[Spoil แรง] บทวิเคราะห์ The Crimes of Grindelwald >>เมื่อทุกการเล่าเรื่องล้วนมีความหมาย (by Filmaneo)

ภาพยนตร์จากแฟรนไชส์โลกแห่งจอมเวทย์ (Wizarding World) ภาค Fantastic Beasts: The Crimes of Grindelwald  กระแสคำวิจารณ์ไม่สู้ดี
(ณ ปัจจุบัน คะแนนในเว็บไซต์รวมบทวิจารณ์อย่าง Rottentomatoes ต่ำสุดในแฟรนไชส์ Wizarding World ทั้งฝั่งนักวิจารณ์และคนดูทั่วไป)
แต่แทนที่จะบอกว่าหนังแย่ สำหรับผมการบอกว่ามัน 'ดูยาก' จะแม่นยำกว่า
เพราะคุณจำเป็นต้องรู้จักโลกแห่งจอมเวทย์เป็นทุนเดิม (แม้ไม่ต้องรู้ลึกระดับสาวก)
และตัวละครราวหนึ่งโหลในภาพยนตร์  ถ้าไม่ใช่มีเส้นเรื่องของตัวเอง ก็มีประเด็นส่วนตัวที่หนังแบ่งเวลาไปพูดถึง


สิ่งที่ได้ยินตอนคนเดินออกจากโรงหนัง คือ คำบ่นเรื่องหนังเสียเวลาเล่าอะไรไม่รู้อยู่นานสองนานเสียจนน่าเบื่อ
ซึ่งผมรู้สึกตรงข้าม หนังเรื่องนี้ใช้เวลาบอกเล่าหลากหลายประเด็นแบบ [คุ้มค่าและมีความหมาย]

ผมยอมรับถึงความยากในการติดตามเนื้อหา
เส้นเรื่อง+ตัวละครมากมายสร้างความซับซ้อนยุ่งเหยิง ชวนสับสนนัก
หากสมาธิหลุดตรงส่วนสำคัญก็พลอยพลาดประเด็นสำคัญตามได้ง่าย
แต่เกือบทุกเรื่องที่หนังภาคนี้เล่าล้วนมีเป้าประสงค์ (หรือไม่ก็ปูทางสู่ภาคอื่นๆ ในอนาคต)

เลยได้แรงบันดาลใจเขียนบทอธิบาย ชี้แจงตามความเห็นของตัวเองไว้  โดยใส่การวิเคราะห์ส่วนตัวร่วมด้วย
(เพราะบางอย่างไม่ถูกบอกเล่าแบบตรงไปตรงมา หรือหนังภาคหลังจากนี้ออกฉายจึงจะชัดแจ้ง)



กรินเดลวัลด์


ผู้ชี้นำให้เกิดการปฏิวัติโลกเวทมนตร์ เพื่อให้เหล่าพ่อมดแม่มดได้ใช้ชีวิตอิสระ, เปิดเผยตัวตน และปกครองพวกคนธรรมดาไร้พลังเวทย์
แลดูมีอุดมการณ์สูงส่ง, แต่งกายดี, มีสเน่ห์ดึงดูดใจ และรู้จักพูดจาหว่านล้อมชักจูงคน
ทว่า บทภาพยนตร์แสดงว่านั่นเป็นเพียงการ 'เสแสร้ง' กลบเกลื่อนความชั่วร้าย+เอาแต่ใจของเขาไว้ ตั้งแต่ฉากเปิดเรื่องด้วยซ้ำ


ที่ผมอยากกล่าวถึง ไม่ใช่ตอนทำร้ายหรือฆ่าแกงคนในขบวนคุ้มกันนักโทษ (เพราะอ้างเหตุผล ทำร้ายฝ่ายตรงข้ามผู้ขวางเขามิให้ทำตามอุดมการณ์ได้)
แต่เป็นฉากดูไม่สำคัญ คือทิ้งสัตว์ตัวจ้อยที่ออดอ้อนขอความรักมากเกินไปแบบไม่ไยดี
ตรงนี้เป็นการบอกเราว่า หากใครเซ้าซี้อะไรมากเข้า  กรินเดลวัลด์ก็รำคาญ, หมดความสนใจ และคิดปลิดชีวิตอีกฝ่ายเอาง่ายๆ
คือเหตุผลว่าทำไมท้ายเรื่องเขาฆ่าลูกน้องคนหนึ่งด้วยเพลิงมรณาสีฟ้าทิ้ง  ทั้งที่แค่เซ้าซี้ถามเรื่องครีเดนซ์ก่อนหน้านั้น

ไหนจะการปล่อยลูกน้องสังหารเด็กเล็กๆ ทิ้งด้วยเวทย์แสงเขียว
หรือบ่นแบบคนอารมณ์เสียว่า "ฉันเกลียดปารีส" แม้แผนเรียกชุมนุมพ่อมดแม่มด เพื่อจุดประกายการปฏิวัติเพิ่งประสบผลสำเร็จ


ครีเดนซ์


กรินเดลวัลด์ดันเผยธาตุแท้, ทอดทิ้งครีเดนซ์ตอนคิดว่าหนุ่มน้อยไร้ประโยชน์เมื่อคราว Fantastic Beasts ภาคแรก
ภาคนี้ครีเดนซ์จึงไม่เชื่อถือกรินเดลวัลด์ และพยายามสืบหาความจริงเรื่องชาติกำเนิดของตนด้วยกำลังของตัวเอง
แต่ครีเดนซ์ไม่มีทางสมหวังด้วยการตามเรื่องเองแน่ๆ  เพราะโดนกรินเดลวัลด์วางแผนดักทางไว้หมด ดังนี้

- กรินเดลวัลด์รู้ว่ายังไงก็ต้องเริ่มจากตามหาผู้น่าจะเป็นมารดาซึ่งส่งเขาสู่สถานเลี้ยงเด็ก  จึงเปิดช่องให้ครีเดนซ์ไปเจอพี่เลี้ยงลูกครึ่งเอล์ฟ
- สั่งมือปราบกระทรวงเวทมนตร์ให้คอยจังหวะ [สังหารพี่เลี้ยงต่อหน้าครีเดนซ์] เพื่อให้ครีเดนซ์รู้สึกหดหู่สิ้นหวัง
- พอกรินเดลวัลด์ไปพบหน้า และบอกว่าเขากุมคำตอบไว้+ล่อลวงด้วยการนัดเจอที่สุสาน  ครีเดนซ์ย่อมตอบรับ
- ครีเดนซ์เจอยูซุฟ (จอมเวทย์ผิวสี) กับลีตา เลสแตรงจ์ ที่สุสาน แต่ก็พบทางตัน  หาทางสืบอะไรต่อไม่ได้
- ณ จุดนี้ครีเดนซ์สิ้นหวังของจริง  ฉะนั้นถึงความเชื่อใจไม่หวนคืนมา แต่ยังไงก็ต้องยอมกลับไปซบไหล่กรินเดลวัลด์แลกคำตอบ หาความหวัง

การพบกันของยูซุฟ, ลีตา และครีเดนซ์ที่สุสานไม่น่ารวมอยู่ในแผนกรินเดลวัลด์
แต่ไม่ว่าใช้วิธีใดหาคำตอบเรื่องชาติกำเนิดครีเดนซ์มา  กรินเดลวัลด์ก็แน่ใจอยู่แล้วว่าเขาคือผู้เดียวที่กุมคำตอบไว้
ต่อให้เกิดเรื่องเกินคาดบ้าง ผลลัพธ์สุดท้ายก็ไม่ต่างกัน




นากินี


ทายาทสายเลือดต้องสาป อนาคตไม่พ้นติดคาสภาพงู
แลดูมีบทบาทเพียงตำแหน่งคนรักของครีเดนซ์ ที่อารมณ์โดดเดี่ยวไร้ครอบครัวดึงดูดทั้งคู่เข้าหากัน

ไม่ได้มีเส้นเรื่องของตัวเอง แต่อนาคตบทสำคัญชัวร์
เพราะตอนท้ายเธอไม่เข้าสังกัดฝ่ายกรินเดลวัลด์พร้อมตัวละครชูโรงแบบครีเดนซ์
เล่นประเด็นดราม่าทีหลังง่าย ไม่คิดว่าใส่เธอมาเอาใจแฟนคลับหนังชุดนี้เฉยๆ หรอก


อัลบัส ดัมเบิลดอร์


เรื่องสัตย์สาบานห้ามมิให้เขาต่อสู้กับกรินเดลวัลด์ถูกเฉลยช่วงท้ายสุด
แต่ไม่ใช่เรื่องเดายาก เพราะหนังแบ่งเวลาบอกเล่าความสัมพันธ์แน่นแฟ้นเมื่อกาลเก่าของพวกเขาเป็นระยะ
ผ่านปากคำดัมเบิลดอร์เอง, ฉากส่องกระจกเงาเห็นความปรารถนา และเตือนความจำเกี่ยวกับเวทมนตร์ประเภทเดียวกันแบบ 'ปฏิญญาไม่คืนคำ' ผ่านตัวละครยูซุฟ เพื่อบอกใบ้เรื่องดังกล่าว


แม้นมิสามารถลงมือเอง แต่ดัมเบิลดอร์ตอบรับสถานการณ์โดยผลักดันนิวท์ไปปารีส และเตรียมที่หลบซ่อน+ตัวช่วยอย่าง 'นิโคลัส แฟลมเมล' ไว้ให้

ดัมเบิลดอร์คงหวังแค่ให้นิวท์รับมือสถานการณ์เลวร้ายไปตามเรื่องตามราว แต่ผลลัพธ์กลับดีเกินคาด
เพราะนิวท์ขโมยสัญญาเลือดจากกรินเดลวัลด์มาได้ (ดัมเบิลดอร์ทำท่าประหลาดใจว่าไปเอามาได้ยังไงอยู่)


นิโคลัส แฟลมเมล


คงมีหลายคนคิดว่าปู่คนนี้โดนยัดบทเข้าเรื่องเอาใจแฟนคลับ เพราะแค่ออกมาทักทายเจคอบ กับช่วยรับมือเพลิงมรณาสีฟ้า
แต่ความจริงนิโคลัสเหมาะเจาะต่อการสวมบทตัวละครสมทบ ณ จุดนี้ที่สุด


เขาเหมาะยังไงน่ะหรือ ? คำตอบอยู่ที่ความห่างชั้นด้านพลังของกรินเดลวัลด์กับพ่อมดแม่มดคนอื่นๆ
อัคคีสีฟ้าไล่ต้อนกลุ่มตัวละครหลักหนักจนแทบเอาชีวิตไม่รอด และลุกลามต่อไม่หยุดขนาดอาจเผาเมืองปารีสพินาศสิ้น
ให้พวกตัวละครหลักหยุดกันเองทั้งที่เพิ่งล้มลุกคลุกคลานกัน มันไม่สมเหตุสมผลสักนิด
พวกเขาต้องการคนระดับจอมเวทย์ทรงพลัง ไม่ก็ประสบการณ์สูงเข้าช่วยเหลือ

แต่ถ้ามีคนระดับนั้นพร้อมสู้อยู่ควรมาพร้อมกัน จะได้ไม่คับขันแต่แรก
ดังนั้นนิโคลัสผู้ชราภาพย่อมเหมาะสุด เพราะ
- รู้จักดัมเบิลดอร์ใส่บทคนให้ที่หลบซ่อนได้
- อย่างน้อยก็อายุเยอะการันตีเรื่องประสบการณ์
- และชราภาพไม่พร้อมสู้ ทว่าพร้อมให้การช่วยเหลือ


[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่