เหตุใดรัฐจึงเปิดช่องให้เจ้าพนักงานศุลกากรมีอำนาจมากเกินไป จนเกิดปัญหาคอรัปชั่น?

ผมเป็นผู้นำเข้าสินค้าทางเรือจากจีน และ เกาหลี
โดยซื้อขายสินค้าอย่างถูกต้องตามกฎหมายทุกอย่าง
ยินดีจ่าย VAT ทุกยอด
Declare ตามจริงทุกรายการ ไม่มีการ Under Value
มีเพียงแค่ยื่น FORM E, FORM AK เพื่อขอยกเว้นอากรขาเข้าตามข้อตกลง FTA ที่มีกับประเทศต้นทาง
ซึ่งก็ไม่ใช่การเลี่ยงภาษี เพียงแต่เป็นการใช้สิทธิ์ตามข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ

แต่เมื่อสินค้ามาถึงไทย
ก็โดนรีดไถจากเจ้าพนักงาน ครั้งละ 2,000-4,000 บาท แทบจะทุกครั้ง
ซึ่งถ้าเราไม่จ่าย เจ้าพนักงานก็จะข่มขู่ว่า จะปัดตกคำร้องการยื่นฟอร์มยกเว้นภาษี
ทำให้เราต้องจ่ายภาษี 30% จากมูลค่าสินค้าไปก่อน แล้วไปขึ้นศาลขอคืนภายหลัง
ปรึกษา Shipping มาหลายเจ้า ว่ามีวิธีเลี่ยงการโดนรีดไถแบบนี้บ้างไหม
ก็ได้คำตอบเพียงแต่ มันเป็นแบบนี้ทุกครั้ง
กฎมันระบุไว้ว่าการตรวจและพิจารณาเอกสารนั้น "เป็นไปตามดุลยพินิจของเจ้าพนักงาน"
ลูกค้าเขาก็โดนรีดไถแบบนี้ทุกเจ้าเหมือนกัน
แถมขอคืนภาษีก็ยากมากกกก รอนานมากกกกก ไม่คุ้มต้นทุนการเงิน
สุดท้ายก็ต้องยอมจ่าย 2,000 จ่าย 4,000 แล้วแต่จะโดนเรียก

ซึ่งไม่เข้าใจว่าทำไมรัฐถึงให้อำนาจเจ้าพนักงานมากขนาดนี้
อำนาจมากเทียบๆกับ ม.44 ฉบับย่อให้เขตปกครองศุลกากรเลย
เจ้าพนักงานแทบจะมีสิทธิ์ทำได้ทุกอย่างตามใจต้องการ
แต่เหตุใดเจ้าพนักงานถึงคิดแต่จะมาไล่บี้เอากับผู้นำเข้าที่ไม่ได้ทำอะไรผิด
ทั้งๆยังมีสินค้าหนีภาษีทางเรืออีกมากมายไหลเข้ามาในประเทศที่รอคุณไปติดตามจับกุม
หรือพวกเจ้าพนักงานเขาลืมไปแล้วว่า ตนเองเป็นผู้พิทักษ์ผลประโยชน์ภาษีให้แก่ชาติ?
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 9
พวกนี้จะเรียกค่าอำนวยความสะดวกเป็นภาษาสุภาพ ภาษาชาวบ้านเรียกส่วย
มีทุกวงการข้าราชการไม่ใช่แค่ศุลกากรหรอก
ไม่ว่าคุณทำอาชีพอะไรที่ต้องติดต่อกับราชการเป็นเหมือนกันหมด
องค์กรใหญ่ๆ เค้าถึงเลี้ยงระดับบิ๊ก ๆ ไว้คอยเคลียทาง
หรือเป็นไม้กันหมา ไม่ให้ฝูงอื่นเข้ามาขอกินเนื้อ
ประเทศไทยที่หยุดพัฒนาไม่ใช่เพราะนักการเมือง แต่ราชการนี่แหละตัวดี
โกงทุกเม็ดทุกโครงการ นักการเมือง 4 ปีก็เปลี่ยนมือ พวกนี้อยู่จนเกษียรโกยผลประโยชน์มาทั้งชีวิต
ความคิดเห็นที่ 26
ของคุณยังดีนะคะที่จ่ายแค่ 2,000-4,000฿
ของดิฉันเริ่มนำเข้าสินค้าเป็นเครื่องสำอางมาตั้งแต่ปี2558
มีทั้งของตัวเอง และนำเข้ามาให้ลูกค้าอีกทีนึง แล้วเก็บเป็นค่าserviceไป ทุกครั้งดิฉันต้องยอมจ่ายใต้โต๊ะ จนท. 5,000-20,000฿ คะไม่งั้นเคลียร์ของออกไม่ได้ ถึงแม้ว่าจะทำเอกสารมาถูกต้องทุกอย่าง ย้ำว่าทุกตัวอักษร ทั้ง Form AK,Inv packing list,B/L,LPI
เนื่องจากนำเข้ามาบ่อยๆทำให้เอกสารเราไม่มีผิดเลยก็ว่าได้
เช็คแบบละเอียดทุกตัวอักษร เราพยายามอิงจากเอกสารเก่าที่เคยนำเข้ามาว่าต้องทำเอกสารแบบไหน
แต่คือเขาจะหาคำพูดมาทำให้ของเราโดนกักให้ได้
พอของมาถึงบอกเราว่า HS code ไม่ถูกบ้างล่ะ!
Inv.ใส่หน่วยมาผิดนะ! ,Form AK ใส่ Remarks ผิดบ้างล่ะ!

ตอนแรกนึกว่าชิปปิ้งโกหกเรียกเงินเราไปเหมือนกันคะ
อะไรว่ะมันจะมีปัญหานำเข้าทุกรอบเลยเหรอ?
เลยให้ชิปปิ้งต่อสายให้คุยกับนายตรวจ นายตรวจบางคนก็ยอมคุย แต่บางคนก็ไม่คุยกับเราเลยคะ
ถึงได้รู้ว่าชิปปิ้งไม่ได้โกหก นายตรวจเขาเรียกจ่ายใต้โต๊ะจริงๆ

ลูกค้าบริษัทต่างชาติในไทยที่จ้างเราทำนำเข้าให้บางเจ้า ถึงกับโมโหแล้วมาลงที่บริษัทดิฉัน
อะไรมันจะมีปัญหาได้ทุกรอบ แล้วหาว่าดิฉันนั้นเรียกรับเงินเขาเข้ากระเป๋าซะเอง
ดิฉันเองก็โมโห และอัดอั้นในใจมากคะ
เพราะทำอะไรเขาไม่ได้เลย

ล่าสุดเมื่อเดือนที่แล้วมีสินค้านำเข้าเป็น cleansing cream 120kg. มูลค่าไม่เยอะเท่าไร ก็โดนกักอีกคะ
นายตรวจแจ้งว่าเราใส่ remarks ใน Form AKผิด
ทั้งที่เราก็อิงจากเอกสารตัวเดิมทุกอย่างที่เคยนำเข้ามา
ซึ่งเป็นสินค้าตัวเดียวกัน เคยนำเข้ามาเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
เลยส่งเอกสารให้shipping เอาให้เขาดูว่า เราเคยนำเข้ามาแล้ว เอกสารเหมือนกันเป๊ะทุกตัวอักษร! ทำไมถึงจะมาบอกว่าเราทำผิด นายตรวจตอบว่า “ก็นายตรวจปล่อยสินค้าคนละคนกัน” อ้าวแล้วศุลกากรไม่มี policy ไม่มีเกณฑ์ในการพิจารณาเอกสาร ให้มันเป็นแนวทางเดียวกันเหรอ?
ทำไมถึงตอบง่ายๆแบบนี้?
ตอนแรกมีการเรียกใต้โต๊ะมา 8,000฿
ดิฉันเลยคุยกับชิปปิ้งว่า ของมูลค่าก็ไม่เยอะ
น้ำหนักก็ไม่เยอะ ทำไมถึงเรียกแพงจัง?
นี่จะไม่ให้บริษัทเรามีกำไร ลืมตาอ้าปากได้บ้างเลยเหรอ? สุดท้ายต่อรองได้เหลือ 6,000฿ ดิฉันเลยโดนไปให้ชิปปิ้งจ่ายไปตามที่เขาเรียกมา ถึงยอมปล่อยสินค้าดิฉันออกมา

รอบนี้ทำให้ลูกค้าโมโหและไม่พอใจมาก
ทำไมเขาถึงต้องจ่ายใต้โต๊ะทุกรอบ?ทั้งที่นำเข้าสินค้ามาถูกต้องตามกฏหมาย เอกสารก็ถูกต้องทุกอย่าง
ดิฉันเลยตัดปัญหาโดยการไม่รับเงินค่า serviceใดๆจากลูกค้า เท่ากับดิฉันทำงานฟรี! และเข้าใจที่ลูกค้าไม่พอใจ เพราะศุลกากร เรียกเก็บใต้โต๊ะทุกรอบจริงๆ
ดิฉันรู้สึกอับอายมากในฐานะประชาชนคนไทย
เวลาที่คนต่างชาติพูดถึงระบบราชการไทย
โดยเฉพาะ “กรมศุลกากร” ที่มีการคอรัปชั่นกันอย่างไม่ละอายใจ
ทำไมศุลกากรต้องทำให้ชาวต่างชาติมองเราไม่ดีด้วย?
ทำไมต้องทำให้ต่างชาติมองเราเป็นประเทศล้าหลัง ไม่พัฒนา


พอเคลียร์สินค้าออกมาได้แล้ว ดิฉันเลยแนะนำให้ลูกค้าทำเป็นหนังสือร้องเรียนมาจากที่เกาหลีเลย ผ่านกระทรวงการต่างประเทศ หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ทางเกาหลีจะเห็นสมควร
ส่งมาที่ไทยเลย

แต่ชิปปิ้งบอกว่าถ้าทำแบบนั้นเขาจะขึ้น blacklist บริษัทเรา แล้วเวลาเรานำเข้าครั้งต่อไปเขาก็จะหาเรื่องกักของเรา กลั่นแกล้งเราหนักกว่าเดิม!

ดิฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่า อาจจะมีหน่วยงานเข้ามาตรวจสอบการทำงานของ กรมศุลกากร บ้าง
ถ้าแก้ปัญหาการคอรัปชั่นไม่ได้ แต่อย่างน้อยๆก็ถือว่าช่วยผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดเล็กที่ตั้งใจประกอบอาชีพ และเสียภาษีอย่างถูกกฏหมายด้วยเถอะคะ ~~”
ความคิดเห็นที่ 24
ฟังแล้วปรี๊ดแทน  คุณจ่ายโดยตรงกับเจ้าหน้าที่ไหมคะ  เราทำงานในวงการนี้มา 20 กว่าปี  ตั้ฃแต่สมัยจ่ายเงินกันเป็นว่าเล่น  จนมีระบบเข้ามาจับ ตอนนี้ เค้ามีกฎระเบียบชัดเจน  การขอใช้สิทธิ์ลดอัตราอากร โดยใช้สิทธิ์ FORM ต่างๆ เค้าใช้กันเป็นเรื่องปรกติ สินค้ามาจากจีน ,เกาหลี ฯลฯ  เค้าใช้สิทธิ์กันทั้งนั้น และเป็น 0%  ทั้งนั้น  ไม่มีการเรีบกเก็บเงินแต่อย่างใด
Shipping เรียกเก็บเงินกินเปล่าแล้วค่ะ  มันไม่ใช่เป็นดุลพินิจของเจ้าหน้าที่พนักงาน  Form ต่างๆมีรูปแบบของมัน 13 ช่อง  คุณระบุรายละเอียดถูกไหม มีคนตรวจ Form ก่อนจะส่งใบขนไหม  ถ้าเอกสารผิด ก็สงวนสิทธิ์ ขอชำระอากรอัตราปรกติไปก่ิน  โดย State ไว้ในใบขน / พบเจ้าหน้าที่ด้วย

พอ FORM ที่ถูกต้องมา ก็ทำเรื่องยื่น แบบ กศก .107 เข้าไปขอคืน  30 วันทำการก็ได้เงินคืนแล้ว ( แต่ถ้าเป็นท่าเรือ อาจจะช้าหน่อย เพราะงานคืนอากรเยอะมากก)

เปลี่ยน Shipping เถอะค่ะ ถ้าเรื่องแค่นี้ ยังดูแลลูกค้าไม่ได้ บริษัท เราใช้ Form แทบทุกใบขนสินค้าขาเข้า ไม่เคยต้องจ่าย  ใครจะมาเรียกเงินได้อย่างไร ในเมื่อเราถูกต้อง

จากผู้ชำนาญการ คนหนึ่ง
ความคิดเห็นที่ 6
พรรรคไหนมีนโยยายลดอำนาจศุลกาการ ข้าราชการบ้าง
ความคิดเห็นที่ 10
2,000-4,000 บาท
1. นี่เห็นคาตา ได้ยินกับหู หรือ Shipping เล่าให้ฟัง?
2. มีใบเสร็จไหม?
3. จ่ายยังไง จ่ายกับใคร? ศุลการักษ์ นายตรวจ หรือ shipping
4. คลังสินค้า ดอนเมือง สุวรรณภูมิ หรือ ท่าเรือกรุงเทพ?

กลัวจะเจอ shipping หลอกกินเงินฟรีซะมากกว่า
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่