ญี่ปุ่นวิจัยการปลูกไม้สนซีดาร์เป็นรูปวงกลม



พื้นที่มีรูปวงกลม/มีรูปร่างต้นไม้ใบหญ้าที่มีรูปทรงแปลก ๆ
มักจะมีคนคิดกันว่าเป็นทฤษฏีสมคบคิด
หรือผลงานของมนุษย์ต่างดาวที่สร้างขึ้นมา
แต่ภาพถ่ายวงกลมไม้สนซีดาร์ในญี่ปุ่น
ไม่ได้สร้างขึ้นจากการตัดแต่งแบบที่ทำกันในทุ่งข้าวสาลี
แต่เป็นการปลูกไม้สนซีดาร์ญี่ปุ่น



ย้อนกลับไปในปี ค.ศ.1973
นักวิทยาศาสตร์ได้เริ่มต้นโครงการ ปลูกป่าทดลอง
เพื่อศึกษาระยะห่าง/ช่องว่างระหว่างต้นไม้
จะมีผลกระทบอย่างไรบ้างกับการเจริญเติบโต
โครงการนี้จึงเริ่มต้นทดลองและปลูกไม้สนซีดาร์
ใกล้กับเมือง Nichinan City ในเขต Miyazaki Prefecture
โดยการปลูกให้เป็นทรงกลมมีรัศมี 10 องศาทุกระยะ
ผลลัพธ์คือ มีวงกลมภายในที่เล็กกว่า
แล้วขยายตัวออกมาจนเป็นวงกลมขนาดใหญ่กว่า
เป็นรูปวงกลมที่ซ้อนกันถึง 10 ชั้น




จากภาพจะเห็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น
ต้นไม้ด้านในจะมีขนาดต้นเตี้ยกว่า
และสูงน้อยกว่าต้นไม้ด้านนอก




พื้นที่เพาะปลูกการมีระยะห่าง/พื้นที่ว่างเท่ากัน
จะมีการแย่งชิงน้ำและแสงแดดน้อยกว่า
แต่การปลูกเป็นวงกลมแบบนี้
จะทำให้ต้นไม้วงกลมด้านนอกจะโตกว่า
และสูงกว่าต้นไม้ที่อยู่วงกลมด้านใน
เพราะการแย่งชิงน้ำและแสงแดดทึ่ต่างกัน


ตามรายงานเอกสารของ
Japan’s Ministry of Agriculture, Forestry and Fisheries
ความสูงเฉลี่ยของไม้สนซีดาร์ภายในวงกลมด้านใน
เปรียบเทียบกับความสูงต้นไม้สนซีดาร์วงกลมด้านนอก
จะมีความสูงแตกต่างกันมากกว่าราว 5 เมตร




แม้ว่าตามกำหนดการไม้สนซีดาร์เหล่านี้
จะต้องถูกตัดโค่นลงภายใน 5 ปีนี้
แต่ผลการทดลองที่สร้างภาพที่งดงามและน่าสนใจ
ทำให้มีเสียงเรียกร้องให้อนุรักษ์กลุ่มไม้สนซีดาร์ชุดนี้ไว้
เพื่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยว/ศึกษาไม้สนซีดาร์





เรียบเรียง/ที่มา

https://bit.ly/2RblMDv
https://bit.ly/2CngM6t





เรื่องเล่าไร้สาระ


เคยมีคนตั้งคำถามว่า
ทำไมไม่ปลูกปาล์มน้ำมันเป็นรูปวงกลม
ทำไมต้องปลูกเป็นรูปสามเหลี่ยม
คำตอบคงได้มาจากการปลูกไม้สนซีดาร์ญี่ปุ่น

มาเลย์บังคับปลูกปาล์มน้ำมัน
โดยให้ปลูกเป็นรูปสามเหลี่ยมระยะห่าง 12x12
เพราะต้องการให้ต้นปาล์มสูงช้าเก็บเกี่ยวง่าย
แบบแม่ไก่สมบูรณ์เลี้ยงจำนวนน้อย ๆ จะออกไข่ดก
เพราะทางใบปาล์มได้แสงแดดเต็มที่
แต่ถ้าปลูกห่างแบบ 9x9
ต้นปาล์มจะสูง/รับแสงแดดไม่เต็มที่เพราะทางใบชนกัน
แบบแม่ไก่หลายตัวต้องดูแลดีดีจึงจะไข่มาก


ส่วนรากต้นไม้ทั่วไปที่ชาวบ้านบอกกันมีส่วนจริงตามหลักวิชาการ
พืชที่มีรากแก้วจะมีปลายรากแก้วสูงเท่ากับความสูง(เหมือนเสาเข็ม)
จะมีรากฝอยมักจะไม่เกินกว่า 1.5 เท่าของปลายใบ
พืชที่ไม่มีรากแก้ว พวกมะพร้าว ปาล์มน้ำมัน ต้นหมาก
จะมีรากฝอยเกินกว่า 2 เท่าของปลายใบ/รากตัองแผ่กว้าง
มิเช่นนั้นจะล้มง่ายเหมือนต้นไม้ถูกตัดรากแก้ว

รากต้นไม้เดินถึงไหนมีผลต่อการใส่ปุ๋ย
ให้ต้นไม้แต่ละประเภทที่ต่างกัน
กับการปลูกพืชในแต่ละประเภท
ไม่ให้แย่งปุ๋ย/แสงแดดในดินเพาะปลูก

การปลูกต้นไม้/พืชชนิดอื่น
ใต้ต้นมะพร้าว ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ไม่ค่อยได้ผล
เพราะรากฝอยจะมีมากและเดินไกลมาก
ราว ๆ 2 เท่าของปลายทางใบ
จนชาวบ้านมักจะบอกว่ารากรัดพืชอื่น ๆ

ส่วนต้นไม้ที่รากเดินไกลมาก เช่น  ไทร หูกระจง
ที่ไม่นิยมให้ปลูกข้างบ้าน เพราะรากเดินได้ไกลมาก
ชอนไชโครงสร้างและอาจดันพื้นบ้าน ห้องน้ำให้ชำรุดได้
ความเชื่อชาวบ้านถ้ามีต้นไทรขึ้นภายในบ้าน
จะทำให้ครอบครัวมีโรคภัยไข้เจ็บกันมาก
ต้องกำจัดด้วยยาฆ่ากอไผ่ มีแบบผงกับน้ำ
สารตัวนี้แถวบ้านใช้ทำลำไยนอกฤดูได้เป็นของมาเลย์
ถ้าบอกยาฆ่ากอไผ่จะซื้อได้ราคาถูกกว่า





การปลูกต้นไม้ได้สามต้นหนึ่งหลุม

ทางภาคใต้จะเรียกการปลูกพืชหลายชนิดในสวนว่า สวนสมรม
แต่ถ้าใช้หลักการปลูกพืชร่วมกับแบบ
ปราชญ์ชาวบ้าน ป๊ะหรน/หลน หมัดหลี
เกษตรกรสี่ธาตุ น้ำ ดิน ลม ไฟ
จะได้พืชให้ผลผลิต/ใช้เนื้อที่ไม่มาก
มีการปลูกที่ตำบลเขาพระ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา
ป๊ะหรนไปพบพระอัลเลาะห์/มตะแล้ว
แต่ตอนนี้บุตรชายของท่านยังทำสวนเกษตรแบบนี้
และเป็นวิทยากรบรรยายเกษตรแบบธาตุสี่

ต้นไม้ประเภทสามต้นในหนึ่งหลุมมี
ทุเรียน(ไฟ) ลองกอง(ลม) มังคุด(น้ำ)
จะทำให้การปลูกแบบนี้จะได้ไม่ต่ำกว่าไร่ละ 66 ต้น
ผลผลิตพอประมาณขึ้นกับสายพันธุ์
แต่ถ้าได้ต่อยอด/ทาบกิ่งพันธุ์ดี
ผลผลิตก็จะคนละเรื่องเดียวกัน

คุณภาพผลไม้ขึ้นกับปัจจัยสี่ของต้นไม้
ดิน (ปุ๋ย ธาตุในดิน) น้ำ (น้ำดี ไม่กระด้าง ไม่เป็นกรด ไม่เป็นด่าง ไม่เป็นสนิม)
ลม (ลมไม่แรง ไม่ใช่พายุ หรือลมร้อน หรือลมหนาว)
ไฟ (แสงแดดพอเหมาะ ไม่มาก ไม่น้อย ไม่ร้อนแรง)

การปลูกพืชตามแนวคิดของป๊ะหรน
คือ ต้นไม้ทุกประเภทจะมีธาตุทั้งสี่ในตัวเอง
โดยใช้การชิมจากใบเป็นหลักก่อนการชิมจากผลไม้
จะรู้ว่าธาตุหลักของต้นไม้ประเภทนี้มีธาตุหลัก คือ ธาตุใด

ธาตุน้ำ รสจืด เช่น มังคุด กล้วย จำปาดะ อ้อย มะม่วง ชมพู่

ธาตุดิน รสฝาด รสขม เช่น ละมุด สะตอ เหรียง

ธาตุลม รสขื่น รสเฝื่อน เช่น ลองกอง ลางสาด ผักเสี้ยนผี

ธาตุไฟ รสเผ็ด รสร้อน เช่น ทุเรียน พริก ส้ม มะนาว

ดังนั้น เกษตรกรต้องเตรียมน้ำไว้ให้พร้อม
ถ้ามีระบบน้ำดี/รดน้ำได้สะดวกก็จะไม่มีปัญหา
แต่ถ้ามีปัญหาเรื่องน้ำขาดแคลน/แล้งมาก
ป๊ะหรนแนะนำว่า ให้ปลูกกล้วย/มะละกอ
เป็นพืชพี่เลี้ยงที่ให้ร่มเงากับเป็นแหล่งน้ำก่อน

การปลูกพืชผลแต่ละชนิดต้องปลูกในวันเสาร์เท่านั้น
นี่เป็นความเชื่อส่วนตัวของท่าน
ท่านได้รับการถ่ายทอดจากปู่และพ่อของท่าน
ท่านเชื่อว่า การปลูกพืชในวันเสาร์
จะได้ลูกดกหรืองอกงามดี
เผลอ ๆ ก็ออกลูกออกผลนอกยาม (นอกฤดูกาล)

เมื่อต้นกล้วย/มะละกอขึ้นพองามแล้ว
ให้เริ่มลงมือเพาะเมล็ดในหลุมข้าง ๆ
โดยพืชธาตุไฟให้วางทางทิศตะวันออก (รับแดดเต็มที่)
ส่วนพืชธาตุลมให้อยู่ตรงกลาง (กิ่งใบหักง่าย)
พืชธาตุน้ำให้อยู่ทิศตะวันตก (ต้องการแดดบ้าง)

เมล็ดไม่จำเป็นต้องไปจัดซื้อจัดหา
เอาจากเมล็ดที่กินผลไม้แล้วมีเมล็ดเหลืออยู่
คัดเอาเมล็ดงาม ๆ และรูปทรงดี
หนอนไม่ไช หนูไม่กัด ราไม่กิน
มาเพาะเมล็ดให้งอกในหลุมข้าง ๆ
เพราะต้นไม้ที่มีรากแก้ว
รากจะได้เดินงาม เดินดี เดินลึก
หากินอาหาร(ปุ๋ย)และหาน้ำได้เก่ง
เจริญเติบโตได้ดีไว้เป็นต้นตอในอนาคตได้

พืชธาตุไฟ มักจะมีรากลึกและแผ่ไปกว้างไกล เช่น ทุเรียน

พืชธาตุลม รากฝอยจะมากจะอยู่รอบ ๆ ลำต้น เช่น ลองกอง

พืชธาตุน้ำ รากแก้วจะลึกและหาน้ำเก่ง เช่น มังคุด

การปลูกพืชสามธาตุในหนึ่งหลุม
จึงเป็นหลักการผสมผสาน
พึ่งพาอาศัยกัน เกื้อกูลซึ่งกันและกัน
ระบบรากของพวกมันจะปนเปไปมา
แต่ไม่แย่งอาหารกันมากนัก
เพราะทุเรียนรากลึก เดินไปไกล
ลองกอง รากตื้น เดินใกล้แถวผิวดิน
มังคุด รากลึก ลงรอบตัว
แต่ธาตุทั้งสามผสมกลมกลืนกัน
คือ ไฟ ลม น้ำ ส่วนดินคือ ที่พืชทั้งสามต้น
ช่วยกันทำมาหากิน/พักพิงให้ร่มเงาซึ่งกันและกัน



แต่ทั้งนี้ต้องพิจารณาจากประเภทของพืชด้วย
เช่น ชมพู่ เงาะ จำปาดะ ขนุน ปาล์ม มะพร้าว ส้มโอ ยางพารา
เป็นต้นไม้ที่ต้องการพุ่มกว้างและอยู่เดี่ยว ๆ
มีไม้อื่นเจือปนได้บ้างแต่ต้องไม่แย่งแสงแดด
สังเกตได้จากด้านล่างมักจะปลูกพืชอื่นไม่ได้มาก
เพราะใบหนามาก กิ่งก้านมาก รากเดินไกล รากฝอยมาก
ใบพืชต้องการแสงแดดมากกว่าพืชชนิดอื่น

ป๊ะหรนเรียกต้นไม้ประเภทนี้ว่า หัวร้อน ตีนเย็น
หัวร้อน ต้องการแสงแดดสังเคราะห์แสงมาก
ตีนเย็น ต้องการน้ำมาก/ค่อนข้างชุ่มชื้น
เช่น ด้านล่างต้นยางพารา ต้นปาล์ม ต้นมะพร้าว
จะมีพืชประเภทอื่นขึ้นได้น้อยมาก
เพราะรากฝอยเดินกว้าง เดินไกล แย่งน้ำ แย่งอาหารเก่ง

ป๊ะหลนสังเกตพบคือ
ต้นสะตอ กับ ต้นทุเรียน ปลูกร่วมกันไม่ได้
เพราะแย่งกันสูงหาแสงแดดแข่งกัน
การปลูกพืชผสมตามธาตุ
จึงต้องพิจารณาจากความสูงต้นไม้ด้วยเช่นกัน

เมื่อต้นไม้ในหลุมเจริญงอกงามพอสมควรแล้ว
ค่อยทำการทาบกิ่ง ต่อตา เสียบยอด
แล้วแต่การขยายพันธุ์พืชแต่ละชนิด
ตอนนี้อาจจะต้องไปขอจากเพื่อนเกษตรกร
หรือซื้อมาทำการขยายพันธุ์
เพื่อให้ได้ผลไม้ที่มีรสชาติดี
เป็นที่ต้องการหรือเป็นที่นิยมของตลาด

ถ้าต้นไม้ในหลุมประเภทใดตาย
ให้ใช้พันธุ์ที่ตายไปปลูกซ้ำ/ปลูกทดแทน
ไม่นานก็จะงอกงามใกล้เคียงต้นข้างเคียง
และความสูงจะเป็นตามลำดับ
ทุเรียนจะสูงสุด ลองกองสูงกลาง มังคุดเตี้ยสุด

การปลูกแบบสามต้นในหนึ่งหลุม
อาจใช้แบบการปลูกปาล์มน้ำมัน
จะได้จำนวนต้นมากกว่า

แต่ควรคิดถึงตอนที่ผลผลิตที่ออกมา
ต้องคำนึงถึงตลาด/การขนส่ง
ดีกว่าจะมีปัญหาด้านตลาด/ราคาขาย
มิฉะนั้น ลงทุนลงแรงไปแล้ว
จะไม่คุ้มกับค่าใช้จ่าย/ค่าลงทุน ROE ROI
ถ้าไม่คิดแบบแนวคิดเกษตรพอเพียง

บริเวณรอบ ๆ ต้นไม้สามต้นในหนึ่งหลุม
ให้มีพืชพันธุ์อื่น/สมุนไพร ขึ้นรอบ ๆ ได้
เพื่อเป็นการสร้างสมดุลย์ซึ่งกันและกัน
กับสามารถใช้ประโยชน์ได้ในระยะยาว
แต่ไม่ใช่ปล่อยปละละเลย
ถึงขนาดรกรุงรัง/เกะกะการทำงาน

ปุ๋ยที่ใช้ คือ ปุ๋ยตราจระเข้
จอบยี่ห้อดัง/แพง/ของแท้
ต้อง Chillington ผลิตที่อังกฤษ
ใช้ขุด/ถาง/ฟัน วัชพืช เอาตอนหน้าฝน
วางสุม ๆ ไว้รอบ ๆ ต้นไม้ที่ปลูกไว้
พอหน้าแล้งก็จะคลุมดินให้ชุ่มชื้น
และสลายตัวกลายเป็นปุ๋ยในที่สุด

ส่วนการให้ปุ๋ยควรให้ช่วงฤดูฝน
ใช้ปุ๋ยคอก/ปุ๋ยหมัก/ปุ๋ยอินทรีย์เป็นหลัก
แต่ต้องระวัง/ป้องกันเชื้อรา
เพราะหน้าแล้งพืชแทบใช้ประโยชน์ไม่ได้
เผลอ ๆ อาจจะเหมือนคนกินข้าว แต่ไม่ได้กินน้ำ
คือ อึดอัด หรือ แน่นท้อง

การให้ปุ๋ยเคมี  ท่านไม่ต่อต้าน
แต่ให้คำแนะนำว่า
ถ้าให้ปุ๋ยแล้วแต่ฝนไม่ตก
จะทำให้สูญเสียเปล่า ๆ
เพราะมันจะแห้งกรังค่อย ๆ เสื่อมประโยชน์ไป

จากการสอบถามเพื่อนที่เพาะต้นไม้ขาย
หรืออาจารย์ทางด้านเกษตรกรรม
มักจะมีคำแนะนำว่า การให้ปุ๋ยเคมีที่ดี
ควรมีการขุดดินรอบ ๆ ต้นไม้
แล้วค่อยใส่ปุ๋ยก่อนทำการกลบฝัง
พืชจะได้ใช้ประโยชน์ได้เต็มที่
หรือให้บาง ๆ แต่ปีละหลายครั้ง
เช่น การเพาะชำต้นไม้ขาย
มักจะให้น้อย ๆ แต่ให้บ่อย ๆ
เพื่อให้พืชดูดซึมไปใช้ได้หมด

ปกติอายุของปุ๋ยเคมีเปิดถุงใช้แล้ว
มักจะเสื่อมสภาพ/ลดคุณภาพลงไปเรื่อย ๆ
หลังจากเริ่มเปิดใช้งานจากถุงใส่ปุ๋ย
การฝังกลบจะยืดระยะของปุ๋ยได้
เว้นแต่ประเภทปุ๋ยละลายช้า
ที่มีช่วงอายุนานกว่า 3-6 เดือน
เช่น พวกออสโมคอส หรือหุ้มดิน
หุ้มสารประเภทละลายช้าไว้กับปุ๋ย

การให้ปุ๋ยในแปลงใหญ่ ๆ
มักจะใช้การหว่าน/โยน/ให้เป็นแถวยาว
เพราะง่าย สะดวก รวดเร็ว ในการทำงาน
แต่คนงานมักจะไม่กลบดินทับปุ๋ยให้

การตรวจสอบคุณภาพดิน/ทางใบพืช
เป็นเรื่องดี แต่ยุ่งยากมากในสวนสมรม
เพราะพืชต้องการปุ๋ย/แสงแดดแตกต่างกัน
แต่ถ้าปลูกเชิงเดี่ยวควรทำ

การซื้อปุ๋ยเป็นกระสอบจะถูกกว่า
ซื้อปุ๋ยตัดแบ่งเป็นถุงเล็ก ๆ 1-5 กิโลกรัม
ราคาต่อหน่วยคิดแล้วมักจะแพงกว่าซื้อเป็นกระสอบ
แต่ถ้าซื้อเป็นกระสอบตัองวางแผนใช้ให้หมด
ภายในระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน
แต่ต้องปิดปากถุงให้แน่นอย่าให้อากาศเข้า




เรียบเรียงใหม่/ที่มา https://bit.ly/2SaKUrk
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่