Roma (2018) Alfonso Cuarón —- review


         
       

           ผ่านกันไปแล้วนะครับกับการประกาศรางวัลภาพยนตร์ที่โด่งดังที่สุดในโลกอย่าง Oscar ซึ่งในปีนี้ Roma ก็สามารถคว้ามาได้ 3 รางวัล แบ่งเป็น สาขา ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, กำกับภาพยอดเยี่ยม และ ภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม ที่ล้วนแล้วแต่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง เพราะฉะนั้นวันนี้ผมจะลองมาให้ทรรศนะส่วนตัวต่อภาพยนตร์แห่งปีเรื่องนี้ดูละกันนะครับ

Roma 2018
Director: Alfonso Cuarón
Cinematography: Alfonso Cuarón
Writer: Alfonso Cuarón
Main casts: Yalitza Aparicio, Marina de Tavira, Diego Cortina Autrey

           ผมมีโอกาสได้ไปดู Roma ที่สกาล่าเมื่อปลายเดือนธันวาที่ผ่านมา โดยที่ก่อนหน้าไม่ได้รู้เรื่องย่อ หรืออ่านคำวิจารณ์ใดๆไปทั้งนั้น แต่จากบนเทรลเลอร์ (ที่แทบจะไม่ได้บอกเรื่องราวอะไรไว้เลย) ดูเหมือนว่า Cuarón เลือกที่จะกลับมาถ่ายทำหนังย้อนยุคที่ Mexico บ้านเกิด แถมถ่ายเป็นภาพขาว - ดำสุดอลังการ และก็น่าจะเป็นหนังดราม่าที่เนื้อหาหนักเอาการ ราวกับมีความรู้สึกบางอย่างในภาพเคลื่อนไหวนั้นสะกดไว้อย่างว่าไม่ถูก ผมก็เลยหน้ามืดตีตั๋วไปดูเสียเลยเย็นนั้น ทั้งๆที่ท้ายเทรลเลอร์ก็บอกอยู่ทนโท่ว่าบน Netflix มันก็มีนะ

           หนังเปิดมาด้วยช็อตที่ถ่ายแช่ไว้ที่พื้น โดยมีคลื่นฟองสบู่ซัดเข้ามาในฉากเป็นระยะๆ รายชื่อเหล่าผู้ร่วมรังสรรค์จิตรกรรมบนจอเงินนี้ค่อยๆ ผ่านมา แล้วก็ผ่านไป อย่างใจเย็น กว่าที่กล้องจะแพนไปให้เห็นฉากอื่น ก็ใช้เวลาไปหลายนาทีพอสมควร Cuarón ดูท่าจะพยายามบอกเราเป็นนัยๆตั้งแต่ฉากแรกเลยว่า หนังเรื่องนี้จะเล่าเรื่องอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยที่พวกเรา เหล่าคนดูต้องพยายามซึมซาบเอาความรู้สึก สาระ หรือแม้แต่อารมณ์นั้นไว้เอง

          พอกล้องเลื่อนออก เราจะได้พบกับ Cleo สาวใช้ตัวเอกของเรื่องที่กำลังถูพื้น เก็บกวาดและทำความสะอาดบ้านอันกว้างขวางหลังหนึ่ง หล่อนพาเราไปสำรวจรอบๆบ้านหลังนั้น ในระหว่างที่ตัวเองก็ง่วนอยู่กับงานบ้านที่ต้องทำอยู่ตลอดเวลา นอกจาก Cleo แล้ว ยังมี Adela เป็นลูกจ้างอีกคน ที่ทำงานรับใช้อยู่ที่นี่ และจากนั้นไม่นาน เราจะก็ได้รู้ว่าเคหะสถานอันโอ่โถงนี้มี Sra. Sofia เป็นเจ้าของ โดยที่หล่อนยังมีลูกด้วยกันทั้งหมด 4 คน ชาย 3 หญิง 1 รวมไปถึงแม่ของหล่อน Sra. Teresa อาศัยอยู่ร่วมด้วยอีกคน

          ก็เหมือนอย่างครอบครัวชนชั้นกลางค่อนไปทางสูงทั่วไป ครอบครัวของ Sra. Sofia มีความพร้อมทุกอย่างทางด้านกำลังทรัพย์ และความสะดวกสบาย การพูดหยอกล้อกันระหว่างลูกๆของเธอถึงเหตุการณ์ความวุ่นวายนอกบ้านที่กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆเป็นเพียงประเด็นในเรื่องความโปกฮา ล้อเล่นเสียส่วนใหญ่ เด็กๆเหล่านี้ได้เพียงแต่เข้าใจเหตุการณ์ภายนอกใกล้ๆ แต่ช่างห่างไกลตัวพวกเขาเหลือเกิน ในรูปแบบเรื่องโจ๊กตลกบนวงข้าวเท่านั้น ส่วนสาวใช้ทั้ง 2 อย่าง Cleo และ Adela ที่เป็นเพียงแค่เด็กสาวชาวบ้านธรรมดา ก็ดูเหมือนว่าจะอาศัยอยู่ร่วมกับ Sra. Sofia มานานพอสมควร จึงไม่แปลกที่คนทั้งสองก็ย่อมไม่มีความเห็นใดๆแก่เหตุการณ์ความเป็นไปภายนอกบ้านแห่งนี้ จะคงมีเพียงบานประตูขนาดใหญ่หน้าบ้านที่เชื่อมกับถนนกลางกรุง Mexico City เท่านั้น ที่ดูเหมือนจะเป็นความเชื่อมโยงเดียวระหว่างโลกอันสับสนภายนอก กับชีวิตธรรมดาแสนสามัญของผู้อาศัยภายใน

          คาดว่าผู้ชมหลายคน รวมถึงผมในตอนนั้นก็คงสงสัยว่า อ้าวแล้วตกลงพ่อของเด็กๆเหล่านั้นหายไปไหนเสียล่ะ หลังจากนั้นไม่นาน เสียงเครื่องยนต์ก็ได้มาคำรามอยู่หน้าประตู เหมือนกับเป็นการตอบคำถามข้อนั้น ท่าทางบุรุษผู้เป็นเจ้าของบ้านกลับมาถึงแล้ว
       
       
          เมื่อประตูบ้านเปิดออก รถ Ford Galaxie คันงามก็แล่นเข้ามา ดูเหมือนว่าเขาต้องใช้ความพยายามอย่างมาก ที่จะยัดเจ้ารถคันมหึมาเข้าไปในที่จอด (ที่แท้จริงแล้วเป็นเพียงช่องว่างระหว่างตึกแคบๆ) นี้ให้ได้ เขาขยับหน้า ขยับหลังซ้ายทีขวาที จนท้ายที่สุดก็พามาในตำแหน่งที่เหมาะสมจนได้ เขาบิดกุญแจ เสียงเพลงคลาสสิค และเครื่องยนต์เงียบลง, ดับบุหรี่ แล้วจึงเปิดประตูออกมา เราจะสามารถสัมผัสได้ถึงความห่างเหิน ความไว้เนื้อถือตัว และความไม่น่าไว้วางใจของนายแพทย์ผู้ตกแต่งใบหน้าด้วยหนวดเคราทับด้วยแว่นตาขอบดำผู้นี้ได้ในทันที ซึ่งหลังจากนั้น ชายผู้นี้จะคงมีบทบาท ทิ้งไว้เป็นเพียงแค่ความห่างเหินระหว่าง คนเป็นพ่อ กับ ครอบครัว เช่นเดียวกับฉากแรกที่เขาปรากฏกายขึ้นนั่นแหละ

          หนังฉายให้เห็น ความเป็นอยู่ของครอบครัวของ Sra. Sofia รวมไปถึงเหล่าคนใช้ของเธอ ที่เป็นตัวแทนแห่งสามัญชน2 ชนชั้นของชาวเมืองหลวง Mexico City ความเกี่ยวเนื่องเพียงอย่างเดียวระหว่างคนต่างชนชั้น และสถานะนี้ ภายในเรื่องนี้อาจจะเป็นว่า Cleo สามารถทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมโยงระหว่างชนชั้น กลาง ไปสู่ชนชั้น ล่าง ได้ หล่อนดูเหมือนจะเป็นตัวละครที่ผูกเหตุการณ์ความวุ่นวายของสังคมคนชั้นบน และคนชั้นล่าง เข้าไว้ด้วยกันไว้ตลอดทั้งเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น การท้องกับแฟนหนุ่มคลั่งการเมืองที่ท้ายที่สุดก็ทิ้งหล่อน (เรื่องราวของชนชั้นล่าง) เหตุการณ์งานฉลองปีใหม่ที่จบลงด้วยไฟไหม้ป่า (เรื่องราวของชนชั้นบน) หรือเหตุการณ์จราจลในท้องถนนครั้งใหญ่ของ Mexico City (เป็นเรื่องของทุกๆชนชั้น) โดยที่หล่อน และชาว Mexico City ท้ายที่สุดแล้ว จำต้องผ่านมันไปให้ได้

          ผมชอบฉากตอนนึงมาก (ซึ่งอาจจะเป็นฉากไคลแมกซ์ที่สุดของเรื่องเนิบๆเรื่องนี้แล้วก็ได้) ตอนที่ Cleo ไปช่วยลูกสาว และลูกชายของ Sra. Sofia ในทะเล ทั้งคลื่นใหญ่เล็กค่อยๆถาโถมใส่ตัวคนทั้งสาม ระลอกแล้วระลอกเล่า แต่สุดท้ายพวกเขาทั้งหมดก็สามารถกลับมาที่ฝั่งได้อย่างปลอดภัย ฉากนี้สำหรับผมแล้ว ดูราวกับเป็นการถ่ายล้อกับฉากคลื่นฟองสบู่ฉากแรกในตอนต้นเรื่อง ท่าทาง Cuarón จะย้ำกับเราว่า


“สำหรับชีวิตแล้ว อาจต้องเผชิญกับคลื่นสูงบ้าง ต่ำบ้าง สลับกันไป แต่ท้ายที่สุดแล้ว คลื่นก็ยังคงซัดอยู่อย่างนั้นไม่เปลี่ยนแปลง มีแต่เราเพียงเท่านั้นที่จะผ่านมันไปได้หรือไม่”


          Cuarón เลือกที่จะบรรยายถึงความเป็นไปในครอบครัวเล็ก หรือ ครอบครัวของ Sra. Sofia และครอบครัวใหญ่ หรือ ครอบครัวชาว Mexico City อย่างค่อยเป็นค่อยไป ราวกับเป็นการกลั่นกรองเอาเศษเสี้ยวแห่งความทรงจำ บรรยากาศ  จิตวิญญาณ และความรู้สึก หรือบางทีอาจเป็นประสบการ์ส่วนตัวในวัยเด็กของตัวเขาเอง บรรจงมันถ่ายทอดลงบนผืนผ้าใบสีเงิน อย่างละเมียดละไม ทุกๆอย่าง ทั้งการจัดวางฉาก งานภาพ การแสดง ล้วนแล้วแต่ทำออกมาอย่างปราณีต และทรงพลังเป็นที่สุด ไม่ต้องสงสัยเลยว่าหนังเรื่องนี้คงจะเป็นหนังที่ส่วนตัวที่วุดของ Cuarón และน่าจะเป็นหนังที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งของเขา (และผมก็รู้สึกโชคดีมากที่ได้มีโอกาสได้ยลความตระกาลตานั้นบนจอโรงหนังขนาดใหญ่อย่างสกาล่า)

          Roma ทำให้ผมนึกถึงคำพูดของ Hemingway ที่เคยกล่าวไว้ว่า “เรื่องแต่งที่ยอดเยี่ยมที่สุดมาจากการเล่าเรื่องจริงอย่างซื่อสัตย์ และจริงใจที่สุด” ไม่ต้องสงสัยเลยว่า สำหรับหนังเรื่องนี้ Cuarón สามารถที่จะเล่ามันได้อย่างซื่อสัตย์ และบรรยายความรู้สึกเขาอย่างตรงไปตรงมาที่สุด

www.facebook.com/lovetowatchfilm
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่