สิ่งที่พ่อแม่ควรและไม่ควรทำเมื่อพบว่าลูกไม่มีสมาธิ โดยหมอมินบานเย็น เพจเข็นเด็กขึ้นภูเขา

"คุณหมอคะ ลูกชายสิบขวบ ไม่ค่อยมีสมาธิในการเรียนเลยค่ะ สงสัยว่าเค้าอาจจะเป็นสมาธิสั้นต้องทำอย่างไรคะ" มีคุณแม่คนหนึ่งส่งคำถามมาถึงหมอ

ต้องบอกก่อนว่าบางทีอาการสมาธิไม่ดี คล้ายสมาธิสั้นของเด็กอาจมีสาเหตุได้หลายอย่าง เช่น เป็นโรคสมาธิสั้น หรือเด็กบางคนมีเรื่องเครียด กังวล ซึมเศร้า มีความกดดันต่างๆ หรือเด็กที่มีปัญหาอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคทางกายหรือทางสมอง โรคแอลดีหรือสติปัญญาบกพร่อง หรือในเด็กเล็กๆ ตรงนั้นก็อาจเป็นเพราะซนตามปกติของพัฒนาการก็ทำให้มีอาการแบบเดียวกันได้

แล้วถ้าลูกสมาธิไม่ค่อยดี หรือสงสัยว่าลูกจะเป็นสมาธิสั้น พ่อแม่ควรทำหรือไม่ควรทำอะไรบ้าง

1.อย่างแรก ไม่ควรไปซื้อยาหรืออาหารเสริมที่มีสรรพคุณช่วยเพิ่มสมาธิในอินเทอร์เน็ตมาให้ลูกทานทั้งที่ยังไม่ทราบว่าลูกเป็นอะไรกันแน่ เพราะอาจทำให้เด็กได้รับการช่วยเหลือที่ผิดทางและล่าช้า เด็กหลายคนมีผลกระทบที่ซับซ้อนรุนแรงตามมาเพราะความไม่เข้าใจของพ่อแม่ที่คิดว่าการไปซื้ออาหารเสริมพวกนี้จะแก้ปัญหาได้ ซึ่งหมอก็เคยเขียนให้อ่านในบทความที่ผ่านๆมาแล้ว

2.ต่อมา ลองมาดูว่ามีปัจจัยที่ทำให้หรือเด็กสมาธิไม่ดีเปล่า เช่น

-การเลี้ยงดูที่ขาดการปลูกฝังระเบียบวินัย ตามใจและปล่อยให้ทำอะไรตามใจ
-เด็กที่เล่นอิเล็คทรอนิคส์มากเพราะพ่อแม่ไม่มีเวลา หรือไม่มีกฎระเบียบในการใช้ชีวิต
-เด็กที่นอนน้อยไม่เพียงพอต่อการนอนหลับที่ควรเป็นตามวัย
-ความเครียดในครอบครัวที่ส่งผลกระทบกับเด็ก
-เด็กที่เข้าเรียนเร็วเกินไปโดยไม่เหมาะกับระดับพัฒนาการ คุณครูมองว่าเด็กสมาธิสั้น ทั้งที่จริงๆเป็นพัฒนาการตามวัย

ซึ่งหากมีปัจจัยเหล่านี้ ก็ควรจัดการปรับปรุงด้วย

3.จัดการปรับสิ่งแวดล้อม + สิ่งที่จะทำได้เพื่อสร้างสมาธิให้เด็ก ได้แก่

-หาสถานที่ให้เด็กนั่งทำการบ้านทำงานส่วนตัว โดยไม่มีอะไรมารบกวน เช่น โต๊ะว่างๆ ไม่มีทีวีหรือของเล่นอยู่บริเวณนั้น ถ้าห้องมีหน้าต่างก็ควรจะติดม่านปิดให้เรียบร้อย เพราะเด็กจะวอกแวกจากสิ่งที่เกิดขึ้นข้างนอกหน้าต่างได้บ่อยๆ

-เวลาทำงานอาจต้องให้ผู้ใหญ่นั่งประกบอยู่ด้วย เพื่อคุมให้เด็กทำงานให้เสร็จเรียบร้อย

-พ่อแม่และผู้ใหญ่ต้องพยายามจัดการอารมณ์ของตัวเอง อย่าลงโทษด้วยวิธีรุนแรงเวลาที่เด็กทำผิด เพราะการทำโทษโดยวิธีรุนแรง จะยิ่งทำให้เด็กมีอารมณ์หงุดหงิดและก้าวร้าวมากขึ้น

-เวลาบอกเด็กให้ทำอะไร เรียกให้เขาหันมามองหน้าผู้ใหญ่ก่อน แล้วค่อยบอกด้วยประโยคที่สั้นกระชับไม่ยืดยาว และให้เด็กทวนว่าเมื่อกี้ผู้ใหญ่บอกอะไรเขาไปอีกครั้งหนึ่ง

-ถ้าเด็กมีพฤติกรรมที่ดี ควรชมเชยให้กำลังใจ ให้เขารู้สึกดีกับตัวเอง และทำอะไรดีๆต่อไป จับถูกมากกว่าจับผิด

-บางครั้งเด็กจะลืมง่าย อาจมีเครื่องมือที่ช่วยเตือนความจำ เช่น แปะกระดาษเตือนไว้ที่กล่องดินสอ สำหรับสิ่งที่กลัวว่าเด็กจะลืม เช่น อย่าลืมเอาสมุดการบ้านกลับบ้าน เป็นต้น

-เด็กที่สมาธิไม่ดีหรือเป็นสมาธิสั้นอาจมีลักษณะที่เรียกว่า Time Blindness คือไม่รู้จักเวลา เวลาทำอะไรอาจจะช้าจนทำให้สาย พ่อแม่อาจจะช่วยด้วยการ วางนาฬิกาตั้งไว้ให้เด็กเห็นชัดๆ และอาจมีการตั้งเวลาเตือนเอาไว้ด้วย

4.ในกรณีที่สงสัยและปรับแล้วไม่ดีขึ้น ควรพาไปตรวจประเมินกับจิตแพทย์เด็กหรือกุมารแพทย์พัฒนาการและพฤติกรรม ไม่ต้องกังวลจะไปหรือไม่ไปดี ถ้าเราไม่ไปพ่อแม่ก็จะกังวลอยู่แบบนี้ อย่างน้อยถ้าไป น่าจะได้รับคำแนะนำดีๆ

5.พบได้ว่าเด็กที่มีสมาธิไม่ดีส่วนหนึ่งเกิดจากโรคสมาธิสั้น

หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งเคยลงข่าวเมื่อปีที่ผ่านมา เรื่องของเด็กไทยเป็นสมาธิสั้นกันมาก ซึ่งมันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ ตามสถิติในงานวิจัย มีเด็กที่มีภาวะสมาธิสั้นประมาณร้อยละ 5 หมายความว่าห้องเรียนหนึ่งอาจมีราว 2-3 คน

จริงอยู่ว่าชื่อโรคนี้จะเรียกสั้นๆ ว่า “สมาธิสั้น” แต่ในความเป็นจริง คนที่เป็นโรคนี้ ไม่ได้มีแค่สมาธิที่ไม่ดี แต่จริงๆ สิ่งที่เป็นปัญหาคือ การควบคุมตัวเองในด้านพฤติกรรม อารมณ์ จนทำให้เป็นปัญหาต่อตัวเองและคนรอบข้าง และพบว่าเป็นตั้งแต่เด็ก ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาเรื่องการเรียน แต่ก็มีปัญหาอื่นๆด้วย ไม่ว่าจะเป็น การเข้าสังคม และการอยู่ร่วมกับคนรอบข้าง

.

หมออยากจะแถมพูดถึงรายละเอียดของโรคสมาธิสั้นให้ฟังสักหน่อย

โรคสมาธิสั้นนั้น หมอจะวินิจฉัยด้วยการซักประวัติอาการที่พบ โดยเด็กส่วนใหญ่จะมีอาการทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน โดยอาการที่พบนั้นจะแบ่งเป็น 3 แบบ บางคนก็มีรวมๆกันทุกแบบ แต่บางคนก็มีแต่แบบเดียวหรือสองแบบก็ได้

แบบที่หนึ่งคือ ‘ซุกซนอยู่ไม่นิ่ง’ เด็กจะอยู่ไม่ค่อยนิ่ง เด็กเล็กจะอาการชัดกว่า คือ วิ่งได้ตลอด ดูเหมือนพลังงานเหลือเฟือ บางคนที่ซนมาก แม่จะบอกว่า เด็กวิ่งได้ก่อนเดิน ถ้าซนมากๆอาจมีเรื่องอุบัติเหตุ เพราะชอบปีนป่าย วิ่งไปทั่ว เข่าเป็นแผล หัวแตกก็มี แต่เด็กบางคนที่โตแล้วอาจไม่ได้ซนชัดเจน แต่จะมีอาการเวลานั่งเฉยๆจะรู้สึกกระวนกระวายใจ ต้องเขย่าขา ขยับไปมาดูอยู่ไม่สุข นอกจากนั้นบางคนจะพูดเก่งพูดมาก พูดไม่หยุด

แบบที่สองคือ ‘อารมณ์ร้อนหุนหันพลันแล่น’ เด็กจะรอคอยอะไรนานๆไม่ได้ บางคนเหมือนคอยได้แต่จะอึดอัดรำคาญ บางคนเป็นมาก ก็ไม่รอ บางทีแซงแถว บางครั้งก็พูดสอดเวลาคนอื่นกำลังคุยอยู่ ผู้ใหญ่ถามคำถามไม่จบก็รีบพูดแทรกเข้ามา บางคนใจร้อนมาก ก็จะมีปัญหากับเพื่อน เช่นทะเลาะกัน กระทบกระทั่ง บางครั้งเด็กมักจะบอกว่า ไม่ได้ตั้งใจที่จะทำอะไรรุนแรง มักบอกว่า "มือไปไวกว่าความคิด คิดไม่ทัน"

แบบที่สามคือ ‘อาการขาดสมาธิ วอกแวก’ เด็กมักไม่สามารถจดจ่อกับอะไรได้นาน โดยต้องดูอาการเวลาที่เด็กทำเรื่องที่เด็กไม่ชอบ ต้องฝืนตัวเอง เช่น ทำการบ้าน (ส่วนในเรื่องที่เขาชอบ เช่น เล่นเกม ดูทีวี นั้นถ้าทำได้นาน ไม่ได้บอกว่าเขาสมาธิดี) เวลาเราพูดอะไรด้วยจะเหมือนไม่ได้ฟังที่เราพูด(เหมือนหูซ้ายทะลุหูขวา) มีอะไรผ่านมานิดหน่อยเด็กจะถูกดึงดูดความสนใจง่าย เช่น นั่งทำการบ้านอยู่ข้างหน้าต่าง เด็กก็จะชอบมองออกไปนอกหน้าต่างบ่อยๆ ว่ามีอะไร เช่น นกตัวไหนบินอยู่ เครื่องบินกำลังมารึเปล่า เป็นต้น หรือบางคนพูดอะไรให้ฟังก็จำไม่ได้ จับใจความได้ไม่หมด บางคนขีลืมมาก แม่จะบอกว่าเอาของไปโรงเรียนกลับมาหายหมด ถ้าไปดูสมุดการบ้านจะเห็นว่าของบางคนจะเละไม่มีระเบียบ วาดรูปเล่นเต็มไปหมด

.

พ่อแม่หลายคนกลัวว่าถ้าไปหาจิตแพทย์เด็กต้องถูกจับทานยาเสมอ จริงๆไม่ใช่แบบนั้น

หมอที่ตรวจเด็ก ก็ต้องดูการวินิจฉัยด้วยว่าเป็นสมาธิสั้นแน่นอนมั้ย ในกรณีที่หมอวินิจฉัยเป็นสมาธิสั้น การรักษานอกจากการกินยาเพื่อปรับสมดุลของสมอง ก็มีวิธีปรับพฤติกรรมอย่างอื่นตามที่บอกไว้ข้างต้น

ถ้าไปตรวจแล้วพบว่าเด็กเป็นสมาธิสั้นจริง ก่อนอื่นเพราะแม่ต้องทำความเข้าใจ เพราะที่ผ่านมาพ่อแม่อาจจะคิดว่าที่เด็กซนอยู่ไม่นิ่งเพราะเด็กนิสัยไม่ดี ก็ต้องปรับความเข้าใจใหม่ว่ามันเป็นความผิดปกติของการทำงานของสมอง เด็กไม่ได้ตั้งใจ แต่เพราะเขาควบคุมตัวเองไม่ได้จริงๆ

สำคัญที่สุดพ่อแม่ควรควบคุมจัดการกับอารมณ์ของตัวเอง เพราะมีผลในการจัดการกับพฤติกรรมลูก

อย่าลืมว่าการลงโทษรุนแรงจะยิ่งทำให้เด็กมีอารมณ์โกรธหงุดหงิด ยิ่งดื้อและต่อต้านมากขึ้น ควรให้คำชมหรือรางวัลเมื่อเด็กทำพฤติกรรมที่ดีและถ้าเค้าทำอะไรผิดก็ทำโทษ โดยการงดกิจกรรม หรือตัดสิทธิ์ต่างๆ

.

กล่าวโดยสรุปคือ หากรู้สึกว่าลูกสมาธิไม่ดี ก่อนอื่นต้องหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไร จัดการแก้ไขสาเหตุที่พบ ถ้าไม่มั่นใจควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ

อย่าให้การดูแลรักษาลูกล่าช้าหรือผิดทิศทาง ด้วยการไปซื้อยาหรืออาหารเสริมมาให้รับประทานโดยที่เราไม่เข้าใจอาการของลูกอย่างชัดเจนดีพอ น่าจะทำให้การแก้ไขปัญหาล่าช้าและมีผลกระทบที่ตามมาได้

หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ค่ะ

#หมอมินบานเย็น
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่