ไร่ใหม่ อะคาเดมี : เมล็ดพันธุ์ลูกหนังจากจิตอาสาในชุมชนที่สอนเด็กเกือบร้อยชีวิต


 ขออนุญาตส่งต่อเรื่องราวดีดีจากเพจ mainstand นะครับ  
 https://www.mainstand.co.th/catalog/2-Converse

      หากเปรียบนักฟุตบอลอาชีพคนหนึ่งเป็นดั่ง “ต้นไม้ใหญ่” เด็กและเยาวชน ก็คงเหมือนกับ “ต้นกล้า” ที่ต้องใช้เวลาเพาะบ่มหลายปี กว่าจะเติบโต และผลิดอกออกผล

      เวลาสี่โมงเย็น ช่วงต้นเดือนเมษายน ภายในสนามฟุตบอลชุมชน ตำบลไร่ใหม่ อำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แสงแดดในฤดูร้อน ยังคงทำหน้าอย่างที่แข็งขัน ตามปกติของฤดูกาล

      ลำแสงจากฟากฟ้า ทอดลงมาให้เรามองเห็น “เงาบนพื้นหญ้า” ที่สะท้อนเป็น เงาของนักฟุตบอลรุ่นเยาว์ หลายสิบชีวิต กำลังวิ่งอบอุ่นร่างกายรอบๆ สนาม ก่อนสัญญาณนกหวีดจากโค้ชผู้ฝึกสอน จะดังขึ้นในอีกประมาณหนึ่งชั่วโมงต่อมา เพื่อเรียกเด็กๆเหล่านี้มาฝึกสอนฟุตบอล เป็นประจำอย่างเช่นทุกวัน

     ด้านนอกของสนามไม่ใกล้นัก ผู้ปกครองจำนวนหนึ่ง ปูเสื่อจับกลุ่มนั่งพูดคุยกัน บ้างก็นั่งเฝ้าดู ลูกหลานตนเอง ที่ถูกแบ่งออกเป็นกลุ่มๆ ฝึกวิชาฟุตบอลกับสตาฟฟ์โค้ช ตามรุ่นอายุ หรือบางคนมานั่งที่ข้างสนาม เพื่อรอรับแข้งตัวจิ๋วกลับบ้านพร้อมกัน หลังเลิกการฝึกซ้อมช่วงเย็นในเวลา 19.30น.

      นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำในทุกๆเย็นของ “ชมรมฟุตบอลไร่ใหม่ อะคาเดมี” แหล่งเพาะบ่มนักเตะเยาวชน ในชุมชนตำบลไร่ใหม่ และพื้นที่ใกล้เคียง เกือบ 100 ชีวิต ที่บริหารจัดการและฝึกสอน โดย “โค้ชจิตอาสา” ที่ไม่มีใครได้เงินค่าตอบแทน แม้แต่บาทเดียว ในการเสียสละมาทำหน้าที่ตรงนี้

     จากวันแรกที่ พวกเขาเริ่มหว่านเมล็ดพันธุ์ลงไปในจิตใจของเด็กๆ...และในวันนี้ เมื่อเวลาผ่านไป 4 ปี ผลผลิตของไร่ใหม่ อะคาเดมี เติบโตงอกงามไปมากเพียงใด?

    และหากโค้ชจิตอาสา ทำสิ่งนี้โดยไม่มุ่งหวังผลกำไร ขาดทุน ผลประกอบการของพวกเขา ในการลงทุน ลงแรง ทำอะคาเดมีฟุตบอลแห่งนี้ คืออะไร? บนโลกแห่งความเป็นจริง ที่ทุกอย่างไม่มีอะไรได้มาฟรีๆ

ฤดูที่ 1 : หว่านเมล็ดพันธุ์

“จุดเริ่มต้นของ ชมรมฟุตบอลไร่ใหม่ อะคาเดมี เกิดขึ้นมาจากลูกชายผม อยากฝึกหัดกีฬาฟุตบอล แต่ผมก็ไม่ได้มีความรู้ด้านนี้มากนัก ก็นึกถึงเพื่อนคนหนึ่งที่เขาเคยเล่นฟุตบอลระดับท้องถิ่น จึงได้ชวนให้เขาและเพื่อนๆที่รู้จักมาช่วยฝึกสอนให้หน่อย”


“ความตั้งใจแรก พวกเราแค่อยากให้ลูกหลานตัวเองได้มาออกกำลังกาย จำได้ว่า เปิดสอนครั้งแรก มีเด็กมาเรียนแค่ 4 คนเอง เป็นผู้ชาย 3 คน ผู้หญิง 1 คน ซึ่งเป็นลูกสาวของโค้ชที่ตามมาด้วย ทีแรกคิดว่าจะทำแค่ระยะสั้น สัก 5-6 เดือน คงเลิกไป ก็ไม่คิดเหมือนกันว่า วันหนึ่งจะมาได้ไกลขนาดนี้”

ดาบตำรวจ สรายุทธ สำราญราษฎร์
หรือที่เด็กๆในอะคาเดมีเรียกว่า “โค้ชเต้” หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง ย้อนความหลังกลับไปเมื่อประมาณปี 2015 เขาได้ติดต่อชักชวน “โค้ชเต้ย” ภูมินทร์ แสงทองอร่าม เพื่อนที่รู้จักกันในหมู่บ้านมาช่วยฝึกสอนฟุตบอลให้กับบุตรชายของตนเอง

ต่อมา โค้ชเต้ย ภูมินทร์ ที่ทำงานเป็น พนักงานขับรถยนต์ ประจำโรงพยาบาลสามร้อยยอด ได้ชักชวน “โค้ชตึ๋ง” เฉลิมพล วาณิชยานันท์ นักวิชาการสาธารณสุข และ “โค้ชต้าน” นัทธวัฒน์ เจ้าโส เจ้าหน้าที่เวชกิจฉุกเฉิน ที่ทั้งสองคนไม่ใช่คนในพื้นที่ แต่ทำงานในโรงพยาบาลเดียวกัน และมีความชื่นชอบในกีฬาฟุตบอล มาช่วยฝึกสอนเด็กๆ ที่เริ่มค่อยๆมีจำนวนเพิ่มขึ้นในทุกๆสัปดาห์

จนในที่สุดทั้ง 4 คน ตกลงปลงใจร่วมกันก่อตั้ง “ชมรมฟุตบอล ไร่ใหม่ อะคาเดมี” ขึ้นมา พร้อมกับสวมบทบาท โค้ชจิตอาสา ที่ไม่มีใครเคยมีประสบการณ์ในการฝึกสอนฟุตบอลมาก่อน

“พอดีเพื่อนผม (ดาบตำรวจสรายุทธ) ชวนให้มาสอนฟุตบอลให้ลูกชายเขา ผมก็ไม่ได้คิดอะไรมากนะ ‘เอาสิ’ สอนเด็กเตะบอล จับบอล เบสิคเล็กๆน้อยๆ ตามที่เราเคยรู้มา พอผ่านไปได้สัก 6 เดือน จากที่มีเด็กอยู่ 4-8 คน ก็เพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 30 คน”

“โชคดีที่เราได้ โค้ชตึ๋ง เฉลิมพล ที่เขาเก่งเรื่องการประสานงาน เริ่มติดต่อหาทีมอุ่นเครื่องในพื้นที่ใกล้ๆ เช่น อ.กุยบุรี, อ.ปราณบุรี, อ.หัวหิน”

“เด็กๆที่มาซ้อมกับเรา พอกลับไปโรงเรียน เขาก็ไปชวนเพื่อนมาฝึกอีก เพราะเรารับเด็กตั้งแต่อายุ 6 ขวบ จนถึงอายุ 15 ปี ปัจจุบันเรามีเด็กเกือบ 100 คน จากทั้งหมด 5 รุ่นอายุ ประมาณ 97 คน คิดดูว่าเบอร์เสื้อ 1-99 ที่เราให้เด็กใส่เรียงกัน เรามีครบจนถึงเบอร์ 99”


เมื่อมีจำนวนเด็กในชมรมเพิ่มขึ้น หลายสิบชีวิต จากความคิดแรกเริ่มที่วางแผน ฝึกสอนฟุตบอลระยะสั้นให้กับเด็กๆในชุมชน จึงต้องเปลี่ยนไปเป็นการสร้างอะคาเดมีฟุตบอล ที่สามารถอยู่ได้ในระยะยาว เพื่อให้เยาวชน ได้มีสถานที่ฝึกฝน และเล่นฟุตบอล

นอกจากนี้ ระยะเวลาการฝึกสอน ก็ถูกปรับเปลี่ยนให้ยาวนานขึ้น จากเดิมที่เคยฝึกสอนช่วงเย็นหลังเวลาเลิกเรียน เลิกงาน วันละ 1 ชั่วโมง เพิ่มเป็น 2 ชั่วโมง แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อ จิตอาสาทุกท่าน ที่ต้องลงทุนด้วยเวลา และเสียสละทุนทรัพย์ส่วนตัว เพื่อสานต่อความตั้งใจนี้

ในฤดูแรกของการเข้ามาอาสาทำ ชมรมฟุตบอล ไร่ใหม่ อะคาเดมี จึงเต็มไปด้วยความยากลำบาก และอุปสรรคต่างๆมากมาย ที่ผ่านเข้ามาทดสอบจิตใจ ผู้เพาะเมล็ดพันธุ์จิตอาสาทุกชีวิต

...พร้อมเครื่องหมายคำถามจากชาวบ้านบางส่วนที่ตราหน้าว่าพวกเขา “หากินกับเด็ก” ?


ฤดูที่ 2 : ปลูกด้วยรัก ฟูมฟักด้วยใจ

“จำนัดแรกที่ส่งทีมไปแข่งได้ไหม?”  เราถาม ภูมินทร์ แสงทองอร่าม เฮดโค้ชใหญ่ไร่ใหม่ อะคาเดมี

“โอโห แมตช์แรกเราโดนไป 12-0 นัดที่สองแพ้ยับ 11-1 แพ้แบบสู้ไม่ได้เลย เหมือนเล่นลิงชิงบอล แต่ต้องยอมรับสภาพว่า เด็กเรายังเล่นฟุตบอลไม่ค่อยเป็น ตอนนั้นอายุเฉลี่ยเด็กประมาณ 8-9 ขวบเอง”


   “พอจบเกมนัดแรก เด็กบางคนนั่งร้องไห้เลยนะ บางคนก็แสดงอาการออกมาว่า เหนื่อยมาก วิ่งทั้งเกม บางคนถึงขั้นไม่อยากเล่นฟุตบอลต่อแล้ว เพราะเราแพ้เยอะมาก พวกผมก็ต้องสอนเด็กให้เข้าใจว่า ฟุตบอลมีแพ้ มีชนะ นี่เป็นแค่นัดแรก ยังไม่ถึงเป้าหมายที่เราตั้งใจไว้ พยายามปลอบใจให้เด็กๆกลับมาสู้กันต่อ เราไม่ดุ ไม่ว่าเขา”

ความพ่ายแพ้ในนัดแรก ไม่อาจทำให้ความตั้งใจที่อยากพัฒนาเยาวชนของ กลุ่มสตาฟฟ์โค้ชจิตอาสา ลดน้อยลงไป เพราะหลังจากวันนั้น โค้ชทุกคน เพิ่มความใส่ใจ ตั้งใจลงไปมากขึ้น ทั้งการศึกษาข้อมูลรูปแบบการฝึกซ้อมจากทางอินเตอร์เน็ต ยามเว้นว่างจากเวลางาน

รวมถึงการตระเวนหาทัวร์นาเมนต์ แมตช์อุ่นเครื่อง แม้กระทั่ง จัดรายการฟุตบอลเยาวชนขึ้นมาเอง ในชื่อ ไร่ใหม่ อะคาเดมี คัพ ขึ้นมา เพื่อให้เด็กทุกคนที่มาฝึกซ้อมกับโค้ชจิตอาสา ได้มีประสบการณ์ในการแข่งขันเพิ่มขึ้น ภายใต้แนวคิดที่อยากให้ เยาวชนทุกคนในอะคาเดมี ได้มีแมตช์ลงเล่น

จากผลการแข่งขันที่แพ้ขาดลอย ก็เริ่มค่อยๆ แปรเปลี่ยนมาเป็น แพ้ด้วยจำนวนประตูที่น้อยลง, เสมอคู่แข่ง ไปจนถึงบางนัดที่สามารถเอาชนะทีมอื่นๆได้

สิ่งนี้เอง ได้สร้างความมั่นใจให้กับทุกชีวิตใน ชมรมฟุตบอล ไร่ใหม่ อะคาเดมี ว่าพวกเขาเดินมาถูกทาง แม้ระหว่างเส้นทางจะต้องพบเจอกับคำดูถูก จากนอกสนามเข้ามาบั่นทอนจิตใจบ้าง

“ความท้อมันก็มีอยู่บ้าง เพราะคนภายนอกบางคนเขาไม่ได้สัมผัส เขาคิดไปเองว่า พวกเราหากินกับเด็ก พวกเรามันบ้า บางทีก็รู้สึกท้อนะ เพราะผมตั้งใจมาทุกวัน มาทำเพื่อเด็ก แต่คนก็ยังเอาเราไปพูดในทางไม่ดี” โค้ชเต้ย ภูมินทร์ พนักงานขับรถโรงพยาบาลฯ และ เฮดโค้ชไร่ใหม่ อะคาเดมี เริ่มพูด.....
  “ผมโดนคนสบประมาทเยอะมาก บ้างก็ว่า ‘โค้ชมันบ้านนอก โค้ชไม่มีความรู้ โค้ชไม่มีไลเซนส์ จะไปสอนเด็กได้อย่างไร’ ใช่ ครับ ผมยอมรับ ผมไม่มีไลเซนส์ แต่ผมมีใจ มีความรักที่อยากทำ ผมคิดว่า ใจ นี่แหละสำคัญที่สุด เด็กเห็นว่าเราทำจริง มาสอนทุกวันไม่เคยขาด นำเด็กวอร์ม ลงไปเล่นกับเด็ก เมื่อผมให้ใจเด็กเต็มๆ ก็มีส่วนทำให้ เด็กและผู้ปกครองเชื่อใจเรา”

   “เด็กบางคนแปบอลไม่เป็น วางเท้าไม่ถูก ผมก็ต้องเริ่มจาก จับข้อเท้าเขา เพื่อให้เขาวางเท้าถูกวิธี เพราะส่วนใหญ่เด็กมาอยู่อะคาเดมีเรา ไม่เคยมีทักษะด้านฟุตบอลมาก่อน กว่าจะฝึกเด็กคนหนึ่งที่ไม่เป็นฟุตบอลเลย ให้เล่นได้ ต้องใช้เวลานานพอสมควร และความอดทนมาก”

“ผมเป็นคนที่อดทนได้ และมีความเข้าใจเด็ก อย่างวันไหนถ้าเด็กรู้สึกเบื่อๆ ผมก็จะหาเกมมาเล่นบ้าง เพื่อให้เด็กสนุก เมื่อเด็กสนุก เด็กก็จะรักฟุตบอล และอยากมาซ้อมทุกวัน”


นอกเหนือจากพลังใจที่ ทีมงานโค้ชจิตอาสา ต้องทุ่มเทลงไป พวกเขายังต้องเสียสละเวลาว่าง ความสุขส่วนตัว และเรี่ยวแรงกำลังกายมากมาย ในการทำมาอะคาเดมีชุมชนแห่งนี้

ตั้งแต่เช้าตรู่ บรรดาโค้ชจิตอาสา จะต้องสลับเวรกันมาเปิด-ปิด รดน้ำสนามหญ้า เพื่อไม่ให้หญ้าแห้งตาย ไปจนถึงการเก็บดูแลรักษาอุปกรณ์ ประชุมพูดคุยวางแผน ทำทุกกระบวนการ ยันมืดดึก เนื่องจากที่ ไร่ใหม่ อะคาเดมี ไม่ได้มีเงินที่จะไปจ้างคนงาน มาทำหน้าที่ตรงนี้

จนวันหนึ่ง ความพยายามและความตั้งใจที่ กลุ่มโค้ชจิตอาสา ไร่ใหม่ อะคาเดมี ก็ทำให้ หน่วยงานราชการ องค์กรปกครองท้องถิ่น รวมถึงผู้นำชุมชน ต่างเห็นถึงความสำคัญ และได้เข้ามาร่วมสนับสนุนเพื่อให้ ชมรมฟุตบอลจิตอาสาแห่งนี้ สามารถยืนระยะอยู่ได้



คมสัน สำราญราษฎร์ กำนันตำบลไร่ใหม่ ที่รับตำแหน่งเป็น ประธานชมรมฟุตบอลไร่ใหม่ อะคาเดมี บอกกับเราว่า “ภาพรวมของชาวบ้านที่นี่ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำสวนมะพร้าว ขนุน มะม่วง ความเป็นอยู่มีความสมัครสมาน สามัคคีกันดีนะครับ เพียงแต่ช่วงหลัง มีปัญหาเรื่องยาเสพติด เข้ามาในพื้นที่บ้าง”


     “ผมก็ดำเนินการพาตำรวจไปจับกุม จับได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ก็มีความเป็นห่วงอนาคตเด็กรุ่นใหม่ จนได้มาเห็น น้องๆจิตอาสากลุ่มนี้ มาฝึกสอนฟุตบอลให้เด็กๆ ส่วนตัวผมเป็นคนที่ชอบฟุตบอลอยู่แล้ว เคยเตะบอลอยู่ในสนาม แต่หลังจากรุ่นผมไป สนามฟุตบอลตรงนี้ถูกปล่อยให้รกร้าง น้ำท่วมขัง ไม่มีคนมาออกกำลังกาย เพราะมียาเสพติดเข้ามา ผมจึงคิดว่า ถ้าเราอยากสร้างเด็กรุ่นใหม่ ก็ต้องพยายามชักจูงให้เด็ก หันมาเล่นกีฬาเยอะๆ”
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่