ดื่มแล้วอย่าลืมตัว เรื่องน่ากลัวของคนดื่มแล้วขับ

 Posted On 9 April 2019 Advertorial Team


“ดื่มแค่ไหนถึงเมา? เป่าแค่ไหนถึงโดนจับ?” คำถามยอดฮิตในวงนักสังสรรค์ ที่หาทางหนีทีไล่ในการพาตัวเองกลับบ้านหลังจากค่ำคืนอันยาวนาน
 
‘ดื่มนิดเดียว ไม่เป็นไรหรอก’ จริงๆ แล้ว เป็นข้อแก้ตัวที่สุดแสนจะน่ากลัวของคนดื่มแล้วขับ เพราะแอลกอฮอล์มีผลกับร่างกายและสมองของเรามากกว่าที่คิด ไหนจะความเชื่อผิดๆ ว่ากินโน่นนี่นั่นเข้าไป แล้วจะไม่เป็นไร
เช็คให้ชัวร์ว่าเข้าใจถูกจริงๆ เกี่ยวกับทุกแก้วที่ดื่มเข้าไป เผื่อว่าครั้งต่อไปที่ดื่มแล้วจะได้ไม่ขับ แล้วหาทางกลับแบบอื่นดีกว่า
 


รู้ไหมว่า จิบนิดๆ ก็พุ่งปรี๊ดถึงสมอง

“ไม่เมาหรอก แค่นี้เอง ชิวๆ” บ่อยครั้งที่เราคิดแบบนั้น แต่จริงๆ แล้ว ไม่ว่าจะแค่นี้หรือแค่ไหน ทันที่ที่แอลกอฮอล์เข้าสู่ร่างกาย มันจะเดินทางจากริมฝีปาก ไปยังกระแสเลือด และพุ่งสู่สมองส่วนกลางได้อย่างรวดเร็ว

ต่อจากนั้น แอลกอฮอล์ก็จะไปกดการทำงานของสมอง โดยเฉพาะส่วนของก้านสมอง (Brain Stem) ที่มีหน้าที่รับความรู้สึกต่อการสัมผัส ความรู้สึกเจ็บปวด และควบคุมการเต้นของหัวใจ (Reticular Formation) รวมถึงส่งผลต่อการควบคุมการทำงานของร่างกายที่เป็นระบบอัตโนมัติ และส่งผลต่อความเร็วในการตอบสนองต่อสถานการณ์ตรงหน้าของเราอีกด้วย[1]
[1] https://www.dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=28203
 

รู้ไหมว่า เอาเข้า 50mg% แต่เอาออกได้แค่ 15mg%

สอดคล้องกับงานวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล[2] พบว่า แค่เบียร์ 1-2 กระป๋องก็ทำให้เราศูนย์เสียความสามารถในการควบคุมสิ่งต่างๆ ตรงหน้าแล้ว!

ถ้าเราดื่มแอลกอฮอล์ความแรงระดับ 8 ดีกรี ปริมาณ 660 มิลลิลิตร (ปริมาณเท่ากับเบียร์ 2 กระป๋อง) ร่างกายคนส่วนใหญ่จะมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งนอกจากจะมีผลทำให้ความสามารถในการขับขี่และความสามารถในการใช้เหตุผลลดลงแล้ว ถ้าเป่าแอลกอฮอล์แล้วมีปริมาณมากกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะมีโทษจำคุก 1 ปี ปรับตั้งแต่ 10,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แถมไม่ได้รับความคุ้มครองจากประกันภัยด้วย

ความจริงข้อต่อมาก็คือว่า ภายใน 1 ชั่วโมง ที่เราเอาแอลกอฮอล์เข้าไปในเลือด 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ผ่านเบียร์ 2 กระป๋อง ในช่วงเวลาเท่ากันนั้น ร่างกายจะสามารถทำลายแอลกอฮอล์ได้เพียง 15 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งยังไม่ถึงครึ่งหนึ่งของที่ ‘จิบ’ เข้าไปเลย
การจิบนิดๆ จึงมีผลนานกว่าที่คุณคิด เพราะแอลกอฮอล์จะยังอยู่ในร่างกายคุณไปอีกหลายชั่วโมง
(หมายเหตุ : ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดอาจมากกว่าหรือน้อยกว่าเล็กน้อย ขึ้นอยู่กับน้ำหนักของผู้ดื่ม)
[2] http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=141
 

รู้ไหมว่า เหยียบเบรคช้า เพิ่มโอกาสเกิดอุบัติเหตุถึง 8 เท่า

แต่ถ้าเราไม่ได้รู้สึกเมา ปริมาณแอลกอฮอล์จะมีผลกับการขับรถของเราอย่างไร?

คำตอบที่ชัดเจนคือแอลกอฮอล์มีผลต่อการตัดสินใจเวลาจะเหยียบเบรค และมันจะทำให้ผู้ขับต้องใช้ระยะการหยุดรถที่เพิ่มขึ้นไปด้วย!

โดยปกติ เวลาที่เราใช้ในการตัดสินใจ (Reaction time) เมื่อเห็นคนข้ามถนนไปจนถึงเท้าแตะเบรก จะอยู่ที่ 2-2.5 วินาที แต่ด้วยปริมาณแอลกอฮอล์ 50-100 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ หรือเท่ากับจำนวนเบียร์ 1-2 กระป๋อง จะทำให้เราตัดสินใจช้าลงไปอีก 1 วินาที เท่ากับเพิ่มระยะเบรค 27.7 เมตร (คำนวณจากความเร็ว 100 กม./ชม.) และทำให้โอกาสเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นถึง 8 เท่า[3] 

นอกจากการตัดสินใจที่ช้าลงแล้ว ยังเป็นไปได้ว่าอาการเมาจะทำให้สายตาพร่ามัว ทัศนวิสัยในการมองเห็นลดลง และนั่นคือชีวิตของคนที่เดินข้ามถนนหรือผู้ร่วมทาง
[3] https://www.dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=25806
 

ปกติแล้วคุณใช้เวลาขับขี่จากบ้านไปหน้าปากซอยภายในกี่นาที?

หลายคนอาจจะเคยขี่มอเตอร์ไซค์ไปหน้าปากซอยเพื่อซื้อของบ่อยๆ ปกติแล้วคุณใช้เวลาขับขี่จากบ้านไปหน้าปากซอยภายในกี่นาที?

ย้อนไปวันที่ 1 กรกฎาคม 2540 ซึ่งน่าจะเป็นวันธรรมดาของใครหลายๆ คน แต่สำหรับศักดิ์ดา มันคือวันที่เขาต้องใช้เวลาราวปีกว่าๆ จากการขี่มอเตอร์ไซค์ไปซื้อของหน้าปากซอย เพื่อจะได้หวนกลับสู่บ้านอีกครั้ง

ด้วยความที่วันนั้นเขาและพรรคพวกดื่มกันกรึ่มอยู่พอตัว เมื่อเหล้าหมด แต่คนยังคึกครื้น เขาจึงอาสาไปซื้อเครื่องดื่มเพิ่มด้วยการขี่มอเตอร์ไซค์จากบ้านไปร้านขายของชำที่หน้าปากซอย

ในอีกไม่กี่วินาทีข้างหน้าที่รถจะถึงปากซอยอยู่แล้ว แต่ศักดิ์ดาและรถของเขากลับไปกระแทกอย่างแรงกับรถที่พุ่งมาจากเส้นทางย่อยๆ ในซอย ศักดิ์ดาสลบไป 7 วันในห้อง ICU ก่อนจะตื่นมาพบว่า ตนเองสูญเสียกระดูกไขสันหลัง กระเพาะอาหารกระแทกแรงจนแตก มีเลือดคลั่งในสมอง และต้องเป็นอัมพาตครึ่งท่อนไปตลอดชีวิต…

ศักดิ์ดาต้องนอนโรงพยาบาลนานถึง 1 ปี บวกกับต้องเสียค่าใช้จ่ายหลักแสนเพื่อรักษาตัว ช่วงแรกๆ ที่ออกจากโรงพยาบาลเขาต้องพึ่งครอบครัวช่วยดูแลตลอด 24 ชั่วโมง จนทุกวันนี้ที่พอจะช่วยเหลือตัวเองได้บ้าง สิ่งสำคัญที่ศักดิ์ดาเน้นตลอดบทสนทนาก็คือ
“ผมต้องพิการไปตลอดชีวิต เพราะเมาแล้วขับ แค่ขับรถไปหน้าปากซอยด้วยนะ ดูผมเป็นตัวอย่าง แค่ไม่อีกวินาทีเองจะถึงปากซอยอยู่แล้ว แต่ผมประมาท เมาแล้วขับ คิดว่าแค่นี้ไม่เป็นไร แต่จริงๆ แล้วอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา”
 

รู้ไหมว่า นมเปรี้ยว น้ำเปล่า ซาลาเปาและความเชื่อผิดๆ ที่ไม่ได้ช่วยให้หายเมา (หรือเป่าแล้วไม่โดนจับ)

แล้วที่เราเห็นในฟีดหรือกระทู้กันบ่อยๆ ว่ามีเคล็ดลับโน่นนี่นั่นที่ช่วยลดความเมา เป่าแล้วไม่โดนจับ ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคดื่มน้ำตามเข้าไปเยอะๆ ดื่มนมเปรี้ยวแล้วจะช่วยได้ หรืออัดซาลาเปาใส่ท้องสักลูกสองลูก บอกเลยว่า ไม่จริง!

เพราะเครื่องตรวจจับแอลกอฮอล์ (Breathalyzer) นั้นจะตรวจจับแอลกอฮอล์ในกระแสเลือด ซึ่งถือเป็นการตรวจสอบตามมาตรฐานทางการแพทย์อย่างหนึ่ง โดยมันจะวัดเอาปริมาณแอลกอฮอล์จากเส้นเลือดฝอยในถุงลมปอด (Alveoli) ที่ออกมาผ่านอากาศที่อยู่ในปอด (Deep Lung Air) ซึ่งทั้งหมดนี้มันไม่สามารถเจือจางด้วยน้ำ นมเปรี้ยว ซาลาเปา หรือความเชื่อใดๆ ทั้งสิ้น[4]

ส่วนที่บอกว่ากินนมเปรี้ยวช่วยได้ จะใช้ได้เฉพาะกรณีที่ดื่มแล้วเป่าวัดแอลกอฮอล์ ‘ทันที’ ค่าที่วัดจะเป็นค่าแอลกอฮอล์ในปาก
ซึ่งการดื่มน้ำหรือนมเปรี้ยว ก็จะเจือจางระดับแอลกอฮอล์ได้

แต่ถ้าดื่มต่อเนื่องจนแอลกอฮอล์ดูดซึมเข้ากระแสเลือด (ประมาณ 10-15 นาที) แล้วเป่าวัดแอลกอฮอล์ ค่าที่วัดได้จะเป็นระดับแอลกอฮอล์ที่อยู่ในเลือดที่ออกมาทางลมหายใจ ถึงตอนนี้ การดื่มนมเปรี้ยวเข้าไปก็ไม่ช่วยลดแอลกอฮอล์ลงได้

แถมในแง่ของกฎหมาย ถ้าขับรถด้วยความเมาจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายอย่างสาหัส หรือถึงแก่ความตาย จะมีโทษจำคุกมากที่สุดถึง 10 ปี หรือปรับสูงสุดถึง 200,000 บาท และศาลสามารถสั่งพักหรือเพิกถอนใบขับขี่ไปเลย
[4] https://sites.duke.edu/apep/module-4-alcohol-and-the-breathalyzer-test/content-ethanol-in-the-blood-equilibrates-with-ethanol-in-the-alveolar-air/

ประมาทเพียงนิด ชีวิตอาจดับ

แอลกอฮอล์ มีผลต่อร่างกายและสมองของเราอย่างปฏิเสธไม่ได้ แถมยังมีผลทางกฎหมายหรืออันตรายต่อคนอื่น
หากจำเป็นต้องดื่ม ครั้งต่อๆ ไป ก็ให้สะกิดเตือนตัวเองให้ดี ว่าดื่มแล้วอย่าลืมตัว
 
เพราะข้ออ้างที่ว่า ‘ดื่มนิดเดียว ไม่เป็นไรหรอก’ จริงๆ แล้วเป็นเรื่องน่ากลัวกว่าที่คิด!
 
#DON'TDRINKANDDRIVE#PARTNERCONTENT#THAIHEALTH
#THEMATTERXสสส#สสส
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่