[CR] [CR] เที่ยวประเพณียี่เป็ง เชียงใหม่ 2561

ลอยกระทงปีนี้ผมและครอบครัวได้มีโอกาสไปเที่ยวชมประเพณียี่เป็งที่จังหวัดเชียงใหม่กันครับ  โดยในปีนี้เขาจัดงานระหว่างวันที่ 21-23 พฤศจิกายน 2561
โดยประเพณียี่เป็ง ยี่ แปลว่า สอง ส่วน เป็ง แปลว่า เพ็ญ หรือ คืนพระจันทร์เต็มดวง ซึ่งหมายถึงประเพณีในวันเพ็ญเดือนสองของชาวล้านนา ซึ่งตรงกับเดือนสิบสองของไทย งานประเพณีจะมีสามวัน
วันที่ 1 วันขึ้นสิบสามค่ำ หรือ วันดา เป็นวันซื้อของเตรียมไปทำบุญที่วัด
วันที่ 2 วันขึ้นสิบสี่ค่ำ จะไปทำบุญกันที่วัด พร้อมทำกระทงใหญ่ไว้ที่วัดและนำของกินมาใส่กระทงเพื่อทำทานให้แก่คนยากจน
วันที่ 3 วันขึ้นสิบห้าค่ำ จะนำกระทงใหญ่ที่วัดและกระทงเล็กส่วนตัวไปลอยในลำน้ำ
ในช่วงวันยี่เป็งจะมีการประดับตกแต่งวัด บ้านเรือน ทำประตูป่า ด้วยต้นกล้วย ต้นอ้อย ทางมะพร้าว ดอกไม้ ตุง ช่อประทีป และชักโคมยี่เป็งแบบต่าง ๆ ขึ้นเป็นพุทธบูชา และมีการจุดถ้วยประทีป(การจุดผางปะตี๊บ) เพื่อบูชาพระรัตนตรัย และมีการจุดว่าวไฟปล่อยขึ้นสู่ท้องฟ้าเพื่อบูชาพระเกตุแก้วจุฬามณีบนสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ชาวล้านนาจุดผางประทีส เพื่อเป็นพุทธบูชาพระเจ้าห้าพระองค์ตามตำนานแม่กาเผือก และจุดบูชาเพื่อตอบแทนบุญคุณผู้มีพระคุณ ชาวล้านนานิยมจุดผางประทีสบูชา เพื่อสักการะต่อสิ่งต่างๆที่ได้ใช้ประโยชน์ เช่น ประตูบ้าน บ่อน้ำ ยุ้งข้าว เตาไฟ บันได หน้าต่าง ฯลฯ นอกจากนี้ เป็นการบูชาแสงสว่าง เชื่อว่าจะทำให้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด มีแสงสว่างนำทางชีวิตให้โชติช่วงชัชวาลดั่งแสงจากผางประทีสด้วย


ตำนานที่กล่าวถึงที่มาของประเพณียี่เป็งมีอยู่หลายตำนาน(ข้อมูลจาก ศูนย์สนเทศภาคเหนือ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) เช่น ในหนังสือตำนานโยนกและจามเทวีวงศ์ กล่าวว่า ประเพณีลอยโขมด หรือลอยไฟ เป็นประเพณีดั้งเดิมที่สืบเนื่องกันมาตั้งแต่โบราณกาลแล้ว การลอยโขมด เกิดขึ้นที่อาณาจักรหริภุญไชย (จังหวัดลำพูนในปัจจุบัน) เมื่อ จ.ศ.๓๐๙ หรือประมาณ พ.ศ. ๑๔๙๐ ช่วงพุทธศัตวรรษที่ ๑๔ มีกลุ่มคนมอญหรือเม็งที่อาศัยอยู่ในเมืองหริภุญไชยได้อพยพหนีอหิวาตกโรคที่เกิดขึ้นในเมือง
ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก จึงพากันอพยพออกจากหริภุญชัยไปอยู่ที่เมืองสะเทิมหรือสุธัมมวดี และต่อไปยังเมืองหงสาวดีเป็นเวลาถึง ๖ ปี ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวหลายคนก็มีครอบครัวใหม่ที่นั่น และเมื่อทราบข่าวว่าอหิวาตกโรคในหริภุญชัยได้สงบลงแล้ว พวกที่คิดถึงถิ่นเดิมต่างพากันเดินทางกลับหริภุญไชย เมื่อถึงวันครบรอบปีที่ได้จากพี่น้องที่เมืองหงสาวดี จึงจัดดอกไม้ธูปเทียน เครื่องสักการะ พร้อมทั้งเครื่องอุปโภคบริโภค ใส่ลงใน สะเปา ลักษณะคล้ายเรือ หรือใส่ในสะตวงหรือกระทงลอยลงน้ำแม่ปิง น้ำแม่กวง แม่ทา เพื่อส่งความระลึกถึงญาติพี่น้องที่ยังอยู่เมืองหงสาวดี จึงเป็นมูลเหตุของการลอยสะเปาหรือลอยโขมด หรือลอยกระทงนับแต่นั้นมาถึงปัจจุบัน (สงวน โชติสุขรัตน์, ๒๕๑๑, หน้า ๑๑๗ – ๑๑๘; ศรีเลา เกษพรหม, ๒๕๔๒, หน้า ๕๘๕๑; ประสงค์ แสงงาม, สัมภาษณ์, ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๑)

ตำนานประเพณียี่เป็งที่พบในคัมภีร์ใบลานที่ใช้เทศนาธัมม์ตามวัดต่างๆในล้านนา เช่น คัมภีร์อานิสงส์ประทีส คัมภีร์อานิสงส์ผางประทีส และคัมภีร์อานิสงส์ยี่เป็ง ลอยประทีสโคมไฟ เป็นคัมภีร์ที่มักใช้เทศนาธัมม์ในช่วงประเพณียี่เป็ง ในคัมภีร์เหล่านี้ ได้กล่าวถึงตำนานหรือมูลเหตุแห่งการบูชาและอานิสงส์ที่เกิดจากการบูชาผางประทีส ไว้ดังนี้
ธัมม์หรือคัมภีร์ชื่อ อานิสงส์ประทีส กล่าวไว้ว่า หลังจากพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ธรรมแล้วได้ประทับอยู่เมืองสาวัตถี และเสด็จไปโปรดพระมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และเสด็จกลับลงมาโปรดพระพุทธบิดา เมื่อถึงเดือน ยี่เป็ง มีเทวบุตรตนหนึ่ง ชื่อ สยามาเทวบุตร พร้อมด้วยบริวารต้องการสักการบูชาพระพุทธเจ้าด้วยประทีส จึงแปลงกายเป็นนก ใช้ปากและเท้าถือผางประทีสบินไปพร้อมนกแปลง ซึ่งเป็นบริวาร ประทักษิณรอบพระพุทธเจ้า ๓ รอบ ได้เกิดอัศจรรย์แสงประทีสสว่างไสวไปทั่วชมพูทวีป คนทั้งหลายเห็นเป็นอัศจรรย์ยิ่งนัก จึงได้พากันมาทูลถามพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์จึงเทศนาธรรมถึงอานิสงส์การจุดประทีสเป็นพุทธบูชาว่า การสักการบูชาประทีสในเดือนยี่เป็ง ถือเป็นการบูชาพระรัตนตรัย นอกจากนั้น อานิสงส์การบูชาประทีสยังส่งผลทำให้ผู้ถวายทานมีรูปร่างและผิวพรรณงดงามไปทุกๆ ชาติ เป็นที่รักแก่คนและเทวดาทั้งหลาย (อุดม รุ่งเรืองศรี, ๒๕๔๒, หน้า ๗๘๘๖)

ธัมม์หรือคัมภีร์ชื่อ อานิสงส์ผางประทีส กล่าวไว้ว่า พระเจ้าห้าพระองค์ ได้แก่ พระกกุสันธะ พระโกนาคมนะ พระกัสสปะ พระโคตม (พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน) พระศรีอริยะเมตไตร ที่ทั้งห้าพระองค์ได้กำเนิดจากแม่กาเผือกเป็นไข่ห้าฟอง และวันหนึ่งขณะที่แม่กาออกไปหาอาหารได้เกิดพายุ ทำให้ไข่ทั้งไข่ฟองพัดตกจากรังไหลไปตามแม่น้ำ และมีแม่ไก่ แม่นาค แม่เต่า แม่โค และแม่ราชสีห์เก็บไปเลี้ยง เมื่อไข่ทั้งห้าฟองฟักออกมาเป็นมนุษย์เพศชาย และได้บวชเป็นฤๅษีทั้งห้า  เมื่อฤๅษีทั้งห้าได้พบกัน จึงไตร่ถามถึงมารดาของแต่ละองค์ แต่ละองค์ก็ตอบว่า แม่ไก่เก็บมาเลี้ยง แม่นาคเก็บมาเลี้ยง แม่เต่าเก็บมาเลี้ยง แม่โคเก็บมาเลี้ยง และแม่ราชสีห์เก็บมาเลี้ยง ฤๅษีทั้งห้าจึงสงสัยว่าแม่ที่แท้จริงของตนเป็นใคร จึงพากันอธิษฐานขอให้ได้พบแม่ ด้วยคำอธิษฐานจึงทำให้พกาพรหมผู้เป็นแม่ได้แปลงกายเป็นกาเผือกบินลงมาเล่าเรื่องในอดีตให้ฤๅษีทั้งห้าฟัง และได้บอกว่าหากคิดถึงแม่ ให้น้ำด้ายดิบมาฟั่นเป็นตีนกา แล้วจุดเป็นประทีสบูชาในเดือนยี่เป็ง (อุดม รุ่งเรืองศรี, ๒๕๔๒, หน้า ๗๘๙๐)

ธัมม์หรือคัมภีร์ชื่อ อานิสงส์ยี่เป็ง ลอยประทีสโคมไฟ ปรากฏในหนังสือ ธรรมเทศนาพื้นเมืองเรื่อง อานิสงส์ยี่เป็ง ลอยประทีปโคมไฟ (๒๕๓๐) กล่าวไว้ว่า เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่เชตวนาราม พระองค์ได้เทศนาชาดกเรื่อง อานิสงส์ยี่เป็ง ลอยประทีสโคมไฟ ว่า ในยุคของพระพุทธเจ้าชื่อโกนาคมนะ ครั้งหนึ่งพระสาวกชื่อ อุตตระ ได้เข้านิโรธสมาบัติในถ้ำสุตคูหาในดอยสิริทัตกะ และเมื่อออกจากนิโรธสมาบัติได้เกิดนิมิตว่า หากผู้ใดได้ถวายทานแก่พระองค์ในวันพรุ่งนี้จะได้อานิสงส์เป็นอย่างมาก และได้เล็งเห็นด้วยญาณว่า มีชายทุกข์ไร้เข็ญใจผู้หนึ่งจะรอถวายทานแก่พระองค์ รุ่งเช้าพระองค์จึงได้อุ้มบาตรไปโปรดยังบ้านชายผู้นั้น ชายผู้นั้นเกิดปิติศรัทธาเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่ง จึงได้ถวายข้าวกับแคบหมูแก่พระองค์ และอธิษฐานขอให้ได้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าพระศรีอริยะเมตไตร ที่จะมาบังเกิดในภายภาคหน้า เมื่อพระอุตตระได้กล่าวอนุโมทนาแล้ว ก็เสด็จกลับนำเอาแคบหมูมาบีบเป็นน้ำมันลงในผางประทีส และจุดบูชาพระพุทธเจ้าโกนาคมนะ ซึ่งวันนั้นเป็นวันเดือนยี่เป็งพอดี พอจุดประทีสบูชาแล้วนั้น แผ่นดินที่หนาได้สองแสนสี่หมื่นโยชน์ก็ไหวเป็นที่อัศจรรย์ พญาโสกราชาจึงได้ทูลถามพระพุทธเจ้า ว่า เป็นเพราะเหตุใด พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า มีชายทุกข์ไร้เข็ญใจได้ถวายแคบหมูใส่บาตรแก่พระอุตตระเถรเจ้า และพระอุตตระเถรเจ้าได้นำมาใส่ผางประทีสจุดเป็นพุทธบูชา เมื่อจุดบูชาในวันเดือนยี่เป็งจะมีผลานิสงส์มากนัก พระพุทธเจ้าได้เทศนาธัมม์อานิสงส์เดือนยี่เป็งลอยประทีสโคมไฟให้ภิกษุทั้งหลายฟังว่า หากได้บูชาประทีสโคมไฟในวันเดือนยี่เป็ง จะได้ผลานิสงส์ผิวพรรณงดงามเป็นที่รักแก่คนและเทวดา ไม่มีโรคภัยเบียดเบียนและได้ไปเกิดบนสรวงสวรรค์ และในตอนท้ายของธัมม์กล่าวต่อไปว่า ในเดือนยี่เป็งบุคคลใดที่ทำประทีปโคมไฟ ไปลอยในแม่น้ำน้อยใหญ่ หนองวัง และโบกขรณี เพื่อบูชารอยพระพุทธบาตรริมฝั่งแม่น้ำเมืองนาคราชบาดาลก็ดี เมื่อเกิดมาในชาตินี้ จะได้เป็นพญาใหญ่โต
ชื่อสินค้า:   ประเพณียี่เป็ง เชียงใหม่ ธุดงคสถานล้านนา วัดพันเตา ประตูท่าแพ หนองบัวพระเจ้าหลวง อนุสาวรีย์สามกษัตริย์
คะแนน:     

CR - Consumer Review : กระทู้รีวิวนี้เป็นกระทู้ CR โดยที่เจ้าของกระทู้

  • - จ่ายเงินซื้อเอง หรือได้รับจากคนรู้จักที่ไม่ใช่เจ้าของสินค้า เช่น เพื่อนซื้อให้
  • - ไม่ได้รับค่าจ้างและผลประโยชน์ใดๆ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่