คำประกาศเชิดชูเกียรติ รางวัลศรีบูรพา
ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๒
แด่ นายสินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย
ศิลปิน นักคิด นักอุดมคติและนักเขียนผู้อุทิศตนเพื่อคนอื่น
นายสินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย เป็นศิลปิน นักคิด นักอุดมคติและนักเขียนที่สร้างสรรค์งานมานานกว่า ๔๐ ปี เขาใช้งานศิลปะตามแขนงที่เขาถนัดได้อย่างสอดคล้องกับความคิดและอุดมคติที่มีในแนวทางเดียวกับกุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ “ศรีบูรพา” นั่นคือ เขาทำเพื่อคนอื่นมาตลอดชีวิต
สินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ ๘ พฤษภาคม ๒๔๙๗ ที่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรชายคนสุดท้องของนายมนูญ (บุญล้ง) ยอดบางเตย กับนางสมถวิล ยอดบางเตย (สอางค์ วิมลพันธุ์) พ่อเสียชีวิตเมื่ออายุได้ ๙ ปีและแม่เสียชีวิตเมื่ออายุได้ ๑๓ ปี สินธุสวัสดิ์จึงอยู่ในการเลี้ยงดูของมนตรี ผู้เป็นพี่ชาย
เขาเรียนจบชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนศิริทรัพย์วิทยา จบมัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนสิงหราชพิทยาคม (โรงเรียนวัดสิงห์ บางขุนเทียน) จบการศึกษาประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ศิลปหัตถกรรม และประกาศียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) วิจิตรศิลปกรรม จากวิทยาลัยเพาะช่าง ได้แรงบันดาลใจจากทัศนะของกมล ทัศนาญชลี ศิลปินเพาะช่างรุ่นพี่ ทำให้เขาเปิดการรับรู้ทางโลกทัศน์ ได้เห็นการผสมผสานงานศิลปะร่วมสมัยเข้ากับเนื้อหาของสังคม และได้เห็นถึงเทคนิคกลวิธีในการสร้างงานศิลปะ จากนั้นเรียนรู้เพิ่มเติมจากศิลปินอีกหลายคน อาทิ จ่าง แซ่ตั้ง ประเทือง เอมเจริญ ชาญ อาศรมสาธนา จนเกิดแรงพลังร่วมกับเพื่อนก่อตั้งกลุ่ม “แนวประสานศิลปกรรม” เพื่อทำกิจกรรมทางสังคม นับแต่กรณีเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ จนถึง ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙
หลังเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ สินธุ์สวัสดิ์ได้เดินทางเข้าป่าเพื่อร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ต่อมาเขาเดินทางกลับเข้าเมือง ตามนโยบายของรัฐบาลสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ปลายปี ๒๕๒๕ เขาได้เข้ามาอาศัยในบริเวณพื้นที่บ้านของครูองุ่น มาลิก อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่มีแนวคิด “เพื่อคนอื่น” เช่นกัน และทำงานเป็นเลขานุการ ครูองุ่น และเป็นผู้ช่วยจัดโครงการละครหุ่นคณะศิษย์ครูองุ่น มาลิก จนกระทั่งปี ๒๕๓๓ ครูองุ่นถึงแก่กรรม เขาได้เป็นผู้จัดการศพและเป็นผู้จัดการมรดกร่วมตามพินัยกรรมครูองุ่น มาลิก
ในปี ๒๕๓๕ เขาเป็นประธานกลุ่มสื่อประชาธิปไตย ปี ๒๕๓๖ เป็นกรรมการและเลขานุการมูลนิธิไชยวนา และในปีเดียวกันนี้เขารับตำแหน่งผู้จัดการสถาบันปรีดี พนมยงค์ และได้ทำงานต่อเนื่องไปจนกระทั่งปี ๒๕๕๙ นับเป็นเวลากว่า ๒๐ ปี ในปี ๒๕๖๐ เขาลาออกจากสถาบันปรีดี พนมยงค์ และหันมาสร้างสรรค์งานศิลปะ “เพื่อคนอื่น”“เพื่อคนอื่น” อย่างสม่ำเสมอจวบจนปัจจุบัน
อาจกล่าวได้ว่า ...
สินธุ์สวัสดิ์เป็นนักคิด บริหารงานและกิจกรรมใด ๆ ไม่ว่าจะในนามส่วนตัวหรือองค์กรล้วนมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันและเพื่อความเป็นธรรมในสังคม เขาเป็นผู้นำกลุ่มศิลปะ และผลักดันงานในองค์กรเพื่อสังคมได้อย่างมีคุณภาพ และต่อเนื่องยาวนานนับยี่สิบปี
สินธุ์สวัสดิ์เป็นนักอุดมคติ อุทิศตนและหยัดยืนเพื่อสังคมส่วนรวมไม่เคยเปลี่ยนแปลง แต่วัยหนุ่มจนเต็มวัยปัจจุบัน เขาเสี่ยงชีวิตในสถานการณ์ บ้านเมืองมาหลายครั้ง เขามีชีวิตพอเพียงและไม่เคยเปลี่ยนแปลงอุดมการณ์ “เพื่อคนอื่น”
สินธุ์สวัสดิ์เป็นศิลปินสร้างสรรค์งานศิลปะทั้งที่เป็นงานทัศนศิลป์ งานศิลปะการแสดง แสดงงานด้านศิลปกรรมมากกว่า ๒๐ ครั้ง การแสดงสด ๗ ครั้ง ตลอดจนงานวรรณศิลป์อย่างประณีต งดงาม มีผลงานรวมเล่มมากกว่า ๘ เล่ม
ทั้งหมดเพื่อเป้าหมายสำคัญคือ เพื่อเสรีภาพ ภราดรภาพ และความเสมอภาค จักบังเกิดแก่มวลมนุษยชาติ
กองทุนศรีบูรพา จึงขอประกาศเกียรติมอบรางวัลศรีบูรพา ประจำปี ๒๕๖๒ แด่ นายสินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย และขอเป็นพลังใจให้เรียนรู้และสร้างสรรค์ผลงานอันทรงคุณค่าต่อไปอย่างเต็มกำลัง
กองทุนศรีบูรพา
๓๑ มีนาคม ๒๕๖๒
อาจารย์ชมัยภร แสงกระจ่าง อ่านคำประกาศรางวัลศรีบูรพา ประจำปี ๒๕๖๒
อาจารย์ชมัยภร แสงกระจ่าง อ่านคำประกาศแถลงข่าวรางวัลศรีบูรพา ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๒
นายสินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย ผู้ได้รับรางวัลศรีบูรพา ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๒
รางวัลศรีบูรพา ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๒