จับตามติ ครม.พรุ่งนี้ ( 22มค.62) คุมค่ารักษาหรือไม่ จะจริงใจหรือแหกตา!! ผู้บริโภคตอบ 5 คำถามทำไมต้องควบคุม

จับตามติ ครม.พรุ่งนี้ คุมค่ารักษาหรือไม่ จะจริงใจหรือแหกตา!! ผู้บริโภคตอบ 5 คำถามทำไมต้องควบคุม
( เผยแพร่: 21 ม.ค. 2562 14:01   โดย: ผู้จัดการออนไลน์ )
ที่มา  :  https://mgronline.com/qol/detail/9620000007072


มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ชวนจับตามติ ครม. วันที่ 22 ม.ค. เห็นชอบค่ายา-ค่ารักษา เป็นสินค้าควบคุมตามมติ กกร.หรือไม่ จะจริงใจหรือแหกตาประชาชน พร้อมตอบ 5 คำถามเด็ด ยันควรควบคุมราคา เพราะไม่สมเหตุสมผล ราคา รพ.เอกชนสูงกว่า รพ.รัฐ 70-400 เท่า เกิดการรักษาไม่จำเป็น ชี้แม้ลุยเมดิคัล ฮับ ก็ตองควบคุมแบบสิงคโปร์ ยันควบคุมราคาไม่กระทบธุรกิจมาก หากมีราคาเป็นธรรม

วันนี้ (21 ม.ค.) น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "Saree Aongsomwang" ถึงกรณีการผลักดันให้ค่ายาและค่ารักษาพยาบาล เป็นสินค้าควบคุม ว่า ให้จับตาการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 22 ม.ค. 2562 ว่า จะเห็นชอบตามมติคณะกรรมการว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) หรือไม่ ที่จะให้ค่ายาและค่ารักษาพยาบาลใน รพ.เอกชนเป็นสินค้าควบคุม สุดท้ายจะจริงใจหรือแหกตาประชาชน

ทั้งนี้ ยังได้ตอบคำถาม 5 ข้อเกี่ยวกับการควบคุมค่ายาและค่ารักษา รพ.เอกชน ดังนี้ 1.ค่ายา วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ควรอยู่ภายใต้การควบคุมราคาหรือไม่ คำตอบ คือ ควรอยู่ภายใต้การควบคุมราคา โดยยาถูกประกาศให้เป็นสินค้าควบคุมภายใต้ กกร. มาหลายปี แต่มีการกำกับเพียงห้ามขายเกินป้ายราคา (Sticker Price) แต่โรงพยาบาลจะติดราคาเท่าไรก็ได้ มาตรการนี้จึงไม่สามารถกำกับราคายาได้ ซึ่งข้อมูลของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีวิจัยพบว่า ราคายาของ รพ.เอกชนสูงมากกว่า รพ.รัฐ 70-400 เท่า

2. ราคาค่ายา ค่ารักษาพยาบาล ในเมืองไทยขณะนี้สมเหตุสมผลหรือไม่ คำตอบ คือ ไม่สมเหตุผล แพงเกินจริง ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค เพราะ รพ.เอกชน สูงกว่า รพ.รัฐ 70-400 เท่า ทำให้เกิดการรักษาที่เกินความจำเป็นและราคาแพง เช่น มีดปอกผลไม้บาดฝ่ามือซ้ายขนาด 1 เซนติเมตร นำเข้าห้องผ่าตัดหมดค่าใช้จ่ายสูงถึง 60,821 บาท นิ่วในถุงน้ำดี ถ้ามีการผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออกราคาสูงถึง 600,000 บาท ขณะที่ไปรักษา รพ.รัฐเสียค่าใช้จ่ายเพียง 8,000 บาท หรือผ่าตัดไส้ติ่ง รพ.เอกชน ราคา 140,000 บาท รพ.รัฐไม่เกิน 10,000 บาท ทำให้เป็นปัญหาการฟ้องคดีคนไข้กรณีที่ไม่มีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล เช่น ผ่าตัดหมอนรองกระดูก ตกลงราคา 430,000 บาท แต่เกิดการแพ้ยา ทำให้ต้องจ่ายเพิ่มอีก 230,000 บาท เมื่อไม่มีเงินจ่าย แทนที่จะมีการเจรจาต่อรองกลับเลือกฟ้องคดี ทำให้แพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ ต้องตกเป็นเครื่องมือของการทำกำไร ทำยอด ไม่ต่างจากนักการตลาดในธุรกิจทั่วไป

3. การควบคุมราคา จะสวนทางกับนโยบายรัฐเมดิคัล ฮับหรือไม่ คำตอบ คือ กลุ่มองค์กรผู้บริโภคไม่ได้สนับสนุนเมดิคัล ฮับ เพราะบุคลากรทางการแพทย์มีจำกัด หากส่งเสริมธุรกิจสุขภาพมาก ทำให้เกิดสมองไหลไปภาคเอกชน ค่ารักษาของระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศเพิ่มสูงมากขึ้นโดยไม่มีเหตุผล แต่ถึงแม้จะมีการทำเมดิคัล ฮับ ก็ต้องกำกับค่ารักษาพยาบาล เช่น สิงคโปร์ที่ให้ความสำคัญกับเมดิคัล ฮับ แต่ก็มีการควบคุมราคา ทั้งที่ค่ารักษา รพ.รัฐและเอกชนห่างกันเพียง 2.5 เท่า โดยมีการทำ Medical Fee Benchmark Guideline หาก รพ.เอกชนคิดแพงเกินแนวทางต้องมีเหตุผลสมควร หากไม่มีเหตุผลต้องคืนเงินให้ผู้บริโภค ซึ่งประเทศไทยมีเรื่องร้องเรียนจำนวนไม่น้อย แต่แก้ปัญหาไม่ได้ เพราะไม่มีหลักเกณฑ์

4.จะมีผลกระทบกับการดำเนินการและแผนพัฒนาธุรกิจโรงพยาบาลหรือไม่ ตอบว่า การควบคุมค่ารักษาพยาบาลไม่ได้ทำให้โรงพยาบาลขาดทุน มีตัวอย่าง รพ.เอกชนที่กำไรในระดับ 5-6% ก็สามารถสร้างตึกใหม่ได้ การกำกับค่ารักษาพยาบาลอาจจะทำให้ลดกำไรลงไปบ้าง หากไปติดตามกำไรสุทธิของโรงพยาบาลที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์บางแห่งปัจจุบันมีกำไรสุทธิสูงถึง ร้อยละ 33.7% ในไตรมาสที่สามของปี 2561 ซึ่งสูงเกินไปเมื่อเปรียบเทียบกับธุรกิจอื่นๆ ในประเทศ และไม่มี รพ.เอกชนไหนต้องการให้กำกับค่ารักษาพยาบาล แต่เป็นภารกิจของรัฐที่ต้องทำให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค และระบบสุขภาพของประเทศ

5. มีทางออกที่เป็นที่พอใจทุกฝ่ายหรือไม่ ตอบว่า หาก รพ.เอกชนคิดราคาที่เป็นธรรม ไม่แพงจนเกินไป จำนวนผู้ใช้บริการน่าจะมากขึ้น และอาจจะเท่ากับกำไรที่ผ่านมาก็ได้ แต่มีจำนวนผู้ไปใช้บริการมากขึ้น
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่