ทิ้งหมอนเน่าของลูก แล้วลูกงอน ไม่คุยด้วยมา3วันแล้ว

แอบเอาหมอนสุดหวงของลูกไปทิ้งตอนไปโรงเรียน กลับมาไม่เจอร้องห่มร้องให้ ไม่ยอมคุยด้วยมา3วันแล้ว จะพาไปซื้อใหม่ก็ไม่เอาจะเอาใบเดิม ใครเคยเจอแบบนี้บ้าง ง้อลูกยังไงดี
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 20
ทำร้ายจิตใจนะคะ

ถึงเด็กๆ จะลืมง่าย แต่คุณแม่จำไว้เป็นบทเรียนเลยค่ะ ไม่ควรทำอีก
จำเป็นต้องทิ้งของรักของหวง เพื่อนใจของเขา ก็ต้องให้เขายินยอม

กรณีนี้ คุณแม่ต้องหาวิธีเอาใจลูกแล้วละคะ
เบนความสนใจ เยียวยาจิตใจลูก
เรื่องเล็กๆ แบบนี้ สำหรับเด็กแล้ว มันเล็กน้อยมหาศาลนะคะ

เราเคยจะเอาพี่นกแก้วของลูกวัยสามขวบไปทิ้ง เพราะเน่าเหลือกำลัง
ขาดกระรุ่งกระริ่ง ใยกระจายรอบที่นอน เย็บก็ไม่ได้ ซักก็ไม่ได้
กลัวว่าจะเข้าหู เข้าตา เข้าจมูก แต่ลูกก็หวงมากกกก

ก็ต้องคุยค่ะ ว่า พี่นกแก้วไม่สบายแล้ว ถ้าลูกจะไม่ทิ้งต้องยอมให้แม่พาไปอาบน้ำ (ซัก)
และพาไปหาหมอ (เย็บ ซ่อม หาเสื้อผ้าใส่ให้ใหม่) พูดอยู่นานค่ะ กว่าจะยอมแต่โดยดี
แต่ก็นั่งเฝ้าแม่ตลอด ว่าแม่ทำอะไรพี่นกแก้วบ้าง

ใช้วิธีนี้ ทั้งซัก ทั้งปะ จนไม่เหลือชิ้นดี
ก็บอกเขาว่า พี่นกแก้วจะหมดอายุแล้ว จะต้องไปสวรรค์แล้ว
น้องรักพี่นกแก้ว ก็ต้องให้พี่นกแก้วไป พอเขายอม ก็ต้องทำพิธีกันอีกค่ะ

มันเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมากๆ ดูไร้สาระ แต่เป็นวิธีที่เราไม่ทำร้ายจิตใจลูกเลย
แถมเป็นทางที่สอนให้เขาได้รู้ความเป็นไปของโลก มีเกิดขึ้น (ตอนซื้อพี่นกแก้วมา)
มีตั้งอยู่ (ตอนที่พี่นกแก้วอยู่กับเขา ตอนที่แม่ต้องเอาไปทำความสะอาด ต้องเอาไปซ่อม)
และต้องดับไป (ตอนที่พี่นกแก้ว ต้องไปสวรรค์)

ซึ่งหลังจากนั้น เราก็ต้องพาลูกไปหาเพื่อนใจคนใหม่ และก็ทำแบบเดิมจนเขาโตและเข้าใจอะไรมากขึ้น

ตอนนี้คุณแม่ ลองใช้ภาษาง่ายๆ คุยกับน้องดูนะคะ
อาจจะทำให้เขาเข้าใจความเป็นธรรมดาของโลกได้

ให้กำลังใจคุณแม่ค่ะ และอย่าทำให้น้องเสียใจอีกนะคะ
ความคิดเห็นที่ 63
https://m.facebook.com/prasertpp/posts/177086742639828

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
เลี้ยงลูกสามขวบปีแรก ตอนที่2/2
ตีพิมพ์ครั้งแรก หนังสือ43ไม้ตายลบลายเจ้าตัวยุ่ง อัมรินทร์พริ้นติ้ง พศ.2553

ต่อจากตอนที่แล้ว

สายสัมพันธ์(attachment)เป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของเด็กๆ เด็กๆจะทำอะไรดีหรือไม่ดีก็จะคิดถึงพ่อแม่เสมอ จะหลงทางไปหาอบายมุขหรือสิ่งชั่วร้ายใดๆก็รู้จักคิดถึงพ่อแม่ เหมือนตอนที่เป็นวัยเตาะแตะเดินจากไปสามก้าวแล้วรู้จักหันกลับมาดูแม่ว่ายังอยู่มั้ย  จะเป็นเด็กดีเชื่อฟังคำสั่งสอนพร่ำเตือนของพ่อแม่ก็ด้วยสายสัมพันธ์นี้ด้วยเช่นกัน  บ้านที่สร้างสายสัมพันธ์นี้แน่นแฟ้นแข็งแรงเวลาพูดอะไร สอนอะไร ห้ามอะไร เด็กก็เชื่อ  บ้านที่ไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยตนเองพูดอะไรก็ไม่เชื่อ สอนอะไรก็ไม่ฟัง เด็กโตขึ้นใช้ชีวิตเสี่ยง

เมื่อเด็กเรียนรู้ที่จะไว้วางใจสิ่งแวดล้อม พัฒนาต่อไป เรียนรู้ว่าโลกนี้มีคุณแม่จริงๆ คุณแม่ไม่สูญหาย เด็กสร้างความผูกพันหรือสายสัมพันธ์กับคุณแม่ที่มีอยู่จริงๆนั้น ความผูกพันแข็งแรง สายสัมพันธ์แน่นหนา ทอดยืดยาวออกมากขึ้นทุกวัน เด็กจะพัฒนาตัวตนของตนเองขึ้นมา ตัวตนของตนเองคือ self ถึงตอนนี้เด็กอายุประมาณสามขวบแล้ว  มีตัวตนคือมี self ถึงตอนนี้ไม่ใช่เพียงคุณแม่มีจริง ตัวเองก็มีจริงๆแล้วเมื่อปลายขวบปีที่สามนี้เอง ก็ถึงเวลาแยกตัวตนของตนออกจากตัวตนของแม่

เด็กบางคนมิได้แยกตัวจากแม่ทันที แต่ถ่ายโอน “แม่” ไปไว้ที่หมอน ผ้าห่ม หรือตุ๊กตาเสียก่อน  เด็กจะติดหมอน ผ้าห่ม หรือตุ๊กตาอีกสักระยะหนึ่งแล้วค่อยเริ่มกระบวนการแยกตัวคือ separation ออกจากหมอน ผ้าห่ม ตุ๊กตา หรือขวดนม กลายเป็นบุคคลอิสระคือ individuation   สายสัมพันธ์กับแม่สำคัญ สายสัมพันธ์กับตุ๊กตาก็สำคัญไม่แพ้กัน แล้ววันหนึ่งเขาก็จะไปจากตุ๊กตาเหมือนไปจากแม่ฉะนั้น

เด็กที่มีตัวตนก็จะมีตัวตนให้รัก มีตัวตนให้ดูแล มีตัวตนไว้เรียนหนังสือ คบเพื่อน หาแฟน แต่งงาน ปรับตัวกับคู่สมรส มีลูก เด็กที่ไม่มีตัวตนให้รักก็คือว่างเปล่า(nihilistic) ไม่มีตัวตนให้ดูแลก็ใช้ชีวิตเสี่ยงไปเรื่อยๆ ควบคุมตนเองอยู่ในร่องในรอยไม่ได้ เรียนหนังสือไม่ได้ คบเพื่อนยาก หาแฟนได้ก็ปรับตัวเข้าหาเขาไม่ได้ เพราะตัวเองไม่มีจริงอยู่แล้ว สืบย้อนไปก็จะพบว่าไม่ใช่แค่ตัวเองไม่มี ภาพลักษณ์แม่ในใจก็ไม่มี สายสัมพันธ์ก็ไม่มี ความผูกพันก็ไม่มี สืบย้อนกลับไปถึงขวบปีแรกก็จะพบว่าไม่ไว้ใจสิ่งแวดล้อม ไม่ไว้ใจใครอีกด้วย เพราะไม่มีสิ่งที่เรียกว่าคุณแม่อยู่จริงนั่นเอง

จะเห็นว่า trust,attachment,self เรื่องสำคัญที่สุดในชีวิตมนุษย์สามประการถูกสร้างขึ้นเรียบร้อยในสามขวบปีแรกเท่านั้นเอง จึงว่ากว่าจะถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว

ที่ว่าสายเสียแล้วเพราะสามขวบปีแรกเป็นเวลาวิกฤต(critical period)  เวลาวิกฤตหมายความว่าหากไม่ทำก็ผ่านแล้วผ่านเลย ไม่สามารถแก้ตัวได้อีก กล่าวคือในสามขวบปีแรกหากคุณแม่ไม่อุ้ม ไม่กอด ไม่ให้นม   ก็จะได้เด็กที่ไม่มี trust ไม่มี attachment และไม่มี self   หลังจากสามขวบปีแรกหากคุณแม่อยากจะกลับตัวกลับใจมาเลี้ยงลูกด้วยตนเองก็หมดสิทธิ์ ไม่สามารถทำได้อีก  นาทีทองผ่านไปแล้ว

อันที่จริงจะพยายามอีกรอบหลังสามขวบก็เป็นได้ แต่ยาก เช่น พอเป็นเด็กโตหรือวัยรุ่นแล้ว จะมาอุ้มเขาก็ไม่ให้อุ้ม จะมากอดเขาก็ไม่ให้กอด จะมาให้นมเขาก็ไม่เอา จะหุงข้าวทำกับข้าวอร่อยๆให้กินเขาก็ไม่กลับบ้านมากิน เพราะสายเสียแล้ว

เวลาที่มีให้แก่ลูกเป็นเรื่องสำคัญ  ปริมาณสำคัญกว่าคุณภาพ เวลาที่มีให้แก่ลูกต้องมาก  มีเวลาให้วันละนิดเดียวไม่พอ จะมาอ้างว่าให้เวลาวันละนิดแต่มีคุณภาพก็พอแล้วไม่จริง เพราะปริมาณของเวลาสำคัญกว่าคุณภาพ  สมัยก่อนให้เวลาแก่ลูกวันละนิดสัปดาห์ละหน่อยก็อาจจะพอเพราะสมัยก่อนไม่มีอะไรน่ากลัว บ้านหนึ่งมีลูกโหลหนึ่ง ไม่เลี้ยงไม่เล่นด้วยเด็กๆก็ไปเล่นดินเล่นโคลน แต่สมัยนี้ไม่ใช่  หากคุณแม่มีเวลาให้น้อย เราจะได้อาสาสมัครมาช่วยเลี้ยงลูกเต็มไปหมด เช่น เกม คอมพิวเตอร์ มือถือ และโทรทัศน์ พี่เลี้ยงอาสาเหล่านี้สามารถเข้ามาช่วยเลี้ยงลูกได้ทุกวันๆละ 24 ชั่วโมง สามารถบุกทะลุทะลวงถึงห้องนอนได้อีกด้วย แม่ที่ทิ้งลูก เราจะพบลูกเล่นเกม ติดเฟซบุ๊ค กดมือถือ และดูทีวีทั้งวันทั้งคืน

พอเขาโตพอจะขี่มอเตอร์ไซค์ โดยเฉพาะเด็กๆตามหัวเมือง พ่อแม่มักซื้อรถเครื่องให้ เขาก็จะขับรถหายไปทุกเย็นหลังเลิกเรียน จะกลับมากี่โมง กี่ทุ่ม หรือจะกลับพรุ่งนี้เช้า เหล่านี้ไม่ได้ขึ้นกับคำสั่งสอนของพ่อแม่ แต่ขึ้นกับสายสัมพันธ์หรือ attachment ว่ามีมากน้อยเพียงไร ถ้าสายสัมพันธ์แข็งแรงขอให้กลับเวลาไหนเขาก็กลับ ถ้าสายสัมพันธ์ไม่ดี เขาอาจจะพาสะใภ้หรือเขยรวมทั้งหลานกลับมาไหว้ในสิบปีข้างหน้า

เรื่องสายสัมพันธ์หรือ attachment นี้มีความสำคัญมาก เมื่อสองสามปีก่อนเคยมีข่าวลงหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์เรื่องคุณแม่ที่ล่ามโซ่ลูกไม่ให้หนีไปเล่นเกม   โซ่เส้นนั้นคือสายสัมพันธ์   แต่ที่ไม่ดีคือเป็นสายสัมพันธ์ที่ทำขึ้นจากเหล็กกล้าและล่ามไว้ตรงข้อเท้าจริงๆ  ที่เราอยากได้มากกว่าคือสายสัมพันธ์ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าแต่สัมผัสได้ด้วยหัวใจ  เป็นสายสัมพันธ์ที่ยืดยาวออกไปได้ไม่มีที่สิ้นสุด แม้ลูกจะไปเรียนหนังสือต่างประเทศก็มีความแข็งแรงสามารถดึงหัวใจลูกให้ใกล้ชิดหัวใจแม่ไว้เสมอ ช่วยให้ลูกรักตัวเอง รู้จักดูแลตัวเองแม้ว่าจะห่างไกล

เวลาเด็กๆออกนอกลู่นอกทางหรือไม่เชื่อฟังคำสั่งสอนของพ่อแม่  เรามักพูดว่าเด็กๆไม่มีวินัย  บ้านเมืองของเรามักพูดถึงวินัยว่าเป็นอะไรที่มาจากภายนอกมาควบคุมบังคับให้เด็กๆเป็นอะไรดั่งใจ  บ้านส่วนใหญ่ไม่รู้จักดูแลลูกเมื่อสามขวบปีแรก แต่จะมาเคร่งครัดเอานั่นเอานี่กับลูกเมื่อเขาเป็นเด็กโตหรือเป็นวัยรุ่น  โรงเรียนส่วนใหญ่มีกฎระเบียบมากมายเพื่อควบคุมบังคับการแต่งกายและพฤติกรรมของเด็กทั้งที่รู้อยู่แก่ใจและสายตาว่าควบคุมได้น้อยมาก มิหนำซ้ำยังทำให้เด็กไม่รู้จักคิด ไม่ได้ใช้ปัญญา ไม่ได้พัฒนาความรับผิดชอบที่ควรก่อกำเนิดจากภายใน

วินัยที่เราอยากได้ควรมาจากภายใน  ซึ่งมาได้ด้วยองค์ประกอบที่สำคัญสองประการ ประการหนึ่งคือเรื่องสายสัมพันธ์  ถ้าลูกๆจะทำอะไรไม่ดีแล้วรู้จักระลึกถึงคำสอนของพ่อแม่เปรียบเสมือนเด็กเตาะแตะไปห้าก้าวแล้วรู้จักหันมาดูพ่อแม่ฉะนั้น เช่นนี้จึงเกิดวินัยจากภายในเป็นปฐม

ประการที่สองคือการฝึกให้ลูกต้องช่วยทำงานบ้านเล็กๆน้อยๆตั้งแต่เขาพอทำได้  วัยเด็กเล็กเขารู้สึกสนุกกับทุกเรื่อง ยินดีและยินยอมทำทุกเรื่องที่พ่อแม่ร้องขอ พวกเขาสนุกสนานได้ตลอดเวลาอีกด้วยถ้าคุณพ่อคุณแม่ “เล่นทำงานบ้าน” ไปด้วยกันกับเขา  วินัยในการทำงานและความรับผิดชอบต่อชีวิตและบ้านของตัวเองจึงเริ่มก่อกำเนิดตั้งแต่เล็ก  เมื่อเขาโตขึ้นเป็นเด็กโตและวัยรุ่นเขาจะพบว่างานบ้านเป็นงานน่าเบื่อและเป็นยาขมแต่นี่กลับเป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญยิ่งยวด

ก่อนจะพ้นวัยรุ่น เด็กทุกคนต้องฝึกทักษะที่สำคัญมากสองประการ ประการหนึ่งคือ “ต้องทำในสิ่งที่ต้องทำแม้ว่าจะไม่อยากทำ” เช่น ไม่อยากเรียนไม่อยากท่องหนังสือไม่อยากสอบก็ต้องทำแม้ว่าจะไม่อยาก  เป็นต้น  ประการที่สองคือ “มีความสามารถถอนตัวเองออกจากความสนุกและสิ่งเย้ายวน” เช่น แม้งานเลี้ยงรื่นเริงจะสนุกสนานมากเพียงไรแต่ถ้าตนเองมีอะไรต้องรับผิดชอบก็ต้องกลับไปทำ  แม้ว่าหนุ่มหล่อสาวงามตรงหน้าจะน่าพิศวาสมากน้อยเพียงไรก็ต้องรู้จักหยุดหรือป้องกันตัวให้ปลอดภัยจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เป็นต้น เด็กๆสมัยนี้ไร้ความสามารถทั้งสองประการ

อะไรๆที่ต้องทำล้วนต้องทำในสามขวบปีแรกทั้งนั้น  ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ถูกวางรากฐานตั้งแต่สามขวบปีแรกแล้ว
ความคิดเห็นจาก Expert Account
ความคิดเห็นที่ 138
บางคนอาจเรียกมันว่า หมอนเน่า ผ้าห่มเน่า ตุ๊กตาเน่า แต่ของเน่าแบบนี้แหละ มีความสำคัญเกินคาด

ศัพท์ในทางจิตวิทยาเด็กเรียกว่า Transitional Object หมอเองไม่แน่ใจว่าแปลเป็นภาษาไทยว่าอะไร แต่ถ้าให้แปลเองตามความเข้าใจก็คือ สิ่งของที่มีคุณค่าทางใจที่ทำให้เด็กคนหนึ่งเปลี่ยนผ่านจากความเป็นเด็กเล็กที่ต้องพึ่งพาพ่อแม่สู่ความที่สามารถพึ่งพาในตัวเองได้ (Dependence to Independence)

สำหรับหมอตอนเด็กๆ จำได้ว่ามีผ่าห่มเล็กๆอยู่ผืนหนึ่ง เด็กน้อยอย่างหมอในตอนนั้นเรียกมันว่า ผ้าห่มสีฟ้า มันไม่ค่อยสะอาดในความคิดผู้ใหญ่ แต่ก็ทำให้หมอรู้สึกดีๆเวลานอกกอดมัน มันมีกลิ่นเฉพาะที่คนอื่นอาจบอกว่ามันเหม็นแล้วนะ แต่หมอไม่ชอบมากๆเวลาที่มีใครเก็บมันไปซัก หมอชอบกลิ่นนั้น ดมแล้วมันอบอุ่นใจ

ถ้าใครเคยดูการ์ตูนเรื่อง Peanuts ที่มีตัวการ์ตูนอย่าง Snoopy หรือ Charlie Brown คงเคยเห็นเด็กคนหนึ่งที่ชื่อว่า Linus เด็กที่ชอบถือผ้าห่มของเขาไปไหนมาไหนในทุกๆฉากของการ์ตูน

สิ่งของเหล่านี้แม้ว่าจะสกปรก ฉีกขาดหรือว่ามีกลิ่น มีร่องรอยต่างๆ แต่มันมีความหมายกับเด็กๆ เพราะเป็นตัวที่ช่วยทำให้เขารู้สึกดีและสบายใจ และสามารถเรียนรู้ในการจัดการกับความวิตกกังวลต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องห่างจากผู้ดูแล เช่น แม่ต้องกลับไปทำงานประจำเป็นต้น

มันเป็นเหมือนตัวแทนของแม่ ตอนที่แม่ไม่อยู่กับเด็ก บางทีผู้ปกครองก็อาจจะรู้สึกว่ามันสกปรกและบางครั้งก็คิดว่าควรเอาไปทิ้ง เหมือนในกระทู้ที่ทำไป ซึ่งตรงนั้นจะทำให้เกิดความกระทบกระเทือนทางจิตใจสำหรับเด็กพอสมควร เขาอาจจะร้องไห้งอแงอย่างมาก เพราะมันเปรียบเสมือนกับแม่ถูกพลัดพลากไปจากเขา ประมาณนั้นเลย

ในวัยเด็กเล็ก เช่น วัยเตาะแตะ ประมาณ 1-3 ขวบ เด็กกำลังเปิดโลกตัวเองที่มีแค่ตัวเองและคนที่ดูแลสู่โลกกว้างภายนอกที่อาจจะตื่นตาตื่นใจ แต่ก็มีบางอย่างที่น่ากลัว เพราะมันใหม่สำหรับเขา ทำให้เขามีความวิตกกังวลและความกลัวกับหลายสิ่งหลายอย่างที่เป็นสิ่งๆ โดยเฉพาะต้องต่อสู้กับความรู้สึกที่ว่าบางครั้ง แม่(หรือผู้ดูแลใกล้ชิด)ก็อาจไม่ได้อยู่ในสายตาของเขาเสมอ

แม่อาจจะต้องไปทำงาน ไปทำครัว ไปอาบน้ำ บางทีเด็กอาจต้องไปอยู่ที่สถานรับเลี้ยงเด็ก เป็นต้น การที่มีวัตถุเหล่านี้เป็นเหมือนช่วยการเปลี่ยนผ่านสำหรับเด็ก ให้รู้ว่าจริงๆแล้ว ถึงแม้แม่จะไม่อยู่กับเขา แต่เดี๋ยวแม่ก็กลับมาและเขาก็จะได้เจอกับแม่เหมือนเดิม

บางครั้งเด็กก็ต้องการสิ่งของเหล่านี้มากขึ้นในเวลาที่เด็กรู้สึกเครียดกับการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง เช่น เมื่อต้องไปโรงเรียนครั้งแรก หรือว่าเวลาไม่สบาย เป็นต้น

เด็กในวัยนี้ นอกจากจะมีสิ่งของเหล่านี้ ก็จะมีพฤติกรรมปลุกปลอบตัวเอง เช่น การดูดนิ้ว ซึ่งตรงนี้ก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่พบได้ในเด็กเล็ก โดยที่พ่อแม่ก็ไม่ต้องไปเคร่งเครียดอะไรมาก

แต่ถ้าเกิดเด็กทำมากขึ้นกว่าปกติ ก็อาจจะต้องดูว่ามีความเครียดอะไรเป็นพิเศษหรือเปล่า เด็กส่วนใหญ่จะมีความต้องการวัตถุเหล่านี้หรือพฤติกรรมปลุกปลอบตัวเองที่ดีขึ้นตามวัย พอเข้าสู่ช่วงวัยประมาณ 4 ขวบก็จะค่อยๆน้อยลง

แต่ถ้าเกิดพ่อแม่ไม่เข้าใจ เคร่งเครียดหรือบังคับให้เด็กหยุดพฤติกรรมหรือการติดวัตถุสิ่งของเหล่านี้ จะยิ่งทำให้เด็กปรับตัวยากขึ้นและมีความเครียดมากขึ้นด้วยค่ะ

สำหรับคุณแม่ในกระทู้ ที่เผลอเอาหมอนเน่าไปทิ้งแล้ว ไม่เป็นไรนะคะ ผู้ไม่รู้เรื่องนี้มีหลายคนค่ะ คุณแม่ไม่ได้ตั้งใจ คงจะต้องเริ่มที่ความเข้าใจความรู้สึกเด็ก ให้ความใกล้ชิดเอาใจใส่ เป็นการทดแทนความสูญเสีย เด็กก็จะค่อยๆดีขึ้น แต่คงต้องใช้เวลาหน่อยค่ะ ถ้าไม่ดีขึ้นจริงๆ อาจจะต้องดูว่ามีปัญหาทางสุขภาพจิตอะไรด้วยหรือไม่ มีปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูกด้วยหรือไม่ อาจต้องไปปรึกษาจิตแพทย์เด็กหรือกุมารแพทย์พัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่