‘เลือดข้นคนจาง’ จืดไปเลย เมื่อพี่ฆ่าน้อง น้องฆ่าพี่ มีจริงในสัตว์โลก

BYTE/Thanet Ratanakul
พฤติกรรมกินกันเองของพี่น้อง (Sibling cannibalism) มักปรากฏในธรรมชาติมาอย่างช้านาน วิทยาศาสตร์ตั้งคำถามถึงความพิลึกพิลั่นในธรรมชาติ ว่าทำไมเราเกิดมาร่วมท้องกันแท้ๆ จึงต้องฆ่ากัน? หรือธรรมชาติเพิ่มช่องทางโอกาสรอดให้กับคุณ


ใครรู้สึกไม่ถูกชะตากับพี่น้องร่วมสายเลือดบ้าง?

บางทีก็คิดว่า “แกนี่ไม่น่าเกิดมาจริงๆ”  หรือตอนแรกๆ ความสัมพันธ์ก็ดูรักใคร่กันดีแต่พอมี ‘ผลประโยชน์’ มาคั่นกลาง ความขัดแย้งในสายเลือดจึงเป็นเรื่อง ‘เดือดปุดๆ’ ในหลายครอบครัว พี่น้องระหองระแหงเป็นรูปแบบความสัมพันธ์ที่อลหม่าน ผสมผสานกันระหว่างความรักและความเกลียดชัง

การฆ่ากันเองในครอบครัวมนุษย์จึงพบเห็นได้ทั่วไป หรือเอาจริงๆ ก็ยังสามารถพบเห็นได้ในธรรมชาติอย่างเป็นเรื่องสามัญในหลายสายพันธุ์

ถ้าคุณยังติด ‘เลือดข้นคนจาง’ หรือมีพี่น้องที่ขับเคี่ยวกันตลอดเวลา เรื่องราวในธรรมชาติอาจทำให้เรื่องราวเหล่านี้จืดไปเลยก็ได้



ฆ่าพี่ ฆ่าน้อง


ต้องบอกก่อนว่า สัตว์โลกไม่ได้หื่นกระหายที่จะดำรงชีวิตโดยอาศัยสัญชาตญาณผลักดันเพียงอย่างเดียว มีรายการการพบเห็นพฤติกรรมความเห็นใจ (empathy) ทั่วไปในอาณาจักรสัตว์เช่นกัน ยิ่งในกลุ่มที่มีรูปแบบสังคมสูง พวกมันก็มีศักยภาพในการช่วยเหลือกันในยามจำเป็น แต่ในขณะเดียวกัน ‘ความขัดแย้ง’ เพื่อการดิ้นรนก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น ที่ธรรมชาติสร้างพื้นที่ไว้ให้เช่นกัน

และสิ่งมีชีวิตบางชนิดนั้นเดือดถึงขั้นนองเลือด ทั้งๆ ที่ยังไม่ออกมาดูโลกภายนอกเลยด้วยซ้ำ มันเป็นสงครามระหว่างพี่น้องที่ดุเดือดเลือดพล่าน และการสังหารพี่น้องจึงอาจเป็นกุญแจสำคัญในการเตรียมความพร้อมก่อนกระโจนสู่โลกที่ดุดันกว่า

ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์คาดกันว่า พฤติกรรมการกินกันเองในครอบครัว (cannibalism) คงมีไม่กี่ชนิดหรอก อาทิ แมงมุมแม่ม่ายดำ (black widow spiders) หรือ ตั๊กแตนตำข้าว (praying mantises) ซึ่งสัตว์เหล่านี้น่าจะใช้พฤติกรรมนี้เป็นทางออกเมื่อทรัพยากรมีอย่างจำกัด อยู่ในภาวะขาดแคลน  หรือความเครียดที่เกิดจากการถูกขังในพื้นที่จำกัด

แต่หลายสิบปีต่อมา เริ่มมีหลักฐานมากขึ้น มีการพบเห็นจากมือสมัครเล่นต่างๆ ทั่วโลก ทำให้นักวิทยาศาสตร์มีมุมมองเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง การกินกันเอง แทบเป็นเรื่องปกติ! มีสัตว์นับหมื่นๆ สายพันธุ์ที่มีพฤติกรรมเช่นนี้ (แต่ไม่กินกันเองเลยก็มีหรือข้อมูลยังไม่เพียงพอ)

ซึ่งหนึ่งในสายพันธุ์ที่ออกจะดุเดือดที่สุดนั้น อยู่ในท้องทะเล มันคือการต่อสู้ของพี่น้องฉลาม นักล่าที่ ‘ล่ากันเอง’ ก่อน


‘ฉลามเสือทราย’ Sand tiger shark/ภาพจากเน็ต

ในท้องทะเลนั้น ‘ฉลามเสือทราย’ Sand tiger shark (Carcharias taurus) เป็นสัตว์น้ำที่มีเรื่องราวการกำเนิดน่าสนใจมาก พวกมันไม่ได้วางไข่ภายนอกตามธรรมชาติเหมือนปลาทั่วไป โดยไข่ (egg) และตัวอ่อน (embryo) จะพัฒนาในร่างกายแม่บริเวณท่อนำไข่ (oviduct) เรียกกระบวนการนี้ว่า histotrophic viviparity ที่แม่จะรักษาตัวอ่อนในท้องให้แข็งแรงก่อน จึงปล่อยให้มันออกไปดูโลกกว้าง

ย้อนไปในปี 1948 นักวิทยาศาสตร์ได้นำฉลามเสือทรายมาทดลอง โดยเขาเอามือล้วงไปในท่อนำไข่ของฉลามเพศเมียตัวหนึ่งที่กำลังตั้งท้อง ทันใดนั้นเขากลับรู้สึกเจ็บปวดเหมือนถูกกัดอย่างแรงจากของมีคม เลือดอาบมือ ราวกับนิยายหนังเขย่าขวัญที่คุณไม่ควรล้วงอะไรหากไม่รู้จักมันดีพอ


ตัวอ่อนที่พร้อมล่า ภาพ : Nature/ภาพจากเน็ต

ด้วยความสงสัยเขาจึงเปิดท่อนำไข่ของฉลามดู ปรากฏว่ามีตัวอ่อนฉลามที่พัฒนาเกือบสมบูรณ์อยู่ปะปนกับไข่ที่ยังไม่ได้ฟัก และที่น่าทึ่งไปอีกเมื่อเจ้าตัวอ่อนฉลามกำลังกินไข่ใบอื่นๆ หรือกินตัวอ่อนที่มีขนาดเล็กกว่าอย่างหิวกระหายทั้งๆ อยู่ในท้องแม่! พฤติกรรมนี้เรียกว่า adelphophagy รากจากภาษากรีกที่หมายถึง ‘Brother eating’ เป็นหนึ่งในกลไกที่พี่น้องกินกันเอง (sibling cannibalism) ที่พบเห็นได้ในธรรมชาติ

แม้จะดูทารุณ แต่การที่พี่น้องกินกันเองกลับเพิ่มโอกาสรอดให้กับฉลามเสือทรายอย่างน่าอัศจรรย์ เพราะหากไม่เป็นเช่นนั้นศักยภาพการล่าของฉลามอาจสูญเสียไป และทำให้ถูกผู้ล่าในธรรมชาติที่เหนือกว่ากินไปในขณะยังเยาว์ จากเหตุผลที่ว่า ท่อนำไข่ของแม่ฉลามนั้นให้กำเนิดลูกฉลามในหลาย stage ได้ เมื่อตัวอ่อนลูกฉลามใช้สารอาหารจากไข่แดงจนหมด มันจะเริ่มกินไข่ใบอื่นๆ ที่ใกล้เคียง และหากไข่ใบอื่นหมดอีก ก็จะเริ่มกินตัวอ่อนฉลามกันเองที่อ่อนแอกว่า จนกระทั่งเหลือลูกฉลามเพียง 2 ตัวเท่านั้น ที่จะไหลมาอยู่ในท่อนำไข่แต่ละข้างและมีโอกาสรอดสู่โลกภายนอก


Stewart Springer นักมีนวิทยาให้เหตุผลว่า มันอาจเป็นกลยุทธ์ที่ใช้ประโยชน์ทรัพยากรที่แม่ให้มาอย่างเต็มที่ ทำให้ลูกฉลามเสือทรายมีทักษะการล่าตั้งแต่แรกเกิด (Experienced young) ซึ่งมีประสบการณ์ฆ่ามาแล้ว เหมือนเด็กที่ฝึกงานตั้งแต่เรียนจนเก่ง พร้อมบรรจุเข้าทำงานได้เลย

การกินกันเองในพี่น้อง (sibling cannibalism) จึงเป็นประโยชน์ต่อฉลามทรายในการมีชีวิตรอดในสภาพแวดล้อมจริงที่มีการแข่งขันสูงและสามารถต่อกรกับผู้ล่ารายอื่นได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ ทำให้ได้ฉลามรุ่นต่อไปมีร่างกายพร้อม ทักษะการล่าเป็นเลิศ สามารถถ่ายทอดพันธุกรรมที่ดีในหมู่ฉลามเสือทรายต่อไปได้ เพราะมันฆ่าผู้อ่อนแอในท้องเดียวกันเสียตั้งแต่แรกแล้ว

คุณจะเห็นได้ว่าการแข่งขัน จนถึงขั้นกินกันเอง ก็มีความงดงามและตื่นตาในธรรมชาติเช่นกัน ความแข็ง ความอ่อน ล้วนพบเห็นได้ในธรรมชาติที่โอบรัดทั้งคู่ไว้พร้อมๆกัน


การแข่งขันช่วงชิงของพี่น้องอยู่ล้อมรอบตัวเรา แต่ในฐานะมนุษย์ที่มีศักยภาพในการหาเหตุผลและมีจริยธรรม คุณอาจชั่งน้ำหนักสักนิดหากจะขัดแย้งกับพี่น้องร่วมท้อง แต่ที่แน่ๆ คงไม่ถึงขั้น ‘กิน’ แบบฉลามทรายหรอก



อ้างอิงข้อมูลจาก
Cannibalism: A Perfectly Natural History
amazon.com

Zoology Notes 008: the shark that eats its siblings, in utero
theguardian.com

Illustration by Waragorn Keeranan
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่