เปิดคำพิพากษาฉบับเต็มศาลฎีกาฯส่ง 'ธาริต' นอนคุก 1 ปีคดีหมิ่น 'สุเทพ'

กระทู้ข่าว
15 ธ.ค.61 - ห้องพิจารณาคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ.แจ้งวัฒนะ เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.ที่ผ่านมา ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีหมายเลขดำ อ.495/2556 ที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตเลขาธิการ กปปส. เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328

คดีนี้นายสุเทพ โจทก์ยื่นฟ้องคดีเมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2556 ระบุพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 21 ม.ค. - 4 ก.พ. 2556 นายธาริตขณะดำรงตำแหน่งอธิบดีดีเอสไอ แถลงข่าวผ่านสื่อมวลชนกล่าวหาว่า นายสุเทพ โจทก์ ขณะดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้สั่งการไม่ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ทำสัญญาก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ 396 แห่งเป็นรายภาค ตามที่ สตช.เสนอ แต่กลับให้รวมสัญญาการจัดซื้อจัดจ้างเพียงรายเดียว ทำให้บริษัทพีซีซี ดิเวลล็อปเม้นท์ แอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูล จนเกิดปัญหาที่ไม่สามารถก่อสร้างได้เสร็จทันตามกำหนด ซึ่งล้วนเป็นเท็จ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียง

ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาวันที่ 26 มี.ค. 2558 ให้ยกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าการแถลงข่าวของจำเลยเป็นการตรวจสอบโครงการก่อสร้างโรงพัก และให้ความเห็นในทางกฎหมายในฐานะอธิบดีดีเอสไอ ไม่ได้มีการยืนยันข้อเท็จจริงว่าโจทก์ได้กระทำการทุจริต การแถลงข่าวและให้สัมภาษณ์ของจำเลยเป็นการสรุปความคืบหน้าของคดีตามพยานหลักฐาน ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานที่ได้ปฎิบัติตามอำนาจหน้าที่ และเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท จากนั้นวันที่ 3 พ.ค. 2559 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนยกฟ้อง โดยเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ยังไม่มีน้ำหนักให้รับฟังเพียงพอได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ต่อมานายสุเทพ โจทก์ได้ขออนุญาตฎีกาต่อ

ศาลได้นัดอ่านฎีกาครั้งแรกในวันที่ 24 ต.ค. 2561 ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ซึ่งในวันดังกล่าวนายธาริตไม่ได้เดินทางมาศาลอาญา เนื่องจากมีการป่วยติดเชื้อในลำไส้ ไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ พร้อมแสดงใบรับรองแพทย์ต่อศาล ทั้งยังได้มอบหมายทนายความยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมต่อประธานศาลฎีกา ขอให้ส่งเอกสารเพิ่มเติมให้ศาลฎีกาวินิจฉัย ซึ่งศาลอาญาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เอกสารถ้อยคำที่มีการยื่นเพิ่มเติมดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นหลังการพิจารณาของศาลชั้นต้นและศาลชั้นอุทธรณ์ เชื่อว่าศาลฎีกายังไม่ได้พิจารณาเอกสารดังกล่าว เอกสารทั้ง 3 ชุดที่ยื่นมานั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างโรงพักทั้ง 396 แห่ง ซึ่งเป็นมูลเหตุในการฟ้องหมิ่นประมาทในคดีนี้ จึงเห็นควรมีคำสั่งให้ส่งคำร้องของจำเลย รวมถึงถ้อยคำในเอกสารส่งขึ้นให้ศาลฎีกาพิจารณาต่อไป และเมื่อมีคำสั่งส่งคำร้องแล้วก็ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าจำเลยป่วยจนไม่สามารถเดินทางมาศาลได้หรือไม่ จึงมีคำสั่งให้เลื่อนฟังคำพิพากษาศาลฎีกาออกไปเป็นวันที่ 14 ธ.ค. นี้

โดยก่อนอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. ที่ผ่านมา นายธาริต จำเลยในคดีได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาขอถอนคำให้การเดิมและเปลี่ยนคำให้การเป็นรับสารภาพตามฟ้อง พร้อมขอเลื่อนการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในวันที่ 14 ธ.ค.นี้ ออกไปก่อน 60 วัน โดยอ้างเหตุว่าได้มีการขอขมาต่อนายสุเทพ ที่มีนายคณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด รับเป็นคนกลางในการเจรจา โดยทำหนังสือแสดงความสำนึกผิดขอขมาลาโทษ ยื่นขอให้การใหม่เป็นให้การรับสารภาพตามฟ้อง เพื่อให้สอดคล้องหนังสือสำนึกผิดและขอขมาลาโทษต่อนายสุเทพไปแล้ว พร้อมทั้งส่งบันทึกรับรองข้อเท็จจริงผลการเจรจาประนีประนอมฯ ที่นายคณิตได้รับรองยื่นต่อศาล แต่หากศาลฎีกาไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี ก็ขอความกรุณาต่อศาลฎีกาลงโทษสถานเบาโดยรอการลงอาญา ทั้งนี้ ต่อมานายธาริตยังได้ส่งทนายความยื่นคำร้องพร้อมวางเงิน 1 แสนบาทต่อศาล เพื่อเยียวยาบรรเทาผลร้ายต่อโจทก์

จากนั้นในวันที่ 11 ธ.ค. ที่ผ่านมา นายสุเทพ โจทก์ยื่นคำร้องมาที่ศาลฎีกาสรุปเนื้อหาตามที่มีข่าวปรากฏสรุปว่า จำเลยในคดีได้ให้ทนายความแถลงว่ามีการประนีประนอมพร้อมขอขมาลาโทษ และขอบพระคุณกับโจทก์ที่จะได้เมตตายกโทษในคดีตามที่โจทก์เห็นสมควรให้นั้น ไม่เป็นความจริง โจทก์จึงขอให้ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาตามที่นัดไว้ในวันที่ 14 ธ.ค. นี้ ตามเดิม

สำหรับการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาวันนี้จะเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 244 ประกอบมาตรา 252 ที่บัญญัติว่า ศาลฎีกาจะอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ศาลฎีกาหรือจะส่งไปให้ศาลชั้นต้นอ่านก็ได้ และระเบียบศาลฎีกาว่าด้วยการอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลฎีกา พ.ศ.2550 ข้อ 3 (3) กำหนดให้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาได้ในคดีที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือเป็นที่สนใจของประชาชนหรือคดีอื่นใดซึ่งประธานศาลฎีกาเห็นสมควรให้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ศาลฎีกา

ในวันนี้เวลา 7.30 น. นายธาริต จำเลยเดินทางมาศาล โดยขึ้นแถลงต่อศาลขอให้ศาลมีคำสั่งไต่สวน นายคณิต ณ นคร ในประเด็นที่นายคณิตเป็นตัวกลางในการเจรจาไกล่เกลี่ยกับนายสุเทพ โจทก์ จนนายสุเทพได้ตกลงให้จำเลยทำหนังสือขอขมาลาโทษ โดยพนักงานอัยการที่ทำหน้าที่แก้ต่างให้นายธาริตก็ลุกขึ้นแถลงต่อศาลในข้อกฎหมายว่า กรณีดังกล่าวมีการเจรจาตกลงกันว่าจะมีการยอมความ โดยนายธาริตจำเลยได้ปฏิบัติตามข้อตกลงกันเป็นที่เรียบร้อย จึงเป็นเหตุให้สิทธิการดำเนินคดีอันเป็นข้อยุติลง ทำให้ศาลอ่านคำพิพากษาไม่ได้

องค์คณะศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์เป็นรองนายกฯ มีหน้าที่กำกับดูแลโครงการสัญญาการจัดซื้อจัดจ้างโรงพัก 396 แห่ง ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงสัญญาจากรายภาคเป็นการรวมสัญญาเป็นเจ้าเดียว โดยมีนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริต สภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้ร้องต่อนายธาริต ในฐานะอธิบดีดีเอสไอ เพื่อให้ตรวจสอบการกรณี บริษัท พีซีซี ดีเวลลอปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ที่ได้รับการชนะประมูลการก่อสร้างสถานีตำรวจทดแทนทั่วประเทศ จำนวน 396 แห่ง ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่เข้าข่ายน่าจะมีการทุจริตและการฮั้วประมูล

โดยจำเลยในฐานะอธิบดีดีเอสไอได้มีการแถลงข่าวถอดความสรุปว่า นายธาริตได้ลงพื้นที่ตรวจสอบพื้นที่ที่เกิดความเสียหาย นายสุเทพได้สั่งการให้มีการเปลี่ยนสัญญารายภาค ซึ่งอาจจะส่อว่าให้ประโยชน์กับบริษัทพีซีซีฯ และเป็นเหตุให้ไม่สามารถก่อสร้างโรงพักได้แล้วเสร็จ ซึ่งเป็นรากเหง้าเกิดความเสียหายใหญ่หลวง เพราะการเปลี่ยนแปลงสัญญาดังกล่าวอาจเข้าข่ายการกระทำผิดฐานเอื้อประโยชน์ฮั้วประมูล แต่เป็นเรื่องที่ต้องตรวจสอบต่อไป ปัญหาที่เกิดจากฝ่ายการเมือง จำเลยยังแถลงครั้งต่อไปอีกว่าการประมูล บริษัทพีพีซีฯ มีการเสนอราคาต่ำกว่าราคากลาง เจ้าอื่นที่เข้าร่วมประกวดราคาหลายเจ้าเป็นเงินหลายร้อยบาท โดยบริษัทพีซีซีฯ มีความมุ่งหวังเมื่อชนะการประมูลจะได้ทำการเบิกเงินได้ โดยไม่ได้คิดว่าจะสร้างโรงพักเสร็จหรือไม่ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่จะเข้าข่ายการกระทำผิดมี 2 ฝ่ายคือข้าราชการประจำเช่น ผบ.ตร.ในขณะนั้น และข้าราชการการเมืองโดยมีโจทก์เกี่ยวข้อง

ศาลเห็นว่า จำเลยในฐานะพนักงานสืบสวนมีหน้าที่ที่จะต้องทำการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อค้นหาข้อเท็จจริงนำไปสู่การวินิจฉัยของศาล หาใช่อำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะแถลงข่าวถึงข้อเท็จจริงในสำนวนเพื่อชี้นำสังคม อีกทั้งคดีนี้เป็นคดีความผิดต่อหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ดังนั้นเมื่อสืบสวนได้ว่าจำเลยมีการกระทำเข้าข่ายความผิด จำเลยก็มีหน้าที่ที่จะรวบรวมพยานหลักฐานส่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยเร็ว ไม่ควรให้สัมภาษณ์ถึงโจทก์ จะเป็นการทำให้โจทก์ถูกมองได้ว่าเป็นผู้มีส่วนกระทำผิด เปลี่ยนแปลงสัญญาให้เกิดความเสียหาย อันเป็นการหมิ่นประมาทให้โจทก์ได้รับความเสียหายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 ที่ศาลล่างสองศาลพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยพิพากษากลับ ให้ลงโทษจำคุกจำเลย 1 ปี

ส่วนที่จำเลยยื่นคำร้อง 4 ฉบับมีเนื้อหาสรุปว่า ขอถอนคำให้การเดิมและยื่นคำให้การใหม่เป็นรับสารภาพ โดยมีการเจรจาทำการขอขมาโจทก์ตามข้อตกลง พร้อมวางเงินเยียวยาบรรเทาผลร้าย 1 แสนบาท เพื่อขอให้ศาลลงโทษสถานเบานั้น ศาลเห็นว่าที่จำเลยอาจยื่นคำร้องขอแก้หรือเพิ่มเติมคำให้การก่อนศาลพิพากษา ไม่อาจทำได้ในชั้นฎีกา ส่วนที่จำเลยร้องว่าได้มีการไกล่เกลี่ยประนีประนอมจนสำเร็จอันเป็นเหตุให้สิทธิดำเนินคดีอาญาระงับไปนั้น เห็นว่าจากคำร้องที่ยื่นมายังอยู่ในขั้นตอนการเจรจา ซึ่งการเจรจาไกล่เกลี่ยจะต้องคำนึงถึงคู่ความ เมื่อโจทก์ไม่ประสงค์ไกล่เกลี่ย คดีอาญาการจึงไม่อาจระงับไปตามที่จำเลยร้องมา ให้ยกคำร้อง และจำเลยนำเงินที่วางไว้ 1 แสนบาทคืนได้.

แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่