!!... บทเรียนที่เม่าควรฟังผู้มีประสบการณ์ ..." หุ้น IPO ร้อนๆ "... โดย ดร. นิเวศน์ ...!!

กระทู้สนทนา
บทความของท่าน ดร. แม้จะผ่านเวลาล่วงเลยมาแค่ไหน ก็คงอยู่และใช้ได้เสมอ.. ขอบคุณท่าน ดร. สำหรับการเผยแพร่ความรู้


............................................

"IPO ร้อนๆ"

ตั้งแต่ปี 2552 หรือหลัง “วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์” เป็นต้นมา ดัชนีตลาดหุ้นไทยได้ปรับตัวขึ้นมาต่อเนื่อง ยกเว้นปีที่แล้วตลาดหุ้นปรับลงเล็กน้อย
ผลคือทำให้นักลงทุนโดยเฉพาะที่เป็น VI ที่มุ่งมั่นจำนวนไม่น้อยร่ำรวยไปตามๆ กัน จากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ในเวลาเพียง 4-5 ปี
เหตุผลที่นักลงทุนทำกำไรหรือสร้างผลตอบแทนได้มโหฬารนั้น นอกจากเรื่องของการที่ตลาดหุ้นโดยรวมปรับตัวขึ้นสูงและเร็วมากแล้ว ยังอยู่ที่กลยุทธ์ลงทุนที่พวกเขาเน้นในหุ้นตัวเล็กที่เติบโตสูงกว่าดัชนีโดยรวมมากด้วย นี่เป็นประเด็นแรก
อีกประเด็นคือ VI หรือนักลงทุนผู้มุ่งมั่นเหล่านั้น ยังใช้มาร์จินหรือกู้เงินซื้อหุ้นในอัตราที่สูงมากซึ่งช่วย “ขยาย” ผลตอบแทนเป็นทวีคูณ ผลคือผลตอบแทนของนักลงทุนบางกลุ่มนั้นสูงลิ่วปีละหลายสิบหรือบางทีเป็นร้อยๆ เปอร์เซ็นต์ และอาจทำให้หุ้นตัวเล็กเป็นหุ้นที่นักลงทุนรายย่อยสนใจมากกว่าหุ้นตัวใหญ่มาก
อาการที่หุ้นตัวเล็กมีผลประกอบการดี “วิ่ง” ระเบิด เมื่อมีการ“โหม”เข้าซื้อของนักลงทุนนั้น คิดว่าเป็นอาการที่เกิดขึ้นทุกครั้งที่ตลาดหุ้นอยู่ในช่วงที่ “บูม” จัดเป็นกระทิง ยิ่งบูมนาน หุ้นดังกล่าวจะมีมากและบ่อยขึ้น แต่เมื่อการปรับตัวของดัชนีขึ้นสูงมากและนานพอ จนอาจจะเริ่มชะลอตัว
นักลงทุนจำนวนหนึ่งจะหันมาหาหุ้นอีกกลุ่มที่สามารถมาทดแทน และนี่คือหุ้นที่เข้าตลาดครั้งแรก หรือเข้ามาเทรดใหม่ ที่เรียกกันว่าหุ้น IPO พวกเขาเข้ามาซื้อขายหุ้นเหล่านี้อย่าง“บ้าคลั่ง” โดยเฉพาะวันแรกๆ ของการเข้ามาซื้อขายในตลาดหุ้น ซึ่งส่งผลให้ราคาหุ้นมักปรับขึ้นไปสูงลิ่วจนไม่น่าเชื่อ ในฐานะของ VI เรามองหุ้น IPO อย่างไร?
ประการแรก คิดว่าหุ้น IPO หลายตัวในภาวะตลาดบูมนั้น อาศัยสภาวะของการเก็งกำไรที่มีอยู่มากในตลาดหุ้น เข้ามาระดมทุนและสร้างมูลค่าของกิจการที่สูงกว่าความเป็นจริง พูดง่าย ๆ บริษัทสามารถขายบางส่วนของกิจการในราคาที่สูงกว่าพื้นฐานที่ควรจะเป็น เงินที่บริษัทได้รับจากการขายหุ้น IPO นั้นมีมากพอ ที่จะทำให้บริษัท “สบาย” และสามารถที่จะ “เติบโต” เร็วขึ้น
สำหรับบริษัทนั้นแทบไม่มีอะไรจะเสียเลย ในส่วนของเจ้าของนั้น แม้ว่าสัดส่วนการถือหุ้นจะลดลงเมื่อนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น แต่มูลค่ารวมของความมั่งคั่งวัดจากจำนวนและราคาของหุ้นที่ซื้อขายในตลาด มักจะสูงขึ้นมากจากเดิมที่ความมั่งคั่งนั้นวัดได้ไม่ชัดเจน เพราะไม่มีราคาซื้อขาย แต่สำหรับนักลงทุนที่เข้าไปซื้อหุ้น IPO นั้น พวกเขาได้อะไร?
ในระยะสั้น ในภาวะที่ตลาดหุ้นยังอยู่ในโหมดความสดใส การซื้อ“หุ้นจอง”หรือหุ้น IPO ก่อนเข้าตลาด ดูเหมือนจะ “ปิดประตูขาดทุน” เหตุเพราะว่าวันแรกที่หุ้นเข้าตลาดนั้น การเก็งกำไรหรือแม้แต่ การ“ดูแลราคาหุ้น” ของเจ้าของหรือใครก็ตาม มักทำให้ราคาหุ้นขึ้นไปเหนือราคาจองเสมอ และถ้าโชคดีราคาขึ้นไปสูงกว่าราคาจองหลายสิบเปอร์เซ็นต์หรือบางทีเป็นร้อย คนได้หุ้นจองก็ทำเงินได้ง่ายอย่างรวดเร็วจากการลงทุนเพียงไม่กี่วัน
แต่ปัญหาคือหุ้นจองในภาวะที่ตลาดหุ้นร้อนแรงนั้น “หาได้ยาก” ถ้าคุณไม่ได้เป็นนักเล่นหุ้นรายใหญ่ หรือมีสายสัมพันธ์พิเศษกับเจ้าของบริษัทหรือผู้รับประกันการจำหน่ายหุ้น ส่วนการเข้าไปซื้อหุ้นที่เข้าใหม่ในตลาดหลักทรัพย์ในวันแรกๆ ของการซื้อขายนั้น คิดว่าเป็นเรื่องการเก็งกำไรล้วนๆ ด้วยเหตุผลที่ว่าหุ้นจองหรือ IPO มักจะถูกตั้งราคาสูงกว่าพื้นฐานอยู่แล้ว โดยที่ปรึกษาและรับประกันการจำหน่ายหุ้น
และถ้าเราเข้าไปซื้อหุ้นในวันแรก ๆ ที่ราคาวิ่งสูงขึ้นไปอีก นั่นก็แปลว่าเรากำลังซื้อหุ้นยิ่งสูงกว่ามูลค่าพื้นฐานมาก ดังนั้น ถ้าถือหุ้นลงทุนระยะยาวก็น่าจะขาดทุนมากกว่าที่จะกำไร
เหตุผลที่เชื่อว่าหุ้น IPO ส่วนใหญ่นั้นถูกกำหนดให้มีราคาสูงกว่าพื้นฐานนั้น เป็นเพราะว่าราคานั้นมักถูกกำหนดโดยเจ้าของบริษัทที่รู้จัก “พื้นฐาน” ของบริษัทเป็นอย่างดี และขายให้กับนักลงทุนโดยทั่วไป ที่มักจะไม่รู้จักกับบริษัทเลย หรือรู้จักแบบผิวเผิน แต่มาซื้อหุ้นเพราะหวัง “เก็งกำไร” ในระยะสั้น ดังนั้นเขาจึงไม่สนใจมากนักว่าราคาจะแพงหรือถูก
อาจมีข้อถกเถียงว่าคนที่กำหนดหรือคำนวณราคาหุ้น IPO คือผู้ที่รับประกันการจำหน่ายหุ้น คือที่ปรึกษาการเงินที่มีความรู้ประเมินราคาหุ้นเป็นอย่างดี ดังนั้นราคาหุ้นที่ขาย IPO น่าจะเป็นราคายุติธรรม ว่าที่จริงโบรกเกอร์มักพูดว่าราคาหุ้นที่ตั้งนั้น มี“ส่วนลด”จากราคาพื้นฐานด้วยซ้ำ เหนือสิ่งอื่นใดคือถ้าขายไม่หมดเขาต้องรับซื้อหุ้น IPO นั้นไว้เอง
ดังนั้น ราคาหุ้น IPO จึงไม่น่าจะแพงกว่าพื้นฐานที่ควรจะเป็น แต่ข้อถกเถียงนี้ คิดว่าอาจไม่ถูกต้อง ข้อโต้แย้งคือ ข้อแรกที่ปรึกษาไม่รู้หรือไม่สามารถประเมินราคาหุ้นเหมาะสมได้จริง ส่วนใหญ่มักอิงตัวเลขบางตัว เช่น ค่า PE ของปีที่ผ่านมาหรือปีปัจจุบันที่กำลังมาถึง ข้อสอง โบรกเกอร์ไม่มีปัญหาขายหุ้น IPO ช่วงที่ตลาดหุ้นบูม ดังนั้นเขาไม่กลัวว่าจะขายหุ้น IPO ไม่ได้
เหตุผลที่ผมไม่ใคร่สนใจซื้อหุ้น IPO หลังจากเข้ามาเทรดในตลาดใหม่ๆ อีกข้อหนึ่งก็คือ หุ้นเหล่านี้มักจะมีประวัติหรือข้อมูลผลประกอบการที่สั้นมากเพียง 2-3 ปีที่เปิดเผยให้เราเห็น นอกจากนั้น เนื่องจากเป็นบริษัทเอกชนมาก่อน ความน่าเชื่อถือของข้อมูลก็มักจะไม่เพียงพอ ที่สำคัญคือ ข้อมูลผลประกอบการปีล่าสุดเองนั้นก็มักจะต้องถูกทำให้ดูดี เพื่อที่ปรึกษาการเงินจะได้ตั้งราคาหุ้นให้สูงขึ้น
ดังนั้นผมก็ไม่แน่ใจว่ากำไรที่ดูดีนั้น มาจากการ“แต่งตัว”หรือทำให้ดูดี ด้วยวิธีการทางบัญชีหรือเกิดจากกลยุทธ์ประเภท ดึงกำไรให้เกิดก่อนแล้วค่อยไปลดกำไรในภายหลังหรือไม่ ทั้งหมดนี้ทำให้รู้สึกว่าอาจไม่เข้าใจหรือรู้จักบริษัทจริงๆ และเป็นความเสี่ยง เหนือสิ่งอื่นใดคือหุ้นใหม่เหล่านี้ มีอัตราการเก็งกำไรสูงมากมองจากอัตราหมุนเวียนเปลี่ยนมือของหุ้นที่สูงลิ่ว ดังนั้นราคาหุ้นมักสูงกว่าความเป็นจริง ผมจึงมักเลือกไม่เข้าไปยุ่งหรือซื้อขายหุ้น IPO โดยเฉพาะการซื้อขายหลังเข้าตลาดแล้ว
แน่นอนว่ามีหุ้น IPO บางตัวที่ “ร้อนแรง” ตั้งแต่วันเปิดจอง ร้อนแรงมากในวันที่เข้าซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากภาวะตลาดที่เอื้ออำนวยและผลประกอบการบริษัทที่ประกาศออกมาดูน่าประทับใจ รวมถึงการคาดการณ์อนาคตที่ดูสดใส หรือร้อนแรงมาก เนื่องจากเหตุผลที่ว่ามันเป็นหุ้นตัวเล็กที่มีหุ้นจำนวนน้อยและอาจจะมีคนที่เล่นหรือ “ดูแล” หุ้นอย่างมีประสิทธิผล
แต่ในระยะยาวแล้ว ราคาหุ้นก็จะต้องสะท้อนถึงพื้นฐานที่แท้จริงของมัน และนั่นก็มักจะเกิดขึ้นเมื่อตลาดหุ้นซบเซาหรือนักลงทุนหมดความสนใจในตัวหุ้นเนื่องจากผลประกอบการไม่เป็นไปตามที่คนคาดหวัง ราคาหุ้นก็จะตกลงมาอย่างหนักและคนที่ซื้อหุ้นไว้ก็จะเสียหาย
ดังนั้น โดยทั่วไปแล้ว ถ้าผมได้หุ้นจองมาก็มักจะขายค่อนข้างเร็ว หลังจากที่เข้าซื้อขายในตลาด โอกาสที่จะถือเก็บไว้ยาวมีน้อย โอกาสที่จะซื้อหุ้น IPO ที่เข้าตลาดใหม่ๆ เพื่อเก็บไว้ยาว เพื่อลงทุนแทบจะไม่มีเลย เมื่อยังเป็นเด็กนั้น มีเนื้อเพลงเกี้ยวสาวยอดนิยมประโยคหนึ่งบอกว่า “เก่าๆ เป็นสนิม ใหม่ๆ หน้าตาจุ๋มจิ๋ม” แต่ในตลาดหุ้นนั้น ผมคิดว่าหุ้นเก่าๆ นั้นไม่เป็นสนิมและหุ้นใหม่ๆ นั้นหน้าตาก็ไม่จุ๋มจิ๋ม ครับ

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่