"สมยศ" ลั่น วางเป้าไทยลุยบอลโลก 2022 - เร่งปรับปรุงนำ VAR กลับมาใช้ต่อ

พล.ต.อ.ดร.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ เปิดประชุมใหญ่สโมสรในไทยลีก กางแผนขอความร่วมมือทุกทีมส่งทัพ "ช้างศึก" ลุยบอลโลก 2022 ที่กาตาร์ ที่จะเพิ่มเป็น 48 ทีม แย้ม ยังไม่ชัวร์ VAR ในลีกไทยจะใช้รูปแบบใด พร้อมปรับปรุงข้อบกพร่องเร่งกลับมาใช้งานให้เร็วที่สุด
เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2562 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมชั้น 24 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา การกีฬาแห่งประเทศไทย สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ และบริษัท ไทยลีก จำกัด ได้จัดประชุมสโมสรในระดับ โตโยต้า ไทยลีก (ไทยลีก 1) และ M-150 แชมเปี้ยนชิพ (ไทยลีก 2) ขึ้น ภายในงานได้รับเกียรติจาก พล.ต.อ. ดร. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ เป็นประธาน พร้อมด้วย คุณกรวีร์ ปริศนานันกุล รักษาการเลขาธิการ, มร. เบนจามิน ตัน ที่ปรึกษาและผู้อำนวยการคลับ ไลเซนซิง, คุณพาทิศ ศุภะพงษ์ รองเลขาธิการฝ่ายต่างประเทศ และตัวแทนสโมสรเข้าร่วม โดย พล.ต.อ. ดร. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง กล่าวว่า “สวัสดี ท่านผู้บริหาร และตัวแทนสโมสรสมาชิกทุกท่าน ในทุกๆ เดือน เราจะมีการนัดประชุม เพื่อแจ้งความเคลื่อนไหวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสโมสร ขณะเดียวกันก็เป็นการรับฟังปัญหาต่างๆ ที่สโมสรได้พบในช่วงที่ผ่านมา” “ในขณะนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ก็คือฟีฟ่ามีนโยบายที่จะให้ฟุตบอลโลก เพิ่มเป็น 48 ทีม และมีความเป็นไปได้สูง นั่นทำให้โควต้าในเอเชียจะเพิ่มขึ้น 2 ทีม เมื่อเรามีโอกาสมากขึ้น เราต้องไขว่คว้าให้ได้” “วันนี้เราจึงขอความร่วมมือจากสโมสรให้ช่วยกัน เราอยากสร้างรอยยิ้มร่วมกัน และถ้าปี 2022 มี 48 ทีม เรามีเวลาอีกแค่ 3 ปีในการเตรียมตัว ดังนั้นช่วงเวลาต่อจากนี้ จึงถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญสำหรับทีมชาติไทย” “และสมาคมฯ ก็ได้เตรียมความพร้อมตรงนี้ ด้วยการตั้งคณะกรรมการ เตรียมความพร้อมและพัฒนาทีมชาติไทย โดยส่วนหนึ่งก็มาจากสโมสร” “อีกเรื่องหนึ่งที่นำมาแจ้งให้ทราบกัน คือตอนนี้ฟีฟ่าอนุมัติเงินโครงการช่วยเหลือนักเตะกรณีที่บาดเจ็บจากทีมชาติ ใน ‘A’ Match เกิน 28 วัน เพื่อเป็นการช่วยเหลือสโมสร” “สำหรับในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา FIFA และ IFAB ได้เข้ามาประชุมรับฟังการนำเสนอความคืบหน้าที่ประเทศไทย เมื่อเรามีการทดลองใช้ระบบ VAR กับลีกสูงสุดของไทยในปีนี้ ซึ่งก็เป็นหนึ่งในกระบวนการที่จะสามารถยกระดับการแข่งขันของไทยลีก ตั้งแต่ทำการทดสอบ ก่อนจะนำไปใช้งานอย่างเต็มรูปแบบ” “สำหรับเทคโนโลยีที่เรานำมาใช้เป็นรูปแบบที่เรียกว่า “Centralized” เป็นการส่งสัญญาณเข้าสู่ศูนย์ควบคุมที่สำนักงานในกรุงเทพฯ และส่งสัญญาณกลับไปที่หน้าจอข้างสนาม ซึ่งจะต่างจากปีที่แล้วที่เป็นรูปแบบ “Decentralized : Mobile Solution” ที่ยกเครื่องทั้งหมดไปตั้งที่ข้างสนาม สิ่งที่ดีกว่าคือความปลอดภัย และความสะดวกที่ไม่ต้องเคลื่อนย้ายในทุกๆ แมตช์การแข่งขัน” “สำหรับในด้านเทคโนโลยีต่างๆ ถือว่าการทดสอบได้ตามมาตรฐาน แต่ยังมีสิ่งที่ต้องแก้ไขทางด้านกายภาพ เพราะโครงสร้างในแต่ละสนามของสโมสรมีความแตกต่างกัน ซึ่งทางไทยลีกได้รับรายงานข้อควรปรับปรุง และส่งต่อให้กับสโมสรเรียบร้อยแล้ว เพื่อให้สามารถรองรับการทำงานได้ในมาตรฐานเดียวกัน รวมถึงการเพิ่มจำนวนกล้องที่จับภาพในมุมกว้าง ในข้อนี้มีความสำคัญมาก เพราะการใช้ VAR ไม่ใช่การดูรีเพลย์จากภาพที่ผู้ชมเห็นในมุมกล้องของการถ่ายทอดสด แต่มีมุมกล้องที่ติดเพื่อจับภาพในสนามที่ครอบคลุมทุกพื้นที่” “อย่างไรก็ตามทาง FIFA และ IFAB แนะนำว่า ณ ปัจจุบัน VAR นั้นมีเพียงมาตรฐานเดียวทั่วโลก จากที่เราได้รับชมจากฟุตบอลโลกครั้งที่ผ่านมา ซึ่งจากการรีวิวแมตช์ไทยลีก ที่ได้ทดลองผ่านมานั้น ทำให้ทางคณะทำงานของ FIFA และ IFAB เกิดความกังวล โดยเฉพาะสิ่งที่จะกระทบต่อภาพลักษณ์ กับระบบ VAR” “เพราะ FIFA กับ IFAB เห็นว่า ที่ผ่านมามีการวิพากษ์วิจารณ์ หรือมีการแสดงสัญลักษณ์เรียกร้องให้ใช้ VAR ในจังหวะต่างๆ ที่ไม่เข้าข่ายการใช้ VAR เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นถึงว่ายังขาดการประชาสัมพันธ์ที่ทั่วถึง ดังนั้นจึงได้มีการประเมินว่า ควรพักการทดลองใช้ในสนามแข่งขันเป็นการชั่วคราว ในระหว่างที่เข้าสู่กระบวนการพัฒนา ให้ได้มาตรฐานเดียวกับฟุตบอลโลก และควรใช้เวลา ในการอบรมภาคปฏิบัติ รวมถึงทำการสื่อสารให้กับทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกับสโมสร, แฟนบอล, นักเตะ เกี่ยวกับการใช้ VAR ให้ละเอียด และเกิดความเข้าใจ เพื่อจะตระหนักถึงความสำคัญ” “ซึ่งทาง FIFA IFAB สมาคมฯ และไทยลีก มีความเห็นร่วมกันว่า จะใช้เวลาหลังจากนี้ในการให้เวลาสโมสร เพื่อแก้ไขจุดที่ยังเป็นอุปสรรคในการติดตั้งอุปกรณ์ และส่งสัญญาณในบางสนาม เพราะทางฝ่ายจัดไม่สามารถจัดการแข่งขัน ในแบบที่บางสนามพร้อมและไม่พร้อมในเวลาเดียวกัน เพื่อความยุติธรรม” “ระหว่างนี้จะมีการจัดแนะแนวให้แก่เจ้าหน้าที่ๆ เกี่ยวข้อง รวมถึงสโมสร, โค้ช และผู้เล่น ถึงความเข้าใจที่ถูกต้อง เกี่ยวกับการใช้ VAR เพราะหากว่ามีเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความสับสน ก็จะส่งผลถึงภาพพจน์ของ VAR ทั้งที่ไทยและต่างประเทศ” “โดย FIFA และ IFAB มุ่งหวังที่จะให้สมาคมฯพัฒนาโครงสร้างต่างๆ ให้เป็นศูนย์กลาง VAR ของประเทศอาเซียน เพื่อที่จะรองรับผู้ตัดสินที่จะเข้ามาฝึกและอบรม เตรียมพร้อมเข้าสู่การแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย U23 รอบสุดท้ายที่ประเทศไทย ” “ดังนั้น FIFA และ IFAB จึงอยากให้ทุกอย่างออกมาอย่างมีแบบแผน และให้เวลา ให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้าใจร่วมกัน ซึ่งทางสมาคมฯ จะแจ้งให้ทราบอย่างต่อเนื่องถึงความคืบหน้าต่อไป” “ในเมื่อสมาคมฯ นำเข้ามาแล้ว ก็อยากจะทำให้ดีที่สุด แม้จะเปลี่ยนแปลงไปจากที่มีการวางแผนไว้ตอนแรก แต่ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ เพราะเป็นการลงทุน เพื่อฟุตบอลไทยในระยะยาว”

https://mgronline.com/sport/detail/9620000027279
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่