เมื่อตลาดหุ้นปิดในวันศุกร์ที่ 8 มีนาคม 2567 ผมนั่งดูดัชนีตลาดหุ้นไทย ปริมาณการซื้อขายหุ้นและหุ้นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงสุด 10 ตัวแรก—ตามปกติ ผมก็ฉุกคิดขึ้นมาว่ามีอะไรบางอย่างที่น่าจะเปลี่ยนแปลงไปมากสำหรับตลาดหุ้นไทยในช่วงหลาย ๆ ปีที่ผ่านมาโดยที่เราอาจจะไม่รู้ตัวหรือไม่ตระหนัก และผมก็เริ่มที่จะคิดว่านี่คือสถานการณ์ที่ นักลงทุนหรือถ้าจะเรียกว่านักเก็งกำไรน่าจะถูกต้องกว่า “กำลังหมดหวังและหมดกำลังใจ” กับตลาดหุ้นไทยอย่างรุนแรงและได้แสดงออกผ่านตัวเลขและข้อมูลหลาย ๆ อย่างดังต่อไปนี้
แม้ว่าดัชนีตลาดหุ้นในวันที่ 8 มีนาคม 2567 จะปรับตัวขึ้นแรงประมาณ 1% เป็น 1,386 จุด แต่ปริมาณการซื้อขายหุ้นทั้งวันอยู่ที่ประมาณ 40,000 ล้านบาทเศษ และนั่นก็เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปมากจากอดีตเมื่อซัก 3-4 ปีก่อน ที่ถ้าดัชนีขึ้นแรงขนาดนั้น ปริมาณการซื้อขายหุ้นก็มักจะขึ้นไปแตะระดับ “แสนล้านบาท” เพราะแรงเก็งกำไรที่เข้ามาเล่นหรือซื้อขายหุ้นโดยเฉพาะจากนักลงทุนส่วนบุคคลทั้งรายย่อยและ “รายใหญ่” ที่ซื้อขายหุ้นต่อวันเป็นระดับร้อยหรือหลายร้อยบาทในเวลาเพียง 1 วัน
แต่ในวันที่ 8 นั้น ดูเหมือนว่าคนที่เข้าไปซื้อหุ้นส่วนใหญ่คือนักลงทุนต่างชาติที่ในช่วงหลัง ๆ กลายเป็นผู้เล่นหลักในตลาดหุ้นไทย ที่มีปริมาณการซื้อขายหุ้นรวมมากกว่า 50% ของตลาด และในวันที่ 8 นั้น พวกเขาซื้อหุ้นสุทธิเป็นจำนวนประมาณ 1,600 ล้านบาท จากที่ในระยะหลัง ๆ จะเป็นผู้ขายสุทธิเป็นส่วนใหญ่ และทำอย่างนั้นมาเป็นเวลา 10 ปีมาแล้ว ดังนั้น การซื้อสุทธิแค่ 1,600 ล้านบาท ก็อาจจะส่งผลให้ดัชนีหุ้นวิ่งขึ้นไปได้ถึง 1% อย่างง่าย ๆ
การที่หุ้นขึ้นไปแรงถึง 1% ในวันเดียวนั้น ในอดีตในช่วงที่ตลาดหุ้นไทยเต็มไปด้วยนักเก็งกำไรส่วนบุคคลทั้งรายใหญ่และรายย่อย หุ้นที่มีการซื้อขายสูงสุด 10 อันดับแรก ก็มักจะประกอบไปด้วย “หุ้นที่กำลังมีการเก็งกำไรร้อนแรง” ซึ่งก็มักจะเป็นหุ้นที่กำลังมีการ “Corner” โดยเฉพาะจาก “เซียนหุ้นรายใหญ่” ที่เข้าไปเล่นหุ้นที่มีเรื่องราวที่น่าตื่นเต้น ทั้งผลประกอบการที่โตดีมากและกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วทั้งจากธุรกิจเดิมและการเทคโอเวอร์ “ธุรกิจแห่งอนาคต” หรือการขยายสู่ตลาดต่างประเทศ “ระดับโลก” ที่จะเปลี่ยนบริษัทกลายเป็น Global หรือ Regional Player คือเป็นบริษัทระดับโลกที่จะมีมูลค่าหรือ Market Cap. ระดับ “แสนล้านบาท”
เช่นเดียวกัน หุ้นที่เพิ่งจะ IPO เข้าซื้อขายในวันแรกก็มักจะ “ร้อนแรงเป็นไฟ” ไม่ว่าบริษัทจะทำอะไร ขอให้เป็นหุ้นที่มี Free Float หรือหุ้นที่กระจายในตลาดหุ้นน้อยและเจ้าของพร้อมที่จะเข้ามาเล่นด้วย ก็จะมีปริมาณการซื้อขายหุ้นติด 1 ใน 10 อันดับอย่างแน่นอน เพราะนักเก็งกำไรส่วนบุคคลทั้งรายย่อยและรายใหญ่ต่างก็จะเข้ามาเล่นหุ้นที่ “การันตี” ถึง “ความผันผวนสุดยอด” ที่จะทำให้ได้เสียกันอย่างรวดเร็วภายในวันเดียว
แต่ข้อมูลหุ้นที่มีการซื้อขายสูงสุด 10 อันดับของวันที่ 8 นั้นก็คือ หุ้นที่ใหญ่ที่สุดในแง่ของ Market Cap. ของตลาดหลักทรัพย์แทบทั้งหมด ไม่มี “หุ้นเล็ก” ที่มี Market Cap. ต่ำกว่าแสนล้านบาทติดอันดับเลย ในขณะที่ในอดีตที่การเก็งกำไรของตลาดหลักทรัพย์ร้อนแรงมากนั้น แทบทุกวันจะมีหุ้นตัวเล็กและขนาดกลางที่มีการเก็งกำไรสูงหรือหุ้นที่กำลังถูก Corner ติดอันดับ Top Ten ถึง 4-5 ตัวเป็นประจำ
ซึ่งก็เป็นการแสดงว่า นักเก็งกำไรทั้งรายย่อยและรายใหญ่หายไปจากตลาดหุ้น หรือไม่ก็ได้แต่นั่งดูเป็นส่วนใหญ่ เหตุผลก็อาจจะเป็นว่า ในระยะหลัง อาจจะ 2-3 ปีที่ผ่านมา พวกเขาเข้าไปเล่นเก็งกำไรแล้วก็ขาดทุนเป็นส่วนใหญ่ พอขาดทุนซ้ำ ๆ ซาก ๆ ก็หมดหวังและทยอยเลิกเล่น และสิ่งนี้อาจจะไม่ได้เกิดเฉพาะนักเล่นรายย่อย แต่เกิดขึ้นกับนักลงทุนส่วนบุคคลรายใหญ่ด้วย เพราะความเป็นจริงก็คือ การเล่นหุ้นที่ราคาหุ้นไม่ปรับตัวขึ้นเลยนั้น รายใหญ่ก็ต้องพยายาม “กินรายย่อย” และเมื่อรายย่อย “ตาย” รายใหญ่ก็อยู่ยาก
ดัชนี MAI ซึ่งเป็นระดับราคาของหุ้นตัวเล็กที่เป็นกลุ่มหุ้นที่นักเก็งกำไรชอบเล่นเพราะสามารถทำราคาขึ้นไปได้สูงมากเป็นหลาย ๆ เท่าได้นั้น ในวันที่ 8 อยู่ที่ 410 จุด และถือเป็นจุดที่ต่ำมากและเป็นระดับที่ลดลงมาเรื่อย ๆ เป็นเวลาอย่างน้อย 3-4 ปีมาแล้ว ว่าที่จริง ดัชนี MAI เมื่อประมาณ 9 ปีมาแล้วนั้นเคยสูงถึงเกือบ 800 จุด ซึ่งเท่ากับว่าในเวลา 9 ปี ราคาเฉลี่ยหุ้นขนาดเล็กใน MAI ลดลงมาเกือบ 50% ทั้ง ๆ ที่เมื่อ 3-4 ปีก่อนหุ้น MAI ก็ยังร้อนแรงมาก ปริมาณการซื้อขายหุ้นต่อวันเมื่อเทียบกับขนาด Market Cap. ของตัวเองก็สูงลิ่ว อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ดูเหมือนว่านักเก็งกำไรจะ “ถอดใจ” แล้วกับหุ้น MAI
หุ้นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีขนาดกลางหรือใหญ่ที่ครั้งหนึ่งประมาณ 3-4 ปีมาแล้วเป็น “หุ้นนางฟ้า” Market Cap. เคยวิ่งขึ้นไปแตะระดับ “แสนล้านบาท” ช่วงนี้ก็ดูเหมือนว่าจะเหงาหงอยมาก ราคาหุ้นส่วนใหญ่ก็ลดลงต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปีจนราคา “แทบจะกลับมาที่เดิม”ก่อนที่จะขึ้นแบบติดจรวดในยามที่นักเก็งกำไรอยู่กันเต็มตลาดหุ้น
หุ้นนางฟ้าแทบทุกตัวทยอยปรับลง 30-50% จากจุดสูงสุดหรือมากกว่านั้น ทั้ง ๆ ที่บางตัวบริษัทก็ยังมีกำไรเพิ่มขึ้นต่อเนื่องแม้ว่ากำไรที่เพิ่มจะลดลงเรื่อย ๆ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ค่า PE ที่เคยสูงลิ่วเกิน 40-50 เท่าเพราะคนคิดว่าเป็นหุ้นเติบโตหรือเป็น “ซุปเปอร์ตสต็อก” นั้น ทยอยปรับตัวลงเรื่อย ๆ จนอาจจะเหลือแค่ 15-20 เท่า เพราะคนเริ่มรู้สึกว่าหุ้นไม่ได้โตเร็วจริงหรือไม่ได้เป็นซุปเปอร์สต็อก แต่เป็นหุ้นธรรมดาที่บังเอิญโตเร็วในช่วงเวลาหนึ่งก่อนหน้านี้ และตอนนี้เริ่มไม่โตแล้ว และก็ไม่ได้แข็งแกร่งหรือยิ่งใหญ่อะไรแบบหุ้นที่เป็นซุปเปอร์สต็อกจริง ๆ
ดังนั้น คนก็ทยอยขายหุ้นนางฟ้าจนทำให้เป็นหุ้น “ตกสวรรค์” และคนที่เข้าไปรับก็รับจน “หมดศรัทธา” และเลิกเล่นหุ้นเหล่านั้น เพราะบางวันหุ้นก็เด้งขึ้นแรง แต่แล้วก็ตกกลับลงไปใหม่มากกว่าเดิมทุกครั้ง
อาการนักเก็งกำไร “หายไปจากตลาด” นั้น ไม่ได้เกิดเฉพาะในตลาดหุ้น เหตุเพราะว่าช่วงนี้ ตราสารหรือเครื่องมือเก็งกำไรที่เคยร้อนรุนแรงเมื่อ 3-4 ปีก่อน เฉพาะอย่างยิ่งทองคำและบิทคอยน์ซึ่ง “คนทั้งเมือง” โดยเฉพาะที่เป็นคนรุ่นใหม่ต่างก็เข้าไปเก็งกำไร เพราะคิดว่ามันคือ “เงินแห่งอนาคต” และราคาบิทคอยน์ขึ้นไปถึงกว่า 2 ล้านบาทต่อหนึ่งบิทคอยน์ ซึ่งก็ตกลงมาถล่มทลายเหลือเพียง 5 แสนกว่าบาทในเวลาไม่นาน ทำให้นักเก็งกำไรเจ๊งกันเป็นแถวและเลิกพูดถึงบิทคอยน์ไปนาน
แต่แล้ว ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ราคาบิทคอยน์ก็กลับพุ่งขึ้นมาใหม่อย่างรุนแรงและราคากลับมาทำสถิติสูงสุดใหม่ที่ประมาณ 2.4 ล้านบาทต่อ 1 บิทคอยน์ เช่นเดียวกัน ทองคำที่คนเลิกพูดถึงไปนานก็มีราคาพุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดเช่นกันที่ประมาณบาทละ 35,000 บาท ซึ่งถ้าเป็นช่วงหลายปีก่อน นักเก็งกำไรก็คงจะป่าวร้องเชียร์กันอื้ออึงว่าเป็น “ยุคใหม่แห่งการลงทุน” ไปแล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ “ความเงียบ” คนพูดถึงกันน้อยมาก บางทีอาจจะเป็นเพราะนักเก็งกำไร “ตายไปแล้ว” ไม่มีใครไปซื้อบิทคอยน์และทองคำก่อนหน้านี้ ไม่มีใครกำไรเป็นเรื่องเป็นราวจากการขึ้นของบิทคอยน์และทองคำงวดนี้ พวกเขาอาจจะ “หมดศรัทธา” ไปก่อนหน้านี้แล้ว
แน่นอนว่านักเก็งกำไรไม่มีทางที่จะหายไปหมดและในที่สุดก็ต้องกลับมาใหม่โดยเฉพาะเมื่อสภาพแวดล้อมเป็นใจ ว่าที่จริงช่วงนี้ก็ยังมีหุ้นตัวเล็ก ๆ ที่ “ยั่วเย้า” ให้คนเข้ามาเก็งกำไร และแน่นอนว่ามีทองคำและบิทคอยน์ที่กำลังร้อนแรงและก็อาจจะเริ่มกระตุ้นให้นักเก็งกำไรกลับมาเล่นใหม่ แต่ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าจะสำเร็จแคไหน เพราะบทเรียนที่นักเก็งกำไรได้รับจากตลาดในช่วงที่ผ่านมานั้นค่อนข้างจะรุนแรงและต่อเนื่องยาวนานจนคน “เข็ด” และคงต้องใช้เวลาก่อนที่จะฟื้น หรือไม่อย่างนั้น ก็ต้องมีนักเก็งกำไรรุ่นใหม่เข้ามาร่วมในกิจกรรมที่ติดอยู่ในตัวของมนุษยชาติตั้งแต่ดึกดำบรรพ์นี้
https://www.settrade.com/th/news-and-articles/articles/398-nivate-has-the-profit-seeker-deceased
นักเก็งกำไรตายแล้ว? โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
แม้ว่าดัชนีตลาดหุ้นในวันที่ 8 มีนาคม 2567 จะปรับตัวขึ้นแรงประมาณ 1% เป็น 1,386 จุด แต่ปริมาณการซื้อขายหุ้นทั้งวันอยู่ที่ประมาณ 40,000 ล้านบาทเศษ และนั่นก็เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปมากจากอดีตเมื่อซัก 3-4 ปีก่อน ที่ถ้าดัชนีขึ้นแรงขนาดนั้น ปริมาณการซื้อขายหุ้นก็มักจะขึ้นไปแตะระดับ “แสนล้านบาท” เพราะแรงเก็งกำไรที่เข้ามาเล่นหรือซื้อขายหุ้นโดยเฉพาะจากนักลงทุนส่วนบุคคลทั้งรายย่อยและ “รายใหญ่” ที่ซื้อขายหุ้นต่อวันเป็นระดับร้อยหรือหลายร้อยบาทในเวลาเพียง 1 วัน
แต่ในวันที่ 8 นั้น ดูเหมือนว่าคนที่เข้าไปซื้อหุ้นส่วนใหญ่คือนักลงทุนต่างชาติที่ในช่วงหลัง ๆ กลายเป็นผู้เล่นหลักในตลาดหุ้นไทย ที่มีปริมาณการซื้อขายหุ้นรวมมากกว่า 50% ของตลาด และในวันที่ 8 นั้น พวกเขาซื้อหุ้นสุทธิเป็นจำนวนประมาณ 1,600 ล้านบาท จากที่ในระยะหลัง ๆ จะเป็นผู้ขายสุทธิเป็นส่วนใหญ่ และทำอย่างนั้นมาเป็นเวลา 10 ปีมาแล้ว ดังนั้น การซื้อสุทธิแค่ 1,600 ล้านบาท ก็อาจจะส่งผลให้ดัชนีหุ้นวิ่งขึ้นไปได้ถึง 1% อย่างง่าย ๆ
การที่หุ้นขึ้นไปแรงถึง 1% ในวันเดียวนั้น ในอดีตในช่วงที่ตลาดหุ้นไทยเต็มไปด้วยนักเก็งกำไรส่วนบุคคลทั้งรายใหญ่และรายย่อย หุ้นที่มีการซื้อขายสูงสุด 10 อันดับแรก ก็มักจะประกอบไปด้วย “หุ้นที่กำลังมีการเก็งกำไรร้อนแรง” ซึ่งก็มักจะเป็นหุ้นที่กำลังมีการ “Corner” โดยเฉพาะจาก “เซียนหุ้นรายใหญ่” ที่เข้าไปเล่นหุ้นที่มีเรื่องราวที่น่าตื่นเต้น ทั้งผลประกอบการที่โตดีมากและกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วทั้งจากธุรกิจเดิมและการเทคโอเวอร์ “ธุรกิจแห่งอนาคต” หรือการขยายสู่ตลาดต่างประเทศ “ระดับโลก” ที่จะเปลี่ยนบริษัทกลายเป็น Global หรือ Regional Player คือเป็นบริษัทระดับโลกที่จะมีมูลค่าหรือ Market Cap. ระดับ “แสนล้านบาท”
เช่นเดียวกัน หุ้นที่เพิ่งจะ IPO เข้าซื้อขายในวันแรกก็มักจะ “ร้อนแรงเป็นไฟ” ไม่ว่าบริษัทจะทำอะไร ขอให้เป็นหุ้นที่มี Free Float หรือหุ้นที่กระจายในตลาดหุ้นน้อยและเจ้าของพร้อมที่จะเข้ามาเล่นด้วย ก็จะมีปริมาณการซื้อขายหุ้นติด 1 ใน 10 อันดับอย่างแน่นอน เพราะนักเก็งกำไรส่วนบุคคลทั้งรายย่อยและรายใหญ่ต่างก็จะเข้ามาเล่นหุ้นที่ “การันตี” ถึง “ความผันผวนสุดยอด” ที่จะทำให้ได้เสียกันอย่างรวดเร็วภายในวันเดียว
แต่ข้อมูลหุ้นที่มีการซื้อขายสูงสุด 10 อันดับของวันที่ 8 นั้นก็คือ หุ้นที่ใหญ่ที่สุดในแง่ของ Market Cap. ของตลาดหลักทรัพย์แทบทั้งหมด ไม่มี “หุ้นเล็ก” ที่มี Market Cap. ต่ำกว่าแสนล้านบาทติดอันดับเลย ในขณะที่ในอดีตที่การเก็งกำไรของตลาดหลักทรัพย์ร้อนแรงมากนั้น แทบทุกวันจะมีหุ้นตัวเล็กและขนาดกลางที่มีการเก็งกำไรสูงหรือหุ้นที่กำลังถูก Corner ติดอันดับ Top Ten ถึง 4-5 ตัวเป็นประจำ
ซึ่งก็เป็นการแสดงว่า นักเก็งกำไรทั้งรายย่อยและรายใหญ่หายไปจากตลาดหุ้น หรือไม่ก็ได้แต่นั่งดูเป็นส่วนใหญ่ เหตุผลก็อาจจะเป็นว่า ในระยะหลัง อาจจะ 2-3 ปีที่ผ่านมา พวกเขาเข้าไปเล่นเก็งกำไรแล้วก็ขาดทุนเป็นส่วนใหญ่ พอขาดทุนซ้ำ ๆ ซาก ๆ ก็หมดหวังและทยอยเลิกเล่น และสิ่งนี้อาจจะไม่ได้เกิดเฉพาะนักเล่นรายย่อย แต่เกิดขึ้นกับนักลงทุนส่วนบุคคลรายใหญ่ด้วย เพราะความเป็นจริงก็คือ การเล่นหุ้นที่ราคาหุ้นไม่ปรับตัวขึ้นเลยนั้น รายใหญ่ก็ต้องพยายาม “กินรายย่อย” และเมื่อรายย่อย “ตาย” รายใหญ่ก็อยู่ยาก
ดัชนี MAI ซึ่งเป็นระดับราคาของหุ้นตัวเล็กที่เป็นกลุ่มหุ้นที่นักเก็งกำไรชอบเล่นเพราะสามารถทำราคาขึ้นไปได้สูงมากเป็นหลาย ๆ เท่าได้นั้น ในวันที่ 8 อยู่ที่ 410 จุด และถือเป็นจุดที่ต่ำมากและเป็นระดับที่ลดลงมาเรื่อย ๆ เป็นเวลาอย่างน้อย 3-4 ปีมาแล้ว ว่าที่จริง ดัชนี MAI เมื่อประมาณ 9 ปีมาแล้วนั้นเคยสูงถึงเกือบ 800 จุด ซึ่งเท่ากับว่าในเวลา 9 ปี ราคาเฉลี่ยหุ้นขนาดเล็กใน MAI ลดลงมาเกือบ 50% ทั้ง ๆ ที่เมื่อ 3-4 ปีก่อนหุ้น MAI ก็ยังร้อนแรงมาก ปริมาณการซื้อขายหุ้นต่อวันเมื่อเทียบกับขนาด Market Cap. ของตัวเองก็สูงลิ่ว อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ดูเหมือนว่านักเก็งกำไรจะ “ถอดใจ” แล้วกับหุ้น MAI
หุ้นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีขนาดกลางหรือใหญ่ที่ครั้งหนึ่งประมาณ 3-4 ปีมาแล้วเป็น “หุ้นนางฟ้า” Market Cap. เคยวิ่งขึ้นไปแตะระดับ “แสนล้านบาท” ช่วงนี้ก็ดูเหมือนว่าจะเหงาหงอยมาก ราคาหุ้นส่วนใหญ่ก็ลดลงต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปีจนราคา “แทบจะกลับมาที่เดิม”ก่อนที่จะขึ้นแบบติดจรวดในยามที่นักเก็งกำไรอยู่กันเต็มตลาดหุ้น
หุ้นนางฟ้าแทบทุกตัวทยอยปรับลง 30-50% จากจุดสูงสุดหรือมากกว่านั้น ทั้ง ๆ ที่บางตัวบริษัทก็ยังมีกำไรเพิ่มขึ้นต่อเนื่องแม้ว่ากำไรที่เพิ่มจะลดลงเรื่อย ๆ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ค่า PE ที่เคยสูงลิ่วเกิน 40-50 เท่าเพราะคนคิดว่าเป็นหุ้นเติบโตหรือเป็น “ซุปเปอร์ตสต็อก” นั้น ทยอยปรับตัวลงเรื่อย ๆ จนอาจจะเหลือแค่ 15-20 เท่า เพราะคนเริ่มรู้สึกว่าหุ้นไม่ได้โตเร็วจริงหรือไม่ได้เป็นซุปเปอร์สต็อก แต่เป็นหุ้นธรรมดาที่บังเอิญโตเร็วในช่วงเวลาหนึ่งก่อนหน้านี้ และตอนนี้เริ่มไม่โตแล้ว และก็ไม่ได้แข็งแกร่งหรือยิ่งใหญ่อะไรแบบหุ้นที่เป็นซุปเปอร์สต็อกจริง ๆ
ดังนั้น คนก็ทยอยขายหุ้นนางฟ้าจนทำให้เป็นหุ้น “ตกสวรรค์” และคนที่เข้าไปรับก็รับจน “หมดศรัทธา” และเลิกเล่นหุ้นเหล่านั้น เพราะบางวันหุ้นก็เด้งขึ้นแรง แต่แล้วก็ตกกลับลงไปใหม่มากกว่าเดิมทุกครั้ง
อาการนักเก็งกำไร “หายไปจากตลาด” นั้น ไม่ได้เกิดเฉพาะในตลาดหุ้น เหตุเพราะว่าช่วงนี้ ตราสารหรือเครื่องมือเก็งกำไรที่เคยร้อนรุนแรงเมื่อ 3-4 ปีก่อน เฉพาะอย่างยิ่งทองคำและบิทคอยน์ซึ่ง “คนทั้งเมือง” โดยเฉพาะที่เป็นคนรุ่นใหม่ต่างก็เข้าไปเก็งกำไร เพราะคิดว่ามันคือ “เงินแห่งอนาคต” และราคาบิทคอยน์ขึ้นไปถึงกว่า 2 ล้านบาทต่อหนึ่งบิทคอยน์ ซึ่งก็ตกลงมาถล่มทลายเหลือเพียง 5 แสนกว่าบาทในเวลาไม่นาน ทำให้นักเก็งกำไรเจ๊งกันเป็นแถวและเลิกพูดถึงบิทคอยน์ไปนาน
แต่แล้ว ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ราคาบิทคอยน์ก็กลับพุ่งขึ้นมาใหม่อย่างรุนแรงและราคากลับมาทำสถิติสูงสุดใหม่ที่ประมาณ 2.4 ล้านบาทต่อ 1 บิทคอยน์ เช่นเดียวกัน ทองคำที่คนเลิกพูดถึงไปนานก็มีราคาพุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดเช่นกันที่ประมาณบาทละ 35,000 บาท ซึ่งถ้าเป็นช่วงหลายปีก่อน นักเก็งกำไรก็คงจะป่าวร้องเชียร์กันอื้ออึงว่าเป็น “ยุคใหม่แห่งการลงทุน” ไปแล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ “ความเงียบ” คนพูดถึงกันน้อยมาก บางทีอาจจะเป็นเพราะนักเก็งกำไร “ตายไปแล้ว” ไม่มีใครไปซื้อบิทคอยน์และทองคำก่อนหน้านี้ ไม่มีใครกำไรเป็นเรื่องเป็นราวจากการขึ้นของบิทคอยน์และทองคำงวดนี้ พวกเขาอาจจะ “หมดศรัทธา” ไปก่อนหน้านี้แล้ว
แน่นอนว่านักเก็งกำไรไม่มีทางที่จะหายไปหมดและในที่สุดก็ต้องกลับมาใหม่โดยเฉพาะเมื่อสภาพแวดล้อมเป็นใจ ว่าที่จริงช่วงนี้ก็ยังมีหุ้นตัวเล็ก ๆ ที่ “ยั่วเย้า” ให้คนเข้ามาเก็งกำไร และแน่นอนว่ามีทองคำและบิทคอยน์ที่กำลังร้อนแรงและก็อาจจะเริ่มกระตุ้นให้นักเก็งกำไรกลับมาเล่นใหม่ แต่ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าจะสำเร็จแคไหน เพราะบทเรียนที่นักเก็งกำไรได้รับจากตลาดในช่วงที่ผ่านมานั้นค่อนข้างจะรุนแรงและต่อเนื่องยาวนานจนคน “เข็ด” และคงต้องใช้เวลาก่อนที่จะฟื้น หรือไม่อย่างนั้น ก็ต้องมีนักเก็งกำไรรุ่นใหม่เข้ามาร่วมในกิจกรรมที่ติดอยู่ในตัวของมนุษยชาติตั้งแต่ดึกดำบรรพ์นี้
https://www.settrade.com/th/news-and-articles/articles/398-nivate-has-the-profit-seeker-deceased