ยุทธศาสตร์ชาติในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2561: ทำไมพรรคการเมืองจึงต้องการแก้ไข

เมื่อพูดถึงยุทธศาสตร์ชาติ  ท่านนึกถึงอะไร...นึกถึงยุทธศาสตร์ชาติในรัฐธรรมนูญฉบับ ปี พ.ศ.2561 เท่านั้นหรือ
ยุทธศาตร์ชาติมีมานานแล้ว  และใช้ในหน่วยงานของรัฐ  เพื่อการดำเนินการให้บรรลุวิสัยทัศน์ประเทศไทย 
ซึ่งก็เคยกำหนดมาก่อนหน้านี้ (ดูเอกสารอ้างอิงหมายเลข 6)
ยุทธศาสตร์ชาติที่ผ่านมา  ไม่เคยถูกระบุอยู่ในรัฐธรรมนูญ เช่นนี้
แต่เมื่อระบุไว้แล้ว  ก็กลายเป็นสิ่งสูงส่ง (เอกสารหมายเลข 10) ที่รัฐบาลจากการเลือกตั้งต้องปฏิบัติตาม
หากไม่ดำเนินตาม  อยากจะแก้ไขหรือปรับปรุง  ก็เกิดความสงสัยตามมาว่า ก็ดีอยู่แล้ว ทำไมต้องแก้ไข
ก่อนที่เข้าสู่ประเด็นนั้น  มาทำความรู้จักกับ “ยุทธศาสตร์” ก่อน
ยุทธศาสตร์ คือ อะไร
“ยุทธศาสตร์” หรือ “กลยุทธ์” คือวิธีการหรือแผนปฏิบัติการที่สร้างขึ้นเพื่อการบรรลุเป้าหมายระยะยาว หรือเป้าหมายโดยรวม
นั่นหมายถึงว่า  มันต้องมีเป้าหมายเกิดขึ้นก่อน จึงมีการกำหนดยุทธศาสตร์
ยุทธศาสตร์มิได้เกิดขึ้นมาลอยๆ แต่เป็นเหมือนเครื่องมือที่จะทำให้เป้าหมายที่วางไว้บรรลุผล
ในกรณียุทธศาสตร์ชาติในรัฐธรรมนูญ อะไรคือเป้าหมาย
เป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติในรัฐธรรมนูญ เป็นไปเพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ ต่อไปนี้
“ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”
ในการได้มาซึ่งยุทธศาสตร์ประเทศไทยในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ใช้วิธีการ SWOT
(คือ การวิเคราะห์จุดแข็ง- Strength  จุดอ่อน-Weakness โอกาส-Opportunity และภัยคุกคาม-Threat ขององค์การ ซึ่งในที่นี้คือ ประเทศไทย)
ในการทำ SWOT ก็จะมีการระดมสมองเพื่อการกำหนด วิสัยทัศน์ (Vision) ภารกิจ (Mission) นโยบาย (Policy) แล้วจึงตามมาด้วยยุทธศาสตร์ (Strategy) (เรื่องยุทธศาสตร์ ศึกษาเอกสารหมายเลข 6)
วิสัยทัศน์ ...>> ภารกิจ ...>> นโยบาย ...>> ยุทธศาสตร์
จึงเห็นได้ว่า ยุทธศาสตร์จะมาทีหลังนโยบาย  แต่เป็นสิ่งที่จะขับเคลื่อนให้เกิดการบรรลุสิ่งที่กำหนดไว้ก่อนหน้านั้น อันได้แก่นโยบาย  
ถามว่าประเทศอื่นมียุทธศาสตร์ไหม...มี แต่ของเขาอยู่ภายใต้นโยบายของรัฐ (ศึกษาเอกสารหมายเลข 6)
พรรคการเมือง ที่จะเข้ามาจัดตั้งรัฐบาล เขาจะมีนโยบายของเขามา ซึ่งจะต้องแถลงต่อรัฐสภา แล้วผลักดันให้บรรลุผล
เขาจะสร้างยุทธศาสตร์ ที่เขาจะระดมสมองจากหลายภาคส่วน  แล้วประกาศใช้เป็นยุทธศาสตร์ซึ่งก็เรียกว่ายุทธศาสตร์ชาติได้เช่นกัน
แม้แต่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เคยประกาศวิสัยทัศน์ของรัฐบาล เมื่อ 7 สิงหาคม 2558 ว่า
“ประเทศมั่นคง ประชาชนมั่งคั่งอย่างยั่งยืน”
ต่อมาประเทศไทยก็มีรัฐธรรมนูญ ฉบับ ปี พ.ศ. 2561 ใช้  และในรัฐธรรมนูญก็ประกาศวิสัยทัศน์ประเทศไทย ดังที่กล่าวข้างต้น
นักวิชาการมองว่า ยุทธศาสตร์ชาติในรัฐธรรมนูญ จะมีลักษณะของการกำหนดจากบนลงล่างมากกว่า 
เพราะในกระบวนการสร้าง ผู้มีส่วนร่วมในการระดมสมอง จะอยู่ในกลุ่มคณะกรรมการเป็นส่วนใหญ่ 
มีการเปิดรับฟังความเห็นจากประชาชนตามกฎหมายกำหนด แต่น้อยและไม่กว้างขวาง (เอกสารหมายเลข 6, 7)
ในเชิงปฏิบัติ รัฐบาลจากการเลือกตั้ง ก็อาจมี วิสัยทัศน์ นโยบาย และยุทธศาสตร์ชาติอีกชุดหนึ่ง
และถ้าไม่เหมือน อาจถูกตีความว่า ไม่เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ ที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ
หากไม่เป็นไปตามนั้น มีบทลงโทษถึงขั้นจำคุก
หลายท่านอาจบอกว่า ยุทธศาสตร์ชาติในรัฐธรรมนูญก็ดีอยู่แล้ว  ข้อความก็เป็นทางบวก ไม่เห็นเป็นลบตรงไหน
ยุทธศาสตร์ชาติในรัฐธรรมนูญตอบสนองต่อวิสัยทัศน์ที่มีลักษณะกว้าง เพื่อให้เกิดความครอบคลุมหลายๆเรื่อง
แต่ยุทธศาสตร์จากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง น่าจะมีความเฉพาะมากกว่า 
ความเฉพาะ จะแสดงถึงความเข้มและมีพลัง ที่จะทำให้นโยบายของรัฐบาลบรรลุผล ได้มากว่ายุทธศาสตร์ที่กล่าวไว้โดยกว้าง
ถ้าถามว่า ก็ปรับมาจากยุทธศาสตร์มิได้หรือ  ก็จะเกิดคำถามเดียวกันว่า  ถ้าถูกตีความว่าปรับแล้วไม่ตรง ก็อาจมีความผิด
รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีการปรับยุทธศาสตร์ทุก 5 ปี  แต่โดยคณะกรรมการที่ คสช. แต่งตั้ง
อีกประการหนึ่ง ประเทศไทยหรือโลก อาจมีสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างวิกฤติ 
ที่ต้องปรับยุทธศาสตร์กันเสียใหม่  เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์
แต่การจะปรับปรุงยุทธศาสตร์ให้ทันสมัย ต้องใช้กระบวนการและคณะกรรมการ ที่ คสช. กำหนด แทนที่จะเป็นกระบวนการที่รัฐบาลในขณะนั้นกำหนดหรือแต่งตั้งขึ้น
มันจึงมีอำนาจการบริหารส่วนนี้ที่ซ้อนกันอยู่  แล้วใครจะใหญ่กว่าใคร  ใครจะมีอำนาจเหนือใคร ต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความก่อนหรือไม่  แล้วถ้าเป็นว่า คณะกรรมการที่ คสช.แต่งตั้งใหญ่กว่า  รัฐบาลต้องเชื่อฟัง โดยที่ไม่แน่ใจว่า ผลที่ออกมาจะสอดคล้องกับนโยบายของรัฐหรือไม่อีก
1.  ยุทธศาสตร์ชาติกลายเป็นสิ่งสูงสุดสูงสุด ที่ต้องยึดตาม  แทนที่จะเป็นเพียงกลยุทธ์ที่จะทำให้นโยบายรัฐบาลบรรลุผล
2.  พรรคการเมือง/รัฐบาล ที่มีชุดนโยบายของตัวเอง. และมีวิสัยทัศน์ที่อาจไม่ตรงกับวิสัยทัศน์ที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ  ซึ่งก็ควรมียุทธศาสตร์ชาติที่มีความเฉพาะและแตกต่างไปได้ 
แต่ความแตกต่างดังว่านี้ อาจถูกตีความว่าไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติในรัฐธรรมนูญ  ซึ่งอาจถูกลงโทษจำคุกได้
3.  ยุทธศาสตร์กำหนดไว้ 20 ปี เป็นการคาดการณ์ที่ไกลมากไปหรือไม่ เพราะโลกเปลี่ยนเร็ว 
ผู้สร้างยุทธศาสตร์ชาติเองก็อาจไม่ได้เห็นโลกอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้า  เพราะเป็นโลกของคนยุคหลังเรา
4.  การปรับปรุง แก้ไขยุทธศาสตร์ชาติ เป็นสิ่งที่ทำได้. แต่ทำได้ยาก 
ถ้าหากรัฐบาลหรือพรรคการเมืองใดอยากแก้ไขยุทธศาสตร์ชาติ. เพราะเห็นว่าไม่ทันสถานการณ์และกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดิน
ก็ต้องไปเสนอต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งส่วนใหญ่คือ ผู้นำเหล่าทัพ และคนที่ คสช. แต่งตั้ง
5.  นอกจากนี้เรื่องระยะเวลา ตามรัฐธรรมนูญต้องปรับยุทธศาสตร์ทุก 5 ปี  ดังนั้นปรับครั้งแรกคือปี พ.ศ. 2566  ซึ่งจะตรงกับปีที่ 4 ของรัฐบาลที่จะเข้ามาเป็น  คือทำงานมา 4 ปี ปีสุดท้ายของรัฐบาลก็ปรับยุทธศาสตร์  ซึ่งไม่สอดคล้องกับระยะเวลาในการบริหารประเทศ  
6.   ถ้ามองว่า ประเทศไทยมี 3 อำนาจอธิปไตย ที่เป็นไปอย่างเท่าเทียมกัน และถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน  นั่นคืออำนาจนิติบัญญัติ (เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา)  อำนาจบริหาร (อำนาจหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี )  และอำนาจตุลาการ (เป็นอำนาจของศาลทุกประเภท ที่รัฐธรรมนูญกำหนด)        
การที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้รัฐบาลต้องบริหารประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ โดยกำหนด ทั้งเนื้อหา และบทลงโทษไว้  จะกลายเป็นว่า อำนาจฝ่ายตุลาการ มีเหนือฝ่ายบริหารหรือไม่  หรือ ก้าวก่ายฝ่ายบริหารหรือไม่
เอกสารอ้างอิง และเอกสารที่น่าสนใจเพื่อการศึกษาเพิ่มเติม  ในสปอยล์
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

กระทู้นี้กล่าวเฉพาะความต้องการแก้ไข ยุทธศาสตร์ชาติ  
หากท่านใดมีความเห็นอื่น โปรดแลกเปลี่ยน  
และหากมีแหล่งเอกสารหรือคลิปที่น่าสนใจ กรุณาแนบไว้ให้  จักขอบคุณมาก
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่