ถ้าพระเจ้าอุทุมพรสึกออกมาช่วยรบเป็นครั้งที่ 2 คิดว่ากรุงศรีฯจะแตกไหมครับ

ผมว่าถ้าพระองค์สึกออกมาช่วยรบเป็นครั้งที่ 2

น่าจะเรียกขวัญ กำลังใจ

จากบรรดาขุนนาง ข้าราชการ ชาวบ้าน ได้มากกว่ารึเปล่า

อีกทั้งท่านก็วางแผนการรบเก่ง

อยากให้วิเคราะห์กันว่าถ้าพระองค์สึกออกมาช่วยรบ

เป็นครั้งที่ 2 จะมีผลที่ดีต่อกรุงศรีฯบ้างรึเปล่า
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 2
ก็ทำนองเดียวกับคำถามที่ว่าถ้าเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรยังไม่สิ้นพระชนม์แล้วมาเป็นกษัตริย์จะช่วยเอาชนะพม่าได้มั้ย ซึ่งความจริงแล้วการเสียกรุงศรีอยุทธยาไม่ได้ขึ้นอยู่กับกษัตริย์แต่อย่างเดียวครับ


การเสียกรุงศรีอยุทธยามีสาเหตุจาก "พหุปัจจัย" (multifactor) ซึ่งเราคงไม่สามารถกล่าวโทษได้แต่กษัตริย์กรุงศรีอยุทธยา แต่เป็นเรื่องของระบบการปกครองที่ส่งผลต่อการเกณฑ์ไพร่พลและเรื่องยุทธศาสตร์การป้องกันพระนคร รวมถึงปัจจัยภายนอกที่เข้ามาส่งผล ในที่นี้คือการเรืองอำนาจของพม่าราชวงศ์อลองพญา

ปัจจัยหลักอย่างหนึ่งคือความล้มเหลวของ ‘ระบบไพร่’ ในสมัยอยุทธยา ซึ่งได้สั่งสมมาอย่างต่อเนื่องในการพัฒนาระบบการปกครองของกรุงศรีอยุทธยา ซึ่งทำให้กรุงศรีอยุทธยาไม่มีประสิทธิภาพพอในการเกณฑ์ไพร่พลหัวเมืองเพื่อรับศึกพม่าได้

ในสมัยที่สมเด็จพระนเรศวรทรงรับศึกจากหงสาวดีสามารถเกณฑ์ไพร่พลจำนวนมากรับศึกทำสงครามได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะพระองค์โปรดให้เทครัวหัวเมืองฝ่ายเหนือให้ร้างทั้งหมดและกวาดต้อนไพร่พลเพื่อนำมาเป็นกำลังอยู่ที่อยุทธยา ทำให้การเรียกเกณฑ์กองทัพขนาดใหญ่เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ง่าย และทำให้พระองค์สามารถดำเนินยุทธศาสตร์การยกกองทัพไปรับศึกหงสาวดีที่หัวเมือง เพื่อป้องกันไม่ให้รุกคืบมาถึงอยุทธยาได้

แต่หลังจากสมัยของพระองค์เป็นต้นมาซึ่งยุคความขัดแย้งระหว่างเจ้าวงศ์ต่างๆได้จบลงไปพร้อมกับสงครามหงสาวดี อำนาจของขุนนางเริ่มทวีสูงขึ้น ทำให้เกิดการแย่งชิงราชสมบัติระหว่างเจ้าและขุนนางสูง จนครั้งหนึ่งเสนาบดีสามารถมีอำนาจสูงสุดขึ้นมาเป็นพระเจ้าแผ่นดินได้อย่างในกรณีสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง นอกจากนี้ยังปรากฏว่าในสมัยอยุทธยาตอนปลายมีการกบฎหัวเมืองขึ้นหลายครั้ง อย่างในสมัยสมเด็จพระเพทราชาที่เกิดทั้งกบฏธรรมเถียร กบฏนครราชสีมา กบฏเมืองนครศรีธรรมราช จึงต้องส่งกองทัพไปปราบปรามและน่าจะมีนโยบายเพื่อป้องกันไม่ให้หัวเมืองเหล่านี้ซ่องสุมไพร่พลเป็นกบฏได้อีก

รัฐบาลอยุทธยาจำเป็นต้องสร้างเสถียรภาพเพื่อความมั่นคงในการปกครองโดยการลดอำนาจของขุนนางลง โดยเฉพาะขุนนางหัวเมือง ไม่ให้มีความเข้มแข็งพอที่จะคุกคามส่วนกลางได้

ตัวอย่างเช่น การที่อยุทธยาแทรกแซงการปกครองหัวเมือง อย่างการออกกฎหมายห้ามเจ้าเมืองติดต่อกัน การพยายามข้าราชการผู้ใหญ่จากส่วนกลางเข้าไปปกครองแทนจะเป็นเชื้อสายดั้งเดิม การห้ามซ้องสุมไพร่สมเป็นกำลัง การกระทำเหล่านี้ทำให้อยุทธยาซึ่งเป็นรัฐบาลกลางมีอำนาจสูงกว่าหัวเมืองท้องถิ่นอย่างมาก ข้าราชการหัวเมืองอยู่ในสภาวะที่ขาดเสถียรภาพ ไม่มีอำนาจที่จะรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนได้

ส่วนหนึ่งก็เป็นผลดีที่ทำให้อยุทธยามีเสถียรภาพในการปกครองภายใน แต่ผลเสียคือความอ่อนแอในการป้องกันตนเอง เพราะหัวเมืองไม่มีความเข้มแข็งพอหากต้องรับศึกจากอาณาจักรภายนอก หัวเมืองในสมัยปลายอยุทธยาจึงเกิดความล้มเหลวในการเกณฑ์ไพร่พล ตัวอย่างที่พบปรากฏหลักฐานใน พ.ศ. ๒๒๘๙ สมัยสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศพบไพร่หัวเมืองที่ขึ้นกับมหาดไทยหลบหนีสังกัดอยู่จำนวนมาก ต้องส่งคนไปเกลี้ยกล่อมปรากฏว่าได้ไพร่มาจำนวนหลายหมื่น

“ให้ถือตราพระราชสีหออกไปเกลี้ยกล่อมเลกจรจับพรัด ณะ หัวเมืองวิเศศไชยชาญ เมืองสุพรรณบูรี เมืองนครไชยศรี เมืองอินทบูรี เมืองพรหมบูรี เมืองสิงฆบูรี เมืองสรรคบูรี เมืองไชยนาทบูรี เมืองมะโนรม เมืองอุไทยธาณี เมืองนครสวรรค์ ได้ตนเปนอีนมาก ที่มีมุนนายก็เข้าหาเจ้ามุนนายเดิม ที่หามุนนายมิได้ ก็เข้าหามุนนายใหม่ ส่งสารบาญชีขึ้นกรมพระสุรัศวดี ได้เลกไพร่หลวงแลสังกัดพันแลเลกหัวเมืองขึ้นครั้งนั้นมากเปนหลายหมื่น”

ปัญหาไพร่หนีเกณฑ์ยังสะท้อนให้เห็นได้ผ่านพระราชกำหนดเก่าๆที่ออกในสมัยปลายอยุทธยาเพื่อป้องกันไม่ให้ไพร่หนีนายอีก อย่างเช่นพระราชกำหนดเก่า พ.ศ.๒๒๘๑ ซึ่งพยายามผ่อนปรนความลำบากของไพร่หลวงและป้องกันไม่ให้หนีไปเป็นไพร่สม และพระราชกำหนดเก่า พ.ศ.๒๒๘๗ ซึ่งระบุว่าเวลาทำสารบัญชีเกณฑ์ไพร่ ต้องมีเจ้ากรมปลัดกรมอยู่กำกับเพื่อป้องกันพวกเจ้าหน้าที่ทำบัญชีไพร่ไม่ตรงกับความเป็นจริง

นอกจากนี้ยังเกิดปัญหาความวุ่นวายอย่างเช่น การซ่องสุมผู้คนของนักโสนในแขวงเมืองลพบุรีเมือง พ.ศ.๒๒๙๐ รวมถึงชาวมอญอพยพที่ก่อกบฎมาตีเมืองนครนายกใน พ.ศ.๒๓๐๓ ซึ่งหนีไปทางหล่มสัก ก็ไม่สามารถตามตัวกลับมาได้ สะท้อนความไร้ประสิทธิภาพของหัวเมืองในการจัดการความวุ่นวาย


เมื่อการเกณฑ์ไพร่พลของหัวเมืองไร้ประสิทธิภาพ การจะเกณฑ์กองทัพขนาดใหญ่เพื่อทำรับศึกพม่าตามหัวเมืองอย่างสมัยสมเด็จพระนเรศวรนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ ดังที่ปรากฏว่าทัพอยุทธยาที่ถูกส่งไปต้านทัพพม่าตามหัวเมืองนั้นถูกตีแตกทั้งหมดซึ่งน่าจะเป็นเพราะการระดมไพร่พลได้น้อย รวมถึงการข่าวที่บกพร่อง ทำให้มีการแบ่งกองกำลังไปรับศึกหลายเส้นทางจนเกินไป

‘บ้านระจัน’ ก็เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าส่วนกลางไม่มีอำนาจควบคุมไพร่หัวเมืองได้ ทำให้ไพร่ในแถบภาคกลางซึ่งไม่ได้ไกลจากราชธานีสามารถรวมตัวเป็นกองกำลังใหญ่เพื่อต่อต้านพม่าได้เอง โดยที่ส่วนกลางไม่สามารถกะเกณฑ์มาเป็นกำลังได้ตั้งแต่แรก

และตัวเจ้าเมืองเองแม้จะถูกเกณฑ์ลงมาช่วยป้องกันกรุง แต่ก็ไม่ได้ปรากฏว่าจะมีกองกำลังที่มากเพียงพอหรือให้ความช่วยเหลืออย่างจริงจัง ถ้าไม่ถูกตีแตกก็หนียกกลับบ้านเมืองของตนเอง อาจเพราะห่วงบ้านเมืองของตนมากกว่า อย่างเช่นเจ้าพระยาพิษณุโลกที่ขอกลับเมืองโดยอ้างว่าต้องไปปลงศพมารดา ซึ่งอยุทธยาก็ไม่สามารถห้ามปรามอะไรได้

ในสมัยหลังอาจจะมองว่าการที่เจ้าเมืองต่างๆ หนีกลับเป็นเรื่องความไม่สามัคคีกลมเกลียวกัน แต่ว่าต้องพิจารณาด้วยว่าในสมัยโบราณ แม้ว่าเมืองต่างๆ ระเป็นส่วนหนึ่งในปริมณฑลของกรุงศรีอยุทธยาเหมือนกัน แต่ความรู้สึกผูกพันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับกรุงศรีอยุทธยาเสมือนเป็น "รัฐชาติ" เดียวกันยังไม่เกิดขึ้น ปัจจัยหลักจริงๆ ที่สามารถความคุมหัวเมืองได้คืออำนาจและบารมีของราชสำนักอยุทธยาที่เป็นรัฐบาลกลางที่จะสร้างความจงรักภักดีให้เกิดขึ้นได้

ผลจากความล้มเหลวในระบบการปกครองบวกกับการที่พม่ายกกองทัพใหญ่ ทำให้อยุทธยาถูกตัดขาดจากหัวเมืองที่พร้อมที่จะแยกตัวออกจากการปกครองส่วนกลาง สามารถรวมตัวกันได้เองเพื่อต่อต้านพม่าบ้าง หรือทำเพียงปกป้องดินแดนของตนบ้าง อย่างกลุ่มของเจ้าพระยาพิษณุโลก หรือกรมหมื่นเทพพิพิธที่รวบรวมผู้คนในหัวเมืองขายทะเลตะวันออก โดยไม่ได้ขึ้นกับส่วนกลาง


นอกจากนี้ส่วนหนึ่งคืออยุทธยาไม่ได้สนใจในการหารัฐประเทศราชไว้เป็นกันชนและฐานในการรับศึกจากศัตรู โดยสนใจแต่เมืองท่าสำหรับการทำการค้าทางทะเลเป็นหลักอย่างทวาย มะริด ตะนาวศรี เป็นเหตุให้พม่าสามารถตีเอาล้านนา ล้านช้างไว้ในอำนาจเป็นฐานกำลังหลักในการเกณฑ์ไพร่พลและเสบียงอาหารลงมีตีอยุทธยาได้ ด้วยเหตุนี้ทำให้ในสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์พยายามพิชิตรัฐเหล่านี้ไว้เป็นกันชนเพื่อป้องกันราชธานี

อยุทธยาในสภาวะโดดเดี่ยวจึงทำได้เพียงแต่กลับไปใช้ยุทธศาสตร์ที่เคยใช้มาแต่ก่อนคือการใช้พระนครเป็นฐานรับศึก เหมือนกันที่เคยมาในอดีต และก็ใช้ไม่ได้ผลจนนำไปสู่การเสียกรุงเมื่อ พ.ศ.๒๓๑๐ ครับ

สำหรับเรื่องความล้มเหลวของยุทธศาสตร์การป้องกันตนเองของอยุทธยา อ่านเพิ่มเติมได้ที่
https://www.facebook.com/WipakHistory/posts/1057391057657697
https://www.facebook.com/WipakHistory/posts/1057981634265306:0


ถึงแม้ว่าพระเจ้าอุทุมพรได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินต่อมา ก็ไม่แน่ว่าจะทรงมียุทธศาสตร์ป้องกันที่ดีกว่าพระเจ้าเอกทัศน์ ซึ่งถ้าพูดถึงยุทธศาสตร์การป้องกันพระนครโดยใช้ปราการธรรมชาติเป็นฐานก็นับได้ว่าเต็มที่แล้ว คือยันได้นานถึง ๑๔ เดือน นับว่านานกว่าสมัยใดๆ แต่จุดพลิกผันคือทัพพม่าไม่ยอมหนีน้ำ และระบบการปกครองของอยุทธยาเองที่ไม่เอื้อต่อการเกณฑ์ไพร่พลหัวเมืองมาช่วยตีกระหนาบพม่า ส่งผลให้พม่าตั้งรับได้อยู่นานจนสามารถบุกเข้ากรุงได้

หลายคนนิยมกล่าวกันว่าเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร หรือพระเจ้าอุทุมพรมีพระปรีชาสามารถจนถึงกับกล่าวว่าหากได้เป็นกษัตริย์แล้วกรุงจะไม่เสีย แต่ถ้าวิเคราะห์จากหลักฐานจริงๆ ผลงานที่ทรงโดดเด่นก็มีแต่ทางวรรณกรรม ทรงได้เป็นแม่กองรับผิดชอบบูรณะปราสาทหรือพระอารามบ้าง และอาจมีสัมพันธ์ที่ดีกับทางตะวันตกอยู่ ส่วนพระเจ้าอุทุมพรพิจารณาตามหลักฐานจริงๆ ก็ไม่ประกฏพระปรีชาสามารถที่เด่นชัด แม้ว่าจะมีการจัดส่งกำลังไปสู้พม่าหรือปล่อยข้าราชการมาช่วยศึกก็ไม่ได้สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมเลย จึงไม่สามารถรับรองได้ว่าหากได้ทรงรับผิดชอบป้องกันพระนครแล้วกรุงจะไม่เสียหรือมีพระปรีชาสามารถสูงพอจะวางยุทธศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าได้ เพราะปัญหาหลักมันอยู่ในระบบการเกณฑ์ไพร่ซึ่งมีผลมาหลายชั่วคนแล้วครับ

ถ้าแก้ปัญหาเรื่องการเกณฑ์ไพร่พลไม่ได้ ใช้แต่พระนครเป็นฐานรับศึก ถ้าพม่ายืดหยัดปิดล้อมไม่ถอยทัพก็รอวันล่มสลายได้เลยครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่