อย่าเด็ดดอกไม้ แล้วรดน้ำวัชพืช

กระทู้สนทนา
เครดิตบทความ  สมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า(ประเทศไทย)


“ไม่เป็นไร ! ไม่ขาย ไม่ขาดทุน” มักจะถูกใช้เป็นคำปลอบใจสำหรับนักลงทุนหลายๆ ท่านในกรณีที่ซื้อหุ้นแล้วเกิดการ “ติดหุ้น” หรือ “ติดดอย” นั่นก็คือ เมื่อเขาซื้อหุ้นมาในราคาหนึ่ง แล้วหลังจากนั้นราคาหุ้นกลับลดลงต่ำกว่าระดับราคาที่ซื้อมา เขาจึงตัดสินใจถือหุ้นนั้นเอาไว้ เพราะไม่อยากขายในราคาที่ขาดทุน และเฝ้ารอจนกว่าราคาของหุ้นจะขึ้นมาสูงกว่าหรือเท่ากับต้นทุนของเขา แล้วจึงค่อยขายหุ้นนั้นออกไป

    การ “มโน” หรือคิดเข้าข้างตัวเองว่า “ไม่ขาย ไม่ขาดทุน” นั้น แม้จะไม่ใช่ความคิดที่ “ผิด” เสียทีเดียว แต่ก็ถือว่า “ไม่ถูกต้องทั้งหมด” หรืออาจกล่าวได้ว่า “ถูกเพียงส่วนเดียว”

    ประเด็นที่ “ถูกเพียงส่วนเดียว” ก็คือ ตราบใดที่เขายังไม่ตัดสินใจขายหุ้นออกไป สภาวะของการ “ขาดทุน” ก็ย่อมยังไม่เกิดขึ้นจริง และเขายังมีโอกาสที่จะหลุดพ้นจากการขาดทุนได้ ถ้าหุ้นที่เขาซื้อนั้นเป็นหุ้นพื้นฐานดี เป็นหุ้นของกิจการที่มีศักยภาพในการทำรายได้หรือสร้างกำไรให้เติบโตได้ดีในระยะยาว แม้ตอนนี้ราคาหุ้นจะลดต่ำลงกว่าต้นทุนที่ซื้อมา แต่ก็ยังพอมีโอกาสที่ราคาหุ้นจะเพิ่มสูงขึ้นได้ในอนาคตถ้านักลงทุนในตลาดหุ้นเล็งเห็นถึงศักยภาพของกิจการ

    แต่ “อีกส่วนหนึ่ง” ที่พึงตระหนักก็คือ ถ้าหุ้นที่เขาซื้อนั้นไม่ได้เป็นหุ้นที่พื้นฐานดี ผลการดำเนินงานเป็นไปอย่างลุ่มๆ ดอนๆ ก็ย่อมไม่มีปัจจัยที่จะผลักดันให้ราคาหุ้นเพิ่มสูงขึ้นได้ ยกเว้นว่าเกิด “จังหวะดี” มีกลุ่มนักเล่นหุ้นเข้ามาปั่น หรือเข้ามาซื้อไล่ราคาหุ้นให้พุ่งสูงขึ้น ก็อาจใช้จังหวะนั้นขายหุ้นออกไปได้โดยที่ไม่ขาดทุน แต่ถ้าหากไม่มีเหตุการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้นล่ะ เขาจะต้องทนกอดหุ้นตัวนั้นไปอีกนานแค่ไหน

    จริงอยู่ ถึงแม้ว่าการขาดทุนจะยังไม่เกิดขึ้นจริง เพราะยังไม่ได้มีการขายหุ้นออกไป แต่เขาก็อาจเสียโอกาสดีๆ ไปไม่น้อยเช่นกันในช่วงเวลาที่เงินลงทุนของเขาจมอยู่กับหุ้นที่ไม่มีอนาคต เมื่อเทียบกับการยอมขายขาดทุน เพื่อนำเงินไปซื้อหุ้นตัวใหม่ที่คุณภาพดีและมีราคาที่เหมาะสม ซึ่งอาจช่วยให้ผลการลงทุนของเขาดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

    ในทางจิตวิทยาการลงทุน เรียกพฤติกรรมของการที่นักลงทุนมักจะขายหุ้นที่ได้กำไร แล้วกอดหุ้นที่ขาดทุน ว่า “Disposition Effect”ซึ่งเป็นพฤติกรรมของการหลีกเลี่ยงความเสียใจ (ด้วยการกอดหุ้นที่ขาดทุนเอาไว้ แล้วปลอบใจตัวเองว่า ไม่ขายไม่ขาดทุน) และการเสาะหาความภาคภูมิใจ (จากการขายหุ้นที่ได้กำไร)

    ผู้จัดการกองทุนระดับยอดฝีมือของโลกอย่าง “ปีเตอร์ ลินซ์” ก็เคยเปรียบเทียบการขายหุ้นที่ได้กำไร แล้วกอดหุ้นที่ขาดทุนเอาไว้ ว่าเหมือนกับเป็นการ “เด็ดดอกไม้แล้วรดน้ำวัชพืช”

    แม้จะเป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า การมัวแต่ “รดน้ำวัชพืช” หรือ “กอดหุ้นที่ขาดทุน” อยู่นั้น ไม่ได้มีประโยชน์หรือไม่ได้ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า แต่คำว่า “ไม่ขาย ไม่ขาดทุน” ก็ยังเป็นคำพูดติดปากที่นักลงทุนหลายๆ ท่านมักหยิบยกมากล่าวอ้าง และได้แต่หวังว่าราคาของหุ้นที่ติดอยู่จะขยับขึ้นมาสูงกว่าหรือเท่ากับต้นทุนที่ซื้อ เพื่อจะได้หลุดพ้นจากสภาวะของการ “ติดหุ้น” หรือสามารถ “ลงจากดอย” ได้ในที่สุด

    แต่ในความเป็นจริงจะเป็นอย่างที่ “มโน” เอาไว้หรือไม่ คงต้องพิสูจน์ด้วยตัวของเขาเอง

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่