เพี้ยนเพเหระ 1.........เทคนิคในการรับประทานอาหาร

กระทู้สนทนา
คำเตือน

ห้ามมีให้ นำเนื้อหาส่วนหนึ่ง ส่วนใด หรือทั้งหมด ของเนื้อหาต่อไปนี้ ไปใช้เป็นเอกสารอ้างอิง ในการเขียนวิทยานิพนธ์ และ/หรือ นำไปใช้ในงานวิจัยระดับโลก ใดๆ ทั้งสิ้น

..........


             บางทีท่านที่กำลังอ่านอยู่ขณะนี้  อ่านหัวข้อแล้ว อาจทำหน้าสงสัย (ถ้าท่านสามารถใช้อวัยวะส่วนอื่น  เช่น แขน ขา ท้อง  นิ้ว หรืออื่นๆ  ที่สามารถแสดงออกซึ่งความสงสัย ออกมาให้เห็นได้ ก็ไม่ว่ากัน) ว่า ทำไมการรับประทานอาหาร มันต้องใช้เทคนิคด้วยหรือ

             จริงแท้แน่นอน เพราะบางคนรับประทาน ได้ แต่รับประทานไม่เป็น...อ้ะ..เดี๋ยวๆ... รู้สึกว่า รับประทาน เป็นคำยาวไป ดังนั้นจึงจะขอให้คำว่า ‘กิน’ แทนคำว่า  ‘รับประทาน’  ทั้งที่สองคำนี้ มีความหมายหรือการใช้งาน ไม่เหมือนเสียเลยทีเดียว   และมีคำอื่นที่มีความหมายใกล้เคียงกันในภาษาไทย เช่น สวาปาม สะแตก  งาบ เขมือบ   DAC (ไม่ได้หมายถึง digital to analogue converters  แต่หมายถึงการออกเสียงคล้าย ๆ แบบไทยเดิม คำหนึ่ง) เสวย  ฟาด บริโภค ทาน เจี๊ยะ ยัด  ฉัน    เป็นต้น

             แน่นอนว่า  การใช้คำพวกนี้ จะต้องใช้ให้ถูกกาลเทศะ ไม่อย่างนั้นครูภาษาไทยอาจมองค้อน และตามด้วยค้อน

             เมืองไทย เคยมีภาพยนตร์ฝรั่งมาฉาย  โดยใช้ชื่อภาษาไทยว่า “มนุษย์กินคน”  ทำให้ข้าพเจ้าสมัยเด็ก สงสัยเหลือเกินว่า  ทำไมมนุษย์ถึงไปกินคน ทำไมไม่ใช้คำว่า “คนกินมนุษย์”  แสดงว่าน้ำหนักของคำสองคำนี้ไม่เท่ากัน

             เป็นข้าพเจ้า จะตั้งชื่อให้ดีกว่านี้แน่นอน ซึ่งจะแสดงให้เห็นภูมิปัญญาอันสูงส่ง    ลองมาดูกันว่า ควรใช้ชื่ออะไรบ้าง นอกเหนือจากคำว่า ‘มนุษย์กินคน’

             ชื่อแรกที่ดีดขึ้นมาในสมองคือ  “คนสวาปามคน” ฟังดูเท่สุดๆ และยังตอกย้ำถึงความเสมอภาคทางภาษา ผู้กระทำและถูกกระทำควรใช้คำเดียวกัน
นอกจากนี้ยังชื่อดีๆ อีกมากมาย ยกตัวอย่าง เช่น

             คนสะแตกคน (ภาษาคลาสสิก งดงาม จริงใจ)

             คนเขมือบคน (ลองนึกถึงงูก็ได้)

             คนงาบคน (อันนี้ชัดเจนมาก แม้จะไม่ใช่จระเข้)

             คนฟาดคน (พยายามนึกถึงการกินให้ได้ เช่น ฟาดจนเกลี้ยงจาน)

             คนยัดคน  (นึกให้ออกก็แล้วกัน)

             คนหม่ำคน (ไม่ได้หมายถึงอาหารอิสาน หรือดาวตลก)

             คนรับประทานคน  (กินอย่างสุภาพเรียบร้อย)

             คนบริโภคคน   (กินแบบนักวิชาการ)

             คนกระเดือกคน (ตงนึกภาพออก)

             คนเจี๊ยะคน   (กินแบบลูกครึ่งจีนไทย)

             คนเสวยคน  (จะให้ฟังดีหน่อย ก็อาจเป็น มนุษย์เสวยมนุษย์)

             คนแด๊กคน (ไม่เอา ไม่พูด เจ็บคอ)

             คนฉันคน  (น่าจะเป็นพระกินคน)

             มนุษย์โซ๊ยมนุษย์  (ขอบคุณคุณศรเขียว)

             จะเห็นว่า ชื่อดังกล่าวล้วนแต่เป็นสิริมงคล ทั้งนั้น  ถ้าตั้งชื่อแบบนี้รับลองว่าภาพยนตร์ดังสนั่นเมืองไทยไปแล้ว   เอาเป็นว่า ข้าพเจ้าจะใช้คำว่า กิน ก็แล้วกัน ไม่ต้องถึงสวาปาม หรือฟาด เพราะจะโหดร้ายจนเกินไป

             ท่านอาจจะไม่เชื่อว่า บางคนกินได้แต่กินไม่เป็น  ก็เหมือนการหายใจนั่นละ  บางคนหายใจได้ แต่หายใจไม่เป็น สักแต่ว่าหายใจ  การกินก็เหมือนกัน ประการแรก เราต้องดูเสียก่อนว่า เรามีกินหรือไม่!

             ถ้าไม่มีกิน แสดงว่าการกินล้มละลาย ตั้งแต่ยังไม่ทันได้กิน แต่ถ้าท่านมีอันจะกิน ก็หมายความว่า ท่านเริ่มต้นด้วยดีแล้ว   เอาละ เรามาเริ่มจากข้อที่หนึ่งกัน

             ท่วงท่าในการกิน

             แนะนำว่า การกินที่ถูกสุขลักษณะอนามัยที่สุด   คือต้องนั่งกิน   ถ้ามีเก้าอี้ ก็ควรนั่งเกาอี้ และนั่งบนเก้าอี้ที่เหมาะสม ไม่ควรไปนั่งบนหลังคน เพราะหลังคนมีไว้ทำนาบนหลังคน ไม่ควรนั่งยองๆ ในการกิน เพราะดูแล้วไม่น่ารักเอาเสียเลย

             การนั่งที่ถูกต้อง จะต้องรักษาระยะห่างระหว่างจานอาหารและตัวเรา ให้พอดี ถ้าห่างเกินไป อาหารแสนอร่อย ที่เราหมายตาเอาไว้ อาจถูกแย่งชิงไปก่อน โดยยอดฝีมือท่านอื่น แต่ถ้าท่านนั่งใกล้จานอาหารมากเกินไป คางของท่านจะลอยเด่นเป็นสง่าอยู่เหนือจานอาหาร มีข้อดีว่าจะไม่มีใครมากล้าแย่ง เพราะคงไม่มีใครอยากกินอาหารที่ มีอาหารไหลรินย้อย ออกมาจากมุมปากเป็นทาง ลงในจานเมื่อเคี้ยวอาหาร ดูเหมือนดี แต่จะเป็นการแสดงความเห็นแก่ตัวเกินไป

             ข้าพเจ้ามีเพื่อนคนหนึ่ง (มิใช่นินทาแต่เอามาเล่าให้ฟังเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้)  เวลากินอาหาร เขาจะยื่นหน้าโก่งตัวออกมาหาถ้วยหรือจาน และใช้ช้อนของเขานั่นละ ตักอาหาร ถ้าเป็นอาหารเหลว เราจะมองเห็นสายน้ำตกไนแอการาไหลรินเป็นทาง ออกจากซอกปากซอกฟันของเขา ลงสู่ชามด้านล่าง จนไม่มีใครกล้าตักกิน

             “ใช้ช้อนกลางสิแก...”  เพื่อนคนหนึ่งแนะนำ แล้วเขาก็ใช้ช้อนกลางจริงๆ  แต่ใช้ช้อนกลางตักลงในอาหารส่วนกลาง ส่งเข้าปากตัวเองหน้าตาเฉย ข้าพเจ้าแน่ใจว่าเขาเมา มากกว่าบ้า

             ปาก เป็นอวัยะพื้นฐานในการกิน  (บางทีเราอาจกินแบบพิเศษ เช่นการกินทางหลอดเลือด คือการให้น้ำเกลือนั่นเอง ไม่ต้องมองไปไกลถึงพวกแวมไพร์)

             ฉะนั้น การกินอาหาร ร่วมโต๊ะในแต่ละครั้ง ท่านก็ควรมองดูปากของสมาชิกให้แน่ใจ ว่าอยู่ครบถ้วนหรือไม่ ทำเป็นเล่นไป บางครั้งเราจะได้ยินคำว่า        “เอาปากมาหรือเปล่า” แสดงว่าอาจมีบางคนลืมเอาปากมา

             ปากของคนเราควรมีขนาดพอดี อย่างเราๆ ท่านๆ

             ถ้าท่านมองแล้ว พบว่ามีปากใหญ่ผิดปกติ   บางทีนั่นอาจไม่ใช่ปากคน  ดูให้แน่ใจว่าปากคน ปากโอ่งมังกร ปากไหกระเทียม หรือปากยักษ์ตนใด กันแน่ ที่ถือโอกาสมานั่งร่วมโต๊ะ

             ถ้าท่านมองแล้ว เห็นใครบางคนมีรูปากเล็กเท่ารูเข็ม  ก็ให้ท่านพิจารณาดูให้ดี ว่านั่นเป็นปากคน หรือปากของเปรตตนใด แอบมานั่งร่วมโต๊ะขอส่วนบุญ ถึงได้มีปากเล็กขนาดนั้น

             อุปกรณ์เสริมในการกิน

             ส่วนใหญ่ที่เห็นกันคือ ซ้อน ส้อม ตะเกียบ หรือในบางกรณีอาจมีสาวเสิร์ฟ มาเป็นอุปกรณ์เสริม (แต่อาจไม่เหมาะกับการกินกับหนุ่มๆ ที่พาแฟนมาด้วย  เพราะสาวเสิร์ฟ อาจทำให้ โดนสาวเสียบด้วยมีดทำครัว) อุปกรณ์แต่ละอย่าง ควรดูให้ดี ใช้งานให้ถูกต้อง

             ถ้าท่านใช้ช้อนตักอาหารไม่กี่ครั้ง อาหารหมดถ้วย ระวังว่าสิ่งที่ท่านถืออยู่ในมืออาจไม่ใช่ช้อน แต่มันอาจเป็นทัพพีหรือกระบวย ก็เป็นได้  แต่ถ้าท่านใช้ช้อนตักน้ำแกง ตักไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง  น้ำแกงยังไม่เดินทางมาถึงปาก แสดงว่าที่ท่านถืออยู่อาจเป็นส้อม หรือคราด ก็เป็นได้

             ตะเกียบ เป็นอุปกรณ์ ที่ใช้ยาก เพราะเราไม่สามารถใช้ตะเกียบคีบอาหารที่เป็นน้ำขึ้นมาได้  ดังนั้นไม่เหมาะกับเมนูน้ำๆ  ดังนั้น นอกจากตะเกียบแล้ว แนะนำให้ท่านพกอุปกรณ์เสริมอีกชนิดหนึ่ง เข้ามาทำงานช่วยตะเกียบ นั่นคือหลอดดูด!   (ควรมีน้ำใจหามาเผื่อคนร่วมโต๊ะด้วย)  เวลาอาหารเป็นชิ้น เราก็ใช้ตะเกียบ อาหารเป็นน้ำ เราก็ใช้หลอดดูด  หลอดใครหลอดมันไม่ต้องแย่งกัน  ไม่จำเป็นต้องมีหลอดกลาง  สำหรับท่านที่ปากใหญ่เป็นพิเศษ อาจใช้สายยาง (กรณีอยู่ไกล) กระบอกไม้ไผ่ แทนหลอดดูด เพื่อประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น

             และสำหรับท่านที่ใช้ตะเกียบคู่เดียวไม่ถนัด ไม่ต้องตกใจว่าจะอดตาย เรายังมีไม้ตายก้นหีบเหลืออยู่  ตะเกียบคู่เดียวไม่พอ ให้ใช้ตะเกียบธรรมชาติที่ติดตัวเอามาตั้งแต่เกิด นั่นคือนิ้วทั้งสิบ!  ห้าคู่ทีเดียว! ประสิทธิภาพสูงล้ำกว่าตะเกียบร้อยเท่า คล่องกว่า ง่ายกว่า เหนือกว่าตะเกียบ ตะปบร้อยครั้งถูกเป้าหมายร้อยครา  อาหารชิ้นอร่อยซ่อนอยู่มุมใดของถ้วยชามก็งมควานหาเจอ

             กินไม่ได้ให้มันรู้ไป!


อมยิ้ม29อมยิ้ม17อมยิ้ม22
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่