การปฏิวัติอิรัก จุดจบอันน่าเศร้าของระบอบกษัตริย์อิรัก

บทความนี้นำมาจากบทความในบล็อกของผม Saihistory นะครับ สามารถเข้าไปในบทความหลักได้ที่ https://saihistory.blogspot.com/2018/07/blog-post.html นะครับ

     ในช่วงทศวรรษที่ 1950 เกิดปัญหาเศรฐกิจตกต่ำอันเป็นผลจากสงครามโลกครั้งที่ 2 และภัยคอมมิวนิสต์จากช่วงสงครามเย็น ราชอาณาจักรอิรักก็รับผลนี้เช่นกัน แม้ในตอนนั้นจะมีความพยายามในการแก้ปัญหาแต่ก็ยังไม่ประสบผลเท่าที่ควร นอกจากนี้ยังเกิดปัญหานักชาตินิยมที่พยายามกดดันรัฐบาลและพระมหากษัตริย์ไม่ให้เข้ายุ่งเกี่ยวกับชาติตะวันตก หลังจากที่อิรักเข้าร่วมในสนธิสัญญาแบกแดดที่มีจุดมุ่งหมายในการป้องกันการรุกล้ำของภัยคอมมิวนิสต์ในตะวันออกกกลาง อันประกอบไปด้วย 5 ประเทศหลักได้แก่ สหราชอาณาจักร,อิรัก,อิหร่าน,ตุรกีและปากีสถาน


ภาพถ่ายคู่องค์มกุฎราชกุมารอับดัลอิละฮ์(ซ้าย) กับนายกรัฐมนตรี นูรี อัล-ซะอีด (ขวา)


สถานการณ์ทางการเมืองในอิรักเริ่มแย่ลงอีกครั้ง หลัง ญะมาล อับดุนนาศิร ได้ล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์อียิปต์ จากการปฏิวัติอียิปต์ในปี 1952 และอับดุลนาศิรก็ผลักดันให้เหล่านักชาตินิยมในอาหรับเริ่มต่อต้านพวกชาติตะวันตก แม้นูรีจัพยายามออกนโยบายเพื่อผ่อนปรนความตึงเครียดจากเหตุการณ์ แต่ทว่าเหตุการณ์กลับไม่ดีขึ้นแม้แต่น้อย สถานการณ์ในอิรักในตอนนั้นก็คงต้องนับวันรอที่จะโดนการปฏิวัติ


เหตุการณ์ในการปฏิวัติอียิปต์


ในปี 1958 อียิปต์กับซีเรียจับมือตั้งพันธมิตรกันในนาม สหสาธารณรัฐอาหรับ เพื่อต่อต้านพวกอเมริกาและชาติตะวันตกพร้อมด้วยสนับสนุนเหล่านักชาตินิยมสายแพน-อาหรับ ทำให้ทางอิรักต้องจับมือร่วมกับจอร์แดนซึ่งเป็นชาติพันธมิตรของอิรักที่ปกครองโดยราชวงศ์ฮัชไมต์เหมือนกัน ซึ่งทั้งสองได้จัดตั้งสหพันธรัฐอาหรับแห่งอิรักและจอร์แดน  เพื่อต่อต้านการรวมตัวกันของอียิปต์และซีเรีย ที่เป็นเหมือนเสี้ยนหนามที่มีผลต่อความมั่นคงของทั้งอิรักและจอร์แดน


พระเจ้าฟัยศ็อลที่ 2 แห่งอิรัก(ขวา)กับสมเด็จพระราชาธิบดีฮุสเซนแห่งจอร์แดน(ซ้าย)
โดยทั้งสองพระองค์ทรงฉลองพระองค์เครื่องแบบทหารเพื่อแสดงความเคารพต่อกันและกัน


แต่ว่าหลังจากนั้นไม่นาน ก็เกิดโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ขึ้นเมื่อ กองทัพอิรักภายใต้การนำของพลเอก อิบด์ อัล-คะริม กอซิม ที่ควรจะไปจอร์แดนเพื่อช่วยเหลือในช่วงเหตุการณ์วิกฤติการณ์เลบานอน กลับหันกองทัพกลับเข้าเมืองซึ่งเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่จะทำการปฏิวัติ ในขณะเดียวกันพันเอกอับดุล ซะลาม อะริฟ หนึ่งในแกนนำฝ่ายปฏิวัติ ได้เข้ายึดสถานีโทรทัศน์ในกรุงแบกแดด และได้ประกาศชวนเชื่อในการปฏิวัติ โดยมีความว่า
"....ล้มล้างจักรวรรดินิยมและกลุ่มพรรคพวกในคณะเจ้าหน้าที่ ประกาศสาธารณรัฐใหม่และจุดจบยุคสมัยเก่า.... ประกาศสภาชั่วคราวแห่งสามสมัชชาเพื่อรับรองอำนาจประธานาธิบดีและสัญญาว่าจะจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ต่อไป"

จากนั้นอารีฟได้ส่งกองทัพไปยังพระราชวังอัล-ราฮับ เพื่อคุมตัวพระเจ้าฟัยศ็อลที่ 2 และพระบรมวงศานุวงศ์อิรักทั้งหมด เพื่อกองทัพของอารีฟมาถึงหน้าพระราชวัง พระเจ้าฟัยศ็อลที่ 2 ได้สั่งให้เหล่าทหารมหาดเล็กวางอาวุธและยอมจำนนต่อทัพคณะปฏิวัติด้วยตนเอง เพื่อหวังว่าจะมีความประณีประณอมต่อกัน

     แต่ว่าความหวังที่หริบหรี่ของพระองค์ก็ไม่เป็นจริง  เพราะว่าอิบด์ อัล-คะริม กอซิม ได้สั่งประหารชีวิตพระบรมวงศานุวงศ์อิรักทั้งหมด ทำให้ทั้งพระเจ้าฟัยศ็อลที่ 2 ,มกุฎราชกุมารอับดัลอิละฮ์, เจ้าหญิงฮิยาม (พระชายาในมกุฎราชกุมารและเป็นพระมาตุจฉาในกษัตริย์), สมเด็จพระราชินีนาฟิสซา บินต์ อัลอิละฮ์ (พระมารดาในสมเด็จพระราชชนนีอะลียะฮ์และมกุฎราชกุมารอับดัลอิละฮ์ และเป็นพระอัยยิกาในกษัตริย์), เจ้าหญิงคะดิยะห์ อับดิยะห์ (พระเชษฐภคินีในสมเด็จพระราชชนนีอะลียะฮ์และมกุฎราชกุมารอับดัลอิละฮ์ และเป็นพระมาตุจฉาในกษัตริย์)ถูกยิงสังหารทั้งหมด ถึงแม้พระเจ้าฟัยศ็อลจะไม่สิ้นพระชนม์ในทันที แต่ก็มาสวรรคตกลางทางก่อนที่พระองค์จะถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล เป็นอันสิ้นสุดการปกครองของราชวงศ์ฮัชไมต์อิรัก ที่ปกครองประเทศอิรักมา 37 ปี


เหล่าแกนนำสำคัญในการปฏิวัติ


โดยในการปฏิวัตินี้นอกจากกษัตริย์แล้ว นายกรัฐมนตรีเองก็เป็นเป้าหมายด้วยเช่นกัน นายกรัฐมนตรีนูรี อัล-ซะอีดต้องหลบหนีหัวซุกหัวซุนออกจากแบกแดดไปยังเมืองต่างๆ จากการตามล่าของทหารและฝ่ายปฏิวัติ แต่จนแล้วจนรอดนูรีก็ถูกจับได้ในวันที่ 15 กรกฎาคมเขาได้ถูกจับตที่เขตอัล-บัทตาวินในแบกแดดซึ่งพยายามหนีโดยปลอมตัวเป็นผู้หญิงสวมใส่อาบายา (ชุดคลุมยาวของสตรีอิสลาม) นูรีและผู้ติดตามได้ถูกยิงถึงแก่อสัญกรรมทันที ศพของทั้งนูรีและมกุฏราชกุมารได้ถูกลากไปตามท้องถนน และถูกฉีกส่วนต่างๆของร่างกายออกเป็นชิ้นๆ ก่อนที่ร่างไร้วิญญาณของทั้งสองคนจะถูกเผาในที่สุด


สภาพศพของทั้งสองคน
โดยด้านซ้ายเป็นร่างของมกุฎราชกุมารอับดัลอิละฮ์ ส่วนขวาคือ นูรี อัล-ซะอีด


     หลังจากสังหารนูรีแล้ว ได้มีการนำข้าวของมีค่าภายในวังออกมาทำลายกลางท้องถนน นอกจากนี้ยังมีพวกม็อบหัวรุนแรงมาไล่ฆ่าชาวต่างชาติอย่างรุนแรง จนถึงขั้นที่กาซิมต้องประกาศเคอร์ฟิลเลยทีเดียว
   หลังการปฏิวัติในครั้งนี้อิรักถูกเข้าควบคุมแบบไตรภาคีภายใต้ "สภาปกครอง" ประกอบด้วยผู้แทนอิรักจากสามกลุ่มชาติพันธุ์หลัก และเหตุการณ์นี่ยังได้รับความสนใจอย่างมากไปทั่วทั้งตะวันออกกลางและอเมริกา อิรักได้ออกจาสนธิสัญญาแบกแดดและเริ่มจับมือกับสหภาพโซเวียตซึ่งมีแนวคิดคอมมิวนิสต์ นอกจากนี้การปฏิวัติในครั้งนี้ยังส่งปลทำให้สถานะทางการเมืองอิรักขาดเสถียรภาพอย่างยิ่งไปจนกระทั่งอิรักถูกเข้าปกครองโดยพรรคบาธหลังการปฏิวัติเราะมะฎอนในปี 1963

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่