“หัวโบราณ” VS “หัวสมัยใหม่” ทำงานด้วยกันได้หรอ?


การใช้ชีวิตของคน “หัวโบราณ” และ “หัวสมัยใหม่” ที่ต่างฝ่ายต่างมีแนวคิดและพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง ภายใต้เหตุผลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตมา ลักษณะการทำงานที่ผ่านมา ที่มั่นใจว่าของฉันถูกแน่นอน สุดท้าย คนต่าง Gen จะปรับจูนและทำงานร่วมกันได้อย่างไร?

“เพราะผู้ใหญ่อาบน้ำร้อนมาก่อน” นี่เป็นคำพูดหรือประโยคที่คุ้นหู ซึ่งอยู่ในยุค Baby Boomer และ Gen X  ที่ยึดติดกับความเชื่อในสมัยก่อนจนทำให้คนรุ่นเราๆ ที่อยู่ในยุค Millennium ถึงกับต้องส่ายหัวและบ่นเลยว่า “วัยรุ่นเซ็ง!” จนบางครั้งก็อยากจะถามกลับไปเหมือนกันว่า “น้ำร้อนที่อาบเนี่ย แน่ใจเหรอว่ามันสะอาด?” แต่ทำได้แค่เงียบเท่านั้น ประโยคนี้ทำหน้าที่ดั่งคาถาสะกดที่ทำให้คนฟังต้องเงียบปาก ซึ่งนั่นก็ทำให้การใช้ชีวิตของคนต่าง Gen เริ่มปรับจูนกันลำบาก เหมือนเข็มทิศที่กำลังหลงทางกันทั้งคู่ ฟากนึงไปทิศเหนือ อีกฟากไปทิศใต้ คำถามคือ “แล้วเราจะปรับจูนให้เข้ากันได้อย่างไร?”

ก่อนอื่นเลยคงต้องกล่าวถึงประวัติความเป็นมาพื้นฐานของแต่ละกลุ่มกันสะก่อน
Baby Boomer (เบบี้บูมเมอร์) หรือ Gen-B เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2489 – 2507 หรือในยุคสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 สาเหตุ ที่เรียกว่า "เบบี้บูมเมอร์" เพราะว่าหลังจากสงครามสงบ บ้านเมืองได้รับความเสียหายอย่างหนัก ประชากรที่เหลืออยู่ในแต่ละประเทศจึงต้องเร่งฟื้นฟูให้กลับมามั่นคงอีกครั้ง แต่ด้วยสงครามประเทศจึงขาดแรงงานจำนวนมาก คนในยุคนั้นจึงมีค่านิยมคือต้องมีลูกหลายคน เพื่อสร้างแรงงานที่จะพัฒนาประเทศ จึงเป็นที่มาของคำว่า "เบบี้บูมเมอร์” พฤติกรรมด้านการทำงานคนกลุ่มนี้เป็นคนที่มีชีวิตเพื่อการทำงานอย่างที่สุด เคารพกฎเกณฑ์ กติกา มีความอดทนสูง ทุ่มเทให้กับการทำงานและองค์กร เป็นเจ้าคนนายคน ถูกครอบครัวสั่งสอนมาให้เป็นคนประหยัด อดออม จึงมีการวางแผนค่าใช้จ่ายอย่างรอบคอบ เป็นคนที่เคร่งครัดในขนบธรรมเนียมประเพณี ปัจจุบันคนยุคนี้มีอายุ 55 ปีขึ้นไป คนกลุ่มนี้ถือว่าน่าจะมีจำนวนมากที่สุดในสังคมปัจจุบัน ยุคนี้จึงเรียกว่า Aging Society

Generation-X คนยุคนี้เกิดช่วงปี พ.ศ. 2508-2523 เรียกอีกชื่อว่า "ยับปี้" (Yuppie) ที่ย่อมาจาก Young Urban Professionals เพราะเกิดมาในยุคที่มั่งคั่ง จึงใช้ชีวิตอย่างสุขสบาย เติบโตมากับการพัฒนาของวิดีโอเกม คอมพิวเตอร์ สไตล์เพลงแบบฮิปฮอป ปัจจุบัน คนยุค Gen-X เป็นคนวัยทำงาน มีอายุตั้งแต่ 39-54 ปี พฤติกรรมคือ ชอบอะไรง่าย ๆ ให้ความสำคัญระหว่างงานกับครอบครัวแบบสมดุล (Work–life balance) มีแนวคิดและการทำงานในลักษณะรู้ทุกอย่างทำทุกอย่างได้เพียงลำพังไม่พึ่งพาใคร เป็นตัวของตัวเองสูง มีความคิดเปิดกว้าง

Millennium หรือ Gen-Y เกิดในช่วงปี พ.ศ. 2524–2540 ปัจจุบันอายุ 23-38 คนกลุ่มนี้โตมากับความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และอินเตอร์เน็ตทำให้มีค่านิยมที่แตกต่างจาก กลุ่ม Baby boomer และ Gen-X  ซึ่งยุค Millennium เป็นยุคที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างมาก ทำให้ครอบครัวที่ประสบความสำเร็จดูแลเอาใจใส่ลูกหลานเป็นอย่างดี(หรืออาจจะดีเกินไป) ทำให้คนกลุ่มนี้มีนิสัยเอาแต่ใจจากการเลี้ยงดูที่สุขสบาย มีความเป็นตัวเองสูง ชอบอยู่นอกกรอบ เสพข่าวสารผ่านช่องทาง Social media และ Internet มีอิสระทางความคิด เรียกได้ว่าโตมาท่ามกลาง “สื่อเก่า” และ “สื่อใหม่” อย่างแท้จริง
ปัจจุบันคนกลุ่มนี้อยู่ในวัยเรียน และวัยทำงาน คนกลุ่มนี้มักทำงานเกี่ยวกับด้านการสื่อสาร และไอที งานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ความคิดนอกกรอบ เนื่องจากธรรมชาติที่คนยุคนี้โตมา สามารถทำอะไรหลาย ๆ อย่างพร้อมกันได้แบบ Multi-tasking คนกลุ่มนี้จึงมีความสนใจในการทำงานแบบ Agency เป็นพิเศษ เนื่องจากได้ใช้ความคิดที่สร้างสรรค์และไม่อยู่ในกรอบมากนัก

ไม่เพียงแค่นั้นปัจจุบันบริษัทต่าง ๆ พยายามปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Agency หรือแบรนด์ดังต่าง ๆ เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคในการเสพข่าวสารนั้นเปลี่ยนไป ทำให้หลากหลายบริษัทเฟ้นหาคนรุ่นใหม่อย่างกลุ่ม Millennium เข้ามาทำงาน เพื่อมองหาช่องทางใหม่ ๆ ในการทำตลาด แต่แล้วปัญหาก็เกิด เมื่อคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่…ต้องมาทำงานร่วมกัน

แล้วคนต่าง Gen จะทำงานร่วมกันได้อย่างไร?
การที่จะรู้ถึงทัศนคติของแต่ละคน อย่างแรกคือ การแสดงความคิดเห็นร่วมกัน และยอมรับความคิดเห็นซึ่งกัน เนื่องจากธรรมชาติของแต่ละ Gen ที่เติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่ต่างกันทำให้หลาย ๆ ครั้ง ความคิดเห็นจะไม่ลงรอยกันเท่าไรนัก โดยเฉพาะกลุ่ม Baby boomer และ Millennium

แต่การแสดงความคิดเห็นนั้นจะไร้ซึ่งความหมาย หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขาดซึ่งการยอมรับ ฉะนั้นการยอมรับในความแตกต่างเป็นสิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้กลุ่มคนหลากหลาย Generation สามารถทำงานร่วมกันได้… ดั่งคำที่ว่า “แตกต่าง แต่ไม่แตกแยก” ความแตกต่างทางความคิดไม่ใช่ปัจจัยที่ทำให้ไม่สามารถร่วมงานกัน แต่การไม่ยอมรับซึ่งความคิดที่หลากหลายต่างหาก ที่จะทำให้ไม่สามารถร่วมงานกัน สิ่งสำคัญคือ “การเปิดใจยอมรับความต่างนั้น” นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม คือ การตักเตือนกันในที่ทำงาน ควรมีความเป็นเหตุเป็นผล อย่าใช้อารมณ์ การใช้อารมณ์ไม่สามารถทำให้อะไรดีขึ้นได้ นอกจากงานจะไม่พัฒนาจะพาเสียความรู้สึกกันเปล่า ๆ ถึงบางคนจะบอกว่าเข้าใจงานคืองานมีอารมณ์บ้างก็ตามที… “เข้าใจไม่ได้แปลว่าไม่รู้สึก”

การทำงานร่วมกันกับคนหลากหลาย Gen ในที่ทำงานเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่การแก้ปัญหาที่ดีคือการทำความเข้าใจถึงธรรมชาติของคนแต่ละ Gen และยอมรับในความแตกต่างของกันและกัน และนำข้อดีของแต่ละ Gen มาปรับใช้ให้เป็นประโยชน์…เพื่อพัฒนาตนเองไม่ว่า คุณจะเกิดใน Generation ใดก็ตาม

อ่านบทความน่าสนใจอีกมากมายต่อได้ที่ : https://www.facebook.com/kinyupen.co/

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่