30 ปี อำลา "ศาลาเฉลิมไทย"

เมื่อ 30 ปีที่แล้ว คอหนังที่ลืมตาทันคงได้ทราบข่าวใหญ่ที่สะเทือนใจวงการหนัง เมื่อ "ศาลาเฉลิมไทย" โรงละครและโรงภาพยนตร์ที่มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมบันเทิงนับตั้งแต่ปี 2492 ได้ประกาศปิดตัว เพื่อรื้อถอนและสร้างสถานที่แห่งใหม่ทดแทน ตามมติของคณะรัฐมนตรี

ท่ามกลางความอาลัยอาวรณ์ของคนที่ใกล้ชิดและสัมผัส มีคณะกรรมการจัดงานกลุ่มหนึ่งได้ดำเนินการจัดงานส่งท้ายศาลาเฉลิมไทยไว้เป็นอนุสรณ์ ด้วยการแสดงละครเวทีเรื่อง "พันท้ายนรสิงห์" เพื่อหวนรำลึกถึงความบันเทิงในคราที่ศาลาเฉลิมไทยยังเป็นโรงแสดงละคร โดยได้รับความร่วมมือจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทุกรุ่น

โดยเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2532 ได้จัดแสดงละครเวทีรอบมหากุศลเป็นการชดเชย มีการถ่ายทอดสดไปยังผู้ชมทั่วประเทศทางไทยทีวีสีช่อง 3 ตลอดการแสดง เรียกว่าหากท่านไม่สะดวกไปร่วมรำลึกถึงที่ก็สามารถรับชมทางโทรทัศน์ได้ฟรี ๆ จักได้ร่วมซึมซับบรรยากาศไปด้วยกัน

และนั่นคือมหรสพชิ้นสุดท้ายของศาลาเฉลิมไทย เพราะหลังจากนั้นสถานที่แห่งนี้ก็เหลือแค่ภาพจำเพื่อให้ผู้คนรุ่นต่อ ๆ ไปได้เพ่งมองและย้อนรอยกัน

มาถึงวันนี้...ปีนี้...การอำลาศาลาเฉลิมไทยได้เวียนมาบรรจบครบ 3 ทศวรรษพอดี ในฐานะผู้ร่วมสืบสานตำนานโรงมหรสพ จะขอเปิดโอกาสให้ผู้ที่เคยร่วมเหตุการณ์ได้มาแสดงทรรศนะหรือภาพความหลังของท่านที่มีต่อศูนย์รวมความบันเทิงใจกลางกรุงรัตนโกสินทร์แห่งนั้น ณ ตรงนี้

ภาพสุดท้าย ศาลาเฉลิมไทย
 
โฉมหน้านักแสดงนำละครอนุสรณ์ "พันท้ายนรสิงห์"
 
รอบการแสดง และ ราคาบัตรชม
 
ลำดับการแสดง  ละครเวทีเรื่อง พันท้ายนรสิงห์
รอบมหากุศล วันพุธที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๓๒ ณ ศาลาเฉลิมไทย
 
( เวลาโดยประมาณ ๑๓.๓๐-๑๙.๓๐ น. ความยาวการถ่ายทอดสดประมาณ ๖ ชั่วโมงหรือมากกว่านั้น )
 
๑๓.๓๐ น.              เริ่มทำการถ่ายทอดสดโดยไทยทีวีสีช่อง ๓ อ.ส.ม.ท.
พิธีกรแนะนำรายการ ความเป็นมาของศาลาเฉลิมไทย และบรรยากาศหน้าโรง
๑๓.๕๐ น.              เข้าสู่โรงละครศาลาเฉลิมไทย  เปิดการแสดงรอบมหากุศล
เริ่มด้วยการขับร้องเพลงหน้าม่านโดยศิลปินกิตติมศักดิ์ บรรเลงโดยวงดนตรียามาฮ่าซาวด์
๑๔.๔๕ น.             เริ่มการแสดงละครเวทีเรื่อง พันท้ายนรสิงห์
วงดุริยางค์สี่เหล่าทัพ บรรเลงโหมโรง
ผู้บรรยายแนะนำการแสดง ประกาศชื่อผู้ร่วมงานและผู้แสดง
๑๕.๐๐ น.               การแสดงฉากที่ ๑  "กดขี่ประชาราษฎร"
๑๕.๒๕ น.             การขับร้องเพลงหน้าม่าน โดยศิลปินที่มีชื่อเสียงในอดีต บรรเลงโดยวงดุริยางค์สี่เหล่าทัพ
๑๕.๓๕ น.             การแสดงฉากที่ ๒ "ประพาสประจันต์ กำปั้นมวยวัด"
๑๖.๕๐ น.               การขับร้องเพลงหน้าม่าน
๑๗.๐๐ น.               การแสดงฉากที่ ๓ "เรียกลัดเข้าเฝ้า"
๑๗.๒๕ น.             การขับร้องเพลงหน้าม่าน
๑๗.๓๗ น.             การแสดงฉากที่ ๔ "อยู่เหย้าพันท้าย"
๑๘.๐๐ น.               การขับร้องเพลงหน้าม่าน
๑๘.๑๐ น.               การแสดงฉากที่ ๕ "นัดหมายแนบเนียน"
๑๘.๔๐ น.              การขับร้องเพลงหน้าม่าน
๑๘.๔๕ น.             การแสดงฉากสุดท้าย "ตะเคียนสามต้น"
๑๙.๒๐ น.              นักแสดงและผู้ร่วมงานทุกคนปรากฏบนเวที เพื่อทำการปิดฉากศาลาเฉลิมไทย
ร่วมร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี
๑๙.๓๐ น.               ปิดงานและยุติการถ่ายทอดสด
 
 
ผู้แสดง
พันท้ายนรสิงห์      ศรัณยู วงศ์กระจ่าง
พระเจ้าเสือ             พิศาล อัครเศรณี / มานพ อัศวเทพ
นวล                        นาถยา แดงบุหงา
ร่วมด้วย  สมพงษ์ พงษ์มิตร, สมควร กระจ่างศาสตร์, ศานติ สันติเวชกุล, สมพล กงสวรรณ,
ปทุมวดี โสภาพรรณ, ศิริพร วงศ์สวัสดิ์, ระจิต ภิญโญวณิช, เพ็ญศรี พุ่มชูศรี ฯลฯ

บทละคร           สุวัฒน์ วรดิลก
กำกับบท           บุญศักดิ์ ดวงดารา, จิตติน
กำกับเวที          นินารถ ช่ำชองยุทธ, ประเสริฐ กมลวาทิน
เสียงบรรยาย      รอง เค้ามูลคดี
เห่เรือโดย               นฤพนธ์ ดุริยพันธุ์
ช่วยกำกับฯ            ฉลวย ศรีรัตนา, พลเรือโท โรจน์ หงส์ประสิทธิ์
กำกับการแสดง      กัณฑรีย์ นาคประภา

เหลือเพียงเศษน้อย ๆ กองไว้เท่านั้น
 
 
ภาพประกอบ : สูจิบัตรละครอนุสรณ์เฉลิมไทย เรื่อง พันท้ายนรสิงห์, ปี 2532.
ข้อมูลประวัติศาลาเฉลิมไทยพร้อมภาพประกอบเพิ่มเติม
 
 
- - - - - - - - - - สวัสดี - - - - - - - - - -
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่