EEC - ตามคาด 2 กลุ่มทุนยื่นซองประมูลท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3

โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 มูลค่า 8.4 หมื่นล้านบาท เปิดรับซองประมูลแล้ว มีแค่ 2 กลุ่มทุนใหญ่ ทั้งไทยและต่างชาติ เข้ายื่นซอง จากที่ซื้อซองไป 35 ราย
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยว่า วันที่ 29 มี.ค. 2562 ท่าเรือแหลมฉบัง การท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้เปิดรับซองข้อเสนอในโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F มูลค่าโครงการกว่า 84,000 ล้านบาท โดยมีกลุ่มบริษัทเข้ายื่นข้อเสนอ จำนวน 2 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มกิจการร่วมค้าจีพีซี สมาชิกในกลุ่มประกอบด้วย บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน), บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด และ China Harbour Engineering Company Limited

กลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี สมาชิกในกลุ่มประกอบด้วย บริษัท นทลิน จำกัด, บริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน), บริษัท แอสโซซิเอท อินฟินิตี้ จำกัด, บริษัท พีเอชเอส ออแกนิค ฮีลลิ่ง จำกัด และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรั๊คชั่น คอร์ปอเรชั่น จำกัด
สำหรับการประเมินข้อเสนอของเอกชนทั้ง 5 ซอง จะเสร็จสิ้นภายในเดือน เม.ย. นี้ ซึ่งเอกชนที่ได้รับคัดเลือกให้ร่วมลงทุนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F จะมีหน้าที่รับผิดชอบออกแบบ ก่อสร้าง ให้บริการ และบำรุงรักษาในงานส่วนโครงสร้างหน้าท่า (Superstructure) รวมทั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องและระบบจัดการตู้สินค้าแบบอัตโนมัติ (Automation) เป็นระยะเวลา 35 ปี โดยคาดว่าจะเปิดดำเนินโครงการประมาณปี 2566

ทั้งนี้ เป็นที่น่าจับตาว่า กลุ่มบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ในเครือบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จะคว้าการประมูลในครั้งนี้หรือไม่ หลังจากที่ได้ยื่นซองประมูลโครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 มูลค่าโครงการ 5.54 หมื่นล้านบาท เพียงกลุ่มเดียว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาต่อรองในสัญญา ที่คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเดือน เม.ย. นี้

สำหรับโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 มีวัตถุประสงค์เพื่อขยายท่าเรือแหลมฉบังให้เป็นท่าเรือระดับภูมิภาคและเพิ่มขีดความสามารถของท่าเรือแหลมฉบังให้เพียงพอที่จะรองรับอุปสงค์ในการใช้ท่าเรือแหลมฉบัง อันเนื่องมาจากปริมาณตู้สินค้าที่คาดว่าจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ซึ่งเกินกว่าขีดความสามารถของท่าเรือแหลมฉบังที่มีอยู่จะรองรับได้ โดยจะเพิ่มความสามารถในการขนส่งตู้สินค้าจาก 7.7 ล้านตู้ต่อปี เป็น 18.1 ล้านตู้ต่อปี เพิ่มความสามารถในการขนส่งรถยนต์จาก 2 ล้านคันต่อปี เป็น 3 ล้านคันต่อปี และเพิ่มสัดส่วนการขนส่งตู้สินค้าผ่านท่าโดยรถไฟทั้งหมดของท่าเรือแหลมฉบังจาก 7% เป็น 30 %

ทั้งนี้ โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบในหลักการโครงการฯ เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2561 และคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการและอนุมัติวงเงินเพื่อดำเนินตามแผนงานโครงการฯ ไปเมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2561 โดยการท่าเรือแห่งประเทศไทยในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการ ได้เปิดขายเอกสารการคัดเลือกเอกชนไปเมื่อวันที่ 28 ม.ค. – 8 ก.พ. 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งปรากฏว่า มีเอกชนทั้งของไทยและต่างประเทศให้ความสนใจเข้าซื้อเอกสารการคัดเลือกเอกชนของโครงการฯ จำนวนทั้งสิ้น 35 ราย

ร.ท.กมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนลงทุนฯ ได้เร่งพิจารณาตรวจสอบเอกสารหลักฐานคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอตั้งแต่เวลา 13.00 น. ของวันที่ 29 มี.ค. เป็นต้นไป และขณะนี้เข้าสู่การพิจารณาข้อเสนอในซองที่ 2 แล้วจากจำนวนทั้งสิ้น 5 ซอง และคาดว่าจะพิจารณาครบทั้ง 5 ซอง และประกาศผลการพิจารณาได้ในวันที่ 11 เม.ย. นี้
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่