จับตาประมูลดิวตี้ฟรี รอบใหม่ กลุ่มทุนใหญ่จ้องหยิบชิ้นปลามัน



ธุรกิจดิวตี้ฟรีหรือร้านขายสินค้าปลอดอากร ของประเทศไทยในภาพรวมนั้นต่อปีมีมูลค่านับแสนล้านบาท ซึ่งในภาพรวมแล้วมองดูผิวเผินอาจจะคิดว่ามีเพียงผู้ประกอบการรายเดียวเท่านั้นที่เป็นผู้เล่นในตลาดนี้ คือ บริษัท คิง เพาเวอร์ จำกัดแต่จริงๆแล้วตลาดนี้มีผู้เล่นหลายราย เพียงแต่กลุ่มคิง เพาเวอร์อาจจะเป็นกลุ่มใหญ่สุด เพราะเป็นผู้เปิดประเดิมธุรกิจนี้เป็นเจ้าแรก ๆ ทำให้พอนึกถึงก็ต้องนึกถึงคิง เพาเวอร์

โดยกลุ่มผู้เล่นของตลาดนี้นอกจากคิง เพาเวอร์ แล้ว ยังมีกลุ่มอื่นๆ อีก คือ กลุ่มเดอะมอลล์ และล่าสุดคือกลุ่ม ล็อตเต้ กรุ๊ป จากเกาหลี ซึ่งกลุ่มนี้ได้เข้ามาในประเทศไทยแล้ว ภายใต้ชื่อบริษัท ล็อตเต้ ดิวตี้ฟรี ไทยแลนด์ โดยได้เช่าพื้นที่ 1 หมื่นตารางเมตร (ตร.ม.) ใน “โชว์ ดีซี” ศูนย์การค้าและเอ็นเตอร์เทนเมนต์ครบวงจร บนถนนพระราม 9 ซึ่งมีกำหนดในการเปิด “ดิวตี้ฟรี ในเมือง” ในนามของ “ล็อตเต้ กรุ๊ป” ในเดือน ก.ค. 2560 โดยมีเม็ดเงินลงทุนหลักหมื่นล้านบาท เป็นของเรียกน้ำย่อย ล่อตาล่อใจ แต่อย่างไรก็ตามยังมีปัญหาว่ากลุ่มนี้ยังไม่สามารถเปิดให้บริการได้ พื้นที่ให้บริการส่งมอบสินค้าปลอดอากร หรือ (Pick Up Counter) ที่สนามบิน เพราะตามสัมปทานพื้นที่ในสนามบินทั้งดอนเมือง ยังติดสัญญาเช่า ซึ่งบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เอโอที ได้ทำสัญญาไว้กับกลุ่มคิงเพาเวอร์ โดยสัญญาดังกล่าวกำลังจะหมดอายุในปี 2563



ขณะที่บริษัทจีเอ็มเอส ดิวตี้ฟรี จำกัด (ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างร้านเจมส์แกลอรี่ กลุ่มเดอะมอลล์และชิลล่าจากเกาหลีใต้) ซึ่งได้เปิดให้บริการร้านค้าปลอดอากรที่สนามบินภูเก็ต จึงไม่มีปัญหาเรื่องการส่งมอบสินค้า เพราะมีจุดให้บริการ pick up counter ที่สนามบินภูเก็ต อย่างไรก็ตาม และในอนาคตเมื่อสัญญา pick up counter ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และดอนเมืองสิ้นสุดลงก็มีความเป็นไปได้ที่ ทอท. อาจจะทบทวนการอนุญาตเรื่อง pick up counter ใหม่ ตามสภาวะของตลาดที่เปลี่ยนไป จากปี 2549 ที่มีการเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิ และปี 2555 ที่เปิดประมูลที่สนามบินดอนเมือง

ขณะที่กลุ่มเซ็นทรัล ผู้นำค้าปลีกในประเทศนั้น แม้จะมีสาขาห้างในประเทศอยู่มากมาย แต่สำหรับดิวตี้ฟรีแล้วกลุ่มนี้ยังไม่มี ดังนั้นจึงต้องพยายามที่จะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการช้อปปิ้งของนักท่องเที่ยว และหากยิ่งรัฐบาลเปิดดิวตี้ในเมืองเพิ่มก็จะดียิ่งขึ้น

ซึ่งการดำเนินการของกลุ่มนี้ดำเนินการผลักดันโดยผ่านสมาคมค้าปลีกโดยนายวรวุฒิ อุ่นใจ หนึ่งในผู้บริหารเซ็นทรัลพยายามยื่นข้อเสนอให้ภาครัฐเร่งผลักดัน “Shopping Tourism” หรือนโยบายด้านการท่องเที่ยวเชิงชอปปิ้งอย่างจริงจัง เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการเปิดเสรีร้านค้าปลอดภาษี เพิ่มจำนวนร้านค้าปลอดภาษีในเมืองมากขึ้น และผลักดันนโยบาย Duty Free City เพื่อให้ประเทศไทยเป็นชอปปิ้งเดสติเนชันของนักท่องเที่ยวอย่างแท้จริง โดยเสนอเปิดดิวตี้ฟรีซิตี้ใน 10 เมืองท่องเที่ยว ได้แก่ พัทยา ภูเก็ต สมุย หาดใหญ่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ เชียงราย อุบลราชธานี อุดรธานี และนครราชสีมา

เพราะต้องไม่ลืมว่า จากข้อมูลการนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือย 9 หมวดจาก 17 หมวด ตามนิยามของของกรมศุลกากร ในปี 2558 ได้แก่ เสื้อผ้าแฟชั่น เครื่องสำอาง นาฬิกา แว่นตา กระเป๋าหนัง รองเท้าหนัง เครื่องประดับคริสตัล ปากกา น้ำหอม สุราต่างประเทศ ผลไม้ เครื่องแก้วคริสตัล ไวน์ เข็มขัดหนัง ดอกไม้ และกล้องถ่ายรูป มีมูลค่ารวมสูงถึง 132,984.44 ล้านบาท



ประเด็นสำคัญ คือ มูลค่าสินค้านำเข้าที่เสียภาษีนำเข้าตามพิกัดศุลกากร (duty paid) มีมูลค่าเพียง 45,168.60 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าสินค้านำเข้าที่ได้รับการยกเว้นภาษีตามกฎหมายศุลกากร (duty free) มีมูลค่าสูงถึง 87,815.83 ล้านบาท มากกว่ามูลค่าสินค้านำเข้า Duty paid เกือบ 80% และข้อมูลการนำเข้า 17 รายการสินค้าฟุ่มเฟือย 5 เดือนแรกปี 2561 (ม.ค.-พ.ค.)
พบว่ามีมูลค่ารวม 40,466.98 ล้านบาท

ดังนั้นจึงไม่แปลกว่า ทำไมในช่วงที่ผ่านมา ได้มีความพยายามของสมาคมร้านค้าปลอดอากรไทย ที่ปัจจุบันมีสมาชิกอยู่เพียง 3 ราย ในจำนวนนี้ มีร้านค้าปลอดอากรหรือดิวตี้ฟรีของเกาหลีใต้ซึ่งได้แก่ลอตเต้และชิลล่ารวมอยู่ด้วย ได้พยายามกดดันทางการไทย ทั้งกระทรวงการคลัง โดยกรมศุลกากร และกระทรวงคมนาคม โดย ทอท.ให้นำพื้นที่ที่ได้ให้สัมปทานแก่กลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ เพื่อบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์และร้านค้าปลอดอากรไปแล้ว ต้องตัดแบ่งพื้นที่สัมปทานดังกล่าวมาให้ผู้ประกอบกิจการดิวตี้ฟรีจากเกาหลีใต้ เพื่อสร้าง pick up counter ขึ้นในสนามบินสุวรรณภูมิ

ขณะเดียวกัน 3 นายกสมาคมการค้าซึ่งประกอบด้วย นายนพพร วิฑูรชาติ นายกสมาคมศูนย์การค้าไทย, นางรวิฐา พงศ์นุชิต นายกสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย และ ดร.ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ได้เข้ายื่นหนังสือ พร้อม “รายงานการศึกษาธุรกิจร้านค้าปลอดอากรในไทย” ส่งถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ เรียกร้องให้รัฐบาลในฐานะที่กำกับดูแล สั่งการให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “AOT” เปิดเสรีธุรกิจดิวตี้ฟรี โดยเปิดประมูลใบอนุญาตประกอบธุรกิจดิวตี้ฟรีในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ แยกตามหมวดหมู่สินค้า พร้อมกับข้อเสนอแนะต่างๆ

อย่างไรก็ตามจากการค้นข้อมูลเชิงลึกลงไปนั้นจะพบว่า กลุ่มล็อตเต้ ดิวตี้ฟรี ไทยแลนด์ นั้น มีโครงสร้างถือหุ้นที่น่าสนใจเลยทีเดียว โดยประกอบด้วย 3 กลุ่มใหญ่คือ ล็อตเต้ ดิวตี้ฟรี (สิงคโปร์) พีทีอี ลิมิเต็ด ถือหุ้นจำนวน 49% กลุ่มแอลแอนด์เอส (สิงคโปร์) ถือหุ้น 30% และกลุ่ม โชว์ แอสเซท แมเนเม้นท์ ถือหุ้น 21% ขณะที่ โชว์ดีซี นั้นก็มีผู้ถือหุ้น 3 กลุ่ม คือ พีพีเอ็ม โกลบอล ลิมิเต็ด (มาเลเซีย) ถือหุ้น 48.14% กลุ่ม เออีซี แคปปิตอลถือหุ้น 42.21% และแพ่งเพียร เหล่ากำเนิดถือหุ้น 9.65% ซึ่งดูแล้วเหมือนไม่มีอะไร!



แต่อย่าลืมว่า ในล็อตเต้ มีกลุ่มโชว์ แอสเซท แมเนจเม้นท์ถือหุ้นอยู่ด้วย ซึ่งกลุ่มโชว์ แอสเซทนั้นมีกลุ่ม เออีซี แคปปิตอลถือหุ้นใหญ่อยู่ 99.998% และขณะที่ในส่วนของหุ้นเออีซี แคปปิตอลนั้นมีกลุ่มภูตรา คอร์ปอเรชั่น ถือหุ้นอยู่ 20% และในกลุ่มภูตราก็มีผู้ถือหุ้นอยู่ 4 กลุ่ม ประกอบด้วย ชยดิฐ หุตานุวัชร์ ถือหุ้น 35% ลาดหญ้า อูริยา ถือหุ้น 22.5% รวิฐา พงศ์นุชิตถือหุ้นอยู่ 22.5% และประภาวัลย์ เวลาดีวงณ์ถือหุ้น 20%

เพราะมันคือเค้กชิ้นใหญ่ที่มีมูลค่ามหาศาล ที่เหล่าผู้ประกอบการทั้งหลายทั้งกลุ่มเกาหลี และกลุ่มทุนหน้าใหม่ๆ อยากเข้าไปแย่งชิงเค้กในส่วนนี้กัน เพราะหากชนะการประมูลก็หมายความว่าได้เห็นๆ

ไม่เพียงเท่านี้ เนื่องจากยังพบว่ามีนักการเมืองลงมาเล่นในเรื่องนี้ด้วย ซึ่งไม่รู้หวังผลการเมืองหรือไม่อย่างไร เพราะล่าสุดเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2561 นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีตรองประธานคณะอนุกรรมาธิการ ด้านกลไกในการปราบปรามการทุจริต คณะกรรมาธิการวิสามัญป้องกันและปราบปรามการทุจริต สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ถึงเหตุผลที่จะถวายฎีกาต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ว่า การถวายฎีกาเป็นเรื่องสิทธิของบุคคลตามกฎหมายระหว่างพสกนิกรกับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ซึ่งจะเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และราชประเพณีว่าด้วยการถวายฎีกาเรื่องของระบบการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ทั้งของรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ไม่ดำเนินการตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และล่าช้าอย่างมาก

เป็นผลให้การบังคับและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบไม่ได้ผลเท่าที่ควร ทำให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม จากการดำเนินโครงการลงทุนของรัฐ ช่วงปี 2548-2560 รวม 14 โครงการ คิดเป็นมูลเสียหาย 451,506 ล้านบาท ตามที่เคยให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้

ซึ่งในจำนวนนี้มีประเด็นที่เกี่ยวกับโครงการลงทุนที่ท่าอากาศยานรวมอยู่ด้วย โดยเฉพาะ กรณีบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เตรียมออกประกาศคัดเลือกผู้ประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากรในอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและภูมิภาค ก่อนที่สัญญาสัมปทานฯ ที่บังคับใช้ในปัจจุบันจะสิ้นสุดในปี 2563

แม้ว่าในความเป็นจริงแล้ว ศาลอาญาแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 18 ก.ย.ที่ผ่านมา ยกฟ้องคดีที่นายชาญชัย กล่าวหาว่า ผู้บริหารของบริษัท คิง เพาเวอร์ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เอื้อประโยชน์ให้คิง เพาเวอร์จ่ายค่าตอบแทนไม่เป็นไปตามสัญญา โดยศาลระบุว่าพิเคราะห์แล้วเห็นว่านายชาญชัยไม่ใช่ผู้ได้รับความเสียหายโดยตรง และสิทธิของโจทก์ยังไม่ถูกกระทบ ยังไม่ได้รับความเสียหาย มิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย จึงไม่มีอำนาจฟ้อง แม้ศาลจะตัดสินไปแล้ว แต่ดูเหมือนว่าการเคลื่อนไหวยังไม่มีทีท่าว่าจะมีจุดจบ

สำหรับ “ชาญชัย” ผู้ซึ่งออกมาเรียกร้องและกล่าวหาผู้อื่นในทางเสียหาย มีคำวินิจฉัยของนายเชาว์ สายเชื้อ ประธานศาลรัฐธรรมนูญในขณะนั้น เลขที่  49/2542 ลงราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 11 พ.ย.2542 ระบุว่า การสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายชาญชัย ฯ ไม่น่าจะกระทำได้ เนื่องจากใช้วุฒิการศึกษาที่มีปัญหา



คำวินิจฉัยของนายเชาว์ ระบุว่า เนื่องจาก “ชาญชัย” ได้นำเอาวุฒิการศึกษาระดับ ประกาศนียบัตรวิชาชีพเทคนิค (ปวท.) ชุดที่ 1554 เลขที่ สชก 012430 จากโรงเรียนเทคนิคมารดานุเคราะห์บริหารธุรกิจเป็นหลักฐานที่มีปัญหา นำมาเทียบโอนหน่วยกิตและเรียนต่อในมหาวิทยาลัยศรีปทุมจนสำเร็จปริญญาตรี ส่งผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ สำนักงาน คณะกรรมการการศึกษาเอกชน องค์การค้าของคุรุสภา และกระทรวงศึกษาธิการ ตรวจสอบวุฒิการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพเทคนิค (ปวท.) ดังกล่าว ของ “ชาญชัย”

ผลก็คือ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชนตรวจสอบหลักฐานต่าง ๆ ของโรงเรียนเทคนิคมารดานุเคราะห์บริหารธุรกิจ ซึ่งได้เลิกกิจการไปแล้วเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2537 และได้ส่ง หลักฐานเก็บไว้ที่สำนักงาน ฯ แล้ว ไม่ปรากฏชื่อ “ชาญชัย” ในหลักฐานของโรงเรียนเทคนิคมารดานุเคราะห์บริหารธุรกิจ ทั้งปีการศึกษา 2533 และปีการศึกษา 2534 แต่อย่างใด

ขณะที่องค์การค้าของคุรุสภาได้ตรวจสอบการจัดขายใบระเบียบแสดงผล การเรียนตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ เทคนิค (รบ. ปวท.) เลขที่ สชก 012430 ชุดที่ 1554 ซึ่งเป็นชุดเดียวกับใบ รบ. ปวท. ชุดที่ 1554 ที่องค์การค้าของคุรุสภาได้ขายให้กับโรงเรียนเกษมโปลีเทคนิค ไม่ใช่โรงเรียนเทคนิคมารดานุเคราะห์ บริหารธุรกิจ!

เมื่อเป็นเช่นนี้ ความน่าเชื่อถือของ “ชาญชัย” อาจจะถูกตั้งคำถามได้

ดังนั้นเมื่อ ทอท. เปิดประมูลครั้งใหม่จะเห็นการขับเคี่ยวกันอย่างเมามันของกลุ่มทุนทั้งในประเทศ อาทิ กลุ่มเซ็นทรัล กลุ่มเดอะมอลล์ กลุ่มคิง เพาเวอร์ กลุ่มนายแพทย์ประเสริฐ ปราสาททองโอสถ และทุนต่างประเทศ อาทิ กลุ่มดิวตี้ฟรีจากเกาหลีใต้ กลุ่มลอตเต้ กลุ่มชิลล่า และกลุ่มดิวตี้ฟรีจากฮ่องกง และยังต้องจับตาดูอีกว่า การประมูลรอบใหม่ ทอท. จะเป็นเช่นไร

ใครจะได้หรือไม่ได้นั้นขึ้นอยู่กับว่า กล้าที่จะทุ่มงบประมาณหรือแบ่งปันผลประโยชน์ที่จะได้ให้กับภาครัฐมิใช่หรือ

เครดิต : มติชนสุดสัปดาห์
https://www.matichonweekly.com/special-report/article_150560

เรื่องนี้น่าติดตามว่ากลุ่มไหนจะได้ประมูลครั้งนี้ไป เพราะมันเกี่ยวกับเงินไหลเวียนเข้าประเทศออกนอกประเทศ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่