แอสไปร์ อคาเดมี่ : ขุมพลังแห่งกาตาร์ที่คัดเด็กหัวกะทิทั่วโลกมาฝึกแบบเดียวกับ ‘เมสซี่’


พูดถึง กาตาร์ ขึ้นมาหลายคนคงนึกถึงความร่ำรวยและประเทศที่มั่งคั่ง แต่ถ้าพูดถึงฟุตบอลกาตาร์ พวกเขาเป็นชาติที่มีภาพติดตาคือการให้สิทธิพิเศษและโอนสัญชาตินักเตะต่างประเทศเก่งๆ เข้ามารับใช้ทีมเพื่อชัยชนะ



แต่ถึงจะรวย พวกเขาก็ไม่ได้โง่ การโอนสัญชาติคือทางลัดที่สามารถยกระดับได้ในทันทีก็จริง แต่ทุกอย่างย่อมมีข้อดีและข้อเสีย ซึ่งข้อเสียของมันก็คือพวกเขาจะได้มีความสุขกับชัยชนะเพียงชั่วครู่ และเมื่อเหล่าแข้งโอนสัญชาติถึงวัยปลดระวาง พวกเขาก็ต้องหาต่างชาติเก่งๆ มาโอนสัญชาติกันใหม่ทำให้ขาดความต่อเนื่อง

ดังนั้นพวกเขาจึงต้องยอมลงทุนสร้างอนาคตขึ้นมาด้วยตัวเอง และไม่ใช่แค่เรื่องของเงินอย่างเดียวที่จำเป็นต้องมีในการสร้างอนาคต เพราะหากเป็นเช่นนั้นแล้วทำไมชาติอย่าง คูเวต, บรูไน และ สิงคโปร์ ไม่สามารถยกระดับตัวเองได้?

นี่คือเรื่องราวของการลงทุนที่กล้าได้กล้าเสียของประเทศ กาตาร์ ก่อนจะกลายเป็น แอสไปร์ อคาเดมี่(Aspire Academy) อคาเดมี่ที่สร้างให้พวกเขากลายเป็นทีมที่สามารถเข้าชิงฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย 2019 โดยที่ยังไม่เสียประตูแม้แต่ลูกเดียว  

กาตาร์ ทำได้อย่างไร? และ แอสไปร์ อคาเดมี่ แตกต่างตรงไหนกันแน่?

แผนงานอันยาวนาน
  
Photo : thepeninsulaqatar.com

หลายคนเข้าใจว่า แอสไปร์ อคาเดมี่ คือสถานที่บ่มเพาะลูกหนังทีเกิดขึ้นในช่วงที่ กาตาร์ ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2022 แต่เปล่าเลย พวกเขาสร้างมันมาตั้งแต่ปี 2004 แล้ว เพราะตอนนั้น กาตาร์ กับคำว่าฟุตบอลหัวแถวของเอเชียยังห่างไกลกันลิบลับหากเทียบกับทุกวันนี้

ย้อนความกันในยุค 2000 กาตาร์ ไม่เคยผ่านเข้าถึงฟุตบอลชิงแชมป์เอเชียรอบ 4 ทีมสุดท้าย และไม่เคยเฉียดโควต้าฟุตบอลโลกเลยแม้แต่หนเดียว เปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายๆ พวกเขายังเคยแพ้ไทยมาแล้วถึง 0-2 ในเกมอุ่นเครื่องก่อนถึงเอเชี่ยนคัพปี 2007 และหากย้อนไปอีกสักนิดการพบกันของทั้งไทยและกาตาร์ ยังมีภาพการวางหมัดวางมวยให้เห็นกันอยู่เลยด้วยซ้ำไป

กาตาร์ ได้งบประมาณจากกลุ่มเชื้อพระวงศ์ของประเทศและลงทุนสร้างศูนย์ฝึกที่มีมูลค่าถึง 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 4 หมื่นล้านบาท) เพื่อกลบจุดด้อยตรงนี้ให้หมดไป พวกเขาไม่ใช่แค่มีเงินอย่างเดียวเท่านั้น แต่มันเกิดจากการประเมินตัวเองอย่างรอบคอบ ก่อนที่สุดแล้ว แอสไปร์ อคาเดมี่ จะเป็นรูปเป็นร่าง

จุดประสงค์การสร้างนั้นมีแนวทางที่ชัดเจนมาก นั่นคือการค้นหาและพัฒนาความเป็นเลิศด้านกีฬาให้กับประเทศโดยไม่คำนึงถึงชนชั้นทางสังคม และ เศรษฐกิจ พวกเขาต้องการเพชรที่อยู่ในตมขึ้นมาขัดสีฉวีวรรณให้เปล่องประกาย ขอแค่มีแวว พวกเขาพร้อมออกค่าใช้จ่ายทุกอย่างเพื่อดึงตัวเยาวชนอายุ 8-19 ปี เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการล่าฝันที่ยิ่งใหญ่ของทั้งประเทศ

  
Photo : spin.ph

เงินกว่า 4 หมื่นล้านบาทถูกเปลี่ยนเป็น สนามซ้อมที่สามารถจุคนดูได้ 5,000 คนถึง 7 สนาม, สระว่ายน้ำ,ห้องประชุมและห้องเรียน ไปจนถึงศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬาที่ล้ำสมัยที่สุดระดับเดียวกับที่สโมสรชั้นนำของโลกอย่าง เรอัล มาดริด, แมนฯ ยูไนเต็ด และ บาเยิร์น มิวนิค มี แม้แต่นักเตะอย่าง ยาย่า ตูเร่, ดิดิเย่ร์ ดร็อกบา, นาบิล เบนทาเล็บ และ โซฟียาน บูฟาล ยังเคยมาใช้บริการเพื่อฟื้นฟูสภาพร่างกายของพวกเขามาแล้ว

อุปกรณ์ที่ครบครันก็ต้องอยู่ควบคู่กับคนที่ใช้งานมันได้อย่างคุ้มค่า เงินของ กาตาร์ บวกกับการเอาจริงในการพัฒนา พวกเขาจัดการดึงเอาเหล่าผู้มีความรู้ที่เกี่ยวข้องกับกีฬาไม่ว่าเรื่องของศาสตร์และศิลป์ ทั้งเวชศาสตร์การกีฬา, แพทย์, ฟิตเนส, โค้ชมือทอง และผู้อำนวยการศูนย์ฝึกที่ดึงเอา อิบัน บราโว่ ที่เป็นอดีตไดเร็กเตอร์ของ เรอัล มาดริด มาจัดการ แม้แต่สเก๊าท์ก็ยังไม่เว้น แอสไปร์ เอาเงินฟาดได้หมด พวกเขานำตัว โจเซป โคโลเมอร์ แมวมองผู้นำ ลิโอเนล เมสซี่ ส่งมอบให้ บาร์เซโลน่า พัฒนาต่อมาเป็น "หัวหน้าแมวมอง" เพื่อช่วยมองหาเด็กๆ เข้ามาศูนย์ฝึก และนี่คือทีมงานชุด 5 ดาว ที่มารวมตัวกัน ณ แอสไปร์ แห่งนี้

  
Photo : www.fcbarcelona.com

ชีก ยาสซิม บิน ฮัมหมัด หนึ่งในผู้บริหารระดับสูงขององค์กรมั่นใจว่าการทำเช่นนี้ไม่ใช่การอวดร่ำอวดรวยแข่งกับฝั่ง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ประเทศคู่ปรับ แต่ กาตาร์ ทำเพราะอยากจะพัฒนาตัวเองจริงๆ และเรื่องเงินคือเรื่องที่ช่วยไม่ได้ เพราะพวกเขามีอย่างมหาศาล ดังนั้นการเอาออกมาใช้เพื่อผลักดันวงการกีฬาถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า

"ผมไม่เห็นด้วยเท่าไหร่ที่มีคนบอกว่าเราทำเช่นนี้เพราะอยากอวดรวย จริงแหละที่เรามีเงินแต่ก็ต้องแยกให้ออกด้วยเพราะ แอสไปร์ คือโครงการระยะยาวของแท้ สถานศึกษาแห่งนี้จะเป็นการปฎวัติวงการกีฬาครั้งใหญ่ในรอบ 100 ปี ไม่ใช่แค่การเอาชนะเท่านั้น แต่เราเอาจริงทั้งเรื่องการฝึกซ้อม, การพัฒนาสื่อ, ความมั่นคงด้านกีฬา และ วิทยาศาสตร์การกีฬาด้วย" สมองขององค์กรกล่าว

"เรามีปรัชญาการเล่นแบบสเปนแน่นอน เราชอบบอลบุก เรามีโค้ชสเปน และผู้บริหารที่มาจาก บาร์เซโลน่า การสร้างเยาวชนของแอสไปร์จะมีกลิ่นอายรสชาติแบบสเปน นักเตะของเราจะต้องรวดเร็ว คล่องแคล่ว มีเทคนิคสูง" เขาปิดท้าย

วิชามาร?
ศูนย์ฝึกราคา 4 หมื่นล้านบาทในประเทศที่มีประชากรแค่ 2 ล้านคนถือว่าเป็นอะไรที่ใหญ่เกินตัวหรือเปล่า? เด็กๆ ในประเทศกาตาร์ พร้อมจะเป็นนักฟุตบอลอาชีพจริงๆสักกี่คน และเมื่อกาตาร์เป็นประเทศที่ไม่ได้เก่งฟุตบอลมากนัก (ในเวลานั้น) อาจทำให้มีปัญหาเพราะเมื่อวัตถุดิบไม่ดี ต่อให้เชฟเก่งแค่ไหนก็ปรุงออกมาให้อร่อยไม่ได้ นี่คือสิ่งที่หลายคนคิดในวันที่ แอสไปร์ แสดงถึงศักยภาพที่พวกเขามี

  
Photo : goalzz.com

ทว่ามันไม่ได้ยากสำหรับ กาตาร์ เพราะทุกอย่างถูกวางแผนมาไว้หมดแล้ว กาตาร์ มีทีมสเก๊าท์ในมือเป็นพันๆ คน เหตุผลที่มีเยอะเช่นนั้นก็เพราะ สเก๊าท์เหล่านี้จะถูกส่งตัวไปยังประเทศต่างๆ ที่กำลังพัฒนาอาทิ กัวเตมาลา และ ประเทศไทยของเรา ซึ่งจุดที่เน้นที่สุดแน่นอนว่าต้องเป็นทวีปแอฟริกา อันเป็นแหล่งวัตถุดิบชั้นดีที่สุด

ในช่วง 7 ปีหลังก่อตั้ง อคาเดมี่ แอสไปร์ ส่งสเก๊าท์ไปแอฟริกาแบบไม่มีพัก พวกเขาได้เห็นเด็กแอฟริกันเล่นฟุตบอลผ่านสายตากว่า 3.5 ล้านคน นั่นคือจำนวนมากกว่าประชากรในประเทศ กาตาร์ เสียอีก

จากหลักแสนหลักล้านจะถูกคัดเหลือเพียงหลักสิบ นั่นหมายความว่าเด็กๆ ในระดับหัวกะทิจะเป็นสมาชิกของพวกเขา ซึ่งแลกมากับข้อเสนออย่างงามสำหรับเด็กแอฟริกันที่ยากจน ด้วยการให้ที่พักฟรี, การศึกษาฟรี พร้อมมีเงินส่งให้ครอบครัวของเด็กๆ อีก 5,000 ดอลล่าร์ต่อเดือน ข้อเสนอแบบนี้ทำเอาคนที่ได้รับอ่อนระทวย ไม่มีใครกล้าปฎิเสธเงินก้อนใหญ่แน่ภายใต้ความยากจนที่ได้เจอ และมันอดคิดเป็นอื่นไม่ได้ว่าหากเด็กจากแอฟริกันเหล่านี้เก่งพอ ในวันหนึ่งพวกเขาอาจจะโดนโอนสัญชาติมาเป็นชาวกาตาร์ก็ได้

  
Photo : en.psg.f

อย่างไรก็ตาม อันเดรียส บลีเชอร์ โปรแกรมไดเร็คเตอร์ ของแอสไปร์กาตาร์ ก็ยืนยันว่าพวกเขาไม่ได้คิดเช่นนั้น และเชื่อกว่าการที่ได้เด็กฝีเท้าดีจากทั่วทุกมุมโลกมาอยู่ในอคาเดมี่จะเป็นการช่วยพัฒนาเด็กท้องถิ่นที่ได้ซ้อมร่วมกันต่างหาก

"หากเราโอนสัญชาตินักเตะสัก 3-4 คน คงมีคุณโจมตีเราแน่ เราไม่ได้โง่ขนาดนั้น และไม่คิดอะไรเช่นนั้นเลย" อันเดรียส บลีเชอร์ กล่าว

อย่างไรก็ตามนักเตะที่เก่งที่สุดในประเทศ กาตาร์ ในเวลานี้อย่าง อัลโมเอซ อาลี ที่เพิ่งทำสถิติทาบ อาลี ดาอี ตำนานของ อิหร่าน หลังจากยิงในศึกเอเชี่ยนคัพได้ 8 ประตู ก็เป็นนักเตะที่เกิดและโตในซูดาน ก่อนที่จะผ่านระบบคัดกรองของ แอสไปร์ อคาเดมี่ สาขาเซเนกัล และพัฒนาตัวเองขึ้นมาเก่งกาจจนถูกส่งมายังศูนย์ใหญ่ที่กรุงโดฮา และที่สุดแล้วก็โอนสัญชาติเป็นชาวกาตาร์ตามที่เราได้เห็นกัน

แต่ตัวอย่างที่เอามาค้านกันก็มีเพราะ  ดิอาวานดู ดิอาเย่ เด็กที่ผ่านการคัดเลือกจาก 4 แสนคนเหลือ 24 คนในรุ่นของเขา ปัจจุบันก็ไม่ได้โอนสัญาชาติมาเป็นชาวกาตาร์แต่อย่างใด เขายังคงเล่นให้ เซเนกัล บ้านเกิดจนติดทีมชาติชุดใหญ่ร่วมรุ่นกับพวก ซาดิโอ มาเน่ ในทุกวันนี้

  
Photo : Twitter : diawandou diagne

ที่สุดแล้วดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ชอบธรรมกับ กาตาร์ เพราะการโอนสัญชาติของนักเตะในทีมชุดเอเชี่ยนคัพ 2019 หลายคน ไม่ใช่เป็นการชุบมือเปิบดึงตัวมาตอนที่เก่งแล้ว แต่เป็นเพราะพวกเขาลงทุนกับเด็กๆ ต่างชาติที่เก่งจริงพวกนี้ โดยมอบความมั่งคั่งและชื่อเสียง หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพคือพวกเขาไม่ใช่พ่อค้าคนกลางที่คอยกว้านซื้อผลผลิตของคนอื่นๆ แต่พวกเขาซื้อต้นกล้ามาลงแปลงก่อนจะลงแรงกายและแรงเงินของพวกเขาเอง

หากถามว่าผิดศีลธรรมหรือไม่คงเป็นเรื่องที่พูดยาก เพราะที่ใดในโลกก็ทำกัน แม้แต่ชาติมหาอำนาจทางฟุตบอลอย่าง เยอรมัน หรือ สเปน ยังทำได้ แล้วทำ กาตาร์ ชาติที่มีประวัติศาสตร์ด้านฟุตบอลเป็น 0 จะทำไม่ได้? … แม้จะถูกวิจารณ์ว่าเป็นเรื่องของการค้ามนุษย์แต่ที่สุดแล้วเรื่องแบบนี้อยู่ที่มุมมองของแต่ละบุคคล เมื่อมันไม่ผิดกฎหมายพวกเขาก็มีสิทธิ์โดยชอบธรรมต่อไป
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่