..." อัยการกางกฎหมายหลักเกณฑ์แจกใบเหลือง ใบส้ม ใบแดงโกงเลือกตั้ง! "...

..." อัยการกางกฎหมายหลักเกณฑ์แจกใบเหลือง ใบส้ม ใบแดงโกงเลือกตั้ง! "...

     ( 30 มีนาคม พ.ศ. 2562 เวลา 06:35 น. )


30 มี.ค.62 - ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสุงสุดได้โพสต์ข้อกฎหมาย ลงบนเฟซบุ๊ก...
เกี่ยวกับอำนาจในการเเจกใบ เหลือง ส้ม แดง โดยมีเนื้อหาระบุว่า ใบเหลือง ใบส้ม และ ใบแดง กับผลเลือกตั้งที่อาจแปรเปลี่ยน

ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และพรป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.พ.ศ. 2561...
มีกระบวนการในการให้ใบเหลือง ใบส้ม (ใบแดงชั่วคราว) และใบแดง แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. โดยได้

"ตัดอำนาจของ กกต. ในการให้ใบแดง ซึ่งเป็นการเพิกถอนสิทธิของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ตามที่เคยมีอยู่เดิม
ให้เป็นอำนาจของศาลแทน" และเพิ่มอำนาจใหม่ให้แก่ กกต. ในการแจกใบส้ม (ใบแดงชั่วคราว)
ซึ่งอาจส่งผลให้จำนวน ส.ส. เปลี่ยนแปลงไปได้  ดังนี้ 

1.      การให้ใบส้ม (ใบแดงชั่วคราว) ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง

ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 85 วรรค 4 และ พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 มาตรา 127...

กำหนดให้กกต.ประกาศผลการเลือกตั้ง เมื่อตรวจสอบเบื้องต้นแล้วมีเหตุอันควรเชื่อว่าผลการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริต
และเที่ยงธรรม และมีจำนวน ส.ส.ไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของเขตเลือกตั้งทั้งหมด ภายใน 60 วันนับแต่วันเลือกตั้ง

(ซึ่งคาดว่า กกต. คงจะไม่รอให้ถึง 60 วัน แต่น่าจะประกาศผลการเลือกตั้งภายในวันที่ 9 พฤษภาคม 2561 เพื่อให้การดำเนินการเลือกตั้งแล้วเสร็จภายใน 150  วัน นับแต่วันที่ พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. , พรป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว., พรป.ว่าด้วย กกต. และ พรป. ว่าด้วยพรรคการเมือง มีผลใช้บังคับ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้

โดยระยะเวลา 150 วันนี้ มีผู้ให้ความเห็นว่ารวมถึงการประกาศผลการเลือกตั้งด้วย ซึ่ง กกต. คงเลือกที่จะอยู่ใน Safety zone เขตปลอดภัย ที่จะไม่ต้องเสี่ยงต่อความรับผิดตามกฎหมาย ด้วยการประกาศผลการเลือกตั้งภายในกำหนด 150 วันดังกล่าว)

แต่ก่อนที่จะมีการประกาศผลการเลือกตั้งดังกล่าว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 225 และ พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 132 กำหนดว่า...

ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง ถ้า กกต. เห็นว่า มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครับเลือกตั้ง ส.ส. คนใด กระทําการเป็นเหตุให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตหรือ เที่ยงธรรม  กกต. มีอำนาจดังต่อไปนี้

(1) สั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครนั้นไว้เป็นการชั่วคราว เป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปีนับแต่วันที่ กกต. มีคําสั่ง 

(2) และในกรณีที่ผู้สมัครได้คะแนนอยู่ในลําดับที่จะได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส. ให้ กกต. มีอำนาจสั่งยกเลิกการเลือกตั้ง
      และให้มีการเลือกตั้งใหม่ 

คําสั่งของ กกต. ดังกล่าวนี้ ให้เป็นที่สุด ไม่สามารถอุทธรณ์หรือโต้แย้งได้

และหากปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าหัวหน้าพรรคการเมือง หรือคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีส่วนรู้เห็น หรือปล่อยปละละเลยหรือทราบถึงการกระทํานั้นแล้ว แต่ไม่ได้ยับยั้งหรือแก้ไขเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม

ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสั่งให้ยุบพรรคการเมืองนั้นตามคำร้องของ กกต. และสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นได้
     
2.      การให้ใบเหลืองหลังประกาศผลการเลือกตั้ง

ตาม พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 133 กำหนดว่า...

เมื่อประกาศผลการเลือกตั้งแล้วปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งใดไม่เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม แต่ยังไม่ได้ความชัดเจนว่าเป็นการกระทําของผู้ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ให้ กกต. ยื่นคําร้องต่อศาลฎีกาเพื่อพิจารณา

ในกรณีที่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้ศาลสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่สําหรับเขตเลือกตั้งนั้น และให้สมาชิกภาพของ ส.ส. ที่ได้รับเลือกตั้งจากเขตเลือกตั้งนั้นสิ้นสุดลงนับแต่วันที่ศาลมีคําวินิจฉัย และ ให้ กกต.ดําเนินการให้มีการเลือกตั้งใหม่โดยเร็ว 

3.      การให้ใบแดง

ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 226 และ พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 138 กำหนดว่า...

ในกรณีที่ กกต. สั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งไว้เป็นการชั่วคราวเป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี
หรือกรณีให้ใบส้มดังกล่าวข้างต้น หรือภายหลังการประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว

ถ้ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งกระทำการทุจริตในการเลือกตั้ง ให้ กกต. ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา
เพื่อสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือสิทธิเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งนั้น 

และเมื่อศาลฎีกามีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว ถ้าผู้ถูกกล่าวหาเป็น ส.ส. ให้ผู้นั้นหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลฎีกา
จะมีคำพิพากษา

และหากศาลฎีกาพิพากษาว่ามีการกระทำความผิด ให้ศาลฎีกาสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นเป็นเวลา 10 ปี และให้สมาชิกภาพของ ส.ส. สิ้นสุดลงนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้กกต. จัดให้มีการเลือกตั้งแทนตําแหน่งที่ว่าง

อนึ่ง พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไม่ให้นำคะแนนที่ได้รับจากการเลือกตั้งที่ไม่สุจริตและเที่ยงธรรมมารวมคำนวณด้วย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองจะได้รับ ได้แก่...

มาตรา 130...

กำหนดว่า ถ้าต้องมีการเลือกตั้งใหม่ในบางเขตหรือบางหน่วยเลือกตั้ง ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง ไม่ให้นําผลคะแนนของการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งดังกล่าว มาคํานวณเพื่อหาจํานวน ส.ส. ที่แต่ละพรรคการเมืองพึงมี และจํานวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองพึงได้รับ และความนี้ให้นํามาใช้บังคับแก่กรณีที่ผู้สมัครถูกระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไว้เป็นการชั่วคราว ตามมาตรา 132 ด้วยโดยอนุโลม

มาตรา 131 วรรคหนึ่ง...

กำหนดว่า ภายใน 1 ปีหลังจากวันเลือกตั้ง ถ้าต้องมีการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในเขตใดขึ้นใหม่ เพราะเหตุที่การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้คํานวณจํานวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อใหม่ โดยไม่ให้นําคะแนนที่ได้รับ จากการเลือกตั้งที่ไม่สุจริตและเที่ยงธรรม มารวมคํานวณด้วย 

มาตรา 131 วรรคสอง...

กำหนดว่า ภายใน 1 ปี หลังจากวันเลือกตั้ง หากปรากฏว่าผู้สมัครผู้ใดกระทําการทุจริตในการเลือกตั้ง และผู้นั้นไม่ได้รับการเลือกตั้ง หากมีการนําคะแนนที่ผู้สมัครผู้นั้น ได้รับไปรวมคํานวณเพื่อจัดสรร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อให้พรรคการเมืองที่ผู้นั้นสังกัดไปแล้ว ให้ดําเนินการคํานวณเพื่อหาจํานวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองใหม่ โดยไม่ให้นําคะแนนที่ผู้สมัครดังกล่าวได้รับไปรวมคํานวณด้วย.

ป.ล. การจัดเรียงบรรทัดอาจเพี้ยนไปบ้าง จากโปรแกรมของพันทิพ

แก้ไข   :   การจัดเรียงบรรทัดใหม่

ที่มา   :  https://www.thaipost.net/main/detail/32547
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่