สถานีพัฒนาที่ดินภูเก็ต ส่งองค์ความรู้พัฒนาดิน หวังช่วยชาวนา รักษานาผืนสุดท้ายบนเกาะภูเก็ต


พื้นที่นาปลูกข้าวหล่อเลี้ยงชาวภูเก็ตกว่า 1,200 ไร่ เมื่อในอดีตถูกปล่อยทิ้งเป็นนาร้าง หรือถูกเปลี่ยนเป็นสวนยาง สวนปาล์ม  โรงแรมที่พัก บ้านเรือนหลังใหญ่โต ปัจจุบันมีนาเหลือเพียง 68.2ไร่ แทบจะไม่เหลือแปลงนาให้ชาวภูเก็ตได้เรียนรู้วิถีชีวิตชาวนาอีกเลย สถานีพัฒนาที่ดินภูเก็ต สำนักงานพัฒนาที่ดิน เขต 11 กรมพัฒนาที่ดิน ระดมองค์ความรู้ช่วยชาวนาที่ ต.ไม้ขาว  อ.ถลาง จ.ภูเก็ต หวังรักษานาผืนสุดท้ายให้อยู่คู่เกาะภูเก็ตต่อไป






นายปัญญา ใจสมุทร ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินภูเก็ต กล่าวถึงพื้นที่นาในจังหวัดภูเก็ตที่เมื่อในอดีต มีถึง 1,200 ไร่ แต่ปัจจุบันเหลือพื้นที่นาเพียง 68.2ไร่  อยู่ที่ต.ไม้ขาว   อ.ถลาง จ.ภูเก็ต แห่งนี้ สถานีพัฒนาที่ดินภูเก็ต หนึ่งในหน่วยงานที่ช่วยผลักดันและส่งเสริมให้ชาวนาที่ไม้ขาว ยังสามารถรักษาผืนนาได้ปลูกข้าวหล่อเลี้ยงครอบครัว โดยภารกิจของสถานีพัฒนาที่ดินภูเก็ต เริ่มตั้งแต่งานปรับโครงสร้าง ในที่นี้หมายถึงการปรับคันดินเพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำ ส่งเสริมให้ชาวนาและเกษตรกรนำหญ้าแฝกมาปลูกรอบคันดินที่ปรับขึ้นมาใหม่ช่วยป้องกันการพังทลายของคันดิน ช่วยให้ดินรักษากักเก็บน้ำได้  งานขยายคันนาจากเดิมที่เล็กมากจะเดินยังลำบากให้เป็นคันนาที่กว้างมากขึ้น ช่วยให้ชาวนาเข้าทำกิจกรรมในแปลงนาของตนเองได้สะดวกมากขึ้น เมื่อมีการปรับโครงสร้างให้พร้อมแล้ว เข้าสู่งานส่งเสริมปรับปรุงบำรุงดิน  อาทิ  หลังฤดูทำนา ส่งเสริมให้ให้ชาวนามีการไถ่กลบตอซังแทนการเผาตอซัง สนับสนุนเมล็ดปอเทืองให้ชาวนามาปลูกในแปลงนา และไถ่กลบเพื่อใช้เป็นปุ๋ยพืชสดปรับปรุงบำรุงดิน ให้มีความพร้อมที่จะเพาะปลูกฤดูในฤดูกาลต่อไป ทั้งนี้ยังมีในส่วนองค์ความรู้ที่ไปส่งเสริมให้ชาวนาและเกษตรกรในพื้นที่ผลิต และใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง น้ำหมักชีวภาพ  โดยใช้สารเร่ง พด. ของกรมพัฒนาที่ดิน เพื่อที่จะสามารถนำไปไว้ใช้ในนา ในสวน ในไร่ต่อไป







นายเนตร เดชากุล หมอดินอาสาประจำตำบลไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เป็นผู้ริเริ่มรวบรวมเพื่อนบ้านหันกลับมาทำนาข้าว ซึ่งเดิมเป็นนาร้างตั้งแต่ปี 2528 จนกระทั่งปี 2548 ได้กลับมาทำนาปลูกข้าวอีกครั้ง โดยแรกเริ่มมีสมาชิก 9 ครัวเรือนเท่านั้น อาศัยองค์ความรู้จากสถานีพัฒนาที่ดินภูเก็ต กรมพัฒนาที่ดิน มาประยุกต์กับภูมิปัญญาที่ตนเองมี จนกระทั่งไม่พึ่งสารเคมีในการปลูกข้าวและทำการเกษตรอีกเลย ผลผลิตข้าวจากเดิม 400กิโลกรัมต่อไร่ แต่ผลจากการปรับปรุงบำรุงดิน และไม่ใช้สารเคมี ทำให้ปัจจุบันผลผลิตข้าวได้ถึง 670 กิโลกรัมต่อไร่  อีกทั้งยังได้มีการเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ให้เพื่อนบ้านและบุคคลที่สนใจเข้ามาศึกษาแนวทางการทำนาปลูกข้าว และการทำการเกษตรบนพื้นที่ที่ตนมีอยู่ โดยไม่มีการใช้สารเคมีในกระบวนการเลย อาศัยใช้ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก น้ำหมักชีวภาพต่างๆ ที่สถานีพัฒนาที่ดินภูเก็ตมาส่งเสริม ปัจจุบันนอกจากจะปลูกข้าวไว้ทานเอง ยังได้ขายในชุมชน เว้นวางจากการทำนายังปลูกพืชผักสวนผสมตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง   มีกินมีใช้ตลอดปี




นายปัญญา  ใจสมุทร กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน มีชาวนาหันกลับมาทำนาเพิ่มขึ้น 15 ครัวเรือน จากเดิมที่มีเพียง 9 ครัวเรือนเท่านั้น สถานีพัฒนาที่ดินภูเก็ต กรมพัฒนาที่ดิน พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริม และสนับสนุนองค์ความรู้ด้านการพัฒนาดิน ให้อุดมสมบูรณ์ เป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญที่จะช่วยให้พี่น้องชาวนาได้ใช้ประโยชน์ที่ดิน ที่เคยเป็นนาร้างให้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ในการปลูกข้าวอย่างยั่งยืน และช่วยรักษานาผืนสุดท้ายให้อยู่คู่กับจังหวัดภูเก็ตสืบไป
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่