BBC : ย้อนเหตุไทยกักตัว-ส่งกลับต่างชาติ ที่ทำให้เกิดคำถามในประเด็นการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

เหตุกักตัว ราฮาฟ โมฮาเหม็ด แอล-เคนูน หญิงซาอุฯ วัย 18 ปี ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเมื่อวันที่ 6 ม.ค. ที่ผ่านมาทำให้เกิดคำถามขึ้นอีกครั้ง ถึงจุดยืนของประเทศไทยในเรื่องการปฏิบัติตามแนวทางนานาชาติว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และความร่วมมือกับ "มิตรประเทศ" ที่ร้องขอให้ส่งพลเมืองของตน กลับประเทศ

ตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน เข้าปกครองประเทศเมื่อปี 2557 รัฐบาลทหารไทยได้ส่งตัวผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัยกลับประเทศในหลายกรณีจากคำขอของ "มิตรประเทศ" ทั้งจากรัฐบาลจีน บาห์เรน เวียดนาม และกัมพูชา บีบีซีไทยรวบรวมบางเหตุที่เกิดขึ้นในอดีตซึ่งทำให้เกิดเป็นประเด็นถกเถียงทั้งในไทยและต่างประเทศ

รัฐบาลไทยเปลี่ยนท่าที ยังไม่ส่งตัว หญิงซาอุฯ กลับประเทศ
1. นักเตะบาห์เรน

เมื่อปลายเดือน พ.ย. ปีที่แล้ว นายฮาคีม อัล อาไรบี นักฟุตบอลชาวบาห์เรน ซึ่งเป็นผู้ลี้ภัยในออสเตรเลียด้วยความช่วยเหลือของสหประชาชาติ ถูกสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) ของไทย กักตัวไว้ตามการร้องขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนจากรัฐบาลบาห์เรน โดยกระทรวงต่างประเทศออสเตรเลียออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ไทยปล่อยตัว

ในปี 2555 นายอัล อาไรบี ถูกจับกุมและซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่บาห์เรนเนื่องจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองของพี่ชาย ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ลุกฮือต่อต้านรัฐบาลในตะวันออกลาง หรือ "อาหรับสปริง" หลังจากนั้นเขาก็ได้ออกมาพูดเกี่ยวกับเหตุการณ์การซ้อมทรมานกับสื่อต่าง ๆ
ในเดือน ม.ค. 2557 ศาลบาห์เรนอ่านคำพิพากษาลับหลังนาย อัล อาไรบี จำคุก 10 ปี ในข้อหาสร้างความเสียหายให้สถานีตำรวจ แต่เขาปฏิเสธ โดยอ้างว่า ขณะนั้นเป็นตัวแทนทีมชาติบาห์เรนแข่งฟุตบอลอยู่ที่ประเทศกาตาร์

เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. ปีที่แล้ว เว็บไซต์วอยซ์ทีวีรายงานว่า ศาลอาญากรุงเทพมีคำสั่งขยายเวลากักตัวเขาออกไปอีก 60 วัน หลังจากนั้นยังไม่ทราบว่า ชะตากรรมของเขาจะเป็นอย่างไร

นอกจากนี้ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล รายงานว่า ในปี 2557 ประเทศไทยเคยส่งตัว อาลี ฮารูน กลับบาห์เรน ที่หนีมาไทยหลังจากถูกจับกุมและอ้างว่าถูกซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่บาห์เรนเมื่อปี 2556 หลังจากที่เข้าร่วมในการประท้วงต่อต้านรัฐบาล โดยขณะนั้น นายฮารูนมีหมายจับจากตำรวจสากล หรือ อินเตอร์โพล

ครอบครัวของนายฮารูนบอกกับแอมเนสตี้ฯ ว่า นายฮารูนถูกซ้อมทรมานหลังจากที่ถูกส่งตัวกลับไปที่บาห์เรน และปัจจุบันถูกจำคุกตลอดชีวิต

นักเตะบาห์เรนที่ลี้ภัยในออสเตรเลียแต่ถูกจับใน กทม. ศาลไทยจะตัดสินอย่างไร
ออสเตรเลียเรียกร้องไทย ปล่อยตัว นายฮาคีม อัล อาไรบี นักเตะบาห์เรนทันที
2. ส่งผู้ผลิตสารคดีกัมพูชา กลับประเทศ


เมื่อต้นเดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว สตม. ได้ส่งตัวได้ส่งตัวนายรวต รุท มุนี (Rath Rott Mony) อายุ 47 ปี นักกิจกรรมแรงงานชาวกัมพูชา กลับประเทศ ตามหมายจับของรัฐบาลกัมพูชา ในความผิดฐานยุยงส่งเสริมให้เกิดความแตกแยกในกัมพูชา

เขาถูกจับกุมเมื่อวันที่ 7 ธ.ค. ที่อาคารเดอะเทรนดี้ ย่านสุขุมวิท ในขณะที่กำลังรับหนังสือเดินทางคืนจากศูนย์รับคำร้องขอวีซ่าประเทศเนเธอร์แลนด์ นายมุนีร่วมผลิตสารคดีชื่อ "แม่ขายหนู" มีความยาวประมาณ 27 นาที ถูกเผยแพร่เมื่อเดือน ต.ค. ซึ่งเป็นเรื่องราวของเด็กผู้หญิงยากจนที่ถูกขายเพื่อค้าประเวณี หลังจากถูกติดตามและได้รับคำขู่เกี่ยวกับสารคดีที่เขามีส่วนร่วมในการผลิต ทำให้เขาตัดสินใจเดินทางมาไทยเพื่อลงทะเบียนเป็นผู้แสวงหาที่ลี้ภัยกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ

ฮิวแมนไรท์ วอทช์ และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์ในวันที่ 11 ธ.ค. เรียกร้องไม่ให้รัฐบาลไทยส่งนายมุนีกลับ เนื่องจากมีเหตุผลที่น่าเชื่อถือว่า เขาอาจถูกฟ้องคดีด้วยเหตุผลทางการเมือง ถูกควบคุมตัวอย่างมิชอบ และถูกปฏิบัติอย่างโหดร้ายในกัมพูชา

นอกจากนี้ เมื่อเดือน ก.พ. ปีที่แล้ว ไทยได้ส่งตัว น.ส.สม สุขา นักกิจกรรมแรงงาน กลับกัมพูชา แม้ว่าเธอได้สถานะเป็นผู้ลี้ภัยจากสหประชาชาติแล้ว

เธอถูกจำคุกทันทีหลังจากถูกส่งตัวกลับ โดยก่อนหน้านั้นศาลกัมพูชาอ่านคำพิพากษาลับหลัง น.ส. สุขา ในข้อหาดูหมิ่นและยุยงส่งเสริมให้เกิดความแตกแยก หลังจากที่เธอขว้างรองเท้าแตะไปที่ป้ายหาเสียงริมถนนของพรรครัฐบาล ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปปีที่แล้ว

ไทยส่งตัวให้กัมพูชาแล้ว ผู้ผลิตสารคดีค้าประเวณี ฐาน "ยุยงส่งเสริมให้เกิดความแตกแยกในประเทศ"
"เดอะ แคมโบเดีย เดลี" กัมพูชา ปิดตัวแล้ววันนี้ อ้างโดนรัฐบาลเล่นงานด้วยภาษีสูงลิ่ว
3. ส่งชาวอุยกูร์กลับจีน

เมื่อกลางปี 2558 ทางการไทยได้ส่งตัวชาวอุยกูร์เกือบร้อยคนให้ทางการจีน โดยระบุว่าเรื่องนี้เป็นความร่วมมือของไทยกับจีนและตุรกี โดยฝ่ายไทยยืนยันว่าได้ขอให้จีนดูแลความปลอดภัยให้กับคนเหล่านั้นด้วย ซึ่งนักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงระหว่างประเทศหลายคนเชื่อว่าการส่งตัวไปจีนครั้งนั้น เป็นเหตุให้กลุ่มชาวอุยกูร์และชาวตุรกีบางส่วนโกรธแค้นบุกรุกเข้าไปภายในสถานกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ของไทย ที่นครอิสตันบูล เมื่อ 9 ก.ค. 2558 ทำลายสิ่งของภายในอาคาร ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตไทยในตุรกีคาดว่าเป็นการแสดงความไม่พอใจต่อนโยบายของรัฐบาลไทยในการจัดการผู้อพยพชาวอุยกูร์ และตามมาด้วยการลอบวางระเบิดที่ศาลพระพรหมเอราวัณเมื่อ 17 ส.ค. 2558 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตทั้งไทยและต่างประเทศกว่า 20 คน และบาดเจ็บกว่า 130 คน แต่ทางการไทยปฏิเสธว่าเหตุระเบิดไม่ได้มากจากล้างแค้นที่ไทยส่งผู้อพยพชาวอุยกูร์ ให้จีน

ต่อมา มิ.ย. 2559 ชาวอุยกูร์ที่ถูกกักตัวอยู่ในห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองกรุงเทพฯ (สวนพลู) จำนวน 15 คน ได้อดอาหารประท้วงที่ไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมโดยชาวอุยกูร์กลุ่มดังกล่าวถูกกักกันมานานกว่า 2 ปี

AFP
ภาพกลุ่มผู้ขอลี้ภัยซึ่งเชื่อว่าเป็นชาวอุยกูร์จากจีนที่เดินทางเข้าไทยอย่างผิดกฎหมาย ขณะถูกนำตัวไปยังศาลในจังหวัดสงขลาเมื่อวันที่ 15 มี.ค.2557
นายดอลกุน อิซา ประธานสภาอุยกูร์โลก เปิดเผยกับบีบีซีไทยในครั้งนั้นว่า มีชาวอุยกูร์ที่ถูกกักกันอยู่ตามสถานกักกันต่าง ๆ ในไทยราว 70 คน โดยคนเหล่านี้ถูกจับกุมในค่ายกักขังเหยื่อค้ามนุษย์ที่ภาคใต้ของไทย และบางส่วนถูกจับขณะพยายามเดินทางข้ามพรมแดนไทย-มาเลเซีย

ต่อมาในเดือน พ.ย. ปี 2560 ชาวอุยกูร์ 20 คน หนีออกจากอาคารควบคุมคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง อ.สะเดา จ.สงขลา สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่าคนเหล่านี้เป็นชาวอุยกูร์กลุ่มสุดท้ายจากกว่า 200 คน ที่ถูกทางการไทยควบคุมตัวตั้งแต่ปี 2557 โดยในจำนวนนี้กว่า 100 คน ถูกบังคับส่งตัวกลับไปยังจีนตั้งแต่เดือน ก.ค. 2558

Khaosod
ภาพจากกล้องวงจรปิด ตรวจคนเข้าเมือง อ.สะเดา
ต้นเดือน ก.พ. 2561 รอยเตอร์รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องว่า ทางการมาเลเซียได้ควบคุมชาวอุยกูร์ 11 คน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของผู้ที่หลบหนีจากอาคารควบคุมคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองที่จ. สงขลา แหล่งข่าวระบุว่ามาเลเซียได้รับแรงกดดันอย่างหนักจากจีนให้ส่งตัวพวกเขากลับสู่จีน ไม่ใช่ประเทศไทย แต่ทางการมาเลเซียยังไม่เต็มใจที่จะส่งตัวชาวอุยกูร์กลับเนื่องจากยังแคลงใจเรื่องความโปร่งใสว่าทางการจีนจะปฏิบัติกับพวกเขาอย่างไรเมื่อกลับคืนสู่ประเทศ

จีนจี้ไทยส่งคืน 20 อุยกูร์หนีจากห้องกักสะเดา
จีนจี้มาเลเซียส่ง 11 อุยกูร์ที่หนีจากไทยคืน
ร ะเบิดเอราวัณ: 2 ปีผ่าน อีกนานกว่าคดีจบ
4 . ชนกลุ่มน้อยเวียดนาม

Wasawat lukharang/bbc thai
ผู้ลี้ภัยชาวเวียดนาม แสดงความเสียใจ หลังต้องถูกจับแยกกับลูก
เมื่อเดือน ส.ค. ปีที่แล้ว เว็บไซต์คมชัดลึกรายงานว่า เจ้าหน้าที่จับกุมชาวต่างชาติรวม 172 คน เนื่องจากมีชาวบ้านร้องเรียนผ่านศูนย์ดำรงธรรม อ.บางใหญ่ ว่ามีชาวต่างด้าวจำนวนมากแอบมาเช่าห้องพักอยู่รวมกัน สงสัยจะเป็นเหยื่อของเครือข่ายการค้ามนุษย์

บีบีซีภาษาเวียดนามรายงานว่า ผู้ถูกจับกุมส่วนใหญ่เป็นชาวเวียดนาม และกัมพูชาจากชนกลุ่มน้อย Jarai ที่องค์กรทางด้านสิทธิมนุษยชนและผู้ลี้ภัยกล่าวว่าได้หนีภัยประหัตประหารทางการเมืองและศาสนาจากประเทศตนเอง

นางฮวิน เบีย (Hjuon Bya) หนึ่งในผู้ถูกจับกุม มาจากชนกลุ่มน้อยในเวียดนามที่เรียกตัวเองว่า E-de กล่าวกับผู้สื่อข่าวบีบีซีภาษาเวียดนามว่า ตัวเธอ สามี และลูกอีก 3 คน อพยพออกจากเวียดนามเมื่อปี 2559 โดยเดินทางผ่านกัมพูชาเข้ามายังไทย และหวังว่าหน่วยงานของสหประชาชาติในไทยจะให้ความช่วยเหลือให้ลี้ภัยไปประเทศที่สาม โดยเธอบอกว่า กลัวที่จะกลับไปเวียดนาม

Wasawat lukharang/bbc thai
ผู้ลี้ภัยที่ถูกจับกุมตัว อุ้มลูกออกมาจากสถานที่พัก
"สิ่งเดียวที่เราทำได้คือสวดมนต์ถึงพระเจ้า" เธอกล่าว ในขณะที่คนอื่นในห้องล้อมวงกันเพื่อสวดมนต์ขอพรจากพระเจ้า พร้อมกับร้องไห้คร่ำครวญเสียงดัง

เหตุดังกล่าวทำให้เด็ก ๆ ผู้ลี้ภัยเกือบ 50 คนเสี่ยงถูกคุมตัวไว้โดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ขณะรอให้พ่อและแม่เข้าสู่กระบวนการศาล

ในหลายปีที่ผ่านมา ชาวคริสเตียนมองตานญาดหลายคนหนีภัยศาสนาจากเวียดนาม ส่วนมากผ่านทางประเทศกัมพูชา ข้อมูลจาก UNHCR ระบุว่า ในปี 2560 UNHCR ในไทยได้รับรองสถานะผู้ลี้ภัยที่มาจากเวียดนามทั้งหมด 450 คน และมีอีก 471 คนที่ยังรอการรับรองสถานะอยู่

ลูกหลานผู้แสวงหาที่ลี้ภัยเสี่ยงถูกกักกันในไทย
เวียดนามอพยพ: อนาคตมืดมนของ มองตานญาด ชนกลุ่มน้อยนับถือคริสต์หนีตายมาอยู่อย่างไร้สถานะในไทย
5 . เจ้าของร้านหนังสือในฮ่องกงที่หายตัวไป

กุ้ย หมินไห่ หายตัวไปจากอพาร์ตเมนต์ในเมืองไทย
การหายตัวไปของผู้เกี่ยวข้องกับร้านหนังสือหลายรายในฮ่องกงในช่วงปลายปี 2558 ทำให้หลายฝ่ายออกมาตั้งคำถามว่าอาจเป็นทางการจีนที่ลักพาตัวพวกเขาไปกักขังอย่างไม่เป็นไปตามกระบวนการกฎหมาย

หนึ่งในนั้นคือ กุ้ย หมินไห่ หนึ่งในเจ้าของร้านหนังสือในฮ่องกงที่หายสาบสูญซึ่งเป็นที่รู้จักดีในฐานะผู้ตีพิมพ์เผยแพร่หนังสือที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจีน โดยเว็บไซต์ข่าวผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า เขาหายตัวไปจากอพาร์ตเมนต์ในเมืองไทย ก่อนที่ต่อมาในเดือน ม.ค. 2559 เขาจะไปปรากฏตัวในสื่อทางการจีน โดยออกมาสารภาพผิดในคดีเมาแล้วขับรถชนผู้หญิงคนหนึ่งเสียชีวิตซึ่งเป็นคดีตั้งแต่ปี 2546

นอกจากเหตุการณ์ดังกล่าวจะทำให้คนตั้งคำถามว่าเป็นการข่มขู่บังคับให้รับสารภาพโดยรัฐบาลจีนหรือไม่ ผู้วิพากษ์วิจารณ์จำนวนไม่น้อยก็ตั้งข้อสงสัยว่า ทางการไทยมีส่วนรู้เห็นเกี่ยวกับการหายตัวไปของเขาหรือไม่

6 . กักตัวนักเคลื่อนไหว ฮ่องกง

AFP
โจชัว หว่องเป็นสัญญลักษณ์ของการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงปี 2014
ต.ค. 2559 โจชัว หว่อง นักศึกษาและนักกิจกรรมชาวฮ่องกง มีกำหนดการเข้าร่วมงานรำลึก "40 ปี 6 ตุลา 19" ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่เขาถูกทางการไทยกักตัวไม่ให้เข้าประเทศ

นายหว่องคือหนึ่งในผู้นำการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยซึ่งมีบทบาทสำคัญใน "ขบวนการร่ม" ซึ่งชาวฮ่องกงจำนวนมากร่วมกันแสดงพลังต่อต้านการแผ่ขยายอิทธิพลของรัฐบาลจีนเข้าครอบงำการบริหารส่วนท้องถิ่น และเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าการเขตปกครองพิเศษโดยตรง แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ

พรรคเดโมซิสโต (Demosistō) ของฮ่องกงออกแถลงการณ์ประณามการจับกุมและเรียกร้องให้ทางการไทยปล่อยตัวนายหว่อง นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยชาวฮ่องกงทันที ในขณะที่ขอให้ทางการฮ่องกงเข้าช่วยเหลือเพื่อให้หลักประกันในเรื่องความปลอดภัยแก่นายหว่อง ที่เป็นเลขาธิการพรรค

แถลงการณ์ของพรรคเดโมซิสโตที่เป็นพรรคการเมืองใหม่จัดตั้งโดยนายหว่องระบุว่า หว่องเดินทางจากฮ่องกงมาประเทศไทย เพื่อเข้าร่วมการอภิปราย เรื่องประชาธิปไตยที่กรุงเทพฯ ตามกำหนดเขาจะเดินทางถึงสนามบินสุวรรณภูมิคืนวันที่ 4 ต.ค. เมื่อเวลา 23.45 น. แต่ทางพรรคไม่สามารถติดต่อเขาได้จนกระทั่งได้รับคำยืนยันจากเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาลที่เดินทางไปรับหว่องว่า เขาถูกเจ้าหน้าที่ไทยจับตัวไป

แถลงการณ์อ้างเนติวิทย์ที่กล่าวว่า ทางการไทยได้รับจดหมายจากรัฐบาลจีนเกี่ยวกับการเดินทางเข้าเมืองไทยของหว่องหนนี้ และเนติวิทย์เองไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ให้เข้าเยี่ยมหว่อง
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่