ทำไมสรุปไม่ได้ว่า ไทยเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลก โดย CRISP

จากที่คุณบรรยง บรรยง พงษ์พานิช โพสในเฟสบุ๊คส่วนตัวว่า ประเทศไทยเหลื่อมล้ำที่สุดในโลก นั้น ผมอ่านดูแล้วก็รู้สึกเศร้าใจมากที่เจ้าตัวทำตัวแบบสื่อ
ไร้จรรยาบรรณเอารายงานที่ยังมีข้อกังขามีโพสจริงๆจังๆ โดยไม่มีความระมัดระวังเพียงพอ สำหรับคนเคยเรียนเศรษฐศาสตร์แบบผมแล้วการรายงานแบบ
คุณบรรยง เป็นการกระทำที่น่าละอายมาก ผมเลยอยากเอาข้อมูลอีกส่วนมาแย้งตามนี้ครับ เข้าไปอ่านกันได้
ลิ้งต้นทาง https://www.facebook.com/CRISP.Thammasat/posts/592056194601289

ทำไมสรุปไม่ได้ว่า ไทยเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลก
--------------
ศ.ดร. อารยะ ปรีชาเมตตา
--------------
ขอย้ำเพื่อความชัดเจนตั้งแต่ต้นว่า ผมไม่ได้จะเถียงว่าความเหลื่อมล้ำไม่ใช่ปัญหาใหญ่หรือไม่ใช่ปัญหาสำคัญสำหรับประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ผมจำเป็นต้องขอแย้งอย่างสร้างสรรค์เพื่อช่วยสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องโดยเริ่มจากการโยนคำถามว่า ทำไมเราไม่อาจกล่าวได้ว่า ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำทางด้านการถือครองสินทรัพย์ที่สูงมากที่สุดในโลกด้วยเพียงการอ้างงานวิจัยของ Credit Suisse Global Wealth Report 2018 เท่านั้น

ทั้งนี้ผมจะขอข้ามประเด็นเรื่องที่มีการถกเถียงกันเกี่ยวกับความถูกต้องของข้อมูลที่ใช้ในรายงานนี้ด้วยการไม่กล่าวถึงมันเลย เพราะเห็นว่าน่าจะไปถกเถียงกันในวงวิชาการมากกว่า แต่ผมจะขอกล่าวถึงเหตุผลที่คิดว่ามีความสำคัญและตรงประเด็นมากกว่าโดยแยกเป็นสองประเด็นดังนี้
ประเด็นแรก แม้ว่าข้อมูลของ Credit Suisse Global Wealth Report 2018 จะชี้ให้เห็นว่า มีเพียงสี่ประเทศ (จากราว 40 ประเทศ) คือ ไทย รัสเซีย ตุรกี และ อินเดีย ที่มีกลุ่มคนที่มีรายได้สูงสุดใน 1% แรกที่ถือครองสินทรัพย์รวมกันมากกว่าร้อยละ 50 ของสินทรัพย์รวมทั้งประเทศ และกรณีของไทยนั้น กลุ่มคนที่มีรายได้สูงสุดใน 1% แรกนี้ถือสินทรัพย์รวมกันคิดเป็นถึงร้อยละ 66.9 ของสินทรัพย์รวมทั้งประเทศ และสูงกว่าอีกสามประเทศที่เหลือที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นตามรายงานนี้ นอกจากนี้ ถ้าเราไปดูในตารางข้อมูลของรายงานวิจัยนี้ เราก็จะพบอีกว่า ประเทศฝรั่งเศส อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ต่างก็มีตัวเลขของสัดส่วนการถือครองสินทรัพย์ของคนกลุ่มที่มีรายได้สูงสุด 1% แรกเท่ากับ 20.6%, 24.6% และ 35.5% ตามลำดับเท่านั้น จึงทำให้มีผู้นำไปสรุปว่า เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลของประเทศต่างๆ จำนวนราว 40 ประเทศนี้ ปรากฏว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางด้านการถือครองสินทรัพย์ที่สูงมากที่สุดในโลก ซึ่งผมขอแย้งว่า นี่เป็นข้อสรุปที่ “ไม่ถูกต้อง” ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

เพื่อให้ผู้อ่านสามารถเห็นประเด็นได้ชัดเจน ผมจะขอยกตัวอย่างการวิเคราะห์เปรียบเทียบเฉพาะกรณีของ ไทย กับ ประเทศที่พัฒนาแล้วและมีรายได้สูงอีก 3 ประเทศคือ ฝรั่งเศส อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา เพื่อชี้ให้เห็นว่า เราไม่สามารถเอามาเปรียบเทียบกันได้ เพราะประเทศไทยมีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและอื่น ๆ ที่เทียบไม่ได้กับประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งสามประเทศนี้ ทำไมผมถึงกล่าวเช่นนี้ เหตุผลก็เพราะว่า ถ้าเราย้อนกลับไปดูตัวเลขประเภทเดียวกันนี้ของทั้งสามประเทศนี้ในอดีตราวช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 (ก่อน ค.ศ. 1910) เราก็จะเห็นได้ว่า ทั้งฝรั่งเศส อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ต่างก็มีสัดส่วนของมูลค่าสินทรัพย์ที่ถือโดยคนที่มีรายได้สูงที่สุดใน 1% แรกเมื่อเทียบกับทรัพย์สินรวมทั้งหมดของประเทศที่คิดเป็นสัดส่วนที่สูงถึงกว่า 50% ถึง 70% ซึ่งใกล้เคียงกับกรณีของประเทศไทยในเวลานี้ตามรายงานของ Credit Suisse Global Wealth Report 2018 เช่นกัน (ดูรายละเอียดได้จากหนังสือชื่อ Capital in the Twenty-First Century เขียนโดย Thomas Piketty (2014) รูปที่ 10.1, 10.3 และ 10.6) และสาเหตุที่ทำให้ ความเหลื่อมล้ำทางการถือครองสินทรัพย์ของประเทศเหล่านี้มีค่าลดลงได้หลังจากนั้น ก็เนื่องมาจากผลของสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นสำคัญนั่นเอง (ดู Piketty (2014) หน้า 338) ไม่ใช่ฝีมือของรัฐบาลของประเทศเหล่านั้นโดยตรงด้วยซ้ำ แม้ในอีกส่วนหนึ่งจะมาจากการปรับเปลี่ยนระบบการจัดเก็บภาษีของประเทศที่พัฒนาแล้วเหล่านั้น แต่ก็เกิดขึ้นหรือมีผลภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 แล้ว

จากเหตุผลที่นำเสนอมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำของการถือครองสินทรัพย์จึงเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สัมพันธ์กับระดับการพัฒนาของเศรษฐกิจและประเทศของแต่ละประเทศที่แตกต่าง และโดยปกติแล้วความเหลื่อมล้ำของการถือครองสินทรัพย์ก็จะมีค่าสูงกว่าความเหลื่อมล้ำเชิงรายได้เสมอ เพราะฉะนั้น เราจึงไม่สามารถอ้างได้ว่า ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำด้านการถือครองสินทรัพย์ “ที่รุนแรงที่สุดเป็นอันดับแรกในโลก” ด้วยเพียงแต่การเปรียบเทียบตัวเลขสัดส่วนการถือครองสินทรัพย์ของคนกลุ่มที่มีรายได้สูงสุด 1% แรกของประเทศในช่วงเวลาเดียวกันตามการเปรียบเทียบที่มีคนพูดตามกันจากรายงานของ Credit Suisse Global Wealth Report 2018 เท่านั้น

ประเด็นที่สอง แม้ว่าฝรั่งเศส อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา จะมีตัวเลขของสัดส่วนการถือครองสินทรัพย์ของคนกลุ่มที่มีรายได้สูงสุด 1% แรกเท่ากับ 20.6%, 24.6% และ 35.5% ตามลำดับและต่ำกว่าไทย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะมีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงน้อยกว่าไทย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือปัญหาการจลาจลที่เกิดขึ้นในกรุงปารีสและเมืองต่าง ๆ ของฝรั่งเศสในสามสี่อาทิตย์ที่ผ่านมา เพียงแต่ว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำของประเทศเหล่านี้อาจจะแตกต่างจากปัญหาของไทยในขณะนี้ ทั้งนี้ก็เนื่องจากว่า ประเทศร่ำรวยทั้งหลายได้เพิ่มสัดส่วนภาษีต่อรายได้ประชาชาติจากเพียงราวเศษหนึ่งส่วนสิบของรายได้ประชาชาติ ขึ้นไปเป็นถึงราวหนึ่งในสามถึงครึ่งหนึ่งของรายได้ประชาชาติในช่วงตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา (Piketty (2014) หน้า 476)

ส่วนเหตุผลของการขึ้นภาษีของประเทศที่พัฒนาแล้วเหล่านี้ก็เพราะประเทศเหล่านี้ เลือกที่จะลดปัญหาความเหลื่อมล้ำด้วยการเพิ่มความเท่าเทียมในเรื่องการเข้าถึงบริการพื้นฐาน เช่น การศึกษา การแพทย์และสาธารณสุข และระบบบำนาญเพื่อให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง แทนการไปเก็บภาษีจากคนรวยเพื่อมากระจายให้กับคนจนเท่านั้น (Piketty (2014) หน้า 479) จึงมีผลทำให้หลายประเทศ รวมทั้งฝรั่งเศสจะต้องเก็บภาษีในอัตราสูงเพื่อมาใช้จ่ายในโครงการต่างๆ เหล่านั้น ซึ่งก็จะก่อให้เกิดความไม่พอใจและมีการประท้วงรัฐบาลโดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ขยายตัวมากเท่าที่ควร เพราะการเก็บภาษีที่สูงจะกลายเป็นสาเหตุนำไปสู่ความไม่พอใจของผู้ประท้วงที่มักตั้งคำถามว่าทำไมรัฐบาลไม่ไปเก็บภาษีจากคนรวยให้มากขึ้นแทน

ตัวอย่างความเหลื่อมล้ำประเภทนี้ในประเทศที่พัฒนาแล้ว นับเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับประเทศไทยด้วย เพราะขณะนี้เรามุ่งใช้แผนประเทศไทย 4.0 เพื่อหนีจากกับดักของประเทศรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง แต่เราได้ตรียมตัวเพื่อรับมือกับปัญหาความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตไว้แล้วอย่างเพียงพอและจริงจังแล้วหรือไม่อย่างไร
สรุปก็คือว่าเราควรเตรียมตัวล่วงหน้ารับมือกับปัญหาด้วยความไม่ประมาท แต่ก็ไม่ควรต้องตื่นตระหนกกันเกินเหตุจนทำให้เสียงานครับ
ศ.ดร. อารยะ ปรีชาเมตตา
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่