"สัปดาห์ที่ ๗" อธิบายการเสวยวิมุตติสุขของพระพุทธเจ้า ด้วยเหตุและผล

"สัปดาห์ที่ ๗" อธิบายการเสวยวิมุตติสุขของพระพุทธเจ้า ด้วยเหตุและผล

    เสด็จย้ายสถานที่ไปทางทิศใต้ของต้นมหาโพธิ์ ห่างไป ๒.๕ กิโลเมตร ประทับที่ควงไม้เกด ซึ่งได้นามว่า “ราชายตนะ” 

    ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น พระพุทธองค์ไม่ได้ชำระล้างพระพักตร์ (ใบหน้า) ไม่ได้ปฏิบัติพระสรีระ (อาบน้ำ) และไม่มีกิจด้วยพระกระยาหาร (รับประทานอาหาร) ด้วยทรงยับยั้งกิจทั้งปวงนี้อยู่ด้วยฌาน ปิติสุข

    ในสัปดาห์สุดท้ายของการเสวยวิมุตติสุข พระพุทธองค์ประทับใต้ต้นราชายตนะ (ต้นเกด) พระอินทร์ลงมาถวายผลสมออันเป็นทิพยโอสถ ไม้สีทนต์ชื่อ“นาคลดา”  และน้ำบ้วนพระโอษฐ์จากสระอโนดาต จากนั้นตปุสสะและภัลลิกะ สองพ่อค้าหนุ่มได้เข้าเฝ้าพร้อมกับถวายสัตตุผงและสัตตุก้อนเพื่อเป็นภัตตาหาร

    ครั้งนั้นท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ องค์ได้ถวายบาตรศิลาแด่พระพุทธเจ้า องค์ละ ๑ ใบ พระพุทธเจ้าทรงรับและอธิษฐานให้บาตรทั้ง ๔ ใบรวมกันเป็นใบเดียว จากนั้นพระพุทธองค์ทรงใช้บาตรนั้นรับสัตตุผงและสัตตุก้อนที่พ่อค้าสองคนนำมาถวาย ครั้นแล้วพ่อค้าทั้งสองคนจึงได้เปล่งวาจาถึงพระพุทธเจ้าและพระธรรมเป็นสรณะตลอดชีวิต  ทั้งสองจึงกลายเป็น “พุทธมามกะคู่แรก” ของโลก

    ตรงเรื่องราวที่พระพุทธเจ้าไม่ได้ล้างหน้า อาบน้ำ เป็นต้นนั้นเป็นปริศนาธรรมของจิต

    สิ่งเหล่านี้เป็นปริศนาธรรมของจิต จิตเวลาเราไตร่ตรองมีของเสียไหม? ก็ต้องมีของเสีย เพราะเราได้ไตร่ตรองจึงมีของเสียปรากฏขึ้น ถ้าไม่เช่นนั้นพระพุทธเจ้าจะนั่งไตร่ตรองทำไมตั้ง ๗ วัน

    สิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว พระพุทธเจ้าจึงนำสิ่งต่างๆ ที่ทรงรู้เหล่านั้นมาพิจารณาว่า สิ่งไหนต้องละทิ้ง สิ่งไหนต้องเจริญต่อไป

    ถ้ามีคนถามว่า ทั้งๆ ที่ว่าพระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้แล้ว สิ่งที่ไม่ดีต่างๆ พระพุทธเจ้าน่าจะนำสิ่งที่ไม่ดีออกไปก่อนแล้ว?

    สิ่งเหล่านี้ เราเข้าใจคำว่า "ตรัสรู้" หรือไม่?

    ตรัสรู้ คือ สรุป รู้แจ้ง รู้จริง ประจักษ์ในธรรม

    ฉะนั้น เมื่อพระพุทธเจ้ารู้ประจักษ์แจ้งในธรรม ก็จะนำมาพิจารณาธรรมว่า สิ่งไหนที่สมควรจะคงไว้ และอะไรที่ไม่ควรในเวลา ณ ปัจจุบันกาลนั้น ภาวะธรรมนั้นๆ

    พอพิจารณาเสร็จแล้ว พระพุทธเจ้ายังบอกว่า ธรรมนี้เป็นธรรมที่ยากมากเลย ยากแก่คนทั่วไปจะเข้าใจได้ เป็นธรรมละเอียดอ่อน ถึงขนาดว่าทำให้พระองค์ทรงท้อพระทัย พระพรหมจึงเข้ามานิมนต์ว่า บุคคลบางคนที่ปัญญาบารมีถึงแล้วรออยู่ก็มี อย่าทำให้บุคคลนั้นต้องเสียไป ก็ขอนิมนต์พระพุทธเจ้าโปรดเวไนยสัตว์ นี่แหละขนาดว่าพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้แล้ว ยังทรงท้อพระทัยได้ เพราะว่าพระพุทธองค์พิจารณาแล้วว่ามันยาก จะเอายังไงจะอธิบายให้คนได้เข้าใจได้

    ขนาดที่ว่าตัดสิ่งนั้นสิ่งนี้ออกแล้ว ให้ง่ายที่สุดแล้วนะ พระพุทธเจ้าบอกว่าอย่างนี้ง่ายแล้วนะ แต่ก็ยังท้อพระทัยเลย ก็ลองคิดดู

    ถ้าท้อพระทัยอย่างนี้ก็เป็นกิเลสตัวหนึ่งนะสิ?

    อย่างนี้ไม่ได้ถือว่าเป็นกิเลส เพราะว่า สิ่งนี้เป็นภาวะภูมิธรรมเป็นเช่นนั้น ท่านต้องมี เพราะว่ามีในธรรม

    ถ้าเราจะบอกว่า สิ่งที่เป็นนี้เป็นกิเลส ก็ย่อมได้ แต่เราก็จะดูถูกพระพุทธเจ้าเกินไป เพราะว่าต่ำเกินไป แต่นี่เป็นการพิจารณา ไม่ใช่พระพุทธเจ้าปฏิเสธที่จะไม่ทำ ไม่สั่งสอนเวไนยสัตว์ บุคคลทั่วไป เป็นแต่เพียงเอ่ยขึ้นมา ว่าน่าจะเป็นอย่างนี้

    เหมือนกับสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พรหมรังสี) เอ่ยขึ้นมาว่า วันนี้แกงไม่เค็ม แต่ก็ไม่ได้ทำให้จิตของสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พรหมรังสี)ท่านยึดติด

    เป็นธรรมดาอยู่ในภูมิก็ต้องเอ่ยขึ้นมา "อย่างนี้มันน่าจะอย่างนี้..."

    คนไปแหย่สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พรหมรังสี) โอ้โห้!! เป็นถึงพระอรหันต์ เรื่องไม่เค็มก็ยังเอามาพูด

    เอ้า!! ถ้ากูไม่รู้ว่าแกงมันเค็มแล้วกูจะสอนพวกได้ยังไงว่ะ ยิ้มยังมีมากกว่าเค็มอีก ทุกคนเงียบเลย

    เราอย่ามัวแต่ไปเอาพระสมเด็จของ สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พรหมรังสี) เราต้องเอาปัญญาของสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พรหมรังสี)สิ ท่านมีปัญญาอีกหลายๆ อย่าง ทั้งคำคม เรื่องราวต่างๆ ธรรมต่างๆ เพราะว่าท่านจะมีครบ ไม่ว่าจะเป็นด้านปัญญา ด้านวิชาอาคม ด้านธรรม ส่วนพระองค์อื่นๆ มักจะได้แค่ข้างเดียว

    แล้วเหตุการณ์ที่ท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ นำบาตรมาถวาย แล้วพระพุทธเจ้าอธิษฐานรวมเป็นหนึ่งเดียว เป็นปริศนาธรรม ก็คือ

    สิ่งใดที่มากเกินกว่าเหตุก็ไม่จำเป็น ฉะนั้น ต้องเอาความเหมาะสม ภาวะธรรมเช่นนั้นเป็นหนึ่งเดียวก็ต้องเป็นหนึ่งเดียว อะไรที่เกินกว่านั้นก็ไม่เอา สิ่งนี้เป็นปริศนาธรรมที่สอนให้เรา

    อย่างเช่น คนๆ นี้เขาต้องการธรรมะอยู่ ๓ ข้อ เราดันไปให้ธรรมะเป็นพวงเลย มากกว่า ๑๐ ข้อ แล้วเขาจะรู้เรื่องไหม?

    สมัยนี้สำนักต่างๆ มีไหม? มีแน่นอน สอนจนเขาไม่รู้ว่าจะทำอะไร เยอะไหม? เยอะ สำนักต่างๆ ยัดจนไม่รู้ว่าเขาจะทำอะไรกัน นี่แหละ เป็นตัวอย่างให้ดู ไม่ใช่เยอะถึงจะดี ต้องถามว่าเหมาะหรือเปล่า เพราะความเหมาะเป็นหนึ่งเดียว ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงดูภูมิของแต่ละคน

    ข้อนี้จึงเป็นปริศนาธรรม ใช่ว่าคนรู้ธรรมะเยอะใช่ว่าจะดี แต่ต้องดูว่าเหมาะสมกับบุคคลคนนั้นว่าคืออะไร

    เช่นบางคนรู้เยอะ เป็นคนเก่ง แต่ทำไม่ได้สักข้อ



ขอความเคารพ หากผู้รู้มีสิ่งชี้แนะ น้อมรับฟังเสมอ และขอความกรุณาแย้ง ชี้แจง ชี้แนะ แม้แต่ต้องการให้เพิ่มเติมสิ่งใด ก็ขอได้บอกมา
อ.พรหมสิทธิ์ ทิพย์ธาดาวงศ์
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่