในวันพฤหัสบดีครึ่งวันและวันศุกร์เต็มวัน

ในหน้า ๑๔ นั้นเป็นประกาศวันหยุดของธนาคาร ซึ่งมีมากกว่าวันหยุดราชการ และมีวันหยุดถึง ๒๐ วันในหนึ่งปี วันหยุดที่น่าสนใจคือ วันธนาคาร (ภาค ๑ - ๒ - ๓) ซึ่งจะเป็นวันหยุดทุกๆรอบ ๔ เดือน ในช่วงปีนั้นกิจการธนาคารยังคงไม่มีระบบคอมพิวเตอร์ใช้งาน ธนาคารยังคงทำบัญชีด้วยคนกับเครื่องคิดเลข ใช้กระดาษเป็นหลักในการบันทึกรายละเอียดบัญชี ใช้เครื่องพิมพ์ดีดในการบันทึก ดังนั้นจะต้องมีวันหยุดเพื่อสะสางระบบบัญชี ตัวเลข และเอกสารอื่นๆเป็นระยะ นอกจากนั้นยังมีวันหยุดกู๊ดไฟรเดย์ หรือวันที่พระเยซูถูกตรึงกางเขน และวันหยุดคริสมาสต์ด้วย

ถัดไปในหน้าที่ ๑๕ - ๑๖ นั้นเป็นประกาศวันเปิดภาคเรียนของโรงเรียน และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งแผนกเตรียมอุดมและแผนกอื่นๆ ต่อด้วยหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉิน ซึ่งในยุคนั้นยังไม่มีหมายเลข ๑๙๑ ให้ใช้งาน หากมีเหตุด่วนเหตุร้าย จะต้องหมุนหมายเลข ๐๕ อันเป็นหมายเลขเดียวกับแจ้งเพลิงใหม้ และแจ้งโทรศัพท์เสีย ซึ่งจริงๆแล้วหมายเลข ๐๕ นี้ คือการต่อสายหาพนักงานรับโทรศัพท์ขององค์การโทรศัพท์ ซึ่งองค์การนี้พึ่งตั้งขึ้นในปีพุทธศักราช ๒๔๙๗ ก่อนไดอารี่เล่มนี้พิมพ์เพียงสามปี ก่อนหน้านั้นกิจการโทรศัพท์อยู่ภายใต้การดูแลของ กองช่างโทรศัพท์ กรมไปรษณืย์โทรเลข


ถัดจากนั้นไปก็เป็นหมายเลขโทรศัพท์สถานที่สำคัญต่างๆ ทั้งของกรมตำรวจและธนาคาร สำหรับหมายเลขโทรศัพท์ของธนาคารนั้น บอกให้เราได้รู้ว่าในยุคนั้นมีธนาคารอะไรดำเนินกิจการอยู่บ้าง บางธนาคารก็ไม่เป็นที่รู้จักกันในยุคนี้แล้ว เช่น ธนาคารมณฑล แต่ถ้าบอกว่าคือ ธนาคารกรุงไทย ในวันนี้ก็คงรู้จักกันดี ธนาคารแหลมทองซึ่งเลิกกิจการไปแล้ว ธนาคารตันเปงชุน ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารไทยพัฒนา และเปลี่ยนอีกครั้งเป็นธนาคารมหานคร ก่อนจะเลิกกิจการไปในยุควิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง นอกจากนั้นยังมีอีกหลายธนาคารที่ไม่พบเห็นในวันนี้แล้ว

เจ้าของกระทู้มีเอกสารเก่าๆของธนาคารมณฑลอยู่ จึงนำมาโพสไว้ให้ดู เอกสารนี้เป็นของปีพุทธศักราช ๒๔๙๙ ซึ่งเป็นปีก่อนหน้าไดอารี่เล่มนี้


[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

ต่อด้วยหมายเลขและที่อยู่ของบริษัทสายการบิน ซึ่งมีสายการบินจำนวนมากที่แทบไม่รู้จักกันเลยในสมัยนี้ เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง กองทัพอากาศอเมริกันได้จำหน่ายเครื่องบินเก่าเหลือใช้หลังสงครามออกมาจำนวนหนึ่ง ซึ่งรุ่นเป็นที่นิยมคือ ดาโกต้า เดิมเคยเป็นเครื่องบินลำเลียงทหารในสงคราม ถูกดัดแปลงให้ใช้รับผู้โดยสารในสายการบินพานิชย์ หลายประเทศในยุคหลังสงครามถือว่า การมีสายการบินเป็นของประเทศตนเอง คือความเจริญและหน้าตาของประเทศ จึงมีสายการบินใหม่ๆเกิดขึ้นมากมาย ในปีพุทธศักราช ๒๕๐๐ นั้นไทยเรายังไม่มีสายการบินไทย แต่มีบริษัทเดินอากาศไทย Thai Airways Company Limited ชื่อย่อว่า T.A.C. ถือเป็นสายการบินแห่งชาติ และมีข้อสังเกตว่า สถานที่ตั้งที่ทำการสายการบินต่างๆนั้น จะอยู่ในย่าน เจริญกรุง สุรวงศ์ สีลม อันเป็นย่านธุรกิจของชาวต่างประเทศมานานแล้ว


ภาพเครื่องบินของบริษัทเดินอากาศไทย


ป้ายติดกระเป๋าของสายการบิน บารัทแอร์เวย์

หน้า ๒๒ - ๒๓ เป็นรายชื่อที่อยู่เบอร์โทรศัพท์ของสถานทูตต่างๆ จากข้อมูลในสองหน้านี้บอกให้รู้ว่าในยุคนั้น ออสเตรเลีย อิตาลี อินเดีย และอีกหลายประเทศ ยังคงมีเพียงสถานกงศุล มิใช่สถานเอกอัครราชทูตดังเช่นทุกวันนี้ มีข้อสังเกตว่ามีสถานกงศุลและสถานทูตหลายแห่ง เช่น สถานกงศุลออสเตรเลีย สถานทูตลาว สถานทูตฟิลิปินส์ ตั้งอยู่ที่ ตรอกหรือถนนกอชเช่ ศาลาแดง Gottche Lane, Saladeng ซึ่งปัจจุบันซอยนี้มีชื่อว่าซอยศาลาแดง 1 เจ้าของกระทู้มีแผนที่เก่าที่จัดพิมพ์โดยบริษัทน้ำมันแห่งหนึ่ง เป็นแผนที่สำหรับแจกลูกค้าที่ไปเติมน้ำมัน แผนที่นี้พิมพ์ในปีพุทธศักราช ๒๕๐๕ ในแผนที่ปรากฏชื่อซอยก๊อตเช่ Gotche Lane ซึ่งอยู่บนถนนพระรามสี่ตรงข้ามกับสวนลุมพินี


แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่